รุจ ธนรักษ์: ความเห็นต่อกรณีค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ก่อนอื่น ต้องออกตัวก่อนว่าตั้งใจเขียนโน้ตชิ้นนี้ขึ้นด้วยจุดประสงค์สองข้อ ข้อแรก – ต้องการบันทึกความเห็นของตนเองต่อกรณีนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งเป็นความเห็นส่วนตัวล้วนๆ ไม่มีข้อมูลใดๆมาสนับสนุนทั้งสิ้น และข้อสอง – ต้องการชี้ให้เห็น \ข้อเท็จจริง\" ทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ด้วยหวังให้การถกเถียงเกี่ยวกับนโยบายนี้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์และอุดมปัญญา … กว่าที่เป็นอยู่ เพราะด้วยความที่มันเป็นเรื่องคาบเกี่ยวระหว่าง \"เศรษฐศาสตร์\" กับ \"การเมือง\" ทำให้ดีเบตเรื่องนี้ดูเหมือนจะเปรอะไปด้วย \"ความเห็น\" ทั้งในเชิงการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งหากจะมองโลกในแง่ดี สภาวะเถียงกัน \"เปรอะ\" เช่นนี้น่าจะทำให้นักเรียนเศรษฐศาสตร์ได้มองเห็น \"ภาพกว้าง\" กันเสียทีว่าเส้นแบ่งระหว่างเศรษฐศาสตร์กับการเมืองมันบางมากๆ เพราะขณะที่เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องของนโยบายการจัดการทรัพยากร การเมืองก็คือเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์จากทรัพยากรในสังคม ดังนั้น นโยบายเศรษฐกิจใดๆ จึงไม่ได้ลอยออกมาจากรังปลวกพร้อมสมการซับซ้อนอย่างไม่มีที่มาที่ไป มันล้วนเกิดขึ้นโดยมีรากฐานทางการเมืองทั้งนั้น เข้าเรื่อง ประเทศไทยควรขึ้นค่าแรงหรือไม่ ? และควรเป็น 300 บาทไหม ? เอาแค่ประเด็นนี้ประเด็นเดียวก็จะมีข้อมูลมากมายมหาศาลมาถกเถียงกันว่าควรหรือไม่ควร ถ้าขึ้นแล้วใครจะได้ ใครจะเสีย ฯลฯ ในความเห็นผม – ผมว่าคำถามนี้ \"ไม่จำเป็น\" ต้องตอบในทางเศรษฐศาสตร์ เพราะมันเป็นคำถามเชิงการเมือง และคำตอบก็ควรตอบในเชิงการเมือง อุปมาเหมือนถามว่า ประเทศไทยควรระบบประกันสังคมหรือไม่ มันไม่จำเป็นต้องมานั่งวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียต่อระบบเศรษฐกิจกันให้ยุ่งยาก สิ่งที่ต้องทำคือให้พรรคการเมืองมีนโยบายด้านนี้ เอามากางให้ประชาชนเลือก ประชาชนอยากได้อะไร ประชาชนก็จะเลือก ประชาชนเลือกอย่างไร มันก็ควรจะเป็นทิศทางของประเทศ เพราะอำนาจปกครองประเทศ (ควร) เป็นของประชาชน ทีนี้ถ้ามองจากมุมของ \"การเมือง\" เราต้องไม่ลืมว่านโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นของ \"ทุกพรรค\" (อย่างน้อยก็ทั้งเพื่อไทย และ ประชาธิปัตย์) เพื่อไทย บอกว่า 300 บาท ขณะที่ ประชาธิปัตย์บอกว่าขึ้น 25% นั่นแปลว่า ไม่ว่าวันนี้ผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร เราก็จะมีรัฐบาลที่มีพันธะสัญญาที่จะต้อง \"ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ\" ทั้งนั้น และในเมื่อมันคือนโยบายของทุกพรรค ก็แปลว่าเสียงของประชาชนไทยต้องการให้แก้ปัญหาเรื่องนี้ ประเด็นจึงไม่ควรอยู่ที่ว่าควรขึ้นหรือไม่ แต่ควรอยู่ที่ว่าพรรคการเมืองที่ได้เป็นรัฐบาลจะทำตามสัญญาไหม จะทำได้จริงไหม และจะทำอย่างไร – เพราะประชาชนไทยเลือกแล้วว่าอยากได้คนมาทำเรื่องนี้ให้เป็นจริง ถ้าสุดท้ายทำไม่ได้ มันก็เป็นเรื่องทาง \"การเมือง\" ที่ประชาชนกับพรรคการเมืองในประเทศต้องบริหารจัดการกันไป หรือถ้าทำแล้วเศรษฐกิจพังพินาศ มันก็กลับไปเป็นประเด็นทาง \"การเมือง\" อีกอยู่ดี คำถามถัดไปคือ แล้วควรเป็น 300 บาทหรือไม่ ทำไมไม่เป็น 250 บาท หรือทำไมไม่เป็น 500 บาทไปเลย เช่นกัน เราสามารถสร้างบทวิเคราะห์ได้มากมายไม่รู้จบพร้อมสถิติตัวเลข สมการ ข้อมูล ทฤษฏี อีกนับไม่ถ้วน เพื่อช่วยสนับสนุนข้อถกเถียงของเราว่ามันควรเป็น 300 บาทหรือไม่ แต่นั่นมันควรเกิดขึ้นก่อนเลือกตั้ง ไม่ใช่มานั่งกดดันพรรคการเมือง \"หลัง\" เลือกตั้งไม่ให้ทำตามนโยบายที่ตนเองไม่ชอบ เพราะพรรคการเมืองมีพันธะสัญญาที่จะต้อง \"ทำตามนโยบาย\" ที่ได้หาเสียงไว้ \"โดยหลักการ\" หากพรรคการเมืองมีการจัดทำนโยบายอย่างเป็นระบบแบบแผน เขาย่อมนำเสนอ \"ตัวเลขที่เหมาะสม\" ขึ้นเป็นนโยบายของพวกเขา – ผมไม่อาจล่วงรู้ได้ว่า เพื่อไทย เสนอตัวเลขนี้ขึ้นมาอย่างมีหลักคิดหรือไม่ บางทีเขาอาจคิดขึ้นมามั่วๆกลางวงกาแฟในห้องประชุม เช่นเดียวกับที่ผมก็ไม่รู้หรอกว่า 25% ของประชาธิปัตย์คิดขึ้นมาอย่างไร ณ วันนี้ – สิ่งที่เราทุกคนรู้ร่วมกันคือ เพื่อไทย มีพันธะผูกพันที่จะต้องทำ 300 บาท ให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งหากเพื่อไทยนั่งเทียนตัวเลขนี้มาโดยไม่มีข้อมูลไม่มีการศึกษามาก่อน มันย่อมเกิดขึ้นไม่ได้จริง หรือเกิดขึ้นจริงแต่มีผลกระทบอื่นตามพ่วงมาด้วย (ซึ่งจะอภิปรายต่อด้านล่าง) ซึ่งสุดท้ายก็จะเป็นตัวพรรคเพื่อไทยเองนั่นแหละที่ต้อง \"รับผิดชอบ\" กับผลลัพธ์ทางการเมืองของตนต่อไป ผมคิดว่านี่คือหลักการที่สำคัญ เพราะการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย สร้างการแข่งขันระหว่างพรรคการเมือง สร้างนโยบายประเทศที่ประชาชนเป็นผู้เลือก และสร้าง \"ความรับผิดชอบทางการเมือง\" ให้เกิดขึ้นจริงนั้น เป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วนที่สุดของเมืองไทยในวันนี้ สำคัญมากกว่าระบบเศรษฐกิจ หรือตัวเลข GDP แน่ๆ สรุป – เราไม่จำเป็นต้องมองเรื่อง 300 บาทในเชิงเศรษฐกิจเลย เพราะในทางการเมือง มันคือเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว ประชาชนเลือกไปแล้ว พรรคการเมืองมีพันธะแล้วว่าต้องทำให้ได้จริง มันไม่จำเป็นต้องเถียงแล้วว่าควรทำหรือไม่ หรือควรทำแค่ไหน – ในเมื่อพรรคการเมืองทุกพรรคประกาศนโยบายขึ้นค่าแรงกันทั้งนั้น เราควรปล่อยให้พรรคการเมืองทำตามสัญญาของพวกเขา สังคมมีหน้าที่ตรวจสอบว่ามันทำได้จริงไหม แล้วมีผลกระทบอย่างไร แล้วรัฐบาล \"บริหารจัดการ\" ผลกระทบเหล่านั้นอย่างไร