Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชื่อบทความเดิม: ถึงเวลาทำ “วัฒนธรรมแห่งชาติ” ให้เป็น “วัฒนธรรมของประชาชน” “แดงคือชาติประชาชน บนไตรรงค์ธงชาติไทย หยัดยืนไม่ยอมให้ผู้ใด ประชาธิปไตยธำรงมั่น รัฐประหารเจอกันในทันที” ผมเคยเขียนเพลงอธิบายสีแดงบนธงชาติ ตามความหมายที่เคยร่ำเรียนมาตั้งแต่เด็กว่า แดงคือชาติ ขาวคือศาสนา และน้ำเงินคือพระมหากษัตริย์ เพียงแต่ผมขยายความคำว่า “ชาติ” ซึ่งฟังดูเป็นนามธรรม ไม่มีตัวตน ให้มีตัวตน มีจิตวิญญาณขึ้น โดยชี้ชัดว่า “ชาติคือประชาชน” ถ้าไม่มีมีประชาชนก็ไม่มีชาติ เรื่องนี้เป็นเรื่องรูปการจิตสำนึก เป็นวัฒนธรรม ที่คนไทยทุกคนได้รับการบ่มเพาะ ปลูกฝังมาแต่เยาว์วัยไม่รู้ความ ไม่ว่าผู้ที่คิดให้ความหมายของ “ธงชาติ” ในอดีตจะมีเจตนาหรือไม่มีเจตนาที่จะอธิบายว่าสีแดงคือ “ชาติ” บัดนี้ผมคิดว่าไม่ถูก เพราะเมื่อชาติคือประชาชน และประชาชนคือชาติ การไม่ใช้คำว่า “ประชาชน” ตรงๆ ก็เหมือนกับความพยายามเลี่ยงบาลี หากเราจะอธิบายเสียใหม่ว่า แดงคือประชาชน ขาวคือศาสนา และน้ำเงินคือพระมหากษัตริย์ ย่อมจะได้จิตวิญญาณอันมีตัวตน ดูเป็นรูปธรรม และเพิ่มน้ำหนักแห่งความรู้สึกเชิงจิตสำนึกได้มากกว่า คำปฏิญาณต่างๆ ก็จะเปลี่ยนไปเป็น “ข้าฯจะจงรักภักดีต่อประชาชน ศาสนา และพระมหากษัตริย์” การเปล่งคำขวัญดังกล่าวย่อมเตือนให้ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่รัฐฯอื่นๆ รู้สึกผิดชอบชั่วดีได้บ้างในยามที่กระทำการไม่ดีใดๆ ต่อประชาชน ประชาชนที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่ชาติที่เป็นนามธรรม วัฒนธรรมเป็นเรื่องลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน เมื่อฝังอยู่ในจิตใจ ตกผลึกเป็นความเชื่อความศรัทธาแล้วย่อมยากจากการรื้อถอน กว่าจะได้ข้อมูลใหม่ กว่าจะผ่านการถกเถียงทางวิชาการอย่างกว้างขวาง กว่าจะเปลี่ยนความเชื่อจึงต้องใช้เวลา การบริหารจัดการรัฐกิจของสังคมไทยที่ผ่านมา ข้างที่ให้ความสนใจกับเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเพื่อประชาชน หากเป็นนักการเมืองในระบอบศักดินาอำมาตย์ที่ครอบงำความคิด กระทำต่อเนื่องยาวนานมาตลอด เมื่อเรามีกระทรวงวัฒนธรรม รัฐบาลก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับกระทรวงนี้สักเท่าไร ปล่อยให้ข้าราชการประจำในระบบความคิดแบบเก่า แผ่อิทธิพลครอบงำดำเนินงาน กระทรวงนี้จึงขาดกลิ่นไอของวัฒนธรรมประชาชน ไม่มีบรรยากาศแห่งวัฒนธรรมประชาธิปไตย กระแสทั่วไปที่ครอบคลุมวัฒนธรรมของชาติจึงเป็น พาณิชย์วัฒนธรรมกับอำมาตย์วัฒนธรรม พื้นที่ของสังคมไทยวันนี้จึงปกคลุมไปด้วยกระแสของสองวัฒนธรรมดังกล่าว สถาบันการศึกษา