Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผู้เขียนเพิ่งทราบมาว่า คุณสุภิญญา กลางณรงค์ นักกิจกรรมด้านสื่อสารมวลชน ผู้เป็นที่รู้จักของสังคม และผู้ซึ่งผู้เขียนก็รู้จักโดยส่วนตัวดีในระดับหนึ่ง กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากค่ายผู้จัดการ สืบเนื่องจากการตัดสินใจสมัครชิงตำแหน่งกรรมการ กสทช. ทั้งๆ ที่ตนเองเป็นหนึ่งในผู้ร่างกฎหมายนี้ขึ้นมา

ทางหนังสือพิมพ์เอเอสทีวี ผู้จัดการออนไลน์อ้าง [1] ถึงข้อความในเฟซบุ๊กของคุณสุภิญญาเอง เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2553 ซึ่งมีความว่า

“มีคนยุให้ลงสมัคร กสทช.เหมือนกัน เพราะจะได้เข้าไปลุยงานปฏิรูปสื่อด้วยตัวเอง แต่ก็ยังไม่ได้คิดหรอกนะคะ เพราะอันนี้เป็นเรื่องมารยาทแน่เพราะเป็นคนร่าง พรบ.กสทช.มา ส่วนตัวมองเรื่องความทับซ้อนตรงนี้นะคะ คือ เราเป็น NGO รณรงค์ทั้งในและนอกห้องประชุมเป็นเรื่องปกติทำได้ ถ้าเราไม่มีส่วนได้เสียในการประมูลหรือการออกแบบกติกานั้น แต่ถ้ามีส่วนได้ส่วนเสียกับการประมูล แล้วไปนั่งออกแบบกติกาอันนี้น่ะผิดจริงจังค่ะ

ส่วนเรื่องสมัครเป็น กสทช.แม้จะไม่ผิด กม. (กฎหมาย) แต่เป็นมารยาท เพราะเป็นคนร่างกฎหมายมาเอง อันนี้ ถ้าสุดท้ายดิฉันตัดสินใจลงสมัคร กสทช.ในอนาคต ก็รอวิจารณ์ได้เต็มที่เลยนะคะ เพราะเข้าข่ายว่าทำงานเคลื่อนไหวเรื่องนี้มาทั้งหมดเพราะอยากเป็น กสทช.”

ท้ายข่าวนี้ ก็มีคอมเมนต์ออกมาเชิง “จัดหนัก” ให้คุณสุภิญญา ซึ่งเมื่ออ่านแล้ว ผู้เขียนเข้าใจว่า คอมเมนต์เหล่านี้คงทำให้คุณสุภิญญาได้รับผลกระทบทางจิตใจไม่มากก็น้อย ณ เวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่คุณสุภิญญาควรจะตั้งสติ เพื่อตัดสินใจว่า เธอให้ค่ากับคุณค่า (values) ใดมากกว่ากัน

ในสังคมไทยมีผู้คนมากมายอ้างว่า ด้วยเหตุเพราะตนมีเจตนา “ดี” ต่อสังคม จึงทำให้มีสิทธิที่จะทำสิ่งที่ “ดี” ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงหลักการ กระบวนการที่ถูกต้อง รวมถึงมารยาท หรือแม้กระทั่งคำพูดและจุดยืนของตัวเองที่เคยมีมา ตัวอย่างเช่น การทำรัฐประหาร สนับสนุนรัฐประหาร เข้าร่วมในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งก่อตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร 2549 หรือตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้อันได้แก่ การร่วมในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศซึ่งเกิดขึ้นหลังการสลายการชุมนุมคนเสื้อ แดงในเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2553 หรือแม้กระทั่งการที่คนจำนวนหนึ่งสนับสนุนกฎหมายพระบรมเดชานุภาพ (มาตรา 112) เพราะพวกเขาเชื่อว่า สถาบันกษัตริย์ดีเลิศ ประเสริฐ กฎหมายที่คุ้มครองคนดีจึงย่อมดีตามไปด้วย

ผู้เขียนต้องออกตัวว่า คุณสุภิญญาเองก็เคยขอคำปรึกษาว่า เธอควรจะสมัครชิงตำแหน่งกรรมการ กสทช. หรือไม่ ซึ่งผู้เขียนได้ให้คำตอบ โดยชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ในแง่บวก และลบ หากเธอสมัคร และหากเธอไม่สมัคร แต่ในท้ายที่สุดแล้วเธอจะต้องตัดสินใจเอง

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมิทราบมาก่อนว่า คุณสุภิญญาเคยแสดงจุดยืนผ่านตัวอักษรบนหน้าเฟซบุ๊กไปแล้วว่า เธอได้แสดงจุดยืนอย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า จะไม่สมัครเด็ดขาด และทำไมถึงจะไม่สมัคร

ผู้เขียนไม่สงสัยว่า คุณสุภิญญาเป็น “คนดี” ที่มุ่งหวังอยากเห็นสังคมไทยมีเสรีภาพและความเท่าเทียมในการสื่อสารและแสดง ความเห็นมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และได้ทุ่มเทหยาดเหงื่อ แรงกาย และมันสมองไปมิน้อยในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม มาวันนี้คุณสุภิญญาต้องถามตัวเองว่า อะไรเป็นคุณค่าที่ตัวเธอยึดถือ และคุณค่าใดมีความสำคัญมากกว่ากัน ระหว่าง เจตนาที่ตัวเองเชื่อว่า “ดี” กับการรักษาคำพูดและหลักมายาทจริยธรรม รวมถึงหลักการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน

ผมคงไม่ต้องขยายความว่า มีนายพลกี่คนที่ก่อรัฐประหารโดยอ้างหรือเชื่อว่า ตนเองมีเจตนาดีต่อสังคม แต่เราต้องตั้งคำถามว่า แล้วกระบวนการที่ไม่รักษามารยาทและหลักการของระบอบประชาธิปไตยนั้นช่วยแก้ ปัญหาหรือสร้างปัญหามากขึ้นกันแน่

อาจารย์บางคนที่เข้าไปเป็นสมาชิก สนช. เช่น อาจารย์สุริชัย หวันแก้ว จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ยังกล้าพูดกับผู้เขียนเมื่อไม่กี่เดือนที่แล้วว่า ตนไม่เคยสนับสนุนรัฐประหาร (ซึ่งภรรยาของ อ.สุริชัยอ้างว่า อ.สุริชัยอยากเข้าไปผลักดันเรื่องปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงได้ตกลงรับ ตำแหน่งนี้) หลังจากที่ผู้เขียนกล่าวกับอาจารย์ท่านนี้ไปว่า คนที่เป็นที่นับถือในสังคมยิ่งไม่ควรสนับสนุนรัฐประหาร เพราะไม่มีรัฐประหารใดจะสำเร็จได้ หากผู้คนไม่ยอมรับในความชอบธรรม

ปัญหาของคุณสุภิญญาทำให้ผมนึกถึงเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 หลังจากที่มีคนตายไปกว่า 20 ศพ หากในวันนั้นนายอภิสิทธิ์ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความรับผิดชอบ มาวันนี้ผมเชื่อว่า คนจำนวนไม่น้อยอาจมองเขาอย่างชื่นชมมากกว่านี้ ว่าเป็นผู้ที่กล้ารับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่ตนได้กระทำลงไป

เพียงเพราะคุณสุภิญญาได้เดินก้าวมาถึงจุดที่ได้สมัครไปแล้ว และได้รับคัดเลือกไปในระดับหนึ่งแล้ว นั่นก็ไม่ได้จำเป็นที่ คุณสุภิญญาจะต้องเดินต่อไปบนเส้นทางเส้นนี้เท่านั้น หากทว่า คุณสุภิญญาควรจะถามตนเอง ว่าการละทิ้งตรรกะและวาจาที่ตนเคยให้ไว้ในกับสาธารณะ มีค่ามากกว่าตำแหน่งใน กสทช. หรือไม่

ผมคิดว่า สังคมไทยให้ค่ากับกระบวนการและหลักการที่ถูกต้องและวาจาสัตย์น้อยเกินไป และถึงแม้คุณสุภิญญาคงไม่ห่วงความเห็นของคนที่ไม่เป็นมิตรต่อคุณ เช่น คนเสื้อเหลือง หรือผู้อ่านหนังสือพิมพ์ เอเอสทีวีผู้จัดการ ที่จ้องจะด่าและประณามผู้ที่ไม่ได้เป็นพวกเดียวกับตน รวมถึงคุณสุภิญญาอยู่แล้ว แต่ผู้เขียนอยากบอกว่า แม้กระทั่งคนที่เคยชื่นชมคุณสุภิญญา อย่างเช่น สมบัติ บุญงามอนงค์ (บ.ก.ลายจุด) ก็ได้แสดงความรู้สึกผิดหวังไว้ในทวิตเตอร์ของเขาแล้วเช่นกัน

คนเหล่านี้ที่เคยชื่นชมหรือนับถือคุณสุภิญญาต่างหากล่ะ ที่คุณสุภิญญาควรจะฟังเสียงและความรู้สึกของเขา
ไม่มีอะไรสายเกินกว่าการยอมรับว่า เราก้าวผิด เหมือนดั่งที่คุณสุภิญญาเคยไปขึ้นเวทีพันธมิตรในช่วงแรก และมาตระหนักในภายหลังว่า จุดยืนของพันธมิตรไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างที่ตนเคยคิด

ไม่มีอะไรที่น่าละอายสำหรับผู้ที่เมื่อตระหนักว่า ตนก้าวผิด ก็พร้อมจะหยุดทบทวน หรือแม้กระทั่งก้าวถอยกลับมา เพื่อเปลี่ยนทิศทางเดินใหม่ให้ถูกต้อง

สังคมไทยเต็มไปด้วยคนที่บอกผู้อื่นว่า ตนมีเจตนาดี จึงมี “ความชอบธรรม” ที่จะกระทำการลัดคิวหรือเสียมารยาทหรือหลักการได้ คุณสุภิญญาไม่จำเป็นต้องเป็นหนึ่งในนั้นหรอก เพราะตอนนี้สังคมไทยก็มีคนเหล่านี้มากเกินพอแล้ว

 

 

[1] http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9540000055796 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net