สุดท้ายถ้าพวกเขาทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดี ก็เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องตัดสินอนาคตการเมืองของพวกเขาด้วยตัวประชาชนเอง การสร้าง \"ความรับผิดชอบทางการเมือง\" เป็นเรื่องเร่งด่วนอันดับต้นๆของประเทศที่ไม่มีใครต้องรับผิดชอบอะไรสักอย่างมานานนับสิบปี และที่สำคัญที่สุดคือ หลักการทั้งหมดนี้คือเงื่อนไขที่สำคัญของการจะกล่าวอ้างว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ประเด็นถัดไป – นโยบายนี้กระทบใครบ้าง ? ผมควรพูดก่อนว่า \"นโยบายใดๆ\" ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมล้วนส่งผลกระทบต่อคนบางกลุ่มในสังคมทั้งนั้น บางกลุ่มอาจได้ผลบวก บางกลุ่มอาจได้ผลลบ มันเป็นเรื่องธรรมดา ประเด็นจึงควรอยู่ที่ว่ารัฐบาล (ผู้มีหน้าที่บริหารสังคม) จะทำอย่างไรให้คนที่ควรได้ผลบวก ได้บวกจริงๆ และทำอย่างไรให้คนที่จะได้ผลลบ ไม่ลบมากเกินไป หรือไม่มีทางเลือกที่จะบรรเทาผลลบเหล่านั้น ก่อนจะถกเถียงประเด็นนี้อย่างอุดมปัญญาได้ เราควรพิจารณากันให้ \"ชัด\" เสียก่อนว่าใครบ้างที่จะได้ผลกระทบจากนโยบายนี้ ผลกระทบด้านบวก – แน่นอนคือกลุ่มผู้ใช้แรงงาน \"ขั้นต่ำ\" ที่มีทักษะน้อยหรือไม่มีทักษะ หรือพูดง่ายๆคือผู้ใช้แรงงานจริงๆที่ไม่มีความรู้เสริมอื่นใดเลย ตัวอย่างเช่น พนักงานเสิร์ฟอาหาร กับพนักงานรับออร์เดอร์ ล้วนใช้แรงงานทั้งคู่ แต่อย่างแรกใช้ทักษะต่ำกว่าอย่างหลัง ดังจะเห็นได้จากร้านอาหารในไทยส่วนมาก มีพนักงานเสิร์ฟกับพนักงานรับออร์เดอร์ แยกกันชัดเจนเป็นคนทีม ซึ่งก็เดาได้ว่าค่าแรงของทั้งสองทีมจะแตกต่างกัน พูดถึงประเด็นนี้จะ เห็นได้ว่า หากไม่เอาประชานิยมเป็นที่ตั้ง แล้วมองนโยบายในระยะยาวเป็นหลัก รัฐมีหน้าที่ส่งเสริม \"ทักษะ\" แรงงานของคนในประเทศ เช่น พัฒนาระบบอาชีวะศึกษาให้ดีกว่านี้ คนจะได้เอาแรงงานมาใช้แบบมีทักษะมากขึ้น สร้าง \"มูลค่าเพิ่ม\" ของแรงงานตนเองให้มากขึ้น ประเทศก็จะมีคนที่ต้องรับค่าแรง \"ขั้นต่ำ\" น้อยลง จนมันไม่จำเป็นต้องเป็นประเด็นใหญ่โตทางการเมืองอีกต่อไป นอกจากนั้น เราต้องไม่ลืมด้วยว่ายังมีกลุ่ม \"แรงงานนอกระบบ\" ที่ไม่ได้รับผลกระทบด้านดีของนโยบายนี้ ตัวอย่างเช่น คนขับรถสิบล้อ ชาวนา มอเตอร์ไซค์รับจ้าง พ่อค้าหมูปิ้ง แม่ค้าส้มตำรถเข็น คนขายพวงมาลัย หรือกระทั่งคนขายบริการทางเพศ แรงงานนอกระบบเหล่านี้จะไม่ได้รับอานิสงน์จากนโยบาย 300 บาทโดยตรง ในขณะที่พวกเขาต้องร่วมแบกรับผลกระทบของมัน (เงินเฟ้อ) โดยที่รายได้ของพวกเขาไม่ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะอภิปรายต่อไป ผลกระทบด้านลบ – แน่นอนว่าคือนายจ้าง แต่สิ่งที่ต้องดูให้ละเอียดมากขึ้นคือนายจ้างที่ว่านี้คือใครบ้าง กลุ่มไหน มีทั้งหมดกี่กลุ่ม มีจำนวนแค่ไหน ฯลฯ เราต้องไม่ลืมว่า \"นายจ้าง\" ที่จะได้รับผลกระทบหนักจริงๆนั้นคือนายจ้างที่พึ่งพาแรงงานสูงมาก (ต้นทุน 80% คือค่าแรง) แถมยังพึ่งพาแรงงาน \"ไร้ทักษะ\" อีกด้วย (เพราะมันคือค่าแรงขั้นต่ำ) ยกตัวอย่างเช่น โรงงานผลิตรถยนต์ คงไม่สามารถใช้แรงงาน \"ไร้ทักษะ\" ได้สักเท่าไหร่ อย่างน้อยก็ต้องมีคนงานที่มีทักษะบ้าง ซึ่งแปลว่าค่าจ้างก็ย่อมสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำบ้างตามกลไกตลาด ดังนั้นโรงงานรถยนต์จึงไม่ควรจะกระทบ หรืออย่างน้อยก็ไม่กระทบหนักหนาสาหัส ดังนั้นในระดับอุตสาหกรรม เราจำเป็นต้องรู้ว่าอุตสาหกรรมไหนบ้างที่พึ่งพาแรงงานมาก (Labor Intensive) ซึ่งดูได้จากต้นทุนการผลิตว่ามีแรงงานเป็นสัดส่วนมากน้อยแค่ไหน พวกเขาผลิตอะไร เติบโตอย่างไรในแต่ละปี ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้คือสิ่งที่ \"สภาอุตสาหกรรม\" ควรแจกแจงให้สังคมได้รับทราบ มากกว่าการออกมาทำหน้าที่ปกป้องกลุ่มทุนของตนเอง จากนั้นคำถามที่สังคมควรช่วยกันคิดก็คือ – เราจะสนับสนุนอุตสาหกรรม \"เก่า\" ที่ต้องพึ่งพา \"แรงงานไร้ทักษะ\" กันอีกนานแค่ไหน และมันมีผลดีอย่างไรต่อประเทศบ้างกับการสนับสนุนธุรกิจเหล่านี้ โดยส่วนตัว ผมไม่มีความเห็นกับประเด็นนี้ เพราะผมไม่เคยเห็นข้อมูลจริงๆเสียทีว่าประเทศไทยมีธุรกิจที่ต้องพึ่งพาแรง งานไร้ทักษะมากน้อยแค่ไหน คิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ต่อ GDP แล้วก็ไม่เคยเห็นหน่วยงานไหนออกมาให้ข้อมูลอย่างเป็นระบบเลยสักครั้ง สมมติง่ายๆว่าประเทศไทยมีแรงงานไร้ทักษะ 100 คน คำถามคือทั้งหมดนี้กระจายอยู่ในโรงงานกี่แห่ง ? ถ้ากระจายอยู่ในโรงงาน 50 แห่ง ก็แปลว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำคงไม่ทำให้โรงงานเจ๊งเป็นแน่ เพราะแห่งนึงมีคนงานไร้ทักษะแค่ 2 คน ที่เหลือเป็นแรงงานมีทักษะซึ่งก็จ่ายแพงกว่าอยู่แล้ว แต่ถ้าประเทศไทยมีโรง งาน 4 แห่ง รองรับแรงงานไร้ทักษะ 100 คน – หากขึ้นค่าแรงพรวดเดียว ก็อาจทำให้โรงงานทั้ง 4 แห่งเจ๊งได้จริงๆ ซึ่งสุดท้ายผลกระทบก็คือคนงานตกงานอยู่ดี ไม่ได้เงินสักบาท จะเห็นว่าเราไม่สามารถตอบได้ ถ้าเราไม่มีข้อมูลตัวเลข แต่สิ่งที่ตอบได้แน่นอนคือ ไม่ว่าเราจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหรือไม่ นโยบายในระยะยาวก็ควรเน้นการพัฒนาฝีมือแรงงาน และลดการสนับสนุนอุตสาหกรรมโบราณเหล่านั้นเสียที สุดท้าย ผมคิดว่าอุตสาหกรรมทั้งหลายยังไม่น่าเป็นห่วงเท่ากลุ่ม SME ขนาดกลางและเล็ก เพราะอย่างน้อยนายทุนอุตสากรรมทั้งหลายก็มี \"สายป่านยาว\" กว่าผู้ประกอบการขนาดเล็กมาก ภาระค่าแรงที่เพิ่มขึ้นน่าจะส่งผลหนักต่อผู้ประกอบการ SME ทั้งหลายมากกว่า ต่อให้สัดส่วนต้นทุนค่าแรงของ SME ไม่มาก (เช่น อาจเป็นเพียง 40% ของรายจ่ายทั้งหมด) แต่การขึ้นค่าแรงอย่างฉับพลัน ก็กระทบต้นทุนของพวกเขาอย่างหนักได้ นอกจากนั้น ทุกวันนี้ แม้ค่าแรงจะยังไม่มาก เราก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า SME ไทยมีปัญหากับการหาแรงงานไทยมาทำงาน เพราะไม่มีแรงงานไทยคนไหนอยากทำงาน \"ไร้ทักษะ\" ถ้าเขามีทางเลือกที่ดีกว่าในการไปทำงานในภาคอุตสาหกรรม เราจึงเห็นได้บ่อยๆว่า SME ไทยทุกวันนี้ล้วนใช้บริการแรงงานต่างด้าวเสียมาก ซึ่งการขึ้นค่าแรงของแรงงาน \"ในระบบ\" ก็จะยิ่งทำให้ SME ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานหนักขึ้น ในแง่ของนโยบายประเทศระยะยาว ธุรกิจ SME คือกลุ่มที่ควรจะได้รับการส่งเสริมมากกว่าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ คนที่เป็น \"แรงงานไร้ทักษะ\" ในวันนี้ ย่อมอยากเป็นเจ้าของ SME ในวันหน้า (วันนี้ล้างจานในร้านส้มตำ พรุ่งนี้ย่อมอยากมีร้านส้มตำเป็นของตนเองบ้าง) เราจึงไม่อาจปล่อยให้ SME เดือดร้อนหนักได้โดยไม่ทำอะไรเลย เพราะมันเท่ากับการ \"ปิด\" โอกาสเติบโตของ \"แรงงานไร้ทักษะ\" ที่เรา \"อยากช่วยเหลือ\" พวกเขาอยู่ดี สรุป 1. คนที่ได้ผลดีจากนโยบายนี้มีเฉพาะแรงงานในระบบ ยังมีคน \"ระดับล่าง\" อีกหลายกลุ่มที่พวกเขาไม่ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นจากนโยบายนี้ 2. นายจ้างที่น่าเป็นห่วงจริงๆน่าจะเป็นกลุ่ม SME เพราะสายป่านสั้นกว่านายทุนใหญ่ และมีปัญหาขาดแคลนแรงงานอยู่เสมอ 3. สังคมไทยควรมีตัวเลขที่ชัดเจนได้แล้วว่าอุตสาหกรรมของเราเป็นอย่างไร และควรมีแผนที่ชัดเจนได้แล้วว่าจะเอาอย่างไรกันต่อไปในรุ่นลูกหลาน 4. SME ต้องได้รับการดูแล เพราะมันคือฐานธุรกิจที่สำคัญต่ออนาคตโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมากกว่าทุนยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย หากรัฐประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้ว ระบบเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ? อันนี้ตอบง่าย เพราะต้องบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นใหม่หรือประเด็นใหญ่โตอะไรในทาง เศรษฐศาสตร์ หัวข้อเรื่อง \"นโยบายค่าแรง\" เป็นเรื่องที่นักเรียนเศรษฐศาสตร์ ป.ตรี ทุกคนต้องเรียนกันตั้งแต่คาบแรกๆ มีทฤษฏีและการศึกษาพร้อมข้อมูลภาคสนามมากมาย จากทั่วทุกมุมโลกให้เราได้ถกเถียงกัน \"ข้อเท็จจริง\" ที่ผ่านการศึกษาพิสูจน์มาแล้วยาวนานบอกเราว่า – หากไม่มีใครทำอะไรเลย หรือไม่มีปรากฏการณ์พิเศษใดๆในระบบเศรษฐกิจ – สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาแน่นอนหลังการประกาศขึ้นค่าแรงคือ 1. อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 2. เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น อธิบายง่ายๆได้ว่า การขึ้นค่าแรงในระยะสั้น (ขึ้นแบบฉับพลัน) ทักษะคนงานจะมีเท่าเดิมไม่ได้เพิ่มตามไปด้วย เมื่อวานเคยทำงานได้ 10 ชิ้น พรุ่งนี้ก็ทำงานได้ 10 ชิ้นเหมือนเดิมแต่ได้ค่าแรงมากขึ้น