Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ถึงคุณ เหลือเวลาอีกไม่เท่าไหร่ก็จะถึงวันเลือกตั้งใหญ่ของประเทศไทยอีกครั้ง ฉันไม่รู้ว่าคุณตัดสินใจได้หรือยังว่าจะเลือกใคร เลือกพรรคไหน (หรือจะไม่เลือกใครเลย) และฉันก็ไม่ได้สนใจสักเท่าไหร่หรอก เพราะฉันไม่ได้เขียนจดหมายฉบับนี้เพื่อสอบถามทำโพล หรือเพื่อหาเสียง ฉันนั่งเขียนจดหมายฉบับนี้มาหาคุณก็เพราะอยากย้ำให้เห็นแง่มุมที่สำคัญ หลายอย่างของการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะอย่างที่คุณทราบดีว่าคอการเมืองทุกคนทุกสีเสื้อล้วนเห็นตรงกันว่าการ เมืองไทยมัน “ยังไม่จบ” กันที่การเลือกตั้งครั้งนี้แน่ๆ และเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทย “สูญเสีย” มามากจริงๆกว่าจะได้มีการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยไม่ต้องเถียงกันว่าใครยิง หรือใครเผา – ความตายของมนุษย์ การพังพินาศของตึกรามบ้านช่อง ประวัติศาสตร์แห่งการยึดสนามบิน หลุมระเบิด M79 และอื่นๆอีกมากล้วนเป็นความจริงที่เกิดขึ้นไปแล้ว เป็นราคาที่เมืองไทยจ่ายไปแล้ว – เราย้อนกลับไปแก้ไขสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ เราทำได้เพียง “รำลึก” ถึงรายจ่ายเหล่านั้น ทบทวนอย่างละเอียดลึกซึ้งว่าอะไรที่มัน “พลาด” ไปบ้าง แล้วเดินต่อไปข้างหน้าเพื่อทำให้รายจ่ายนั้น “คุ้มค่า” ต่อสังคมของเราให้มากที่สุด แล้วทำไมการเลือกตั้งถึงสำคัญ ? การเลือกตั้งคือกลไกที่สำคัญที่สุดของการเล่นการเมือง “ในระบบ” ทุกคนในประเทศสามารถแสดงออกทางการเมืองได้โดยไม่ต้องไปเล่นการเมืองกันบนถนน ซึ่งมันกระทบต่อชีวิตประจำวันของทุกคนและสุ่มเสี่ยงต่อการใช้กำลังเป็นอย่าง ยิ่ง (ม็อบก็ต้องรุนแรงขึ้นเพื่อเรียกร้องความสนใจ คนอยากปราบม็อบก็ต้องปราบแรงขึ้นเพื่อกำราบให้สำเร็จ ฯลฯ) ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้คือ “กุญแจแห่งความหวัง” ที่สำคัญของสังคมไทยที่จะดึงให้ทุกอย่างไปเล่นกันในสภา ไปสู้กันด้วยน้ำลาย ไม่ใช่ M79 หรือ สไนเปอร์ อย่างไรก็ตาม คุณควรพึงเข้าใจด้วยว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ “สำคัญ” แต่มัน “ไม่ใช่ตะเกียงวิเศษ” ปัญหาของการเมืองไทยมันแก้ไม่ได้ด้วยการเลือกตั้งเพียงวันเดียวแน่นอน เพียงแต่มันจะถูกดึงกลับเข้าระบบ แล้วเราก็ต้องไปแก้กันต่ออย่างอารยะ เลือกตั้งครั้งนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้น