Skip to main content
sharethis

ตัวแทนเครือข่ายประชาชนวิพากษ์นโยบายพรรคการเมือง เน้นการตลาด ถามเอามาจากไหน ย้ำต้องรวมกองทุนประกันสุขภาพทุกระบบเพื่อความเท่าเทียม พร้อมเผย 4 นโยบายต้องยกเลิก – 8 นโยบายน่าสนใจ วันนี้ (12 มิ.ย.54) เครือข่ายประชาชนด้านสังคม ซึ่งทำงานขับเคลื่อนเรื่องรัฐสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม จัดเสวนา “เท่าทันนโยบายพรรคการเมือง-วิพากษ์นโยบายรัฐสวัสดิการ” ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ โดยเครือข่ายภาคประชาสังคมต่างๆ และประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟัง พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดราว 150 คน 4 นโยบาย จี้ยกเลิก – 8 นโยบาย หนุนลงรายละเอียด เอกสารประกอบการเสวนา จัดทำมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยถึง “นโยบายพรรคการเมืองที่ใช้ไม่ได้ ประชาชนไม่สนับสนุน ต้องยกเลิกทันที” 4 ข้อ คือ 1.นโยบายสร้างเขื่อน ถมทะเลเพื่อสร้างเมืองใหม่ 2.นโยบายดึงน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จากเขื่อนฮัตจีในพม่า เขื่อนน้ำงึมในลาว หรือแม่น้ำสตรึงนัมในกัมพูชา 3.นโยบายสนับสนุนให้รัฐและเอกชนแสวงหาสัมปทานน้ำมันจากทั่วโลก 4.นโยบายยกเว้นภาษีรถยนต์คันแรก ในส่วน “นโยบายที่น่าสนใจของพรรคการเมือง” ที่ต้องมีรายละเอียดและมีกระบวนการที่ดีในการดำเนินการ มี 8 ข้อ ดังนี้ 1.นโยบายบริการสาธารณะระบบราง เช่น รถไฟฟ้าให้ครบทั้ง 10 สาย 12 สายแต่ละสายเก็บ 20 บาท ผลักดันรถไฟฟ้าความเร็วสูง และปฏิรูปรถไฟทั้งระบบ 2.นโยบายเรื่องการปฏิรูปที่ดินเพื่อเป็นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย เช่น โฉนดชุมชน การจำกัดการถือครองที่ดิน การจัดเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า รวมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรมีที่ดินทำกิน 3.นโยบายประกันรายได้เกษตรกร ควรใช้วิธีประกันราคาผลผลิตการเกษตร การประกันความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ แทนการประกันราคาหรือจำนำสินค้าเกษตร 4.นโยบายลดภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ต้องมีการดำเนินนโยบายปฏิรูประบบภาษี ปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีที่ครอบคลุมเป็นธรรม และจัดเก็บภาษีที่ดิน ทรัพย์สิน มรดก หุ้น แบบอัตราก้าวหน้าทันที 5.นโยบายด้านการสร้างหลักประกันสังคมแบบทั่วถึง เป็นธรรม โดยการจัดการภาษีเพื่อรัฐสวัสดิการสังคมอย่างชัดเจนด้วย 6.นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ ยกเลิกบีโอไอ ส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมของประชาชน 7.ยกเลิกระบบราชการแบบรวมศูนย์ ยกเลิกหน่วยราชการส่วนภูมิภาค ทำให้กระทรวงเล็กลง ให้อำนาจการปกครองจัดการตนเองกับประชาชนในระดับจังหวัด 8.