Skip to main content
sharethis

 

รายงาน: ยุบโรงเรียน (ขนาดเล็ก) ของชุมชนทำไม?! เสียงสะท้อนจากชาวบ้าน ครู และ อปท. (1)

รายงาน: ยุบโรงเรียน (ขนาดเล็ก) ของชุมชนทำไม?! เสียงสะท้อนจากชาวบ้าน ครู และ อปท. (1)

รายงาน: ยุบโรงเรียน (ขนาดเล็ก) ของชุมชนทำไม?! เสียงสะท้อนจากชาวบ้าน ครู และ อปท. (1)

"จะมายุบ ร.ร.ในชุมชนของเราทำไม แล้วเด็กๆ ที่เหลือจะทำอย่างไร"
"จริงๆ มันน่าจะยุบสพฐ.หรือยุบกระทรวงศึกษาฯ มากกว่า"
"ตราบใดที่รัฐยังมองว่า ร.ร.เป็นของรัฐ ไม่ใช่ของชุมชน มันก็จะเกิดปัญหาแบบนี้แหละ"
“ขอให้ยุติล้มเลิกความคิดยุบ ร.ร.โดยทันที แล้วมานั่งคุยกับคนท้องถิ่น”

นั่นคือเสียงสะท้อนบางส่วนในวงเวทีวิเคราะห์ปัญหาและข้อเสนอแนะทางออกของโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งทางสภาการศึกษาทางเลือก ได้จัดขึ้นที่ห้องประชุมโรงแรมศิรินาถการ์เด้นท์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา หลังมีข่าวว่า ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ออกมาประกาศนโยบาย ให้มีการยุบโรงเรียนขนาดเล็กในสังกัด ซึ่งมีทั้งหมดทั้งสิ้น 14,397 โรง ทั่วประเทศ ทำให้หลายกลุ่มหลายฝ่ายที่อาจได้รับผลกระทบต่อนโยบายจากข้างบนครั้งนี้ ต่างหวั่นวิตกกันไปตามๆ กัน โดยเฉพาะกลุ่มครู องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชาวบ้านผู้ปกครองเด็กนักเรียนในชุมชนซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรง

ในเวทีดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมหลากหลาย อาทิ ตัวแทนครู จากโรงเรียนขนาดเล็กในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ตัวแทนชาวบ้านชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ตัวแทนโรงเรียนการศึกษา รวมทั้งตัวแทนขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เข้าร่วม เพื่อวิเคราะห์ แลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นกันอย่างเคร่งเครียด

ที่สำคัญและน่าสนใจก็คือ ในวงเสวนาดังกล่าว ยังได้มีการเชิญตัวแทนชาวบ้าน ชุมชนในแต่ละพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกยุบ ร.ร.ขนาดเล็กไปก่อนหน้านั้น ชุมชนที่ถูกยุบแล้วได้ต่อสู้จนได้โรงเรียนกลับคืนมา รวมทั้งโรงเรียนที่ชาวบ้านได้ร่วมกันตั้งขึ้นมาเอง

โดยในช่วงเช้า มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุปัญหาว่าทำไม โรงเรียนในแต่ละชุมชนถึงกลายเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งทุกคนได้ร่วมบอกเล่าถึงต้นตอสาเหตุไว้อย่างน่าสนใจ

ทั้งนี้ นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก ได้วิเคราะห์ถึงปัญหาการศึกษาของไทยให้ฟังว่า การศึกษาในอดีตเมื่อกว่า 120 ปี ที่ผ่านมา การเรียนรู้ของเด็กเป็นการเรียนรู้กับพ่อแม่ ครอบครัว วัด เรียนจากวิถีชีวิตของพ่อแม่ หรือเรียนจากวัด เมื่อเรียนรู้แล้วก็สามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิตได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้ ต่อมาเมื่อมีการจัดการศึกษาในโรงเรียนในยุคแรกๆ เป็นการเรียนเพื่อมุ่งเข้าสู่ระบบราชการ แต่สถานการณ์ปัจจุบันพบว่า เมื่อระบบราชการเต็ม ไม่มีการรับคนเพิ่ม ก็มีการผลิตคนป้อนเข้าสู่ระบบธุรกิจ ระบบทุน การศึกษาในปัจจุบันจึงเป็นการผลิตคนเข้าสู่ภาคธุรกิจ ตลาดแรงงาน สิ่งที่พบ นั่นคือ เด็กเยาวชนต้องออกจากบ้านจากชุมชน เพื่อเข้าไปเรียนหนังสือในเมือง ทำให้เด็กละทิ้งชุมชน รากเหง้า วิถีในท้องถิ่นของตนเอง เพื่อเข้าสู่ระบบแรงงาน รับใช้ทุน

