Skip to main content
sharethis

ผลประเมินการโครงการ “บ้านมั่นคง” ช่วยยกระดับชีวิตคนจนเมือง มีบ้านของตัวเอง คุณภาพชีวิตดีขึ้น ชั่วโมงทำงานเพิ่ม รายได้เพิ่ม เด็กได้เรียนหนังสือ ต้นแบบการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน-คนรวยอยู่ร่วมกันได้ โดยรวมคุ้มค่าการลงทุน และช่วยเพิ่มระเบียบวินัยทางการเงินและในการดำเนินชีวิต 15 เม.ย. 54 - ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการศึกษาผลกระทบของโครงการบ้านมั่นคง ซึ่งเป็นโครงการที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.ได้ริเริ่มดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาชุมชนแออัดในเขตเมือง โดยการจัดทำพื้นที่ที่อยู่อาศัย รวมถึงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และการให้ความช่วยเหลือในเรื่องเงินกู้เพื่อการสร้างที่อยู่อาศัย เปลี่ยนชุมชนเดิมให้เป็นชุมชนใหม่ที่ดีกว่า ภายใต้ข้อกำหนดให้มีการตั้งกลุ่มออมทรัพย์ของชุมชนนั้น ๆ ซึ่งให้ความช่วยเหลือในเรื่องของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเมื่อจำนวนเงินออมทรัพย์มีจำนวนร้อยละ 10 ของ งบประมาณในการสร้างที่อยู่อาศัยของทั้งชุมชน ทำการศึกษาประเมินผลกระทบเปรียบเทียบระหว่างชุมชนในโครงการบ้านมั่นคงกับชุมชนนอกโครงการ 16 แห่ง ในกรุงเทพและต่างจังหวัด การแก้ปัญหาภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าวเน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ต้องอาศัยกระบวนการทำความเข้าใจและการเห็นพ้องร่วมกันของชุมชน ต้องใช้ระยะเวลาในการเก็บออม ซึ่งหมายถึงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จัดระเบียบวินัยในการดำเนินชีวิต เก็บออมเพื่อการมีบ้าน เพื่อให้ได้เงินส่วนหนึ่งตามเงื่อนไขแล้วจึงจะได้รับการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำไปดำเนินการได้ บ้านมั่นคงในมุมมองนี้จึงไม่เพียงแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย แต่ยังสร้างความภูมิใจ มีความเป็นเจ้าของ เป็นประเด็นสำคัญที่จูงใจให้เกิดการเก็บออม ร่วมบำรุงรักษา สร้างสังคมของชุมชนบ้านมั่นคงของตนให้ปลอดภัยและน่าอยู่ ดร.ดิลกะ กล่าวว่า การศึกษาเพื่อให้เห็นความคุ้มค่าของการลงทุนที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงยกระดับคุณภาพชีวิตของคนจนในเขตเมือง ในด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับชุมชนแออัดอื่น ๆ ในการแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัย การศึกษานี้จึงครอบคลุมทุก ๆ มิติของการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดยประเมินผลกระทบใน 3 ด้านหลัก คือ ผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ ผลกระทบต่อการลงทุนในเรื่องการศึกษาสำหรับเด็กในครัวเรือนซึ่งเป็นเรื่องการลงทุนในมนุษย์ และผลกระทบต่อรูปแบบการดำรงชีวิตของบุคคลในด้านต่าง ๆ ประเด็นที่ทุกคนสนใจมากคือ ผลกระทบต่อมูลค่าที่อยู่อาศัยโดยเฉลี่ยจากการเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง รวมถึงหนี้สินที่เกิดขึ้น และภาระการผ่อนชำระรายเดือนของครัวเรือน เห็นได้ชัดเจนว่าราคาบ้านเพิ่มสูงขึ้น และแม้ไม่อยู่เองแต่เอาไปให้เช่าก็ยังได้ราคาดีโดยเพิ่มขึ้นกว่าเดือนละ1,523 บาท ทั้งนี้จากประมาณการราคาซื้อและขายบ้านซึ่งคนในชุมชนประเมินเองพบว่าเพิ่มขึ้นมากกว่าหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการสร้างบ้านกว่าเท่าตัว โดยราคาขายเพิ่มขึ้น 718,458 บาท และราคาซื้อของบ้านเพิ่ม 518,272 บาท ในขณะที่หนี้สินบ้านเพิ่มขึ้น 229,938 บาท ครัวเรือนมีภาระผ่อนชำระระยะยาวประมาณ 14 ปี เฉลี่ยเดือนละ 1,871 บาท มีภาระดอกเบี้ยคิดเป็นประมาณร้อยละ 4.7 ต่อปี แต่หากนำบ้านไปให้เช่า คาดว่าจะได้รับค่าเช่าเฉลี่ยเดือนละ 3,804 บาท (เพิ่มขึ้น 1,523 บาท) ผลตอบแทนจากค่าเช่าเมื่อเทียบกับค่าก่อสร้างประมาณร้อยละ 17 ต่อปี หากคิดผลตอบแทนจากค่าเช่าบนพื้นฐานของประเมินราคาขายและราคาซื้อ ผลตอบแทนจะอยู่ที่ร้อยละ 4.8 และ6.2 ตามลำดับ จะเห็นว่า ราคาประเมินในมิติต่าง ๆ มีความสอดคล้องกัน และการลงทุนในที่อยู่อาศัยของกลุ่มตัวอย่างครัวเรือน ในโครงการเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แต่การมีหนี้สินค่าบ้านเพิ่มขึ้นทันที และภาระการผ่อนชำระทุกเดือนในระยะยาว ทำให้บางคนยังไม่อยากเข้ามาร่วมโครงการ จากเป้าหมายร่วมกันตั้งแต่เริ่มออมว่าต้องพยายามตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นต่าง ๆ เพื่อที่จะมาสร้างบ้านที่เป็นอนาคตของเขาเอง การประเมินนี้วัดได้ค่อนข้างชัดเจนมาก เห็นได้จากผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในชุมชนในโครงการ ทั้งผลต่อการทำงาน การลงทุน หนี้สิน ค่าน้ำและค่าไฟฟ้า พบว่า วัยทำงานในครัวเรือนมีชั่วโมงทำงานเพิ่มขึ้น 2.73 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และมีรายได้จากค่าจ้างเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 579 บาทต่อเดือน นอกจากนี้การที่มีสภาพที่อยู่อาศัยดีขึ้นบางครัวเรือนอาจมีการลงทุนธุรกิจหารายได้เพิ่ม อาทิ ทำขายอาหาร ขายของชำ รับจ้างซักรีด ฯลฯ หรือรวมกลุ่มกันทำอาชีพในชุมชน ครัวเรือนที่ทำธุรกิจเพิ่มจะมีการลงทุนธุรกิจเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 3,181 บาท และมีหนี้สินจากการลงทุนธุรกิจเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2,261 บาท มีรายได้จากธุรกิจเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 766 บาท ส่วนหนี้สินอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับบ้านและธุรกิจลดลงเฉลี่ยครัวเรือนละ 8,409 บาท ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ครัวเรือนมีระเบียบวินัยทางการเงินดีขึ้น และยังเห็นได้จากพฤติกรรมเพื่อการออมที่เปลี่ยนแปลงเมื่อเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง นอกจากนี้การที่ครัวเรือนไม่ต้องไปพ่วงน้ำและไฟฟ้าจากข้างนอกยังช่วยลดค่าน้ำและค่าไฟฟ้าของครัวเรือนเฉลี่ย 18 และ 41 บาทต่อเดือนตามลำดับ ส่วนด้านการลงทุนด้านการศึกษาสำหรับเด็กในครัวเรือน ที่มีเด็กอายุระหว่าง 6-15 ปี พบว่า การมีสภาพที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมชุมชนที่ดีขึ้น มีผลต่อการศึกษาของเด็ก โดยครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาเด็กเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2,380 บาทต่อเทอม ในขณะที่เด็กในครัวเรือนใช้เวลาในการเรียนหนังสือและทำการบ้านเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.58 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และจำนวนเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือลดลง ดร.ดิลกะ กล่าวว่า การประเมินผลกระทบในทั้งสามประเด็นซึ่งครอบคลุมหลากหลายมิติของการดำเนินชีวิตสะท้อนในแนวทางเดียวกันว่า การปรับปรุงชุมชนแออัดเดิมให้มีสภาพที่ดีขึ้นในทุก ๆ ด้านโดยคนในชุมชนตกลงในแนวทางและร่วมกันทำอย่างจริงจังจึงสามารถยกระดับ ชุมชนที่เคยถูกเรียกว่า “สลัม” ให้เป็นชุมชนปลอดภัยทั้งด้านสาธารณูปโภคและสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น ชุมชนน่าอยู่ขึ้น และที่สำคัญ คนในชุมชนสามารถมีทะเบียนบ้านเป็นของตัวเอง แสดงถึงการมีตัวตนเป็นหลักแหล่ง ตรวจสอบได้ หางานง่ายขึ้น ส่งลูกเข้าโรงเรียนได้ และสำหรับเด็กเองเมื่ออยู่ในสภาพชุมชนที่มีความพร้อมก็ใช้เวลาสำหรับการเรียนหนังสือมากขึ้น นอกจากนี้บางชุมชนมีศูนย์เด็กเล็ก หรือศูนย์ผู้สูงอายุที่จะดูแลได้ ในทุกเมืองมีชุมชนแออัด การแก้ปัญหาไม่จำเป็นต้องให้เขาไปอยู่ไกล ๆ แต่ต้องทำให้คนจนกับคนรวยอยู่ร่วมกันได้ เพราะแท้จริงแล้วโดยวิถีชีวิตต่างต้องพึ่งพิงกัน การที่ธุรกิจใหญ่ ๆ มีชุมชนบ้านมั่นคงที่มีสภาพที่ดีอยู่ข้าง ๆ ย่อมดีกว่าชุมชนสลัมที่ไม่ได้มีการพัฒนา อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาที่ดีในระยะยาว คือการวางแผนเมือง ต้องเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขยายเมืองออกไปไม่ให้กระจุกตัวเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน .

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net