ประกาศให้คณะรัฐมนตรีหยุดโกง เพื่อนำเงินมาอัดฉีดเศรษฐกิจของชาติ จวก “พรรคการเมือง” ผลิตซ้ำนโยบายเก่า หวังแค่ผลทางการเมือง สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการและหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา นโยบายหาเสียงเลืองตั้งของพรรคการเมืองเป็นเพียงยาหอมหรือการซื้อฝัน แต่เกิดขึ้นจริงนับครั้งได้ และหากวิเคราะห์นโยบายพรรคใหญ่จะที่มีลักษณะที่ไม่หนีจากกันมากนัก อาจแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด เพราะส่วนใหญ่เป็นการผลิตซ้ำทางนโยบายจากอดีตเพื่อหวังผลทางการเมือง ซึ่งตรงนี้เห็นว่า ทุกพรรคการเมืองควรเน้นนโยบายด้านระบบประกันสุขภาพให้กับประชาชนทั่วประเทศ มากกว่าการทำนโยบายแบบแก้ปัญหาปลายเหตุ นอกจากนี้ ควรต้องส่งเสริมระบบประกันสุขภาพระบบเดียวทั้งประเทศ ที่มีมาตรฐาน เพราะจะทำให้ประชาชนในชุมชนได้รับประโยชน์ไม่น้อยไปกว่าเขตเมือง ช่วยความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพได้ สุรีรัตน์ กล่าวด้วยว่า จากการที่สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูง สิ่งที่ลดปัญหาตรงนี้ได้คือ การมีสวัสดิการสังคม อาทิ การจัดบำนาญชราภาพขั้นพื้นฐาน โดยการจ่ายรายเดือนให้ผู้สูงอายุในระดับเส้นความยากจน (1,500 บาท) เพื่อใช้ยังชีพและสามารถมีรายได้นำไปสะสมในกองทุนการออมแห่งชาติได้ รวมทั้งจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลฟรีอย่างมีคุณภาพ การเรียนฟรีที่เข้าถึงอย่างถ้วนหน้าและเป็นธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำได้จริงหากนักการเมืองเอาจริงเอาจัง ในส่วนเงินรายได้ของรัฐที่จะนำมาบริหารจัดการในส่วนนี้ สุรีรัตน์ กล่าวว่า ควรมาจากระบบภาษี ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมีนโยบายการจัดเก็บภาษีที่ไม่ดีพอ ที่ผ่านมาสัดส่วนรายได้จากการจัดเก็บภาษีของประเทศมาจากภาษีทางอ้อมเป็นหลัก การเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สินไม่ทั่วถึงและเป็นธรรมจริง อีกทั้งยังมีความซ้ำซ้อนด้วย อย่างไรก็ตามจากการศึกษาของ ดร.สมชัย จิตสุชน จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชี้ให้เห็นว่า สวัสดิการอย่างเท่าเทียมก้าวหน้าได้ เพราะเศรษฐกิจไทยยังมีความเติบโต คนมีรายได้ มีความสามารถการจ่ายภาษีได้ จี้ถามที่มาเงิน-วิธีคิดนโยบาย ส่วน สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ แสดงความเห็นไปในทางเดียวกันว่า พรรคการเมืองควรต้องตระหนักในเรื่องความเหลื่อมล้ำ แตกต่างทางรายได้ของประชาชน ซึ่งแก้ไขได้โดยการจัดรัฐสวัสดิการ แต่นโยบายที่พรรคการเมืองนำเสนอนั้นเป็นนโยบายการตลาด ประชานิยม ที่ไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือสร้างรัฐสวัสดิการอย่างแท้จริง นอกจากนี้ นโยบายส่วนใหญ่ยังขาดความชัดเจน ตัวเลขที่ระบุในป้ายหาเสียงเป็นเพียงตัวเลขลอยๆ เช่น นโยบายการให้เบี้ยยังชีพคนชราที่เสนอเพิ่มให้กับผู้สูงอายุ 1,000 บาท ทั้งนี้ พรรคการเมืองควรชี้แจงให้ชัดเจนในเรื่องวิธีคิด เอาเงินมาจากไหน กระบวนการทำงานเป็นอย่างไร และควรบอกที่มาที่ไปของนโยบายให้ประชาชนได้รับรู้ สุนทรี กล่าวด้วยว่า การเมืองไทยในปัจจุบัน เป็นเรื่องแฟนขับ แม่ยก หรือเป็นเรื่องพรรคพวก จนมีการพูดกันว่าหากเป็นพวกของตนเอง ต่อให้ส่งเสาไฟฟ้ามาลงสมัครรับเลือกตั้งก็จะไปลงคะแนนให้ ซึ่งภาคประชาชนควรร่วมกันเปลี่ยนแปลงความคิดเหล่านี้ เพื่อให้คนหันมาสนใจนโยบาย เลือกพรรคการเมืองที่นำเสนอนโยบายที่ดีที่สุดสำหรับประชาชน ส่วนพรรคการเมืองเองก็ต้องตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนให้ได้ “สิ่งที่เราควรคำนึงถึง คือจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้สนใจนโยบายของพรรคการเมืองอย่างจริงจัง ไม่ใช่ไปสนใจแต่เรื่องของสีเสื้อหรือพวกของตนเอง” นางสุนทรี กล่าว ชี้ “ปชป.” สนใจเรื่องหลักประกันสุขภาพมากกว่า “พท.” ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวแสดงความเห็นจากการศึกษานโยบายของพรรคการเมืองว่า แทบทุกพรรคไม่สนใจให้ความสำคัญในเรื่องนโยบาย ดังนั้นสิ่งที่นำเสนอจึงเป็นการนำของเก่ามาเล่าใหม่ และการแข่งขันกันว่าพรรคให้อะไรมากกว่ากัน แม้แต่พรรคการเมืองใหม่ที่ดูน่าจะเป็นความหวังของภาคประชาชนก็ไม่ได้มีความแตกต่างออกไป ทั้งนี้เมื่อดูเป็นรายกรณี เห็นได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สนใจในเรื่องหลักประกันสุขภาพมากกว่าพรรคเพื่อไทย แต่ก็ไม่มีความกล้าหาญในการประกาศในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เช่นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านหลักประกันทางสุขภาพที่มีอยู่หลายระบบให้มาเป็นระบบเดียว นอกจากนี้ การเป็นรัฐบาลที่ก่อตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) แต่กลับไม่มีการนำเอานโยบายที่นำเสนอโดยคณะกรรมการเหล่านี้มาพูดถึง เพียงเรื่องเดียวที่พรรคประชาธิปัตย์หยิบยกมาทำคือเรื่องโฉนดชุมชน แต่ก็ยังไม่ไม่ถึงขั้นการปฏิรูปที่ดิน ในขณะที่พรรคเพื่อไทยไม่พูดถึงเรื่องนโยบายปฏิรูปที่ดินเลย อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งที่กำลังเกิดขึ้น นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีสิ่งใดใหม่ เป็นเพียงการสานต่อนโยบายเก่าที่สามารถทำต่อไปได้ แนะพรรคการเมือง ตั้งใจทำเรื่องรัฐสวัสดิการ ต้องพูดเรื่องรวมกองทุนฯ ด้าน นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์กล่าวถึงการศึกษานโยบายของพรรคเพื่อไทยว่า เป็นพรรคเดียวที่พูดถึงนโยบายต่อผู้ติดเชื้อ แต่ไม่เห็นถึงปรัชญา ความคิด ความเชื่อที่จะสร้างรัฐสวัสดิการ ทั้งนี้ มีการพูดถึงสวัสดิการในส่วนของแรงงาน โดยระบุว่าเป็นสวัสดิการแก่ผู้ส่งเงินประกันกับรัฐทุกสาขาอาชีพ ส่วนในด้านการศึกษา มีการชูนโยบายการทำการตลาด โดยบอกว่าเด็กเข้าโรงเรียนจะได้แล็ปทอปคอมพิวเตอร์คนละเครื่อง ไม่ได้ดูภาพรวมการศึกษาอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ทุกนโยบายเน้นเรื่องการพัฒนาประสิทธิภาพ ศักยภาพ และความทันสมัยเป็นหลัก “ถ้าฉลาด และตั้งใจเรื่องรัฐสวัสดิการ ต้องพูดเรื่องรวมกองทุนด้านสุขภาพ” นิมิตร์ ให้ความเห็นถึงการวางนโยบายเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพต่อพรรคการเมือง พร้อมย้ำด้วยว่า การรวมกองทุนด้านสุขภาพจะป้องกันไม่ให้เกิดการแบ่งแยก และสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ แต่การเสนอนโยบายที่ผ่านมาไม่มีพรรคการเมืองใดพูดถึงเรื่องนี้ “คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน ในเรื่องสุขภาพไม่โดดเด่นอะไร ยังวนคิดเก่า ทำเก่า ไม่ได้เพื่อไทยทุกคน แต่เพื่อคนบางกลุ่ม บางพวกเท่านั้น” นิมิตร์ กล่าวทิ้งท้าย สลัม 4 ภาค เตรียมกิจกรรมเสนอนโยบายพรรคการเมือง 19 มิ.ย.นี้ จากนั้น เครือข่ายประชาชนด้านสังคมในประเด็นต่างๆ อาทิ เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายผู้ป่วย เครือข่ายผู้ใช้ยาเสพติด เครือข่ายผู้พิการ เครือข่ายเยาวชน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายเกษตร เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายผู้บริโภค และเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้ให้ข้อเสนอต่อนโยบายพรรคการเมือง ในการเลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค.ที่จะถึงนี้ อาทิ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้ยาเสพติด กล่าวเสนอถึงการให้ผู้ใช้ยาเสพติดสามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการของรัฐอย่างแท้จริง และไม่เน้นการแก้ปัญหาโดยการปราบปรามผู้เสพหรือการจับไปบำบัด แต่ควรมีกระบวนการให้การบำบัดอย่างเป็นระบบ มีคุณภาพมาตรฐาน อีกทั้งควรมีการแก้ไขปัญหาเรื่องทัศนคติของสังคมต่อผู้ติดสิ่งเสพติดด้วย ส่วนตัวแทนเครือข่ายเกษตรทางเลือก ระบุว่า สวัสดิการชาวนามีความสัมพันธ์กับบำนาญชราภาพ และต่อไปจะมีการตั้งบำนาญชาวนา บำนาญชาวสวน เกิดขึ้นซึ่งจะเป็นการสลายพลังของการรวมกลุ่ม ดังนั้นเสนอว่าควรมีการรวมบำนาญเหล่านี้ให้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน นอกจากนั้นในสภาวะวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรจำนวนมากในภาคต่างๆ ตรงนี้อาจนำไปสู่การพูดถึงรัฐสวัสดิการเพื่อความมั่นคงทางอาหารกันต่อไปได้ ขณะที่ พงษ์อนันต์ ช่วงธรรม ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า ทางเครือข่ายได้ลงความคิดเห็นร่วมกันแล้วว่า นโยบายที่พรรคการเมืองนำเสนอเป็นเพียงนโยบายขายฝัน เช่น นโยบายบ้านมั่นคง และบ้านหลังแรกลดดอกเบี้ยของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ ต่างก็ไม่พูดถึงการกระจายการถือครองที่ดิน และการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้คนไร้บ้านไม่ถูกพูดถึง ส่วนนโยบายโฉนดชุมชน ที่ผ่านมาทำสำเร็จเพียงที่เดียวคือที่คลองโยง ส่วนที่อยู่ในกระบวนการอีก 35 พื้นที่ และอีกหลายร้อยแห่งที่รอการพิจารณา ยังไม่ได้มีการดำเนินการอะไรเลย พงษ์อนันต์ กล่าวด้วยว่า เครือข่ายสลัม 4 ภาคจะจัดกิจกรรมเสนอนโยบายต่อพรรคการเมือง ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ ที่ชุมชนโรงปูน คลองตัน โดยใช้รถเครื่องเสียงและการแจกใบปลิว เหมือนกับการเข้าไปหาเสียงในพื้นที่ของนักการเมือง อีกทั้งจะมีการติดตั้งป้ายผ้าที่ระบุถึงข้อเสนอของทางเครือข่ายด้วย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net