เอกสิทธิ์ หนุนภักดี: คำที่ไม่ต้องถามของนักเศรษฐศาสตร์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

ดร. ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านทรัพยากรมนุษย์ประจำธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทยได้นำเสนอประเด็นค่าแรงขั้นต่ำโดยใช้ข้อมูลจากงานวิจัยที่ท่านเขียนร่วมกับ Celicia Poggi เรื่อง “From Many to One: Minimum Wage Effects in Thailand” โดยสรุปเป็นบทความชื่อ “ค่าแรงขั้นต่ำ บทเรียนจากนโยบาย 300 บาท” เผยแพร่โดย Puey Ungphakorn Institute for Economic Research (PIER) ในงาน PIER research brief เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

คำถามหลักของบทความดังกล่าวคือ อะไรคือผลกระทบของนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทที่ประกาศใช้ในปี 2555 ต่อคนงานในกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งเป็นชุดคำถาม วิธีการวิจัยและข้อสรุปที่คล้ายคลึงกันกับการนำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทของ ดร. ดิลกะในเวทีต่าง ๆ เช่น ในงานสัมมนาวิชาการสาธารณะเรื่อง “ค่าจ้างขั้นต่ำ: ข้อเท็จจริงและทิศทางที่ควรเป็นในอนาคต” จัดโดยทีดีอาร์ไอในวันที่ 21 กรกฎาคม 2558

การอ้างถึงประเด็นที่ ดร. ดิลกะพูดต่อจากนี้จะนำมาจากงานทั้ง 3 ชิ้นดังกล่าว

ดร. ดิลกะศึกษาประเด็นผลกระทบของค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทโดยเลือกช่วงเวลาการวิเคราะห์ทั้งก่อนหน้าการประกาศใช้นโยบาย 4 ไตรมาสและหลังจากประกาศใช้นโยบายไปแล้ว 6 ไตรมาส กลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษาคือประชากรในวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 15-65 ปี (ไม่รวมนักเรียนนักศึกษา) และได้จัดประเภทคนงานหลัก ๆ เป็น 2 ประเภทคือ คนงานทักษะต่ำ (คนงานผู้จบการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาลงมา) กับคนงานทักษะสูง (คนงานผู้จบการศึกษามากกว่ามัธยมศึกษาขึ้นไป)

ผลการศึกษาของท่านได้ให้ข้อมูลและการตีความที่น่าสนใจเช่น ระหว่างปี 2540 – 2554 หรือหลังวิกฤตเศรษฐกิจจนกระทั่งถึงก่อนการประกาศใช้นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทนั้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริงมีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอดนั้น ดร. ดิลกะอธิบายว่าข้อมูลนี้ “สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจต่อรองของฝ่ายนายจ้างที่มีเหนือฝ่ายลูกจ้าง” สอดคล้องกับความเห็นของทีดีอาร์ไอที่ชี้ว่าระหว่างปี 2544-2554 ค่าแรงขั้นต่ำนั้นเพิ่มน้อยกว่า GDP ผลิตภาพแรงงานและเงินเฟ้อมาโดยตลอด ซึ่งในความเห็นของ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์เห็นว่า “ไม่เป็นธรรม” (สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, “ค่าจ้างขั้นต่ำ – ข้อเท็จจริงและทิศทางที่ควรเป็นในอนาคต,” 2558)

จากข้อมูลนี้แสดงว่าคนงานในประเทศไทยได้รับค่าจ้างน้อยกว่าความสามารถและแรงของตนเองที่ลงไปเป็นเวลาต่อเนื่องกันอย่างน้อยกว่า 1 ทศวรรษ และระดับค่าแรงนั้นไม่ได้เป็นเรื่องของผลิตภาพแรงงาน เงินเฟ้อ หรือการขยายตัวของ GDP อย่างที่เชื่อกันในวงกว้างแต่เป็นเรื่องของอำนาจต่อรองเพราะหากค่าแรงเป็นเรื่องของดังกล่าวแล้วล่ะก็ คนงานในประเทศไทยควรจะได้รับค่าจ้างแรงงานเพิ่มมากกว่าที่เป็นอยู่ตั้งแต่เมื่อกว่าทศวรรษก่อน

ดร. ดิลกะยังสรุปด้วยว่านโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันสามารถลดความเหลื่อมล้ำของโครงสร้างค่าจ้างได้ค่อนข้างมาก การเพิ่มค่าแรงให้แก่คนงานที่มีรายได้ต่ำส่งผลกดดันให้นายจ้างเพิ่มค่าแรงให้กับคนงานที่มีรายได้สูง อีกทั้งยังส่งผลให้บริษัทใหญ่ต้องปรับตัวทำการเพิ่ม “ผลิตภาพของบริษัท” ด้วยการพยายามพัฒนาหรือนำเข้าเทคโนโลยีการผลิต

ผลกระทบในด้านลบจากนโยบายนี้คือ คนงานที่มีอายุน้อยการศึกษาน้อยและประสบการณ์น้อยอาจจะถูกให้ออกจากงานจากการปิดตัวของบริษัทขนาดเล็ก หรือการปรับตัวของบริษัทใหญ่ที่รับคนงานมีทักษะฝีมือสูงแทนคนงานทักษะฝีมือต่ำ สะท้อนผ่านอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2 หลังการประกาศใช้นโยบาย กับปัญหาใหญ่คือ มีคนงานจำนวนมากที่ทำงานในบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่ไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดอันเป็นผลมาจากการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลข้อสรุปจากประเด็นคำถามหลักที่ ดร. ดิลกะ นำเสนอในงานดังกล่าวซึ่งในงานวิจัยที่ท่านใช้เป็นข้อมูลในการนำเสนอท่านก็ได้ให้ข้อเสนอว่า

“บทความวิชาการนี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการปรับค่าแรงขั้นต่ำอย่างค่อยเป็นค่อยไปและสม่ำเสมอ ซึ่งพวกเราเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการกระตุ้นการกระจายค่าแรงโดยไม่ส่งผลลบต่อการจ้างงาน ในขณะเดียวกันก็จะสามารถหลีกเลี่ยงการสูญเสียผลกำไรที่มากเกินไปและการปิดกิจการของฝ่ายหนึ่งกับการถอยไปสู่ภาคธุรกิจอย่างไม่เป็นทางการโดยไม่จำเป็นของอีกฝ่ายหนึ่งได้ (ภาคธุรกิจอย่างไม่เป็นทางการในที่นี้คือ ผู้ที่ทำงานอยู่กับบ้านและคนงานรับจ้างอิสระ)” (Dilaka Lathapipat and Cecilia Poggi, 2016, 30)

นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์มติชนได้ลงข้อความที่อ้างว่าเป็นคำพูดตรงของ ดร. ดิลกะจากงาน PIER brief ว่า “สำหรับมติการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่เห็นชอบให้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 69 จังหวัดทั่วประเทศ ในอัตรา 5-10 บาท ตามที่คณะกรรมการค่าจ้างภายใต้ระบบไตรภาคีเสนอนั้น มองว่ามีทิศทางที่เหมาะสม เนื่องจากเป็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำประมาณ 2% ซึ่งจะไม่กระทบกับต้นทุนและการลงทุนในอนาคตของภาคเอกชน” (“‘เวิลด์แบงก์’ชม’บิ๊กตู่’ขึ้นค่าแรง2%เหมาะสม-ชี้หากขึ้นพรวดเดียวเหมือนปี 56 จะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานระยะยาว,” มติชนออนไลน์, 23 พฤศจิกายน 2559)

การปรับค่าแรงอย่างค่อยเป็นค่อยไปและสม่ำเสมอ อัตราค่าแรงที่เพิ่มขึ้น 5 – 10 บาท และการปรับค่าแรงขั้นต่ำประมาณร้อยละ 2 นั้นเป็น “อัตราที่เหมาะสม” ตามความเห็นของ ดร. ดิลกะ เพราะ “ไม่กระทบกับต้นทุนและการลงทุนในอนาคตของภาคเอกชน” นั้นค่อนข้างชัดว่าเป็นข้อเสนอที่ธุรกิจเอกชนได้ประโยชน์โดยตรง แต่ใช่หรือไม่ว่านี่เป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับความคิดความเชื่อของนักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งที่ได้แพร่หลายอยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว คำถามคือ จริงหรือไม่ที่ข้อเสนอดังกล่าวเป็นทิศทางที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย?

