Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตามที่มีกระแสข่าวที่ว่า จะมีผู้มีบุญหนักตักใหญ่ได้เข้ามานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกันหลายคนนั้น องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและองค์กรชาวบ้านหลายองค์กรเท่าที่ได้สำรวจ ตรวจสอบดูพบว่า ทุกคนต่างมีความรู้สึกกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อกรณีดังกล่าว และหากพรรคเพื่อไทยด่วนตัดสินใจโดยไม่ดูภูมิหลังคนที่จะมาเป็น รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ อาจจะนำไปสู่การสร้างความขัดแย้งกับชาวบ้านและเอ็นจีโอต่างๆ รวมทั้งองค์กรชาวบ้านไม่มีที่สิ้นสุด จากนโยบายปรองดองก็อาจจะกลายเป็นการเป็นชนวนความขัดแย้งกลุ่มใหม่ ซึ่งจะกลายเป็นการทำลายฐานเสียงผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยไปในที่สุดได้ บุคคลที่พรรคการเมืองควรที่จะเสนอให้เข้ามาอยู่ในตำแหน่งเสนาอำมาตย์ระดับเจ้ากระทรวงนั้น ควรจะเป็นบุคคลที่สังคมให้การยอมรับ แต่มิใช่เอาคนที่มีประวัติด่างพร้อยมาทำงาน แม้จะดูเก่งเลิศเลอสักปานใด หากมีประวัติที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม และเคยต้องคำสั่งถูกลงโทษทางวินัยมาแล้วก็ยิ่งต้องกลั่นกรองมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้แม้ผู้ที่จะถูกเสนอชื่อหลายคน จะมีความรู้ความสามารถชั้นเทพเพียงใดก็ตาม แต่ทว่าในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลับต้องมีกระบวนการตรวจสอบประวัติและความเหมาะสมกันเสียก่อน มิใช่มีตำแหน่งในพรรคระดับสูงแล้วจะให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้ากระทรวงไหนก็ได้ เพราะหากปล่อยให้ผ่านเลยไป ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะมีผลต่อการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิของประชาชนในอนาคตด้วย ดังนั้นใครก็ตามที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอให้เข้ามาเป็น รมว.กระทรวงฯนี้ ควรต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าบุคคลคนนั้น... 1) เคยมีพฤติการณ์ แอ็คท่าใช้ปืนสงคราม HK33 เล็งยิงลูกจรเข้ในบ่อเลี้ยงที่นครสวรรค์ มาแล้วเมื่อ ประมาณปี พ.ศ. 2538 หรือไม่ เพื่อให้นักข่าวบันทึกภาพ เนื่องจากเกิดวิกฤตน้ำท่วมปริ่มบ่อแล้ว กลัวมันจะหนีไปทำร้ายชาวบ้าน ทั้ง ๆ ที่มีวิธีหรือมาตรการจัดการให้ปลอดภัยต่อสัตว์และคนอีกมากมายในโลกนี้ แต่คนพวกนี้กลับเลือกใช้วิธีการยิงจระเข้ดังกล่าวทิ้งเสีย ทั้ง ๆ ที่พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ได้กำหนดไว้ชัดเจน ให้ จระเข้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย 2) เคยถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า มีความผิดวินัยร้ายแรง เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ม. 23 และ ม.26 เนื่องจากบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว ได้กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้าหรือส่งออกสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งรวมถึงเสือโคร่งด้วย เว้นแต่เป็นการทําเพื่อประโยชน์ในการสำรวจ การศึกษาและวิจัยวิชาการ การคุ้มครองสัตว์ป่า การเพาะพันธุ์ หรือเพื่อกิจการสวนสัตว์สาธารณะ ซึ่งกระทําโดยราชการ และโดยได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี และต้องปฏิบัติตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ แต่กรณีดังกล่าว เป็นการขออนุญาตส่งออกเพื่อประโยชน์ในกิจการสวนสัตว์สาธารณะของบริษัทเอกชน มิใช่การเพาะพันธุ์หรือเพื่อกิจการสวนสัตว์สาธารณะที่ทําโดยราชการ จึงเป็นการกระทําที่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนได้รับประโยชน์จากการส่งออกสัตว์ป่าคุ้มครอง เป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย การกระทําของบุคคลและข้าราชการที่เกี่ยวข้อง จึงมีมูลความผิดวินัยร้ายแรง และเป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 157 ทั้งนี้ บริษัทที่ขออนุญาตส่งออกเสือโคร่ง คือบริษัทสวนเสือศรีราชา ( ศรีราชา ไทเกอร์ ซู ) ส่งออกเสือโคร่งจำนวน 100 ตัว ไปยังสวนสัตว์ซันหยา ไมตรี คอนเซ็ปท์ จำกัด สาธารณรัฐประชาชนจีน 3) เคยเป็นบุคคลที่ถูกกลุ่มชาวบ้านภาคีฮักเชียงใหม่และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีฟ้องร้องต่อศาลปกครองกล่าวหาว่าโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ก่อสร้างและดำเนินการในเขตอุทยานแห่งชาติ ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 16 และขัดต่อมาตรา 42 ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 และการนำสัตว์เข้ามาอยู่ในโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เป็นการกระทำผิดต่อปฏิญญาสัตว์ป่าสากล CITES และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า รวมทั้งเป็นการกระทำทารุณต่อสัตว์ และกรณีสวนสัตว์กลางคืน หรือเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ดำเนินการโดยนำสัตว์ป่าสงวนมาจากประเทศเคนยา โดยการบันทึกข้อตกลงร่วมกัน(MOU) ระหว่างประเทศไทยกับเคนยา ซึ่งขัดต่อปฏิญญาสัตว์ป่าสากล CITES โดยเคลื่อนย้ายสัตว์ป่าดุร้ายมาอยู่ในที่คุมขังหรือไม่ 4) เคยถูกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีลงโทษไล่ออกจากราชการจริงหรือไม่ในสมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นผู้ลงนามในคำสั่ง ซึ่งระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า การกระทำของบุคคลผู้ถูกร้องเรียนมีมูลความผิดทางวินัยร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ...และฐานกระทำอันเชื่อได้ว่า เป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง... ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ ซึ่ง อ.ก.พ.กระทรวงได้มีมติให้ลงโทษไล่ออกจากราชการ แม้ต่อมาจะมีพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษรวม ๆ ให้กับผู้กระทำความผิดในช่วงระยะเวลาดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ในประเด็นเรื่องของจริยธรรมนั้น ไม่มีกฎหมายฉบับใดสามารถยกเว้นความผิดให้ได้ 5) เคยมีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 174 (4) ประกอบมาตรา 102 (6) ที่ว่าเคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการแล้ว จะสามารถเสนอให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้หรือไม่ 6) เคยไปออกรายการ \ถึงถูกถึงคน\" ร่วมกับนายชัยพันธ์ ประภาสะวัต ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อสิทธิชุมชน แต่ถูกคนใกล้ชิดของบุคคลดังกล่าวทำร้ายร่างกายจริงหรือไม่ ซึ่งองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ได้ออกมากล่าวถึงกรณีนี้ว่าเป็นการคุกคามตัวแทนขององค์กรประชาชน ที่ออกมาปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ รวมไปถึงการเรียกร้องให้บุคคลดังกล่าวลาออกจากตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากเห็นว่าเป็นผู้มีตำแหน่งเป็นถึงอดีตข้าราชการระดับสูงและมีตำแหน่งทางการเมืองเป็นถึงรัฐมนตรีควรต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แม้แต่อดีตนายกรัฐมนตรียังรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพราะฉะนั้นการกระทำที่ไม่เคารพต่อประชาชนและมีพฤติกรรมชอบใช้อำนาจไม่ควรที่จะดำรงตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้นในรัฐบาล 7) เคยเป็นบุคคลที่มีทัศนคติหรือมีลักษณะแนวคิดการทำงานที่มีปัญหาขัดแย้งกับชาวบ้านอย่างหนักมาโดยตลอดหรือไม่ นอกจากนั้น การที่บุคคลที่มีบุคลิกที่เชื่อมั่นในตนเองสูงและมีลักษณะการบริหารงานแบบรวมศูนย์ฯได้เข้ามาเป็นรมว.สิ่งแวดล้อมฯ จริงอาจจะเพิ่มปัญหามากขึ้นเป็นหลายเท่าหรือไม่ และอาจจะกลับกลายเป็นผลสะท้อนกลับไปทำลายพรรคเพื่อไทยในอนาคตได้หรือไม่ เนื่องจากฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยก็คือคนในชนบท ที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก ต่อระบบการทำงานแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ภาคราชการเพียงอย่างเดียว ทำให้ในขณะนี้ เกิดปัญหาต่อคนในชนบทอย่างมากมายที่ต้องพึ่งพาอาศัยทรัพยากรในพื้นถิ่นทำมาหากิน ที่ทำให้คนไทยเป็นล้านๆ คนที่อยู่ในป่าต้องกลายสภาพเป็นผู้บุกรุก ซึ่งไม่มีประเทศใดในโลกปล่อยให้คนไม่มีที่อยู่ไม่มีที่ทำกินและต้องมีสภาพอยู่อย่างผิดกฎหมายมากมาย บางรายต้องติดคุกเหมือนกับอาชญากร ข้อมูลเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่ว่าที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องพิจารณาไตร่ตรองให้ถ้วนถี่ เพื่อที่จะได้หาตัวบุคคลที่มาดูแลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชาติได้ถูกคนถูกหน้าที่ได้ ที่สำคัญต้องเป็นคนที่ลงมาร่วมแก้ไขปัญหากับชาวบ้านและผู้มีส่วนได้เสียในกิจกรรมโครงการต่าง ๆ ได้อย่างดี อย่างสมานฉันท์ โดยต้องมีบุคลิกที่อ่อนน้อมถ่อมตนสามารถรับฟังเสียงจากทุกภาคส่วนในบริบทของสังคมได้ ซึ่งคนในพรรคเพื่อไทยน่าจะมีคนที่เหมาะสมหลายคนมากกว่าคนที่เป็นตัวเต็งอยู่ในขณะนี้"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net