สังสรรค์กับ "พฤกษ์ เถาถวิล" และ "ประสาท ศรีเกิด" คำถามถึงผู้ถามถึงนักปฏิรูป ...ก่อนจะปฏิรูปกันต่อไป

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บทความของพฤกษ์ เถาถวิล : คำถามถึงนักปฏิรูป...ก่อนจะปฏิรูปกันต่อไป และบทความ วิสาสะกับพฤกษ์ เถาถวิล: คำถามถึงนักปฏิรูป….ก่อนปฏิรูปกันต่อไป ของประสาท ศรีเกิด ล้วนเป็นทัศนะที่ให้มุมมองที่กว้างขึ้นมาก ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการสะท้อนตัวตนของแต่ละคน.... ผู้เขียนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง ในฐานะผู้จัดการประชุม ครั้งที่กล่าวขานถึงกัน.... มีสองความเห็นที่อยากกล่าวถึง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เขียนสำเหนียกมาตลอดว่า....ในฐานะของคนที่อยู่กับมวลชน และทุกย่างก้าวของการเคลื่อนไหวซึ่งมีมวลชน....กันรับรู้สภาพความพร้อมของมวลชน....การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความคาดหวัง...การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความสมหวังและผิดหวัง....ของการเคลื่อนไหวมวลชนในหลายครั้ง....และทุกครั้งผู้เขียนเองก็ยังอยู่กับมวลชน....ซึ่งเรียกว่า “ความรับผิดชอบต่อมวลชน” ตรงนี้จึงน่าจะเป็นความต่างของผู้ทำงานทางสังคมที่มีมวลชน กับผู้ที่ไม่มีมวลชน ประการที่หนึ่ง ความตั้งใจแรกสุดในการจัดการประชุม ก็เป็นไปเพื่อให้การศึกษา เติมเต็มข้อมูลจากทุกด้านของชุดความรู้ ชุดความเห็นต่าง ๆ แก่มวลชน ที่เป็นผู้นำชาวบ้าน และงานดังกล่าวได้รับความอนุเคราะห์จากวิทยากรหลายท่าน โดยแต่ละท่านก็ต่างมีชุดความรู้ ชุดความคิดที่ต่างกัน ตรงนี้เป็นประโยชน์อย่างมากแก่มวลชน และที่สำคัญกลุ่มผู้ร่วมประชุม ได้แสดงความก้าวหน้า ที่ได้ก้าวข้ามความรู้ที่คุ้นชินจากชุดความรู้ที่สัมผัสมาตลอด แต่ได้เปิดใจกว้าง รับเอาความรู้ ที่เป็นชุดความคิดที่แตกต่าง การประชุมจัดอยู่ที่ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน พื้นที่ซึ่งมีการต่อสู้ที่ยาวนาน และผ่านเหตุการณ์เจ็บปวดมาแล้วมากมาย มีเหตุการณ์มีชาวบ้านจดจำไม่ลืม เมื่อครั้งที่พรรคไทยรักไทย เป็นรัฐบาล คุณทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกหมาดๆ ยังไม่มี ครม.ด้วยซ้ำ คุณทักษิณ หิ้วข้าวเหนียว ส้มตำ ไก่ย่าง มากินกับชาวบ้านปากมูนที่ข้างทำเนียบ ต่อจากนั้นไม่กี่เดือนคุณทักษิณ ก็เดินทางมาปล่อยปลาที่ท้ายเขื่อนปากมูลร่วมกับชาวบ้าน พร้อมกับมอบหมายให้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านปากมูน แต่เมื่อมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีศึกษาแล้วเสร็จและเสนอให้รัฐบาลเปิดประตูเขื่อนปากมูลตลอดทั้งปี รัฐบาลทักษิณ กลับฉีกงานวิจัยที่ตนเองเป็นผู้จ้างทิ้ง ซึ่งทำให้ชาวบ้านต้องไปชุมนุมที่ข้างทำเนียบอีกครั้ง ซึ่งรัฐบาลทักษิณ ก็ต้อนรับด้วยการสั่งให้นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพนำกำลังเทศกิจ พร้อมกับรถขนขยะมาขนชาวบ้านกลับ....ชาวบ้านปากมูนยังไม่ลืมครับ.... แต่นั่นก็เป็นเหตุการณ์ครั้งหนึ่ง จากหลายครั้งและหลายรัฐบาลที่กระทำกับชาวบ้านปากมูน ซึ่งชาวบ้านก็สรุปแบบชาวบ้านง่ายๆ ว่า ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล ตราบใดที่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะต้องชุมนุมกันต่อไปครับ โดยการชุมนุมแต่ละครั้ง (แต่ก่อน) ก็จะถูกปรามาสว่า พวกม๊อบรับจ้าง....พวกได้แล้วไม่รู้จัดพอ....และทุกครั้งที่มีคำถามลักษณะนี้พวกเราก็อธิบายกันตลอด จนทุกวันนี้สังคมเริ่มเข้าใจว่าพวกชาวบ้านเดือดร้อนจริงจึงได้มาชุมนุม ...การชุมนุมแต่ละครั้งมักจะดำรงอยู่ภายใต้หลักสามประการ คือ ๑)มีเหตุผล ๒)ได้ประโยชน์ ๓)รู้ประมาณ ครับ แนวทางการชุมนุมยึดหลักสันติวิธีอย่างเคร่งครัด และแสวงหาแนวร่วม+พันธมิตร ตลอดเวลาครับ กลุ่มคนที่มาประชุมกันก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกันครับ คือ ถูกรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มาหลายรัฐบาลหลอก แต่พวกเราก็ไม่ท้อ และพยามช่วงชิงชัยชนะมาให้ได้ ....เพียงแต่ยังไม่สำเร็จเท่านั้น....แล้วเราจะอธิบายความมุ่งมั่นในการผลักดันการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านที่ผ่านมาในช่วงหลายสิบปีนี้ว่าเป็น “พวกปฏิกิริยาล้าหลัง” อย่างนั้นหรือ มันไม่ใช่คุณูปการที่พวกเขาเพียรทำมาเลย....กระนั้นหรือ ประการที่สอง การประชุมครั้งที่ผ่านมา นับว่าเป็นความสำเร็จร่วมกันของทุกฝ่าย (เฉพาะผู้เขียน) ที่เป็นเวทีที่มีไม่กี่ครั้งที่ผู้ที่มีชุดความคิดที่ต่างกัน ได้แสดงความคิดของตนเองอย่างเต็มที่ และมีชาวบ้านร่วมแลกเปลี่ยน ซึ่งผู้เขียนมองว่า หากมีรูปแบบการพูดคุยลักษณะเช่นนี้ในหลายพื้นที่ ความคิดที่หลากหลายก็จะถูกนำไปพัฒนาต่อ ซึ่งหากจะให้ดีไม่ว่าจะเป็น สีแดง หรือสีเหลือง หรือแม้กระทั่งกลุ่มอื่นใดก็ตาม หากมีวงพูดคุยกันจะเชิญพวกเราไปร่วมด้วยก็จะยิ่งดี ผู้เขียนคิดว่าการถามกันไปมาเกิดประโยชน์น้อยกว่าการกระทำมากนัก อย่างไรก็ดี เบื้องหลังคำถามต่าง ๆ นี้ยังจำเป็นต้องถกกันต่อไปอีกด้วยซ้ำว่า เมื่อไหร่ เราจะเป็นพวกเดียวกัน ภายใต้ความหลากหลาย ทั้งทางความคิดและวิธีการ ผู้เขียนเคยได้ยินว่า เหรียญนั้นมีสองด้าน หากจะทำให้สองด้านนั้นเป็นแบบเดียวกัน ที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครทำได้สำเร็จ แต่สำหรับผู้เขียนมองว่า ทั้งสองด้านต่างมีความเป็นลักษณะเฉพาะของตัวมันเอง หากให้เลือกผู้เขียนขอเลือกเป็นตรงกลางระหว่างด้านดีกว่า ก็คือเป็นสันกลางของเหรียญแล้วจัดความสัมพันธ์กับทั้งสองด้าน เพราะเราอยู่ในเหรียญเดียวกัน คือประเทศไทย สุดท้าย ผู้เขียนขอออกตัวนิดหน่อยว่า ไม่ใคร่ยึดทฤษฎี อะไรมากมาย ตลอดเวลาการทำงานมักกระทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย คือ ความเดือดร้อนของชาวบ้านได้รับการแก้ไขอย่างเป็นธรรม ยิ่งหากเป็นการแก้ไขปัญหาที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน หรือที่เรียกว่า ชนะร่วมกันทุกฝ่าย น่าจะมีความสุขมากกว่ามีผู้ชนะ และมีผู้แพ้.... การต่อสู้เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ชัยชนะร่วมกันจึงเป็นเป้าหมายของการทำงานของผู้เขียน จึงไม่ตอบคำถามใด....ของใครเลย....และไม่ถามคำถามใด....ต่อผู้ใด....ทำเลยดีกว่า....และขอบคุณสำหรับข้อกังวลจากกัลยาณมิตร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท