Skip to main content
sharethis

นับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยได้ชูนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ ในช่วงเลือกตั้งปีที่แล้ว ได้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงหาเสียงและหลังจากพรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ได้ออกมากล่าวว่านโยบายนี่จะทำให้คนตกงาน[1] แต่หลังจากนั้นในวันที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภานายอภิสิทธิ์[2] ก็ได้ลุกขึ้นอภิปรายทวงนโยบายนี้ โดยอ้างว่า “ท่านได้สร้างความคาดหวังไว้แล้ว ท่านต้องทำ และ ทำทันทีอย่างที่ได้ประกาศไว้" และล่าสุด(29 ธ.ค.)นายอภิสิทธิ์[3]  ก็ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลออกระบบการดูชดเชยอุตสหกรรมที่ตกอยู่ภายใต้ความเสียงจากนโยบายนี้  และยังมองว่ารัฐดำเนินการไปน้อยและไม่ได้ศึกษาถึงผลกระทบที่แตกต่างด้วย

อย่างไรก็ตามการขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศก็เข้าใกล้ความจริงมากแล้ว ซึ่งก่อนหน้านั้นได้มีการขึ้นใน 7 จังหวัดนำร่อง และเมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมาก็ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วว่าให้จังหวัดที่เหลือมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ในวันที่ 1 ม.ค.56 นี้ จึงยิ่งก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในส่วนที่สนับสนุนและคัดค้าน โดยเฉพาะบรรดาภาคธุรกิจที่ออกมาขู่ว่าจะมีการย้ายฐานการผลิตปิดโรงงาน เป็นต้น แน่นอนว่านโยบายที่จะมีการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท นี้ไม่ได้เป็นเพียงการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำที่ก้าวกระโดดเท่านั้น ยังหมายรวมถึงการขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ ที่จากเดิมมีการแบ่งโซนค่าจ้าง สิ่งนี้จะคาดการณ์ได้ว่าย่อมส่งผลต่อโครงสร้างตลาดแรงงานและระบบเศรษฐกิจในอนาคตอย่างแน่นอน ดังนั้น ก่อนจะถึงวัน ดี-เดย์ 1 ม.ค.นี้ ทางประชาไท จึงได้สัมภาษณ์คุณวรดุลย์ ตุลารักษ์ นักวิจัยด้านเศรษฐกิจและแรงงาน เพื่อพิจารณ์นโยบายนี้ และมองไปข้างหน้าประเทศไทยหลัง 300 บาททั้งแผ่นดินว่าหน้าตาจะเป็นอย่างไร

วรดุลย์ ตุลารักษ์ นักวิจัยด้านเศรษฐกิจและแรงงาน

ประชาไท : เราจะเห็นภาคธุรกิจและภาครัฐที่ออกมามีบทบาทในการถกเถียงประเด็นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศที่จะมีการขึ้นในวันที่ 1 ม.ค.นี้ ในมุมมองของคุณวรดุลย์ ประเทศไทยหลังขึ้นค่าแรงจะมีผลกระทบอย่างไร

วรดุลย์ ตุลารักษ์ : ก่อนอื่น ประเทศไทยเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตรวดเร็วและประสบผลสำเร็จมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปีที่แล้ว ธนาคารโลกขยับให้เป็นประเทศเศรษฐกิจระดับกลางช่วงบน ( upper-middle income) จากประเทศเศรษฐกิจระดับกลางต่ำ (lower-middle income)  ถ้าดู GDP per capita ผลผลิตมวลรวมประชาชาติต่อหัว คือเอาจีดีพีหารด้วยจำนวนประชากร จะอยู่ที่ประมาณ 5000 เหรียญสหรัฐต่อปี ส่วนรายได้ประชาชาติต่อหัวหรือ GNI ประมาณ 4500 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แต่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจไม่ได้กระจายไปยังคนงานอย่างที่ควรจะเป็น เช่น คนงานจำนวนมากทำงานเป็น 10 ปีไม่มีความก้าวหน้ายังกินแค่ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ รายได้ยังต่ำกว่ารายได้ประชาชาติต่อหัว ทำงานมา 10 ปีถูกเลิกจ้างไปก็มีเยอะ   

คราวนี้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก่อนพูดถึงผลกระทบ เราควรตั้งต้นการคิดจากฐานว่า ในโลกของการแข่งขัน ธุรกิจต้องปรับตัวในสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ที่เปลี่ยนไปเร็ว การขึ้นค่าจ้างก็เป็นหนึ่งในสิ่งแวดล้อมใหม่ด้วย และเราควรจะมาพูดถึงหลักการกันก่อนว่าในการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นประกอบด้วย

ประเด็นที่ 1 การขึ้นค่าจ้างเพื่อให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของกำลังแรงงานกว่า 30 ล้านคน ที่เป็นคนงานในโรงงาน แรงงานนอกระบบ หรือคนที่กำลังออกจากภาคเกษตรเข้ามาในอุตสาหกรรม ประเด็นที่ 2 คือ การบังคับใช้ไปทั่วประเทศในอัตราเดียวกัน อันนี้เป็นหลักการที่ดีหรือไม่

สำหรับประเด็นเรื่องการขึ้นค่าจ้าง หากมองในแง่คนงานจำนวนมากที่อยู่ในสังคมเดียวกับเราได้รับค่าจ้างวันละ 300 บาททำงานวันละ 8 ชั่วโมง 40 ชั่วโมงต่ออาทิย์ก็จะได้ เดือนละ 6000 บาท ต่ำกว่ารายได้ประชาชาติต่อหัวเกือบ 2 เท่า ทีนี้คนเงินเดือน 6000 บาท ถ้าทำทุกวันไม่มีวันหยุดตลอดทั้งเดือนก็จะได้ 9000 บาท ชีวิตคนจำนวนมากที่อยู่ได้นั้นก็ไม่ใช่เพียงตัวเองยังรวมถึง ลูก เมีย ครอบครัวด้วย แล้วถามว่า 300 บาทมันมากเกินไปหรือไม่ ผมคิดว่าคนๆหนึ่งก็ไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้โดยเงินเดือนเท่านี้ และสามารถที่จะหยุดเสาร์-อาทิตย์ พักผ่อน อยู่กับครอบครัว ศึกษาหาความรู้ เหมือนคนอื่นๆที่ควรจะเป็น มันจึงเป็นเรื่องของคุณภาพชีวิตของกำลังแรงงานของเรา ตอนนี้ ชีวิตคนงานไม่ได้อยู่ได้ด้วยค่าจ้างอย่างเดียว เมื่อค่าจ้างต่ำ คนงานต้องอยู่ได้ด้วยรายได้อื่นๆ ที่ต้องขูดรีดกำลังและเวลาของตัวเองไป เช่น การทำโอทีจนเกินกำลัง เท่าที่ทราบ หลายบริษัท คนงานทำงานอาทิตย์นึง 60-70 ชั่วโมงก็มี  โดยที่ต้องทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด ไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว ไม่มีเวลาศึกษาหาความรู้อ่านหนังสือหรือสันทนาการอื่นๆ ถามว่า สังคมจะพัฒนาไปได้อย่างมีคุณภาพหรือไม่

ดังนั้นเวลาจะพูดถึงผลกระทบนั้นจึงต้องมาพูดที่หลักการก่อนว่ามันถูกต้องหรือไม่ และในประเด็นที่ 2 การขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นหลักการที่ถูกต้อง หากเราประยุกต์เอาหลักการไม่เลือกปฏิบัติที่อยู่ในอนุสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวกับแรงงาน เช่น องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO  หรือไกด์ไลน์ของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว OECD ที่ใช้กับบรรษัทข้ามชาติที่มาลงทุนในประเทศอื่นๆ เราก็ต้องมีดีเบทกันว่าทำไมคนงานลำพูนทำงานบริษัทเดียวกับที่สมุทรปราการ ที่ลำพูนได้ 165 บาท ที่สมุทรปราการ 215 บาท คนงานที่ทำการผลิตเหมือนกัน ทำไมได้รับค่าแรงที่ต่างกัน ซึ่งอันนี้ถือเป็นการเลือกปฏิบัติสำหรับคนที่อยู่ต่างพื้นที่กันหรือไม่ทั้งๆที่ทำงานในลักษณะเดียวกัน

แล้วถ้าการแบ่งโซนก็มีการยกเรื่องเพราะค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่ต่างกัน

ยกตัวอย่างอาหารที่กำหนดความเป็นอยู่พื้นฐานขั้นต่ำสุดของคน หากมีการโต้แย้งเรื่องที่ว่าลำพูนค่าครองชีพต่ำกว่ากรุงเทพ เราจำเป็นที่จะลงไปดูในรายละเอียดว่า เป็นค่าครองชีพในเรื่องอะไร และอะไรเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของคนงานแต่ละคน หนังสือ เครื่องกีฬา จำเป็นหรือไม่  ผมคิดว่าข้าวสารในลำพูน กับกรุงเทพ ราคาไม่ได้ต่างกันมาก รวมทั้งสินค้าบางประเภทที่ลำพูนก็อาจจะสูงกว่าที่กรุงเทพด้วยซ้ำ ต้องแยกแยะว่าสินค้าที่คนงานต้องบริโภคคืออะไรและที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคืออะไร ดังนั้นการยกเรื่องความแตกต่างในค่าครองชีพอาจไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงเสมอไป เพราะมันเป็นการคำนวณรวมๆ

สำหรับการขึ้นค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศ ก็เป็นความเป็นธรรมอย่างหนึ่งทำให้คนงานไม่ได้สงสัยต่อนโยบายของรัฐว่า ทำไมการเป็นคนลำพูนจึงได้ค่าแรงที่ต่ำกว่า ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นทางการเมือง ซึ่งสังคมหากให้คนเกิดคำถามถึงความแตกต่างขึ้นเรื่อยๆ ผลที่ไม่ใช่ในทางเศรษฐกิจ แต่ในทางความรู้สึกของคนที่อยู่ร่วมในสังคมเดียวกันก็จะเป็นผลร้าย ซึ่งไม่ใช่ที่ตัวเงินมากกว่าด้วยซ้ำ บางนโยบายไม่ใช่เพียงแค่ตัวเงิน แต่เป็นเรื่องการปฏิบัติอย่างเสมอภาค

ดังนั้นการขึ้นค่าแรงในทางการเมืองจึงมีความสำคัญ เพราะการเมืองในระบบประชาธิปไตยต้องให้ทุกคนรู้สึกถึงความเท่าเทียมกันได้มากที่สุด อย่างน้อยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ เพราะการถูกเลือกปฏิบัติโดยเฉพาะในสังคมไทยก็มีปัญหาเรื่อยมา เช่น เรื่อง 2 มาตรฐาน  ดังนั้นประเด็นนี้จึงเป็นการพัฒนาประเทศเพื่อให้คนในสังคมมีความรู้สึกร่วมที่เสมอภาคกันก่อนที่จะไปถึงเรื่องอื่นๆ

บางท่านที่บอกว่า นโยบายค่าแรง 300 บาทนั้นไม่ควรเป็นเรื่องการเมือง ควรเป็นเรื่องเศรษฐกิจ แต่ผมกลับคิดว่ามันต้องเป็นเรื่องการเมือง เพราะเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้ใช้สิทธิใช้เสียงในสังคมประชาธิปไตยมีความรู้สึกที่เสมอภาคกัน แล้วจึงค่อยๆ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในภาพรวมกันต่อไป ดังนั้นผลที่ไม่ใช่ตัวเงิน กลับมีความสำคัญกว่า หากเราจะพัฒนาประเทศที่ให้มีความเป็นประชาธิปไตยในทางการเมือง และในทางเศรษฐกิจก็เป็นประชาธิปไตยด้วย

อย่างคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ก็ออกมาบอกว่านโยบายนี้เป็นไปไม่ได้ ควรจะปล่อยให้เป็นค่าแรงแบบลอยตัวมากกว่า หรือภาคธุรกิจก็บอกว่าจะมีการย้ายฐานการผลิต คิดว่าจริงหรือไม่

เรื่องนี้ ควรมีการไปถามคนที่ได้รับค่าแรงต่ำกว่า 300 บาทซึ่งเป็นคนจำนวนมากในสังคม และมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับนโยบายนี้ว่า เขาต้องการได้รับการค่าแรงขึ้นหรือไม่ โครงสร้างรายรับรายจ่ายในปัจจุบันของเขาเป็นอย่างไร ถ้าสังคมเราเป็นประชาธิปไตยก็ต้องไม่ชี้นำด้วยความเห็นของเทคโนแครต นักธุรกิจ และชนชั้นนำ เพียงอย่างเดียว ถ้าเป็นนักวิจัย หรือสำนักงานสถิติแห่งชาติ ก็ควรทำการสำรวจรวมรวมข้อมูลพื้นฐานและความต้องการของคนที่ได้ค่าแรงต่ำกว่า 300 บาทมาก่อน แล้วถึงนำมาเป็นส่วนในการวิเคราะห์ผลกระทบที่พูดกันถึงจะมีความน่าเชื่อถือ เราจะตอบคำถามเรื่องผลกระทบได้โดยไม่คาดเดามากนัก

สำหรับการย้ายฐานการผลิตก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งมาจากหลายปัจจัย เช่น ลักษณะของอุตสาหกรรม ตลาดส่งออก ระบบโลจิสติก ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า สิ่งทอ มีการย้ายฐานการผลิตจากประเทศพัฒนาแล้วมายังประเทศกำลังพัฒนา นอกจากแรงจูงใจด้านค่าแรงแล้ว บริษัทข้ามชาติหลายแห่งเลือกลงทุนในประเทศที่มีแรงจูงใจสูงกว่าในเรื่องอื่นๆ อย่างกฎหมายแรงงานที่ไม่ดีต่อลูกจ้างมากนัก หรือ ยกเว้นการคุ้มครองไว้โซนเศรษฐกิจพิเศษ เช่น บังคลาเทศ ในโซนเศรษฐกิจพิเศษค่าแรงสูงกว่าโซนอื่น แต่ห้ามตั้งสหภาพแรงงาน เป็นต้น หรือ หลังน้ำท่วม หรือในช่วงกลางๆ 1980 บริษัทญี่ปุ่นก็แห่มาลงทุนในไทยเรื่องหลัก ไม่ใช่เรื่องค่าแรงถูก แต่เป็นอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินเยนที่สูงเกินจริงก้ต้องหาฐานการผลิตใหม่เพื่อส่งออก ก้เป็นช่วงที่การลงทุนโดยตรงต่างประเทศสูงสุด ตั้งแต่ 1960 เป็นต้นมา

ที่กังวลกันว่าบริษัทต่างๆ จะย้ายฐานการผลิต โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ ของญี่ปุ่น เช่น บริษัทผลิตรถยนต์ โตโยต้าเข้ามาลงทุนตั้งแต่ปี 1960 ตอนนี้ก็ยังอยู่ ไม่ได้ย้ายฐานการผลิตไปไหน ขยายโรงงานเพิ่มด้วยซ้ำ แล้วค่าแรงของคนงานในอุตสาหกรรมนี้ก็สูงพอสมควรเทียบกับค่าจ้างขั้นต่ำ โบนัสปีนี้คนงานก็ได้หลายเดือน  

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการย้ายฐานการผลิตคือวิธีคิดในการบริหารงานของบริษัทนั้นๆ ถึงค่าแรงต่ำก็ย้ายได้อยู่ดี แต่ก่อนหลายบริษัทเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ที่กำแพงภาษีต่ำกว่าส่งออกจากประเทศตัวเอง ดังนั้นการย้ายฐานการผลิตมีเหตุผลหรือปัจจัยหลายอย่าง

แล้วจากนโยบายนี้จะก่อให้เกิดการเร่งการย้ายฐานการผลิตอย่างที่สมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ ออกมาบอกหรือไม่

ตัวอย่างล่าสุดที่อินโดนีเซีย มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดมากกว่าไทยคือประมาณ 45 เปอร์เซนต์ นักเศรษฐศาสตร์บอกว่า การลงทุนจากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นอีก เพราะจีดีพีเราโต 6 เปอร์เซนต์ ประธานาธิบดี บัมบัง บอกว่า อินโดนีเซียหมดยุคของแรงงานราคาถูกแล้ว  นักเศรษฐศาสตร์จาก HSBC ก็ออกมาพูดว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศต่างๆ ในเอเซียตอนนี้ ไม่มีผลกระทบด้านลบกับจำนวนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เงินเฟ้อไม่เพิ่ม การจ้างงานก็ไม่ลดลง    

การย้ายฐานการผลิตที่พูดกันขึ้นอยู่ขึ้นกับแนวคิดในการบริหารบริษัทของตัวเอง ถ้าเขาคิดว่าอยู่ในไทยแล้วมีความได้เปรียบในทางธุรกิจเขาก็จะอยู่ต่อ โดยภาพรวม เรื่องย้ายฐานการผลิตมักจะเป็นคำขู่มาเสมอเวลาจะมีการขึ้นค่าจ้าง เกิดขึ้นมานานแล้ว บางทีการย้ายฐานการผลิตอาจไม่ใช่เรื่องการขึ้นค่าจ้างเป็นหลัก แต่เป็นปัจจัยเรื่องการมีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง เช่น กรณีอย่างไทรอัมพ์ฯ ที่จะมีการย้ายไปที่นครสวรรค์ คือย้ายฐานการผลิตไปในเขตที่ไม่มีสหภาพแรงงาน ซึ่งในประเทศตะวันตกก็เกิดเรื่องเหล่านี้เหมือนกัน การย้ายฐานการผลิตหนีการมีสหภาพแรงงาน ซึ่งนอกจากเรื่องค่าจ้างหรือเรื่องอื่นๆ ที่เป็นตัวเงินแล้ว สหภาพแรงงานไม่ได้ต่อรองเรื่องค่าแรงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการตัดสินใจร่วมกัน ในเรื่องที่ไม่ใช่ตัวเงินด้วย มันเป็นเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างพนักงานกับฝ่ายบริหาร สหภาพสามารถคุยกับผู้บริหารในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่ตัวเงิน เช่น การลงโทษทางวินัย เป็นต้น อีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น สหภาพแรงงานบริษัทฮุนได มอร์เตอร์ ยื่นข้อเรียกร้องกับฝ่ายบริหารจนทำเป็นข้อตกลงสองฝ่ายว่าหากจะย้ายฐานการผลิตต้องปรึกษาหารือกับสหภาพแรงงาน และแจ้งล่วงหน้าระยะเวลาที่นานพอสมควรก่อน เป็นต้น

ประเทศไทยที่มีการกล่าวว่าเป็นประเทศที่เป็นอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้น ดังนั้นการขึ้นค่าแรงจึงส่งผลกระทบมาก ใช่หรือไม่

งานวิจัยบางของนักวิชาการในมหาลัยดังของสหรัฐปีที่แล้ว เช่น เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำในร้านอาหารของรัฐต่างๆ ก็ชี้ว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่มีผลให้การจ้างงานลดลง บางชิ้นบอกว่าทำให้จ้างงานเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ   ส่วนของไทยก็มีงานวิจัยหลายชิ้น เช่น งานวิจัยเมื่อปีที่แล้วของแบงค์ชาติไทยเอง ที่บอกว่า ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน ผลิตภาพของแรงงานไทยเพิ่มที่สูงขึ้นในอัตราที่รวดเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของค่าแรง ช่องว่างถ่างออกมากขึ้น หมายความว่าคนงานต้องผลิตสินค้าจำนวนมากขึ้นในขณะที่ค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นน้อย

และในความเป็นจริงอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกก็เป็นอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น ยานยนต์ อิเลคทรอนิกส์ ปิโตรคนงงานได้ค่าแรงเกิน 300 บาทไปแล้ว  ดังนั้น 300 บาทจึงเป็นขั้นต่ำจริงๆ ไม่ใช่พูดกันเหมือนว่าเป็นค่าจ้างขั้นสูงสุด

รวมถึงการแบ่งโซนค่าแรงที่ผ่านมาที่ค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละพื้นที่ต่างกัน ทำไมถึงให้ค่าของคนงานต่างกัน  

เรื่องการกำหนดโซนค่าแรงนั้น อาจเพื่อให้เกิดการกระจายการความเจริญ ซึ่งในหลายประเทศก่อให้เกิดปัญหามากกว่า โดยเฉพาะกับคนงาน เช่นในประเทศเอเชียหลายประเทศที่เรียกชื่อ  Export Processing Zones : EPZs ก็เป็นการกำหนดโซนให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนภายใต้เงื่อนไขต่างๆ เช่น ลดภาษี รวมถึงการไม่มีสหภาพแรงงาน ซึ่งกลายเป็นผลเสียมากกว่าผลดีในแง่ของความเจริญ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าการแบ่งโซนค่าแรงนั้นก่อให้เกิดผลเสียกับคนงานมากกว่า เพราะคนงานผลิตสินค้าเดียวกันจากบริษัทข้ามชาติบริษัทเดียวกัน แต่ได้ค่าแรงที่ต่างกัน

ข้อกังวลในเรื่องผลกระทบระยะสั้น จากการขึ้นค่าแรง 300 บาท ทั่วประเทศ เช่น การย้ายการผลิตมาในโซนที่มีสาธารณูปโภคหรือโลจิสติกส์ (logistics)ที่ดีกว่านำไปสู่การกระจุกตัว คิดว่าจะมีปัญหาหรือไม่และควรมีมาตรการป้องกันอย่างไร

ในยุคใหม่ตั้งแต่มีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ขึ้นมา เรื่องค่าจ้างเป็นแรงดึงดูดในการลงทุนน้อยกว่าโลจิสติกส์ จึงไม่แปลกใจที่บริษัทจะมาลงทุนใกล้กับท่าเรือ ยอมค่าแรงสูงเพื่อให้ใกล้ท่าเรือมากกว่า ปัจจุบันมีบริษัทข้ามชาติ มาลงทุนทำโกดังเป็นแวร์เฮ้าส์อย่างเดียว เพื่อที่จะเอาของมาเก็บเพื่อที่จะกระจายอย่างเดียว การพัฒนาอุตสาหกรรมก็จะมีแนวโน้มในการกระจุกตัว ถ้ากลัวเรื่องกระจุกตัว ก็ต้องแก้ที่ทำระบบสาธารณุปโภคและโลจิสติกส์ให้กระจายออกไปในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้นดีขึ้น

และกรณีที่ก่อให้เกิดการกระจุกตัวของการพัฒนาที่เกิดเมืองโตเดี่ยวจะส่งผลทางการเมืองในความรู้สึกความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำหรือไม่

การพูดถึงระบบโลจิสติกส์มีหลายแบบ ซึ่งอาจไม่เฉพาะใกล้ท่าเรือก็ได้ เช่น ใกล้ประเทศลาว กัมพูชา ก็สร้างการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม (Cluster) ในพื้นที่ก็ได้ ปัญหาคือนโยบายอุตสาหกรรมต้องชัดเจนว่าสินค้าอะไร จะไปขายอะไรที่ไหน ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นอย่างไร บริเวณที่ติดชายแดนอินโดจีน คนก็ไปลงทุนไม่จำเป็นต้องติดท่าเรือ ตัวอย่างเช่น ล่าสุดในอุบล ก็มีบริษัทจากจีนเริ่มเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานขนาดใหญ่ผลิตไบโอดีเซลจากมันสัมปะหลัง

การที่คนงานมีค่าแรงหรือเงินในกระเป๋ามากขึ้นจะมีผลดีกับทุนในท้องถิ่นหรือไม่

อันนี้เป็นเรื่องที่นักเศรษฐศาสตร์ก็พูดกันโดยปกติ เมื่อคนงานมีกำลังซื้อมากขึ้น เงินก็หมุนได้หลายรอบมากขึ้น เศรษฐกิจก็จะโตขึ้น

อีกเรื่องหนึ่งคือ ประเทศที่ค่าแรงต่ำจะไม่สามารรถเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)ได้ เพราะหากได้ค่าแรงต่ำสิ่งที่ต้องทำคือการทำล่วงเวลาหรือโอที บางโรงงานในไทยทำวันละ 16 ชม. หยุดวันอาทิตย์วันเดียว เหมือนคนงานอังกฤษเมื่อร้อยปีก่อนทำให้ไม่มีเวลาที่จะทำอย่างอื่น คิดพัฒนาผลิตภัณฑ์ ศึกษาหาความรู้ก็ สังคมก็ไม่สามารถเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้

ส่วนเรื่อง SMEs ที่จะได้รับผลกระทบนั้น ในสหรัฐอเมริกาเขาจะมีการให้แต้มต่อ เช่น การให้แต้มต่อในการจัดซื้อจัดจ้างในรัฐนั้นๆ หรือให้รัฐเลือกซื้อในบริษัทขนาดเล็กก่อน ซึ่งหลักการค่าแรงนั้นถูกแล้ว จึงขึ้นอยู่กับแต้มต่อที่รัฐต่อให้ แต่ก็ต้องแยกให้ออกว่าบริษัทไหนเป็น SMEs โดยที่ไม่ได้ให้ครอบคลุมไปถึงบริษัทขนาดใหญ่ด้วย

เรื่องค่าจ้างหรือรายได้ไปสัมพันธ์กับเรื่องชั่วโมงการทำงาน ถ้าเราพูดถึงค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ก็หมายถึง 8 ชั่วโมงการทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องการรณรงค์ของแรงงานสากลมาอย่างยาวนานแล้ว ที่พูดถึงระบบ 8-8-8 คือ 8 ชั่วโมงการทำงาน 8 ชั่วโมงพักผ่อนและ 8 ชั่วโมงศึกษาเรียนรู้ แต่หากขึ้นค่าแรง 300 บาท แต่ต้องทำงานเกิน 8 ชั่วโมงก็เป็นผลเสีย แม้กฎหมายจะระบุที่ 8 ชม. แต่จะมีโอที

กรณีที่เป็น SMEs ที่รับเหมาช่วงจากบริษัทใหญ่มาทำ จะมีปัญหาเรื่องการต่อรองราคาจากต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้นหรือไม่

ผลกระทบต่อ SMEs นั้นรัฐบาลมีวิธีช่วยได้ ดังนั้นในประเด็นหลักการว่าควรดำเนินนโยบายนี้ รัฐบาลก็จะมีการดำเนินนโยบายสนับสนุนได้มากมาย ส่วนเรื่องการเกรงว่าธุรกิจจะมากระจุกตัวใกล้ท่าเรือหรือที่ๆระบบโลจิสติกส์ดีนั้น รัฐบาลก็สามารถมีมาตรการอื่นในการรองรับได้อีก เช่น การสนับสนุนและหาตลาดให้อุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น

หากหลักการการขึ้นค่าแรง 300 บาทมันถูกต้องแล้ว ที่เหลือเครื่องมือต่างๆของรัฐบาลก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องออกมารองรับ

เรื่องค่าจ้างที่เทียบกับผลิตภาพในการผลิตมีสัดส่วนที่ต่ำในขณะนี้เพราะเหตุใด

ค่าจ้างไทยถูกแช่แข็งในหลายๆเรื่อง เพราะค่าจ้างไม่ได้ขึ้นโดยอัตโนมัติตามอัตราเงินเฟ้อ แต่ค่าจ้างที่เกินขั้นต่ำแล้ว หากไม่มีสหภาพแรงงานก็แล้วแต่นายจ้างปราณีขึ้นมาเอง ดังนั้นการที่ช่องว่าระหว่างค่าจ้างกับผลิตภาพการผลิตที่ห่างเป็นผลมาจากอำนาจการต่อรองของคนงานต่ำ

การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำคือการประกันไว้ว่าอันนี้ต่ำสุดแล้วที่สังคมจะรับได้ ทุกวันนี้เราเถียงกันเรื่องค่าแรงขั้นต่ำราวกับว่าเป็นค่าแรงขั้นสูง จริงๆมันเป็นการประกันว่ามนุษย์คนหนึ่งจะอาศัยอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ แต่ถึงจะมีค่าจ้าง 300 บาท ก็ไม่ได้หมายความว่าคนงานจะอยู่ในสังคมเราได้อย่างมีคุณภาพได้ เพราะ 300 บาท ทำงาน 20 วัน ได้เงินเดือนๆละ 6,000 บาทเอง หากมีลูกก็ไม่สามารถอยู่ได้

สิ่งที่สำคัญที่สุดระบบการจ้างงาน ก้าวแรกคือให้คนได้ขั้นต่ำไปก่อน ก้าวที่สองก็ต้องมีรูปแบบการจ้างงานที่ดีขึ้นมั่นคงขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปมาก เช่น การจ้างแบบไม่มั่นคง จ้างผ่านบริษัทเหมาช่วง subcontract ซึ่งจะเลิกจ้างเมื่อไหร่ก็ได้ การจ้างแบบรายวัน การจ้างแบบปีต่อปี ทำให้ไม่มีความมั่นคงแน่นอน และที่แย่ที่สุดก็คือต้นทุนภาระการผลิตถูกผลักไปที่คนงาน เมื่อการจ้างงานไม่มีความมั่นคง ระบบประกันสุขภาพที่บริษัทเคยซื้อประกันอุบัติเหตุให้ก็ตกอยู่กับภาระของคนงาน และยังตกอยู่กับภาระของรัฐ และผู้เสียภาษีอย่างเราด้วย หากถูกเลิกจ้าง

โดยสรุปแล้วค่าแรงขั้นต่ำเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ไม่เพียงพอ เพราะหากได้ค่าจ้าง 300 บาท แต่ไม่มีหลักประกันว่าจะถูกเลิกจ้างในวันไหน ในระบบการจ้างงานที่ยืดหยุ่นนี่ ดังนั้นรัฐควรจะมีก้าวที่ 2 ต่อไปคือส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานที่มั่นคงขึ้น โดยเครื่องมือของรัฐบาล มีหลายอย่าง เช่น การออกกฎระเบียบมาอย่างบริษัทนายหน้าที่พาคนงานมาทำงานอย่างเดียวอาจจะให้มีการลงทะเบียน หรือการใช้มาตรการการลดภาษีเพื่อจูงใจ ให้มีการจ้างงานประจำ แทนที่จะจ้างงานชั่วคราว

บางประเทศไม่มีค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากขึ้นอยู่กับการต่อรองของสหภาพแรงงานกับบริษัท เช่นในสวีเดน 70-80 % ของกำลังแรงงานเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ดังนั้นค่าแรงก็อยู่ภายใต้ข้อตกลงสภาพการจ้าง แต่ในที่นี้ค่าแรง 300 บาท อย่างน้อยในมุมมองของคนงานก็เป็นการประกันขั้นต่ำ แต่ชีวิตเขาก็ไม่ได้หมายความว่าจะดีขึ้นถ้าไม่มีการประกันเรื่องอื่น เช่น การประกันการรวมกลุ่ม รัฐบาลจะไม่แทรกแซง กระทรวงแรงงานจะเอื้ออำนวยให้เกิดการรวมกลุ่ม

สำหรับการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานมีความสำคัญในแง่ของการตัดสินใจร่วมกันระหว่างฝ่ายลบริหารกับสหภาพแรงงาน เช่น เรื่องค่าจ้าง สวัสดิการ วันลาวันหยุด และหลายๆเรื่อง นโยบายหรือกฎระเบียบที่มีผลกระทบต่อคนงาน เป็นต้น ซึ่งในหลายประเทศข้อตกลงสภาพการจ้างมีหลายประเภทหลายหมวดหมู่เต็มไปหมด ซึ่งเป็นหมวดหมู่ที่ไม่เป็นตัวเงินก็มี เช่นการพูดถึงการปรึกษาหารือกับสหภาพแรงงานหากจะมีการย้ายฐานการผลิต

นโยบายต่างๆ จะมีคนค้านอยู่แล้ว แต่จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคมมากน้อยนี่จึงเป็นสิ่งสำคัญ และการพัฒนาอุตสาหกรรมในแง่เทคโนโลยีมากขึ้น ทำงานเสี่ยงอันตรายน้อยลง ดังนั้นการขึ้นค่าแรงขึ้น 300 บาท มันจะผลักอุตสาหกรรมให้พัฒนาขึ้น

ส่วนเรื่องการย้ายฐานการผลิตนั้น แรงจูงใจในการย้ายไม่ใช่เรื่องค่าจ้างเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องกำแพงภาษี วัตถุดิบที่มีในประเทศนั้นๆ ด้วย ดังนั้นข้ออ้างจะมีเสมอ แม้จะมีบริษัทปิดหรือย้ายจริงเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่อาจจะมีแผนเตรียมย้ายอยู่แล้ว แล้วใช้ข้ออ้างนี้ ซึ่งเป็นคำขู่หรือคำพูดทางการเมืองเพื่อต่อรอง เพื่อให้รัฐบาลหามาตรการช่วยเหลือ จึงเป็นเรื่องการเมืองมากกว่าเศรษฐกิจ

ในส่วนของแรงงานหรือขบวนการแรงงานเองจะต้องเตรียมตัวอย่างไร เช่น 7 จังหวัดนำร่องที่ผ่านมาที่มีการไม่จ่ายเป็นตัวเงินบ้าง จะรับมืออย่างไร

เท่าที่ทราบอย่างกรณีแม่บ้านทำความสะอากในหลายบริษัท การขึ้นค่าแรง 300 บาท นายจ้างก็ลดสวัสดิการเรื่องค่าเช่าบ้านเดือนละ 1,000 บาท เลี่ยงไปลดสวัสดิการเรื่องอื่น และเกิดขึ้นจริง ซึ่งถ้าเกิดขึ้นก็เท่ากับว่าการขึ้นค่าจ้าง 300 บาทจะไม่กระทบต่อต้นทุนของนายจ้างเลย เพราะว่าต้นทุนของนายจ้างไม่ได้มีแค่ค่าจ้าง ยังมีเรื่องของค่าสวัสดิการอื่นๆ แต่อันนี้ไม่สามารถทำได้กับบริษัทที่มีข้อตกลงสภาพการจ้างได้ เพราะการจะปรับลดก็จะต้องผ่านข้อตกลงสภาพการจ้าง ดังนั้นสหภาพแรงงานจึงควรมามองตรงนี้ว่า จะทำอย่างไรให้ 300 บาท เป็นก้าวแรกที่ทำให้คนงานสามารถรวมตัวเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้มากขึ้น เพื่อที่จะมาคุยกันเรื่องค่าจ้างสวัสดิการที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ และนำมาเป็นประเด็นที่จะให้การศึกากับคนงานทั่วไปท่ไม่รู้จักสหภาพแรงงาน หรือไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เพื่อให้เกิดการรวมตัวกันเข้มแข็งขึ้น อย่างที่พูดไปแล้ว เมื่อเดือนตุลาคมคนงานอินโดนีเซียนัดหยุดงานและร่วมชุมนุมกันกว่า 2 ล้านคน ประเด็นที่เรียกร้องคือให้มีการจ้างงานที่มั่นคงขึ้น และสหภาพแรงงานยังนำประเด็นค่าจ้างขั้นต่ำ  ประเด็นการประกันสุขภาพที่ดีขึ้นกับประชาชนทุกคนไม่เฉพาะคนงาน มาเรียกร้องให้รัฐบาลมีนโยบายออกมา

----------

เชิงอรรถ

[1]ดู มาร์คฟันธงขึ้นเดือนคนตกงานเพิ่ม 14 กรกฎาคม 2554 http://www.posttoday.com/การเมือง/99677/มาร์คฟันธงขึ้นเดือนคนตกงานเพิ่ม

[2] ดู "อภิสิทธิ์" ทวงสัญญารัฐบาล "ทำทันที" ค่าจ้าง 300 บาท-ป.ตรี 1.5 หมื่นบ. http://news.thaipbs.or.th/lite/content/อภิสิทธิ์-ทวงสัญญารัฐบาล-ทำทันที-ค่าจ้าง-300-บาท-ปตรี-15-หมื่นบ

[3] ดู ไทยรัฐออนไลน์, 'มาร์ค'รับ ห่วงการเมือง-เศรษฐกิจปีหน้าวิกฤติ แนะ ปชช.ยึดหลักพอเพียง http://www.thairath.co.th/content/pol/315883

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net