ตลอดจนสื่อสารมวลชนทุกสาขาทั้งประเทศ เกิน 70 % สนองงานเผยแพร่วัฒนธรรมเช่นที่ว่ามายาวนานต่อเนื่อง ครอบงำรูปการจิตสำนึกของคนไทยโดยทั่วไป มอมเมาให้หลงเชื่อเรื่องกรรมเรื่องเวร บุญทำกรรมแต่ง ยอมรับความต่ำต้อยด้อยค่า กระทั่งบิดเบือนสาระสำคัญต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ กลับดำเป็นขาว กลับขาวเป็นดำ มากมายหลายเรื่อง ผ่านสีสันรูปแบบการนำเสนอต่างๆ อันหลายหลาย เพราะฉะนั้นจึงควรมีการทบทวน สำรวจตรวจสอบ ปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องสอดคล้องกับความจริง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง จำเป็นต้องปฏิรูปวัฒนธรรมแห่งชาติเสียใหม่ ให้เป็นวัฒนธรรมประชาชน วัฒนธรรมประชาธิปไตย ด้านหนึ่ง สนับสนุนส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชนให้มีพื้นที่แสดงออกเพิ่มขึ้น ในอีกด้านหนึ่ง ต้องถอดรื้อความคิดผิดๆ ทัศนคติอันไม่ชอบต่างๆ ที่มีต่อประชาชนในกระบวนการแห่งวัฒนธรรมของชาติ เนื่องจากความเป็นนามธรรมของชาติ หรือชาติที่ให้ความรู้สึกไม่มีตัวตนดังที่กล่าวเกริ่นนำมาแต่ต้นบทความ ทำให้โครงการยกย่อง สดุดี สรรเสริญ “ศิลปิน” ว่ามีความสำคัญต่อชาติบ้านเมือง กลายเป็นเรื่องเลื่อนลอยห่างไกลจากรากเหง้าประชาชนไปไกล คำว่า “ศิลปินแห่งชาติ” แม้แลดูยิ่งใหญ่ ทว่าก็โน้มเอียงไปในทางพาณิชย์ศิลปิน และอำมาตย์ศิลปินมากไป สมควรได้รับการปรับแก้กระบวนการ และเหตุผลของการมอบตำแหน่งเสียใหม่ให้สมบูรณ์และกินความไปหมายรวมเอาศิลปินที่สร้างสรรค์เพื่อประชาชนด้วย ที่สำคัญ การแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวก็ควรคัดสรรให้มีที่มาอันหลากหลาย ได้กรรมการที่มีความเป็นธรรม เป็นนักประชาธิปไตย ไม่เอนเอียงข้างใดข้างหนึ่ง เมื่อให้นโยบายไปแล้ว กรรรมการจึงสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างดี กล่าวโดยสรุป งานสำคัญเร่งด่วนที่สุด คือการปฏิรูปวัฒนธรรมเสียใหม่ ปรับให้ทันสมัย ก้าวทันสังคมประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิเสรีภาพประชาชน ไม่เร่อร่า ล้าหลัง ออกมาหยิบจับประเด็นเล็กประเด็นน้อยไปขยายความแล้วควบคุมห้ามปรามโดยไม่เข้าใจรากเหง้าอันแท้จริง กระทรวงวัฒนธรรมต้องทำงานคู่ขนานไปกับกระทรวงศึกษาธิการ สร้างงานในเชิงรุก ถอดรื้อลักษณะโบราณแบบอำมาตย์ศักดินาที่ยึดกุมครอบงำหลักคิดของกระทรวงนี้มายาวนานให้หลุดพ้น ถึงเวลาต้องเอาคนที่รู้เรื่องเข้าไปกำกับดูแลกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อวางรากฐานและคุมทิศทางในการสร้างรูปการจิตสำนึกใหม่ เพื่อประโยชน์ของมวลประชาอย่างแท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net