ผลก็คือนายจ้างอาจต้องไล่คนออกเพื่อควบคุมต้นทุน หรือ ต่อให้นายจ้างไม่ไล่คนออก การรับคนเพิ่มก็จะทำได้ยากขึ้น คนที่ทำงานอยู่เดิมก็จะต้องทำงานหนักขึ้น งานหายากขึ้น คนตกงานเพิ่มขึ้น หรือกรณีเงินเฟ้อ ก็อธิบายได้ง่ายๆว่าในเมื่อต้นทุนค่าแรงสูงขึ้น โรงงานก็ต้องขึ้นราคาสินค้าเพื่อให้ได้กำไรเท่าเดิม หรือ ต่อให้โรงงานไม่ขึ้นราคาสินค้า ค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้น ก็จะทำให้ \"ค่าเสียโอกาส\" ของคนอีกหลายกลุ่มเพิ่มขึ้น เพราะ \"ค่าแรง\" ก็คือ \"ราคา\" อย่างนึง แถมเป็นราคาต่ำที่สุดที่เป็น benchmark ของเศรษฐกิจทั้งระบบ ราคาค่าก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดจะเพิ่มขึ้น คนจะผ่อนบ้านยากขึ้น ซื้อบ้านยากขึ้น ค่าเช่าห้องแถวแพงขึ้น อสังหาริมทรัพย์ที่แพงขึ้นก็จะดันให้ทุกอย่างแพงขึ้นตามไปด้วย แรงงานภาคอื่นๆก็อาจถูก \"ดูด\" เข้าไปภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น (ถ้ายังมีงานให้ทำ) เพราะค่าแรงอาจจะสูงกว่ารับจ้างตัดอ้อย สุดท้ายอ้อยก็อาจราคาแพงขึ้นเพราะขาดแคลนแรงงาน ฯลฯ อธิบายง่ายๆด้วยนิทาน : สมชาย ทำงานโรงงาน ได้เงินวันละ 150 บาท ซื้อส้มตำกินทุกวัน สมศรี ขายส้มตำรถเข็นอยู่หน้าโรงงานทุกวัน หักลบกลบหนี้แล้วได้กำไรวันละ 250 บาท อยู่มาวันนึง สมชาย ได้เงินเพิ่มเป็นวันละ 300 บาท – สมศรี เลยคิดหนัก เพราะจะเหนื่อยลงทุนลงแรงขายส้มตำทำไม ในเมื่อเลิกขายแล้วไปทำงานโรงงานก็ได้ 300 บาทมากกว่าเดิมอีก แล้วไหนจะค่าจ้างที่จ่ายให้เด็กล้างจานที่ต้องเพิ่มให้เขาด้วย ไม่งั้นเขาก็ออกไปทำโรงงานเหมือนสมชาย สมศรี มีสองทางเลือก – ขึ้นราคาส้มตำให้สมกับ \"ค่าเสียโอกาส\" ของตัวเอง หรือสอง เลิกขายส้มตำ ไปทำงานโรงงาน ทั้งสองทางเลือก ล้วนทำให้ราคาส้มตำ \"เฟ้อ\" เพราะอย่างแรกส้มตำแพงขึ้น ส่วนอย่างหลังคือ supply ส้มตำลดลง ของหายากขึ้น สมชายมีเงิน แต่ไม่มีส้มตำกิน จะเห็นว่าทั้งสองกรณีทำให้ \"ราคาส้มตำเฟ้อ\" โดยที่ \"นายทุน\" โรงงานไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ นั่นคือต่อให้นายทุนไม่เพิ่มราคาสินค้าเลย ระบบเศรษฐกิจก็จะมีปัญหาเรื่องคนว่างงาน และเงินเฟ้อตามมาแน่นอน ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า รัฐบาลจะ \"บริหารจัดการ\" เงินเฟ้อ ให้มันกระจายไปอย่างไร กระจายไปตรงไหนบ้าง ส่วนไหนเฟ้อมาก ส่วนไหนเฟ้อน้อย ระยะสั้นเป็นยังไง ระยะยาวเป็นยังไง สรุป – ถ้าไม่ทำอะไรเลย ขึ้นค่าแรงเฉยๆ ผลกระทบที่ตามมาแน่นอนคือ คนจะตกงานมากขึ้น และเงินจะเฟ้อมากขึ้น รัฐบาลควรทำอะไร ? การจะออกนโยบายใดๆ มีประเด็นที่ควรพิจารณาให้รอบคอบ 3 เรื่อง 1. ออกนโยบายมาแล้วทำให้เกิดขึ้นได้จริง บังคับใช้ได้จริง 2. ผู้ที่จะได้ผลดีจากนโยบาย – ได้ผลดีจริงๆ 3. ผู้ที่จะได้ผลเสีย – ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ไม่ให้หนักหนาสาหัสเกินไปนัก ประเด็นแรก – ในแง่กฏหมายค่าแรงขั้นต่ำ ถ้ารัฐบาลจะทำจริงๆก็คงทำได้ แต่รัฐบาลต้องดูบริบทในเชิงการเมืองและเศรษฐกิจด้วยว่าออกกฏหมายอย่างไรจะทำ ให้มันเกิดขึ้นได้จริงๆ แบบแรกคือ \"บังคับ\" ซึ่งนั่นหมายถึงต้องคิดถึงความเหมาะสม กระบวนการ และต้องคิดยาวไปถึงการบังคับใช้กฏหมาย แบบสองคือ \"จูงใจ\" ซึ่งเป็นวิธีที่​ \"ศิวิไลซ์\" กว่า ในการออกกติกามา \"จูงใจ\" ตลาดให้ทำตามนโยบายของตนเอง เช่น ผู้ประกอบการที่ให้ค่าแรง 300 บาท อาจได้สิทธิในการลดภาษี เป็นต้น ประเด็นที่สอง – ทำอย่างไรให้แรงงานได้ผลดีจากนโยบายนี้จริงๆ – อันนี้คือประเด็นที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุด เรารู้แล้วว่าถ้าไม่ทำอะไรเลย การประกาศขึ้นค่าแรงจะทำให้เกิดเงินเฟ้อและอัตราว่างงานเพิ่มขึ้น เรื่องอัตราว่างงาน – การขึ้นค่าแรงจะช่วยคนที่มีงานทำอยู่แล้ว แต่คนที่ไม่มีงานทำก็จะหางานยากขึ้นไปอีก หรือในบางครอบครัว แทนที่พ่อแม่ลูกจะมีงานทำทั้งสามคน ก็อาจมีงานทำแค่คนเดียว รายรับต่อคนอาจเพิ่มขึ้น แต่รายรับโดยรวมก็อาจได้น้อยกว่า เรื่องเงินเฟ้อ – อันนี้คือเรื่องใหญ่และยากที่สุด สมมติว่าพรรคเพื่อไทยประกาศขึ้นค่าแรงแบบ \"ค่อยเป็นค่อยไป\" ก็จะมีความเป็นไปได้สูงมากที่เงินเฟ้อจะค่อยๆทำให้ค่าแรงที่เพิ่มนั้นไร้ค่า ตัวอย่างเช่น วันนี้สมชายได้ค่าแรง 100 บาท สิ้นปีสมชายได้เพิ่มอีก 30 บาท (30%) แต่เงินเฟ้อก็อาจเพิ่มขึ้นอีก 30% ซึ่งสุดท้ายสมชายก็ซื้อส้มตำกินได้วันละหนึ่งมื้อเหมือนเดิม นอกจากนั้น ต้องไม่ลืมว่ายังมี \"แรงงานนอกระบบ\" อีกจำนวนมากที่เขาไม่ได้ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายรัฐบาล แต่เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งแปลว่ารายได้ของเขาลดลง (เงินเท่าเดิม ของแพงขึ้น) แล้วรัฐบาลจะไปช่วยเหลือพวกเขาอย่างไร เพราะถ้าไม่ทำอะไร พวกเขาก็ต้อง \"ขึ้นราคา\" ​สินค้า/บริการของพวกเขา ซึ่งก็จะยิ่งไปซ้ำเติมสภาวะเงินเฟ้อเข้าไปอีก ถ้าเราควบคุมเงินเฟ้อไม่ได้ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็จะไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง เพราะเท่ากับว่าผู้ใช้แรงงานจะไม่ได้ค่าแรงเพิ่มเลย เคยส้มตำวันละหนึ่งจานอย่างไร ก็ได้กินส้มตำวันละหนึ่งจานเท่านั้น เพราะส้มตำแพงขึ้น ประเด็นที่สาม – รัฐบาลต้องศึกษาให้ชัดว่านายจ้างกลุ่มไหนกระทบบ้าง กระทบมากหรือน้อยแค่ไหน แล้วจะมีอะไรช่วยเหลือพวกเขาบ้างตามความเหมาะสม โดยเฉพาะกลุ่ม SME ที่ยังต้องพึ่งพาแรงงานอยู่สูง เพราะต้องไม่ลืมว่า SME คืออนาคตที่ \"แรงงาน\" จะ \"พึ่งพา\" ลืมตาอ้าปากได้มากกว่าภาคอุตสาหกรรม สรุปว่า สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือการออกนโยบายเป็น \"แพ็จเกจ\" ซึ่งประเด็นที่สำคัญที่สุดคือการบริหารจัดการเงินเฟ้อ อัตราการว่างงาน และการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ถ้ารัฐบาลไม่สามารถจัดการเรื่องเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานได้ นโยบาย 300 บาทก็จะเป็นได้แค่ประชานิยมที่ไม่ได้ช่วยแรงงานอย่างแท้จริง เพราะสุดท้ายแล้วเงินเฟ้อก็จะกัดกินค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่ดี ส่งท้าย - ถ้าเราถอดสีของการเมืองออกไปก่อน เราก็จะถกเถียงประเด็นค่าแรงขั้นต่ำได้รอบด้านครบถ้วนมากขึ้นอีกเยอะ - อย่าไปกลัวว่านายทุนจะตาย ช่วงต้มยำกุ้งเราก็เห็นมาแล้วว่านายทุนทุกคน \"พกฟูก\" กันทั้งนั้น นอกจากนั้น การตายของนายทุนหมายถึงการปิดโรงงานที่ขาดทุน แล้วก็เอาทุนไปลงทุนทำธุรกิจอย่างอื่นได้ภายในเวลาข้ามคืน - ในโลกทุกวันนี้ ทุกคนต้อง \"ปรับตัว\" ตามให้ทันด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นแรงงาน นายทุน พรรคการเมือง หรือเทวดาฟ้าดินที่ไหน เพราะกับปรับตัวคือหัวใจที่สำคัญที่สุดของการอยู่รอด - เราปฏิเสธไม่ได้ว่าอย่างไรก็ตาม ค่าแรงขั้นต่ำควรเพิ่มขึ้น ทั้งในแง่ตัวเลขเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน ในเชิงมนุษยธรรม หรือในเชิงฉันทามติในทางการเมือง ประเด็นมันควรอยู่ที่ว่าทำอย่างไรจึงจะทำได้สำเร็จอย่างแท้จริง - เราไม่สามารถดูเพียง \"ค่าแรง\" ได้ แต่ต้องดูค่าแรงเทียบกับเงินเฟ้อด้วย เช่น ถ้าค่าแรงเพิ่มขึ้น 50% แต่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 30% ก็เท่ากับว่าค่าแรงเพิ่มจริงๆเพียง 20% - การทำเรื่องนี้ให้สำเร็จต้องอาศัยนโยบาย \"ครบชุด\" ซึ่งจะต้องบริหารจัดการเรื่องอัตราว่างงาน และเงินเฟ้อ ให้ได้ - พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้เป็นรัฐบาล เรายังไม่ได้ฟังอะไรอย่างเป็นทางการจากพวกเขา - ต่อให้พรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้ง วันนี้เราก็ต้องนั่งเถียงกันเรื่อง 25% อยู่ดี - นโยบายค่าแรงเป็นเรื่องปลายเหตุและระยะสั้น เพราะเมื่อเงินเฟ้อปรับตัวตามมาเมื่อไหร่ ค่าแรงที่เพิ่มก็เท่ากับไม่ได้เพิ่มอีกต่อไป - สรุปอีกครั้งว่าแม้มันเป็นเรื่องควรทำ แต่มันทำได้ยากมากโดยเฉพาะเรื่องการควบคุมเงินเฟ้อ ทางแก้ปัญหาเรื่องแรงงานอย่างถาวรคือการมุ่งเพิ่มทักษะของคนในประเทศในระยะ ยาว มุ่งทำให้มีคนที่ต้องอยู่ในระดับ \"ค่าแรงขั้นต่ำ\" ให้น้อยที่สุด - ขอให้ดูตัวอย่างประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายที่เขาไม่ต้องมาเถียงกันเรื่องค่า แรงขั้นต่ำเท่าไหร่นัก เพราะคนในประเทศมีทักษะสูงมากพอจะได้ค่าแรงเหนือระดับราคาขั้นต่ำ สังเกตได้ว่า พวกเขาจะมีปัญหาขาดแคลนแรงงานขั้นต่ำจนต้อง \"นำเข้า\" จากต่างประเทศเสียด้วยซ้ำ เพราะประชาชนในประเทศเขาแทบจะไม่มีใครต้องมาทำงานแบบไร้ทักษะอีกต่อไป"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท