Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ก้าวต่อไปของสังคมไทยหลังการเลือกตั้ง อาจเป็นไปได้สองแนวทาง คือ 1. แนวทางยึดหลักคิดแบบสัมบูรณนิยม (Absolutism) ถือว่าถูก-ผิดเป็นของตายตัว ถูกคือถูก ผิดคือผิด ไม่มีการนิรโทษกรรมให้ใคร แต่ละฝ่ายต่อสู้กันตามกฎหมายต่อไป แต่จะไม่มีคำตอบต่อปัญหาเก่าและที่ยังสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน เช่น หากถือว่าถูกคือถูก ผิดคือผิดแบบตายตัว ใครทำอะไรก็ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง ปัญหาคือแล้วฝ่ายทำรัฐประหารทำไมไม่ต้องรับผิด นิรโทษกรรมตนเองได้ แต่ฝ่ายถูกทำรัฐประหารทำไมต้องรับผิดเพียงฝ่ายเดียว นิรโทษกรรมตนเอง (จากการเอาผิดโดยกระบวนการรัฐประหาร) ไม่ได้ และการต่อสู้กันไปตามกฎหมายของฝ่ายต่างๆ ก็ไม่มีคำตอบว่าจะนำไปสู่ความปรองดองได้อย่างไร (หรือจะเป็นเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงตามมาอีกหรือไม่) 2. ยึดหลักคิดแบบประโยชน์นิยม (Utilitarianism) คือ สร้างความปรองดองโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ผมจะ “ลองเสนอ” (จะไม่เห็นด้วยหรือจะด่าก็ไม่เป็นไร) แนวทางการปรองดองแบบประโยชน์นิยม หากไม่ชอบคำว่า “ประโยชน์สูงสุด” แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะขอเปลี่ยนเป็นคำใหม่ว่า “ยุติธรรมมากที่สุด” แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง “ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” ในที่นี้ หมายถึงตัวละครทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง พรรคการเมือง กองทัพ อำมาตย์ คนเสื้อเหลือง เสื้อแดง รวมทั้งสังคมไทยทั้งหมด ส่วน “การปรองดอง” ตามนิยามของผมไม่ได้เน้นไปที่การจับมือกัน ความรักสามัคคี อะไรทำนองนั้น แต่หมายถึง “การขจัดเงื่อนไขของความแตกแยก” เมื่อเงื่อนไขความแตกแยกถูกขจัดไป แม้เราจะยังขัดแย้งกัน แต่ก็จะเป็นความขัดแย้งตามปกติในสังคมประชาธิปไตย ไม่ใช่ความขัดแย้งที่จะนำไปสู่ความแตกแยกและความรุนแรงดังที่เป็นมา เงื่อนไขความแตกแยกที่เห็นได้ชัดคือ “ความไม่ยุติธรรม” หมายถึง การที่ตัวละครที่เป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองฝ่ายหนึ่งมีแต่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งมีแต่เสีย กล่าวคือกองทัพ อำมาตย์ พรรคประชาธิปัตย์ (รวมพรรคร่วมบางพรรค) มีแต่ได้ คือทหาร อำมาตย์ทำรัฐประหาร (ไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่แรก) ได้อำนาจรัฐมา สร้างกลไกขึ้นมากำจัดฝ่ายตรงข้าม มีกระบวนการสืบทอดอำนาจ และพรรคประชาธิปัตย์ก็ถูกสนับสนุนขึ้นมาเสวยอำนาจ อำมาตย์ ทหาร (พรรคประชาธิปัตย์) กระชับอำนาจเข้มแข็งขึ้น มีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูงขึ้น ได้งบประมาณเพิ่มขึ้น ฯลฯ ส่วนที่ฝ่ายนี้เสียมีเพียงแค่ถูกด่า ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ประชาชนจำนวนหนึ่งเสื่อมศรัทธา ถูกประท้วงต่อต้าน แต่พวกเขาก็แก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยการสร้างความกลัว ข่มขู่ ใช้กฎหมายหมิ่นฯ ปราบปรามประชาชนที่ประท้วงต่อต้าน จนเกิดการบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ส่วนอีกฝ่ายมีแต่เสียกับเสีย คุณทักษิณอยู่ในประเทศไม่ได้ เสื้อเหลือง-เสื้อแดงกลายเป็นผู้ต้องหาก่อการร้าย เสื้อเหลืองตายไป 2 คน บาดเจ็บร่วม 600 คน เสื้อแดงตาย 93 คน บาดเจ็บร่วม 2,000 คน และยังติดคุกอีกจำนวนมาก การที่ฝ่ายหนึ่งมีแต่เสียกับเสีย อีกฝ่ายมีแต่ได้กับได้ ทำรัฐประหารแล้วนิรโทษกรรมตัวเองได้ มีอำนาจรัฐอยู่ในมือและใช้ “สองมาตรฐาน” กับฝ่ายตรงข้ามอยู่แทบทุกรณีเช่นนี้ คือภาวะของ “ความไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง” หากยังดำรงสภาวะเช่นนี้ต่อไป ความแตกแยกจะไม่มีวันจบสิ้น ผลเสียที่เป็นมาแล้วคือประเทศขาดโอกาสพัฒนาแทบทุกด้าน และผลเสียต่อไปในอนาคตสังคมอาจจะต้องเผชิญความรุนแรงรอบใหม่ เพราะไม่มีหลักประกันว่าการอ้างสถาบันเพื่อทำรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีก ฉะนั้น ทางแก้ปัญหา จะต้องขจัด “ความไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง” อันเป็นเงื่อนไขของความแตกแยก ดังนี้ 1) นิรโทษกรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รัฐประหารนิรโทษกรรมแก่ตัวเองไปแล้ว ที่เหลือคือคดีคุณทักษิณ พรรคการเมืองที่ถูกยุบ คดีก่อการร้ายทั้งเสื้อเหลือง-เสื้อแดง คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การสลายการชุมนุมเมษา – พฤษภา 53 โดยรัฐบาลประชาธิปัตย์และกองทัพ ทั้งหมดนี้ควรนิรโทษกรรม เพราะจะนิรโทษกรรมแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียวคงเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ (แม้จะเป็นไปได้ในทางหลักการ) แต่การนิรโทษกรรมดังกล่าว ต้องไม่ใช่เพียงเพื่อตอบสนองต่อการแก้ปัญหาของฝ่ายต่างๆ เท่านั้น จำเป็นต้องตอบสนองต่อการแก้ปัญหา “การเปลี่ยนผ่าน” สังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างเป็นรูปธรรมด้วย ฉะนั้น การนิรโทษกรรมตามข้อ 1) นี้ จะกระทำได้ภายใต้เงื่อนไขของข้อ 2 – 5 เท่านั้น กล่าวคือ 2) เงื่อนไขการชดเชยและยกย่องผู้บาดเจ็บล้มตายในการเรียกร้องประชาธิปไตย แม้ในความเป็นจริงเราไม่อาจชดเชยใดๆ ให้คุ้มกับการสูญเสียดังกล่าวได้ แต่เราจำเป็นต้องชดเชยให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น ต้องมีตัวเลขเงินชดเชย หรือดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ จัดงบประมาณสร้างอนุสาวรีย์ หรืออนุสรณ์สถานยกย่องบุคคลเหล่านี้ในฐานะ “วีรชนประชาธิปไตย” อาจมีการจัดพิธีให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งร่วมรำลึกการเสียสละของวีรชนเหล่านี้เพื่อยืนยันว่า ในอนาคตจะไม่มีความสูญเสียเช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศนี้อีก ฯลฯ 3) เงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย อาจจะนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาเป็นพิมพ์เขียวแล้วปรับปรุง โดยผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ และการลงประชามติ 4) เงื่อนไขการปฏิรูปกองทัพ โดยหลักการคือทำให้กองทัพเป็นกองทัพของประชาชน ทหารเป็นทหารอาชีพ ไม่แทรกแซงทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง มีระบบและกลไกการตรวจสอบ/คานอำนาจการสั่งใช้กำลัง การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ฯลฯ 5) ปฏิรูปสถาบันองคมนตรีและสถาบันกษัตริย์ หมายถึงการกำหนดกติกาเกี่ยวกับสถานะ อำนาจ และบทบาทของสถาบันองคมนตรี และสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ให้สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย คือ หลักเสรีภาพ และหลักความเสมอภาค เงื่อนไขข้อที่ 2-5 นี้ คือคำตอบรูปธรรมว่า “การนิรโทษกรรม” เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมอย่างไร หรือมีความหมายต่อ “การเปลี่ยนผ่าน” สังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นอย่างไร หากไม่ทำตามเงื่อนไขดังกล่าวนี้ (เป็นอย่างน้อย) การนิรโทษกรรม หรือการปรองดอง ก็คงเป็นได้แค่ “การเกี้ยเซี๊ย” ของชนชั้นนำทางการเมืองเหมือนเดิมๆ ที่ผ่านมา ประชาชนก็ตายฟรี อนาคตประชาธิปไตยก็ยังคงอยู่ในความมืดมนเหมือนเดิม!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net