Skip to main content
sharethis
นักเคลื่อนไหวญี่ปุ่นแนะประเทศไทยเรียนรู้เรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จาก วิกฤติญี่ปุ่น ปิดโรงไฟฟ้าสูญงบกว่า 1 ล้านล้านเยน ด้านรอง ผอ.สำนักนโยบายและแผนพลังงาน ชี้พลังงานทางเลือกมีต้นทุนสูง ต้องถาม ปชช.ยินดีจ่ายค่าไฟแพงหรือไม่
วันนี้ (20 เม.ย.54) กลุ่มจับกระแสเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา ร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคม สถาบันวิจัยพลังงาน และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “ทบทวนความมั่นคงของมนุษย์และพลังงานทางเลือกของเอเชียหลังวิกฤตินิวเคลียร์ ญี่ปุ่น” ณ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
นาย บัน ฮิเดยูกิ (Mr.BAN Hideyuki) จากศูนย์ข่าวนิวเคลียร์ภาคพลเมืองของญี่ปุ่น กล่าวให้ข้อมูลว่า เหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิชิ ส่งผลให้ต้องอพยพประชาชนเกือบ 4 แสนคนออกจากพื้นที่รัศมี 40 กิโลเมตร ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ประสบภัยรวมไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านเยน และคาดว่าการปิดโรงไฟฟ้า 4 แห่งทำให้สูญเสียงบประมาณ 1 ล้านล้านเยน ไม่รวมปัญหาอาหารปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีและผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งขณะนี้มีกระแสต่อต้านและให้ทบทวนแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จึงอยากให้ประเทศไทยเรียนรู้จากวิกฤติครั้งนี้
 
ด้าน นักวิชาการและภาคประชาชนระบุว่าจำเป็นต้องมีการทบทวนว่าพลังงานนิวเคลียร์ เป็นทางออกของปัญหาขาดแคลนพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามที่เคย เข้าใจกันหรือไม่ โดยนายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขงระบุว่า พลังงานนิวเคลียร์มีราคาแพงและเป็นอันตราย สามารถส่งผลกระทบข้ามประเทศข้ามทวีปได้ ซึ่งไทยก็เผชิญความเสี่ยงจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมืองเซินเจิ้นของจีนซึ่ง อยู่ใกล้ไทยที่สุด
 
ดร.สิวินีย์ สวัสดิอารีย์ นักฟิสิกส์สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติเสนอให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียร่วมกัน สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการบริหารจัดการพลังงานทางเลือก เช่น แสงอาทิตย์ ลม
 
นายชวลิต พิชาลัย รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า ไทยยังคงอยู่ระหว่างการศึกษาพลังงานนิวเคลียร์ ส่วนประเด็นพลังงานทางเลือกนั้นมีต้นทุนสูง ซึ่งต้องถามประชาชนว่ายินดีจ่ายค่าไฟฟ้าแพงหรือไม่
 
 
เรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net