“ขณะที่ปัจจุบัน พบว่า ภาคธุรกิจเริ่มมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก ส่งผลกระทบให้การจ้างงานในตลาดแรงงานลดลง มีอัตราจ้างงานทั้งในภาคราชการและภาคธุรกิจลดลง จึงส่งผลให้ผู้ที่จบการศึกษาไม่มีงานทำ โดยพบว่าสถิติของคนที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ปริญญาโทไม่มีงานทำเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ปัญหาที่ตามมาก็คือ เด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาไม่สามารถกลับเข้าไปในชุมชน ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เพราะขาดความรู้ความเข้าใจในวิถีภูมิปัญญา รากเหง้าของชุมชนตนเอง”

นายชัชวาลย์ กล่าวอีกว่า แต่พอมาถึงตอนนี้ รัฐกลับมีนโยบายทางการศึกษาที่ต้องการรวมโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชนต่าง ๆ เพื่อรวมกับโรงเรียนขนาดใหญ่ ทำให้มีโรงเรียนขนาดเล็กที่กำลังจะถูกยุบจำนวนมากกว่า 14,000 โรง มีหลายโรงเรียนในชุมชนที่ถูกยุบ กำลังจะถูกยุบ รวมทั้งที่ถูกยุบไปแล้ว แต่กำลังมีข้อเรียกร้อง หรือมีความพยายามในการฟื้นโรงเรียนขนาดเล็กที่ถูกยุบขึ้นมาใหม่ ซึ่งหลายแห่งมีการฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ โดยความร่วมมือจากคนในชุมชนทุกภาคส่วน มีการจัดระบบการศึกษา พัฒนาหลักสูตรด้วยตนเอง ซึ่งสภาการศึกษาทางเลือก ได้เห็นประเด็นปัญหาผลกระทบของการยุบโรงเรียนขนาดเล็กจึงเข้ามาร่วมสนับสนุนและหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

นายกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้กลายเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ก็เพราะว่าจำนวนเด็กนักเรียนลดลง เนื่องจากมีการคุมกำเนิด ทำให้จำนวนเด็กในชุมชนลดลง บวกกับค่านิยมแนวคิดของผู้ปกครองเปลี่ยนไป คือทุกคนต่างมุ่งหวังต้องการส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนดีๆ ข้างนอก

“ส่วนหนึ่งต้องโทษนโยบายรัฐ ที่เน้นโรงเรียนในฝัน โรงเรียนตัวอย่าง ที่เน้นคุณภาพเฉพาะโรงเรียนนั้น แต่ไม่ได้เน้นโรงเรียนในท้องถิ่นที่เหลือ จึงเกิดแรงดึงดูดให้พ่อแม่พาเด็กนักเรียนไปเรียนโรงเรียนในฝัน อีกอย่าง ในขณะที่ผู้ปกครองเองก็อยากส่งลูกตัวเองเรียนดี ได้เป็นเจ้าคนนายคน เป็นทหาร ตำรวจ โดยไม่ได้สนใจวิถีชีวิตในชุมชน”

ในขณะที่ตัวแทนครูอีกคนหนึ่ง ก็กล่าวว่า ที่ผ่านมาต้องโทษนโยบายรัฐ ที่ออกมาปล่อยข่าวว่า โรงเรียนจะถูกยุบแน่ๆ ยิ่งทำให้ผู้ปกครองเด็กนักเรียนไม่มั่นใจ จึงพากันย้ายแห่ไปเรียนในโรงเรียนในตัวอำเภอ โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชน ที่ในขณะนี้ได้มีการพัฒนาบริหารเชิงรุก ดึงเด็กนักเรียนไปเรียนกันเป็นจำนวนมาก

