Skip to main content
sharethis

 

เวลา 10.00 น. วันที่ 6 มิถุนายน 2554 ผู้ลี้ภัยชาวปากีสถานซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม นิกายอามาดี ได้รับการปล่อยตัวจากสถานกักกันตรวจคนเข้าเมืองกรุงเทพฯ ซอยสวนพลู เป็นผลจากการประสานงานร่วมกันระหว่างกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และมูลนิธิไทยเพื่อคนมีปัญหาสิทธิและสถานะบุคคลผ่านกองทุนเพื่ออิสรภาพของผู้ลี้ภัย (ทีซีอาร์)

โดยทั้งหมดนับถือนิกายอามาดี ซึ่งถูกประหัตประหารอย่างรุนแรงและเป็นระบบในปากีสถานซึ่งเป็นประเทศเดียวที่ไม่ยอมรับคนที่นับถือนิกายอามาดีว่าเป็นชาวมุสลิมอย่างเป็นทางการ

วีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารมูลนิธิไทยเพื่อคนมีปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล (ทีซีอาร์) กล่าวว่า ผู้ลี้ภัยทั้งหมด 98 คน มีเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี รวมอยู่ด้สนถึง 34 คน เป็นทารก 1 คน และถูกกักอยู่ในส่วนต้องกัก สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตั้งแต่เดือนธันวาคม 2553

ซึ่งทางทีซีอาร์ได้ประสานงานกับเครือข่ายชาวอามาดีเพื่อระดมทุนในการประกันตัวบุคคลเหล่านี้เป็นจำนวนเงินรวมกว่า 4 ล้านบาท และทางทีซีอาร์จะดำเนินการช่วยเหลือจัดหาที่พักให้กับบุคคลที่ได้รับการรับรองสถานภาพผู้ลี้ภัยจากสหประชาชาติ เพื่อส่งพวกเขาไปยังประเทศที่ 3 ต่อไป

ผู้ลี้ภัยทั้งหมด 96 คน ได้รับการรับรองสถานภาพผู้ลี้ภัยจากสหประชาชาติแล้ว 94 คน และอีก 2 คนอยู่ระหว่างการพิจารณารับรองสถานภาพ โดยคาดว่าจะต้องใช้เวลาพำนักอยู่ในประเทศไทยอีกประมาณ 1 ปี ก่อนที่จะได้เดินทางต่อไปยังประเทศที่ 3

ทั้งนี้ผู้ลี้ภัยทั้งหมดถูกจับกุมในเดือน ธันวาคม 2553 ในชุมชนผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ แม้กลุ่มคนดังกล่าวจะเป็นผู้ที่หลีกหนีจากการประหัตประหารในประเทศของตนเอง และตามหลักสากล ผู้ลี้ภัยจะได้รับความคุ้มครองจากประเทศที่หนีไปพักพิงแม้ว่าจะใช้ประเทศเหล่านั้นเป็นทางผ่านก็ตาม อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่ได้ยอมรับสถานภาพผู้ลี้ภัยและไม่ได้เป็นภาคีในกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) จึงไม่สามารถให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยที่ถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับกุม ผู้ลี้ภัยทั้งหมดจึงตกอยู่ภายใต้กฎหมายคนเข้าเมืองและถูกพิจารณาว่าเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย รวมทั้งมีมีกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่สามารถแยกแยะระหว่างผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย และผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย จึงส่งผลให้ผู้ลี้ภัยจากการประหัตประหารในประเทศของตน ต้องตกเป็นผู้กระทำความผิดตามกฎหมายคนเขาเมือง ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมาโดยตลอด

ผู้ลี้ภัยที่ถูกกักขังมีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่เหมาะสมและไม่ถูกสุขลักษณะอนามัย เนื่องจากความแออัดมาก เพราะมีผู้ต้องกักจำนวนมากกว่า 150 คนต่อห้องกัก 1 ห้อง ซึ่งมีขนาดเหมาะสมสำหรับการกักคนจำนวน 30-40 คนเท่านั้น ครอบครัวต้องถูกแยกจากกัน อาหารและสุขอนามัยไม่ถูกสุขลักษณะ

การปล่อยตัวผู้ต้องขังครั้งนี้เริ่มต้นจากการแถลงการณ์ร่วมกันระหว่างทีซีอาร์และเครือข่ายสิทธิเพื่อผู้ลี้ภัยเอเชียแปซิฟิก (เอพีอาร์อาร์เอ็น) เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องหาชาวปากีสถานนิกายอามาดี เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา โดยทางกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับเรื่องร้องเรียนไว้ และได้จัดคณะทำงานร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงมีการหารือร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทั่งในที่สุดทีซีอาร์ ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ประกันตัวผู้ลี้ภัยขึ้น จนผู้ลี้ภัยทั้ง 96 คนได้รับการปล่อยตัวในที่สุด

น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่า บทบาทของกรรมการสิทธิในกรณีนี้คือประสานงานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อเข้าร่วมตรวจสอบสถานภาพของผู้ลี้ภัยทั้งหมด ทั้งนี้ น.พ.นิรันดร์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวนี้ได้ผลเนื่องจากส่วนหนึ่งมาจากภาคประชาสังคมอามาดีที่มีการรวมตัวกันเป็นอย่างดี

“ประการแรก พวกเขามีสิทธิของความเป็นคน ไม่ใช่มองว่าเขาละเมิดกฎหมายเท่านั้น และเขามีเด็กอยู่เยอะมาก ประการที่สองคือต้องมีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็น่ายินดีที่ทางตม. พยายามให้ความชวยเหลือ และขณะเดียวกันภาคประชาสังคมและเครือข่ายอามาดีจากต่างประเทศ เช่นในแคนาดา ก็พยายามเจ้ามาช่วยเหลือ มีเอ็นจีโอที่ทำเรื่องผู้ลี้ภัยเป็นกำลังหลักในการประสานงาน และหาทางออกโดยการประกันตัว”

อย่างไรก็ตาม น.พ.นิรันดร์ ยอมรับว่า กรณีผู้ลี้ภัยจากประเทศอื่นๆ เช่นโรฮิงยา หรือผู้ลี้ภัยจากศรีลังกา ยังมีปัญหามากกว่า เพราะเกี่ยวข้องกับปัญหาสถานภาพผู้ลี้ภัย ปัญหาเศรษฐกิจสังคม ปัญหาการเมืองของประเทศต้นทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีโรฮิงยาซึ่งพม่าไม่ได้รับยอมรับสถานภาพพลเมืองของโรฮิงยา ซึ่งกรณีเหล่านี้เป็นเรื่องที่กรรมการสิทธิต้องตรวจสอบว่าจะใช้วิธีการแก้ปัญหาและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไร แม้ว่าไทยยังไม่เป็นภาคีในกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย แต่ก็ยังมีกรรมการสิทธิที่ทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอยู่

พล.ต.ท. วิบูลย์ บางท่าไม้ ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งได้ร่วมแถลงข่าวการปล่อยตัวผู้ลี้ภัย เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรณีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยานั้น มีปัญหาที่ต่างออกไปจากกรณีของมุสลิมนิกายอามาดีจากปากีสถาน เนื่องจากชาวโรฮิงยาไม่ได้รับการยอมรับเป็นพลเมืองของประเทศต้นทาง เช่น พม่า และขณะนี้ ตม. ยังคงกักชาวโรฮิงยาไว้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกรุงเทพฯ จำนวนราว 44 คน และที่ภาคใต้อีกราว 100 คน แต่ไม่สามารถผลักดันคนเหล่านี้กลับไป เนื่องจากการผลักดันกลับไปจะส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิตของชาวโรฮิงยาเหล่านี้

 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net