Skip to main content
sharethis

(18 พ.ค. 54) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยแถลงข่าวข้อเสนอนโยบายแรงงานต่อพรรคการเมือง ณ ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย โดยชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ระบุว่า ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ แรงงานได้พูดคุยกันเพื่อเสนอนโยบายให้พรรคการเมืองนำไปบรรจุเป็นนโยบายพรรค เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงอันเป็นสาเหตุของความยากจน โดยจากการพูดคุยและสำรวจกับคนงานมี 9 ประเด็น ได้แก่ การให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง แก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ให้สอดคล้องอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน การปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม และปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานระบบประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม โปร่งใสตรวจสอบได้ ค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ทางสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) และโครงสร้างค่าจ้างเพื่อให้มีหลักเกณฑ์การปรับค่าจ้างประจำปี พัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน และยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในกิจการสาธารณูปโภค สิทธิเลือกตั้ง ส.ส., ส.ว., องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทุกระดับในเขตพื้นที่สถานประกอบการของคนงาน เพื่อสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนในพื้นที่ จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน จัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน เพื่อคุ้มครองสิทธิคนงานให้ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรมและเป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงาน จากกรณีเจ้าของสถานประกอบการปิดกิจการและเลิกจ้าง การคุ้มครองสิทธิแรงงานนอกระบบ และสิทธิแรงงานข้ามชาติ วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานฯ กล่าวว่า ข้อเสนอเหล่านี้เป็นข้อเสนอที่รณรงค์กันมาหลายปี แต่ยังไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตามมองว่ายังเป็นเรื่องจำเป็นกับผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะสิทธิในการรวมตัว เพื่อให้มีอำนาจต่อรองกับนายจ้างและรัฐบาล เพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายที่มีผลกับชีวิตผู้ใช้แรงงาน สอง สวัสดิการทางสังคมอย่างระบบประกันสังคม ที่ผู้ประกันตนในฐานะเจ้าของเงินยังไม่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ รวมถึงต้องการให้ขยายความคุ้มครองไปสู่แรงงานนอกระบบอย่างถ้วนหน้าและเป็นธรรมด้วย วิไลวรรณ กล่าวเสริมว่า แม้ว่าพรรคการเมืองจะจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายกับสาธารณชนแล้ว แต่หากสนใจนำข้อเสนอของคนงานซึ่งเป็นชนชั้นล่างในสังคมไปบรรจุ จะสร้างความจูงใจให้ผู้ใช้แรงงานไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ อย่างไรก็ตาม หากพรรคการเมืองยังไม่สนใจนโยบายที่คนงานหรือประชาชนเสนอ หรือรับแล้วไม่ทำ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปในอนาคตอาจจะรณรงค์โหวตโนก็ได้ ยงยุทธ เม่นตะเภา กล่าวว่า หลังจากนี้จะเดินทางไปพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อยื่นข้อเสนอของแรงงาน และจะติดตามนโยบายพรรคการเมืองไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเลือกตั้ง ทั้งนี้ เขากล่าวถึงความสำคัญของการใช้สิทธิเลือกตั้งทุกระดับในพื้นที่ทำงานว่า ปัจจุบันคนงานในเขตอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่เวลาเลือกตั้ง ต้องไปใช้สิทธิที่ต่างจังหวัด ซึ่งไม่ทราบว่า ส.ส. ส.ว.ในพื้นที่เป็นอย่างไร เพราะมาใช้ทรัพยากรในจังหวัดที่ทำงาน ดังนั้น แรงงานจึงเสนอให้มีการใช้สิทธิเลือกตั้งตามที่อยู่อาศัย ส่วนการเลือกตั้งล่วงหน้านั้นไม่ใช่ประเด็น ยงยุทธ กล่าวว่า คนจนสุด 20% ได้ส่วนแบ่ง 4-5% จากจีดีพี คนรวยสุดได้ส่วนแบ่งเกือบ 60% ชนชั้นกลางได้รับส่วนแบ่งเกือบ 40% ความเหลื่อมล้ำค่อนข้างมาก คนงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ซึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงควรต้องมีความเป็นอยู่ที่ดี โดยไอแอลโอระบุว่า ตัวเลขของค่าจ้างที่เป็นธรรม ควรต้องเลี้ยงคนได้อีก 3 ชีวิต ชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ รองประธานฯ กล่าวย้ำว่า อย่างไรก็ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะต้องคาดหวังกับพรรคการเมือง แม้หลายส่วนบอกว่ายังไม่ได้ระดับ แต่ช่วงสิบปีที่ผ่านมา จะเห็นการแข่งขันนโยบายนักการเมืองใหม่ๆ เข้ามา ยืนยันว่าจะไม่โหวตโน โดยจะดูว่ามีพรรคใดที่มีนโยบายสอดคล้องกับแรงงาน ทั้งนี้ วิจารณ์ว่านโยบายขึ้นค่าจ้างของหลายพรรคการเมืองเป็นเหมือน \นโยบายลูกกวาด\" ซึ่งแม้จะเอาตัวเลขค่าจ้างมาล่อ ซึ่งก็ยังน้อยกว่าที่คนงานเสนอ และไม่แน่ใจว่านโยบายเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จริง เมื่อถามว่ามีท่าทีอย่างไรต่อผู้นำแรงงานบางรายที่ลงสนามเลือกตั้ง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยกล่าวว่า พร้อมให้การสนับสนุนผู้นำแรงงานที่เข้าใจความเป็นอยู่ของพี่น้องแรงงานและให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง เพราะมองว่าเป็นตัวแทนของแรงงานที่เข้าไปมีบทบาทในสภา"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net