เช่นเดียวกับ ผู้ใหญ่บ้านบ้านม่อน ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ได้กล่าวว่า เมื่อ 3-4 ปีก่อน ได้ยินข่าวมาตลอดว่าเขาจะยุบโรงเรียนวัดบ้านม่อน แต่ชาวบ้านทุกคนไม่อยากให้ยุบ ก็พยายามช่วยกันพัฒนาดูแลโรงเรียนมาโดยตลอด ต่อมา ภารโรงปลดเกษียณก็ไม่จ้างต่อ ถูกยุบตำแหน่งไป ชาวบ้านก็พากันไปช่วยตัดหญ้าพัฒนาโรงเรียนแทนให้

“ที่เราไม่อยากให้ยุบ ก็เพราะเราเป็นห่วงอนาคตลูกหลานที่จะต้องขาดโอกาส สงสารผู้ปกครองที่จะต้องทุกข์ยาก จากนั้นมีการถอดตำแหน่ง ผอ.โรงเรียนออกไป พวกเราไปอำเภอขอ ผอ.คืน ก็ไม่ได้ บอกให้ไปที่เขตการศึกษาฯ เราให้ทางเขตการศึกษาฯ มาชี้แจง กลับเสนอให้ยุบรวมอีก พอเราร้องเรียน ก็ถูกกล่าวหาว่าพูดมาก ขัดขวางราชการอีก อย่างไรก็ตาม เราจะต้องดึงโรงเรียนของเราไว้ ไม่ใช่จะให้เด็กนักเรียนไปตายเอาดาบหน้าเช่นนั้น” ผู้ใหญ่บ้านบ้านม่อน กล่าว

ในขณะตัวแทนครู จากโรงเรียนวัดหนองหล่ม จ.ลำพูน ก็บอกว่า โรงเรียนในตอนนี้มี นักเรียนทั้งหมด 50 คน มีครูอยู่ทั้งหมด 5 คน สาเหตุก็คือ โรงเรียนขนาดเล็กก็เพราะชาวบ้านไม่ยอมมีลูก เพราะมุ่งออกไปทำงานรับจ้างในนิคมอุตสาหกรรมกันหมด พอออกไปทำงาน ก็เอาลูกออกไปเรียนข้างนอกด้วย

“ยกตัวอย่างในบัญชี มีจำนวนเด็กที่อยู่ในทะเบียนบ้าน 37 คน แต่ที่อยู่ในชุมชนจริงๆ เหลือเพียง 5 คนเท่านั้น นี่คือปัญหาในขณะนี้”

อีกปัญหาหนึ่ง ที่ตัวแทนครู บอกเล่า ก็คือ โรงเรียนส่วนใหญ่ มีครูหลายคนมุ่งแต่ทำผลงานทางวิชาการ ทำอาจารย์ 3 อีกทั้งยังขาดครูรายวิชาเอก ทำให้ครูคนเดียว ต้อนสอนทุกวิชา ซึ่งแน่นอน เรื่องคุณภาพในการจัดการเรียนการสอนของครูย่อมขาดทักษะ ส่งผลต่อการเรียนของเด็กได้

“ยกตัวอย่าง ทางโรงเรียนวัดหนองหล่มขาดครูวิชาเอกอังกฤษ ซึ่งทางโรงเรียนได้ทำหนังสือไปขอครูเอกภาษาอังกฤษกับทางเขตการศึกษาฯ หลายครั้งแต่ก็เงียบเฉย เขาไม่สนใจอยู่แล้ว เพราะเขาต้องการจะยุบโรงเรียนของเราอยู่แล้ว” ตัวแทนครูบ่นพ้อ

เช่นเดียวกับ ตัวแทนครูจากโรงเรียนบ้านสามขา อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ก็ออกมาพูดว่า ความล้มเหลวทั้งหมดขอยกให้กับนโยบายรัฐและเขตการศึกษา ที่ไม่มีมาตรการกำกับดูแลครูให้มีประสิทธิภาพ ใช้งานครูมาก แต่ไม่ค่อยสนับสนุน

“ที่ผ่านมา กระทรวงและเขตพื้นที่ จะให้งานครูมาทำที่โรงเรียนกันมากพอๆ กับเจ้าหน้าครูที่ในเขตการศึกษา แต่กลับไม่มีการสนับสนุนในเรื่องการเรียนการสอน อีกทั้งหลักสูตรและระบบการทำงานก็มองข้ามความเป็นมนุษย์ ไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชนท้องถิ่น แล้วจู่ๆ ก็มีข่าวมาว่าจะยุบโรงเรียนขนาดเล็กอีก ซึ่งทำไมไม่ทำงานวิจัยกันก่อนว่า สมควรจะยุบ ไม่ยุบ หรือยุบรวมหรือไม่อย่างไร ก่อนตัดสินใจ”

ด้าน นายสมบูรณ์ รินท้าว ตัวแทนครู โรงเรียนขนาดเล็กจาก จ.น่าน ได้ลุกขึ้นกล่าวว่า ตนทราบข่าวจากสื่อ ว่าจะมีการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ก็รู้สึกไม่สบายใจ จึงได้คุยกับกลุ่มครู ว่าทำอย่างไรถึงจะต่อสู้เรื่องนี้ได้ จึงมาขอร่วมต่อสู้กับทางสภาการศึกษาทางเลือกในครั้งนี้ด้วย

ตัวแทนครู โรงเรียนขนาดเล็ก จาก จ.น่าน ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุปัญหาที่ทำให้กลายเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ว่า ปัญหาแรกคือปัญหาวิกฤติประชากร คือมีคนในวัยเจริญพันธุ์พากันอพยพเข้าไปทำงานในเมืองกันหมด ดังนั้น เห็นได้ว่า ในรอบปีที่ผ่านมา หมู่บ้านจะไม่มีเด็กเกิดใหม่เลย

“อีกสาเหตุหนึ่ง ก็คือ ปัญหาเรื่องระบบการศึกษา ทุกวันนี้มีการกระจายทรัพยากรทางการศึกษาเสมอภาคจริง แต่ไม่เท่าเทียม คุณกระจายบุคลากรไปนั่งทำงานในเขตพื้นที่ แต่ในขณะที่โรงเรียนในชุมชน ครูคนเดียวแต่ต้องสอนถึง 8 สาระการเรียนรู้ นี่คือความไม่เท่าเทียม”

นายสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาจะมาอ้าง มากล่าวหาว่า โรงเรียนขนาดเล็กนั้นไม่มีคุณภาพ ตนขอค้าน เพราะที่โรงเรียนไม่มีคุณภาพ ครูไม่มีประสิทธิภาพนั้น ก็เพราะขาดการสนับสนุนจากข้างบน

“ถ้ารัฐให้งบมาให้ปีละ2แสน ผมจะทำคุณภาพให้ดู ผมจะจ้างคนในชุมชนที่จบ ปวช. เด็กจบ ป.ตรี มาสอนให้ดู ผมจะให้เรียนผ่านไทยคม ซึ่งที่ผ่านมา เด็กนักเรียนก็เรียนได้ดี สามารถสอบโอเน็ทได้”

เช่นเดียวกับ นายศรีมาศ เชื้อหมอ ตัวแทนครูจาก จ.น่าน ก็บอกย้ำว่า ที่ผ่านมา หน่วยงานระดับบนไม่ได้ให้ความสำคัญต่อครู ต่อโรงเรียนในท้องถิ่น

“เพราะฉะนั้น ข้างบนจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดกันใหม่ ไม่ว่าในเรื่องการจัดสรรงบประมาณเรื่องวัสดุครุภัณฑ์ หรือเรื่องการจัดสรรบุคลากร ยกตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้ ในพื้นที่ของเรา มีเจ้าหน้าที่ธุรการ 1 คน แต่ต้องรับผิดชอบตั้ง 4 โรงเรียน อย่างนี้จึงทำให้การศึกษาไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น ถ้ายุบโรงเรียน ก็ยิ่งทำให้เด็กๆ กลุ่มนี้ด้อยโอกาสมากขึ้นไปอีก”

เช่นเดียวกับ ตัวแทนชาวบ้านชนเผ่าปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดนอก อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ก็ออกมาบอกว่า หมู่บ้านของตนนั้น โรงเรียนถูกยุบไปนานแล้ว ทุกวันนี้เด็กนักเรียนในหมู่บ้านต้องเดินเท้าออกไปเรียนร่วมกับโรงเรียนบ้านป่าตึง ซึ่งเป็นชุมชนเผ่าลีซู

“ทุกวันนี้ เด็กนักเรียนต้องเดินเท้าไปเรียนข้างนอก ใช้เวลาเดินทางไป-กลับร่วม 8 กิโลเมตร นอกจากเด็กๆ จะลำบากเรื่องการเดินทางกันแล้ว ยังมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เพราะต้องไปเรียนร่วมกับชุมชนวัฒนธรรมอื่น หลายคนก้าวร้าว ซึ่งผู้ปกครองเริ่มหวั่นไหว กลัววิถีชีวิตจะเปลี่ยนไป ไม่อยากส่งไปเรียน ดังนั้นตอนนี้ชาวบ้านกำลังเรียกร้องให้มีการเปิดโรงเรียนขึ้นในชุมชนของตน”

ด้าน นายเทวินฎฏฐ์ อัครศิลาชัย ผู้อำนวยการโรงเรียนม่อนแสงดาว อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งเป็นหนึ่งโรงเรียนที่จัดการศึกษาทางเลือก และเป็นรองเลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก ได้กล่าววิเคราะห์ถึงปัญหาเหล่านี้ว่า จะเห็นได้ว่า ตราบใดที่การศึกษาของไทยยังมีระบบแบบนี้ ย่อมมีปัญหาไม่มีวันจบสิ้น เพราะระบบการศึกษาในปัจจุบันมันเป็นการรวมศูนย์เอาไว้ที่ส่วนกลาง

“เพราะฉะนั้น ปัญหาเฉพาะหน้าตอนนี้ ตนเห็นด้วยที่จะช่วยกันหยุดยั้งไม่ให้มีการยุบโรงเรียนขนาดเล็กให้ได้ เพราะมันจะกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนเป็นอย่างมาก หลังจากนั้น เราจะต้องเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมไปถึงการพัฒนาครูไปพร้อมๆ กัน”ผู้อำนวยการโรงเรียนม่อนแสงดาว กล่าวในตอนท้าย

...ตอนหน้า เราไปฟังความเห็นของตัวแทนชาวบ้าน ครูและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่าจะมีข้อเสนอและทางออกอย่างไร ?!

 

สรุปประมวลภาพรวมปัญหาและผลกระทบ

  1. ปัญหานโยบาย:การที่รัฐไม่ให้การสนับสนุน กระจายทรัพยากรอย่างไม่เท่าเทียมและไม่เป็นธรรม ซึ่งมาจากวิธีคิดในเรื่องการจัดการศึกษาที่มองข้ามวิถีท้องถิ่น , นโยบายรัฐมองข้ามคนด้อยโอกาส คนที่อยู่ห่างไกล และการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยไม่ได้มองว่าชุมชนมีทุนเดิมในการจัดการศึกษา สร้างการเรียนรู้ให้กับลูกหลานในชุมชน
  2. มาตรการและการจัดการศึกษามีลักษณะการรวมศูนย์ อยู่ที่เขต กำหนดโดยเขตการศึกษา ไม่มีการกระจายการจัดการศึกษาให้กับท้องถิ่น
  3. กระแสสังคม การพัฒนา ค่านิยม การบริโภค ความเจริญทางเศรษฐกิจ เกิดโรงเรียนในฝัน โรงเรียนที่ตอบสนองกระแสหลัก เน้นโรงเรียนเด่น การขยายตัวของโรงเรียนเอกชน
  4. ปรัชญาการศึกษาที่ไม่สอดคล้อง มองข้ามวิถีท้องถิ่น , มองข้ามคนด้อยโอกาส และขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน
  5. ปัญหาจากตัวชุมชน มีการเปลี่ยนไป พึ่งตนเองน้อยลง หวังพึ่งคนอื่น
  6. ปัญหาจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ในเรื่องค่านิยม ต้องการให้เรียนสูง มีอาชีพที่มั่นคง และมีเวลาให้กับบุตรหลานลดลง ปล่อยให้เรื่องการเรียนรู้เป็นเรื่องของโรงเรียนเป็นผู้จัดการ
  7. ปัญหาจากจำนวนเด็ก ลดลง และโอกาสทางการศึกษาของเด็กด้อยโอกาส
  8. ปัญหาจากครู ผู้อำนวยการโรงเรียน และโรงเรียน ทั้งในเรื่องคุณภาพการสอน , การไม่มีเวลาสอนให้กับเด็กนักเรียน และคุณภาพของโรงเรียน
  9. แนวทางมาตรการต่าง ๆ การจัดการ การสนับสนุน การชี้วัดประเมินผล การทำผลงาน การทำหลักสูตร มาจากส่วนกลางเป็นหลัก
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net