ไม่ใช่จุดจบ ถ้าคุณเข้าใจเช่นนี้ได้ ก็จะเข้าใจต่อได้ไม่ยากว่าเราไม่ได้กำลังจะไปเลือก นักการเมือง มาเป็นวีรบุรุษกอบกู้ประเทศชาติ มันเป็นไปไม่ได้ และไม่มีใครหน้าไหนจะกอบกู้ประเทศชาติเราได้ นอกจากตัวพวกเราเอง เรากำลังจะไปเลือก “ตัวแทน” ของเราให้ไป “เล่น” กันในสภา ไปเล่นกันบนเวทีที่แสงไฟส่องถึง เรากำลังเลือกคนไป “สู้” แทนเราด้วยวิถีทางอารยะที่ไม่ต้องพึ่งกระสุนปืนหรือระเบิดมือ เราเลือกพวกเขาให้ไป “ซัด” กันให้เต็มที่โดยที่พวกเราไม่ต้องไปค้างอ้างแรมกันข้างถนน หรือไปกินนอนกันในสนามบิน พวกเราจะมีเวลาไปทำมาหากินแล้วคอยเฝ้ามองการทำงานของพวกเขาบนเวที คุณอาจสงสัยว่านักการเมืองน่ะหรือจะทำงานแทนเรา ? ถ้าคุณไม่ติดกับดักวาทกรรมรังเกียจนักการเมืองมากเกินไปนัก ลองมองย้อนหลังกลับไปสักหน่อยเราจะเห็นความแตกต่างได้มาก สิบกว่าปีก่อน การเมืองไทยยังไม่รู้จักคำว่านโยบาย เรายังไม่เคยเลือกพรรคการเมืองโดยดูจากนโยบายที่พวกเขาจะทำ นโยบายพรรคการเมืองสมัยนั้นเป็นเพียงกระดาษทิชชูที่ทุกพรรคเขียนขึ้นมาให้ เหมือนกันหมด สิ่งที่นำไปทำจริงๆล้วนถูกกำหนดโดยข้าราชการในแต่ละกระทรวง ทบวง กรม นโยบายเขียนกันหลังจัดตั้งรัฐบาลเสร็จ ซึ่งหลายครั้งต้องไปอัญเชิญ “คนนอก”​มาเป็นรัฐมนตรี โดยที่เราได้แต่นั่งทำตาปริบๆ มาวันนี้ หลังจากที่คนไทยรู้จัก “การเลือกตั้งเชิงนโยบาย” แล้ว นักการเมืองทุกพรรคล้วนแข่งกันคิดนโยบายออกมา “ขาย” นักการเมืองหลายคนไม่กล้าลงปาร์ตี้ลิสต์เพราะกลัวสอบตก การเลือกตั้งสองครั้งล่าสุดก็ทำเอา “เจ้าพ่อท้องถิ่น” หลายคนสูญพันธุ์ไปเพราะปรับตัวไม่ทันต่อการเมืองเชิงนโยบาย ข้าราชการไทยทุกวันนี้รู้ดีว่าตัวเองต้องทำงาน “สนองนโยบายนักการเมือง” ที่ได้สัญญาเอาไว้ต่อคนทั้งประเทศ แน่นอน – นโยบายมันย่อมมีทั้งดี ทั้งห่วย ซึ่งมันต้องใช้เวลาอีกนานกว่าอะไรๆจะพัฒนาไปไกลกว่านี้ แต่เราต้องไม่ลืมความจริงที่ว่า “การเมือง” และ “นักการเมือง” มันเปลี่ยนได้หาก “เรา” อยากให้พวกเขาเปลี่ยน – คนรุ่นปู่ย่าเราจะเคยคิดไหมว่าการเมืองไทยจะเปลี่ยนมาไกลขนาดนี้ ? นักการเมืองคือเผ่าพันธุ์มนุษย์ชนิดพิเศษที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงมากที่ สุด และทำงาน “สนองอำนาจ” มากที่สุด พวกเขามีทักษะในการซัดกันนัวเนียเพื่อแย่งชิงอำนาจ ประเด็นมันจึงอยู่ที่ว่า เราต้อง “เชื่อ” และ “ทำ” ให้อำนาจเป็นของพวกเราอย่างแท้จริงให้ได้ เมื่อนั้นพวกเขาก็จะทำงาน “แทนเรา” ได้ ไม่ใช่เดินขอคะแนนเสียงสองเดือนก่อนเลือกตั้ง พอเลือกเสร็จแล้วก็ไปทำงานแทนคนอื่นที่เรามองไม่เห็นหน้าและมือ และการจะแสดงออกว่าอำนาจเป็นของพวกเรา – ไม่ใช่คนถือปืนที่ไหน – เริ่มต้นทำได้ด้วยการเลือกตั้ง อย่างที่พูดไปแล้ว ฉันไม่สนใจจริงๆว่าคุณอยากเลือกใคร เลือกพรรคไหน ฉันเพียงอยากให้คุณไปเลือกตั้ง ฉันอยากให้คุณไปลงคะแนนเสียง ฉันไม่อยากให้คุณติดกับดักความคิดเดิมๆว่าเลือกตั้งไม่สำคัญ เลือกไปก็เท่านั้น ฉันอยากให้คุณคิดว่าเราเป็นเจ้าของประเทศเท่าๆกัน อำนาจเป็นของเรา ไม่ใช่ของใครหน้าไหน ฉันไม่อยากให้คุณหวังสูงเกินไปกับการเลือกตั้งครั้งนี้จนมองมันไร้ค่า มันคือ “จุดเริ่มต้นที่สำคัญ” ของการเดินทางอีกยาวไกล – และที่สำคัญที่สุด เรา “จ่าย” กันไปมหาศาลกว่าจะมาถึงจุดเริ่มต้นนี้ การเลือกตั้งก็คล้ายการซื้อของ มันไม่มีสูตรตายตัวให้คุณตัดสินใจหรอกว่าจะเลือกใครดี คุณอยากเลือกเพราะอะไรก็เป็นเรื่องของคุณ เป็นเหตุผลของคุณล้วนๆ อย่าไปเชื่อคนอื่นให้มาก ยิ่งพวกรณรงค์ให้เลือกแต่คนดี คนเก่ง คนขยัน คนซื่อสัตย์ บลาๆ นั้นบ้องตื้นทั้งนั้น บางคนเลือกเพราะชอบพรรคนี้ บางคนอาจเลือกเพราะเกลียดพรรคนั้น บางคนมองผลลัพธ์ในระยะสั้น บางคนมองผลลัพธ์ในระยะยาว บางคนเลือกเพราะอยากแสดงออกในบางเรื่อง บางคนเลือกเพราะอยากประชดคนอื่น ส่วนบางคนอาจเลือกเพราะเป็นญาติมิตรกับผู้สมัคร – มันไม่มีตรรกะที่ดีเลวถูกผิด ก็เหมือนคุณเลือกซื้อน้ำอัดลม เงินของคุณ อยากดื่มยี่ห้อไหนก็เชิญ ไม่มีใครจะไปบอกได้ว่าเลือกเพราะเหตุผลนี้ดี หรือเพราะเหตุผลโน้นเลว โง่ บ้องตื้น มันเป็นเรื่องของปัจเจกที่ทุกคนต้องเคารพเหตุผลของคุณ​มากพอๆกับที่คุณต้อง เคารพเหตุผลของเขา แต่นอกจากเลือกตั้งแล้ว ฉันอยากให้คุณ “เดินหน้า” กันต่อไปอีกอีก เพราะอย่างที่บอกไว้แล้วว่าเลือกตั้งครั้งนี้มันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการ เดินทางอีกยาวไกล เราจ่ายไปมากแล้ว เราจึงควรเดินหน้าต่อไปสู่สิ่งที่ดี ให้มัน “คุ้ม” กับราคาที่จ่ายไปแล้ว เราควรติดตามดูผลลัพธ์ของการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างใกล้ชิด เราไม่ควรปล่อยให้ “ใคร” มามี “อำนาจ” มากไปกว่าพวกเราทุกคน ไม่ว่าคุณจะพอใจหรือไม่ ผลการเลือกตั้งคือการบอกว่าคนในประเทศนี้คิดอย่างไร อยากเห็นอะไร แค่ไหน เมื่อไหร่ กลุ่มการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนน “มากที่สุด” ควรได้รับสิทธิในการบริหารประเทศ เราควรเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการ “ใช้อำนาจนอกระบบ” เราไม่ควรยอมรับให้ใครมาละเมิดเสียงของเรา ไม่งั้นก็อย่าเสียค่าน้ำมันรถออกไปเลือกตั้งเลย เสียเงิน เสียเวลาเปล่าๆ นอกจากนั้น เราต้องระวังไม่ให้ใครมาเล่นกลทางกฏหมาย จนละเลย “หลักการ” เราต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่สำคัญกว่าตัวหนังสือในกฏหมายคือ “หลักการประชาธิปไตย” เพราะถ้าเราละเลยหลักการเมื่อไหร่ กฏหมายก็จะกลายเป็นเศษกระดาษไร้ค่า เพราะผู้คนก็จะสู้กันกลางถนนด้วยปืนและระเบิดอีกครั้ง ดังนั้นหากมันจะมีประเด็นแทกติกทางกฏหมายใดๆ การหาทางออกก็ควรทำโดยเคารพ “หลักการ” และ “คะแนนเสียง”​ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าเราจะได้นายกรัฐมนตรีชื่อ ยิ่งลักษณ์ อภิสิทธิ์ ชูวิทย์ หรือ สนธิ – ขอให้คุณอย่าลืมว่าสิ่งที่สำคัญกว่าชื่อนายกรัฐมนตรีคือ “หลักการ” และ “ระบบการเมือง” ของประเทศนี้ ถ้าเราไม่อยากให้คนออกมากลางถนนกันอีก ถ้่าเราไม่อยาก “จ่าย” กันอีก เราก็ต้องดึงการปะทะทางการเมืองกลับเข้าสู่ระบบให้ได้ ฉันเชื่อว่า ไม่่ว่านายกรัฐมนตรีจะชื่ออะไร ประเทศไทยไม่ฉิบหายไปมากกว่านี้สักเท่าไหร่หรอก แต่ถ้าการเมืองไทยยังไม่สามารถกลับเข้าสู่ “ระบบ” ได้ละก็ ….. ทุกคนน่าจะเดาได้ไม่ยากว่าเราจะเดินกันไปทางไหน สุดท้าย ฉันอยากให้เราไปเลือกตั้งกันเยอะๆ จะรักใครชอบใครก็อยากให้ไปกันเยอะๆ เพราะฉันอยากให้ “เขา” ได้เห็นว่าคนไทยเบื่อการเมืองข้างถนน คนไทยอยากได้ระบบการเมืองที่เป็น “ระบบ” จริงๆ และคนไทยอยากมี “อำนาจ” เป็นของตัวเองเสียที ฉันหวังว่าคุณจะหวังเหมือนฉัน หวังว่า “เขา”​จะเลิกเล่นนอกเกม เลิกชักใย หวังว่า “เขา”​จะเรียนรู้เสียทีว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมชาติ มีขึ้น มีลง มีฟู​มีฟุบ ฉันหวังว่า “เขา”​จะคิดถึงลูกหลานพวกเราบ้าง เพราะพวกเราจะอยู่กันไปอีกสักกี่ปี จะรัก จะชัง จะทะเลาะกันแค่ไหน พวกเราก็น่าจะ “เหลือ” อะไรไว้ให้ลูกหลานพวกเราบ้าง ไม่ใช้ล้มพังโครงสร้างและหลักการทุกอย่าง แล้วลูกหลานเราจะเติบโตมากับอะไร ? อย่าให้การเลือกตั้งต้องกลายเป็นเพียงปาหี่ …. เลย ฉันเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net