ข้อเท็จจริงในประเทศไทยให้ข้อมูลว่ากว่าทศวรรษที่อัตราค่าแรงเพิ่มขึ้นน้อยกว่าผลิตภาพ เงินเฟ้อและ GDP แต่ธุรกิจเอกชนไทยก็ยังไม่สามารถพาประเทศไทยให้ก้าวพ้น “กับดักประเทศปานกลาง” ได้อยู่ดี

ข้อมูลเปรียบเทียบสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพกับค่าแรงของคนงานในญี่ปุ่นกับคนงานในยุโรปและสหรัฐบ่งชี้ว่าผลิตภาพของคนงานญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าแรงอย่างมากในช่วง 2538 – 2556 ซึ่งหมายความว่าค่าแรงคนงานนอกจากจะไม่ได้เพิ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไปแล้วในทางกลับกันต้องถือว่าลดลง แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาซบเซาของเศรษฐกิจญี่ปุ่น


ที่มา: “Labor Situation in Japan and Its Analysis: General Overview 2015/2016,”
by The Japan Institute for Labour Policy and Training, 2016.

ข้อเท็จจริงเบื้องต้นทั้งในกรณีประเทศไทยและในกรณีต่างประเทศจึงมิได้ให้ตัวแบบว่าการเพิ่มขึ้นของค่าแรงอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะส่งผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมแต่อย่างใด

อาจจะมีข้อถกเถียงกันได้อีกมากกว่านโยบายนี้ให้ประโยชน์แก่คนงานอย่างทั่วถึงหรือไม่และส่งผลกระทบในด้านลบต่อคนงานบ้างหรือไม่ แต่มีนโยบายใดบ้างที่ให้ประโยชน์แก่ทุกคนอย่างทั่วถึงเท่ากัน?

ที่ไม่เป็นข้อถกเถียงเลยคือ หากไม่มีนโยบายค่าแรง 300 บาทหรือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ผู้ที่จะได้ประโยชน์คือบริษัทต่าง ๆ ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กที่อยู่บนโครงสร้างที่ได้ประโยชน์เดิมอยู่แล้วโดยมีคนงานเป็นผู้แบกรับต้นทุนดังที่เป็นมากว่าครึ่งศตวรรษการพัฒนาของประเทศไทย

ในขณะที่ผลด้านลบในระยะยาวต่อเศรษฐกิจไทยคือ ภาคธุรกิจขาดแรงจูงใจที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันของบริษัทด้วยความรู้ เทคโนโลยี หรือหนทางอื่น ๆ นอกจากการขูดรีดแรงงานราคาถูกของคนงานที่ถูกทำให้หมดอำนาจต่อรองลงไปทั้งทางโครงสร้างการเมืองและมิติทางวัฒนธรรม

คำถามที่ ดร. ดิลกะไม่ได้ถามหรือให้แนวทางไว้คือ การเพิ่มขึ้นของค่าแรงอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนงานอย่างไร? 

ยิ่งไปกว่านั้น หากข้อมูลเชิงประจักษ์เห็นชัดแจ้งอยู่แล้วว่าคนงานถูกขูดรีดแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม ที่เกิดจากอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าฝ่ายคนงานของฝ่ายนายจ้างดังที่นักเศรษฐศาสตร์ทราบกัน การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างค่อยเป็นค่อยไปและสม่ำเสมอสามารถช่วยแก้ไขได้หรือไม่อย่างไร

การที่นักเศรษฐศาสตร์ตั้งคำถามและค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่อธุรกิจโดยไม่กล่าวถึงปัญหาความไม่เป็นธรรมต่อคนงานที่เห็นชัดนั้นหมายความว่าอย่างไร?

หากนี่ไม่ใช่ประเด็นคำถามที่นักเศรษฐศาสตร์ (จำนวนหนึ่ง) ให้ความสนใจ ก็หมายความว่า “ความรู้” ที่นักเศรษฐศาสตร์นำมาประกอบข้อเสนอแนะเชิงนโยบายนั้น เป็นความรู้ที่ไม่ครบถ้วนและส่วนที่ขาดหายนั้นสำคัญยิ่งหากยึดถือว่ามนุษย์ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท