Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา แพท ควิน ผู้ว่าการรัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ได้ลงนามในกฎหมาย SB3539 เพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตในรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งรัฐคอนเนกติกัต รัฐแมรีแลนด์และรัฐมอนทาน่า ก็กำลังพิจารณายกเลิกโทษประหารเป็นรัฐต่อๆไปเช่นกัน ซึ่งอิลลินอยส์เป็นรัฐที่ 16 ที่ไม่ใช้โทษประหาร และเป็นรัฐลำดับที่ 3 ที่มีการยกเลิกการประหารชีวิตผ่านการใช้กฏหมายในรอบสี่ปีที่ผ่านมา ร่วมกับรัฐนิวเจอร์ซีและรัฐนิวแม็กซิโก ซึ่งการยกเลิกโทษประหารชีวิตของรัฐอิลลินอยส์ในครั้งนี้ มีผลทำให้นักโทษ 20 คนรอดพ้นจากการประหารชีวิตในทันที การเคลื่อนไหวขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ต่อต้านโทษประหารชีวิตที่ผ่านมา มีความก้าวหน้าอย่างมากจนทำให้ สองในสามของประเทศทั่วโลกยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว และโทษที่ถึงแก่ชีวิตในสหรัฐอเมริกาลดลงอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์เมื่อทศวรรษที่แล้ว ส่วนใหญ่เนื่องมาจากการที่สาธารณชนมีความตระหนักมากขึ้นถึงความผิดพลาดที่ไม่อาจแก้ไขได้ต่อการประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ จากข้อมูลในรายงานฉบับใหม่ว่าด้วย “คำพิพากษาประหารชีวิตและการประหารชีวิตในปี 2553” (Death Sentences and Executions in 2010) ขององค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ที่เผยแพร่เมื่อ 28 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมาพบว่า ประเทศที่ยังคงโทษประหารชีวิตกำลังโดดเดี่ยวตัวเองมากขึ้นหลังจากการรณรงค์ไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตทั่วโลกในทศวรรษที่ผ่านมา ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา 31 ประเทศได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางกฎหมายหรือทางปฏิบัติ แต่ประเทศจีน อิหร่าน ซาอุดิอาราเบีย สหรัฐอเมริกา และเยเมนยังคงเป็นประเทศที่มีการประหารชีวิตมากที่สุดในโลก โดยที่หลายกรณีมีความขัดแย้งโดยตรงกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ องค์การนิรโทษกรรมสากลได้บันทึกตัวเลขของการประหารชีวิตทั้งหมดที่เกิดขึ้นในปี 2553 อย่างเป็นทางการ โดยสรุปได้ว่าจำนวนการประหารชีวิตได้ลดลง ในปี 2553 มีบุคคลถูกประหารชีวิตทั้งหมด 527 คน ในขณะที่ในปี 2552 มีคนถูกประหารชีวิตทั้งหมด 714 คน องค์การนิรโทษกรรมสากลเชื่อว่ามีประชาชนจีนหลายพันคนถูกประหารชีวิตในปี 2553 ในโทษที่หลากหลายรวมถึงอาชญากรรมที่ไม่ได้มีการใช้ความรุนแรง การประหารชีวิตเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากกระบวนการไต่สวนทางศาลที่ไม่ได้ดำเนินไปตามหลักมาตรฐานสากล อัตราส่วนจำนวนมากของการประหารชีวิตและการพิพากษาโทษประหารชีวิตในปี 2553 ในประเทศจีน อียิปต์ อินโดนีเซีย อิหร่าน ลาว ลิเบีย มาเลเซีย ไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาราเบีย และเยเมนมีความเกี่ยวโยงกับอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ในปี 2553 ประเทศอิหร่าน ปากีสถาน ซาอุดิอาราเบีย ซูดาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เมินเฉยกับข้อห้ามระหว่างประเทศ ที่ไม่อนุญาตให้ประหารชีวิตบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ในช่วงเวลาที่บุคคลก่ออาชญากรรม รายงานฉบับนี้เน้นให้เห็นถึงความเสื่อมถอยที่เกิดขึ้นในปี 2553 เมื่อมีหกประเทศและเขตภูมิศาสตร์ดำเนินการประหารชีวิตหลังจากได้หยุดใช้มาเป็นเวลานาน “แม้ว่าสถานการณ์จะมีความเสื่อมถอยเกิดขึ้น แต่พัฒนาการหลายๆอย่างในปี 2553 ทำให้การยกเลิกโทษประหารชีวิตทั่วโลกใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น ประธานาธิบดีของประเทศมองโกเลียได้ประกาศระงับการใช้โทษประหาร ซึ่งเป็นก้าวแรกของการยกเลิกโทษประหารชีวิต เนื่องจากมองโกเลียระบุให้การลงโทษประหารชีวิตเป็นข้อมูลที่เป็นความลับของทางการ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้เรียกร้องให้มีการระงับการใช้โทษประหารชีวิตทั่วโลกเป็นครั้งที่สาม ในครั้งนี้มีแรงสนับสนุนมากกว่าครั้งก่อนๆ เป็นอย่างมาก” นายซาลิล เชตตี้ เลขาธิการองค์การนิรโทษกรรมสากลกล่าว ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ในบรรดาประเทศที่มีกฎหมายประหารชีวิตแต่ไม่ได้ประหารชีวิตนักโทษมาระยะเวลาหนึ่งได้กลับมาประหารชีวิตนักโทษอีกครั้ง โดย 1 ใน 3 ของประเทศเหล่านี้ได้ประหารชีวิตนักโทษทุกปีตลอดสี่ปีที่ผ่านมา “โลกที่ไร้โทษประหารชีวิตไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ยังเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คำถามคือจะใช้เวลาอีกนานแค่ไหนกว่าการยกเลิกโทษประหารชีวิตทั่วโลกจะเกิดขึ้น” นายซาลิลสรุป จากรายงานฉบับดังกล่าวทำให้เราถึงทราบสถานการณ์ในภูมิภาคต่างๆว่าภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลางเป็นสองภูมิภาคที่มีการประหารชีวิตมากที่สุด ดังมีรายละเอียด ดังนี้ ภูมิภาคอเมริกา ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเดียวในทวีปอเมริกาที่ยังมีการประหารชีวิต ในปี 2553 สหรัฐอเมริกามีคำพิพากษาประหารชีวิตทั้งหมด 110 คดี ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขเพียงหนึ่งในสามของคำพิพากษาที่เกิดขึ้นกลางทศวรรษ 2530 ในเดือนมีนาคม 2554 มลรัฐอิลลินอยส์กลายเป็นมลรัฐที่ 16 ในสหรัฐอเมริกาที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในปี 2553 องค์การนิรโทษกรรมสากลไม่สามารถยืนยันตัวเลขอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการบังคับใช้โทษประหารชีวิตในประเทศจีน มาเลเซีย เกาหลีเหนือ สิงคโปร์ และเวียดนามได้ แม้มีข้อมูลว่านักโทษในประเทศเหล่านี้ได้ถูกประหารชีวิต ตามข้อมูลที่มีจากอีกห้าประเทศในภูมิภาคสามารถยืนยันได้ว่าการประหารชีวิตได้เกิดขึ้น 82 ครั้งในภูมิภาคเอเชีย ประเทศจำนวน 11 ประเทศที่มีคำพิพากษาประหารชีวิตแต่ไม่ได้บังคับใช้ในปี 2553 คือ ประเทศอัฟกานิสถาน บรูไน-ดารุซาลาม อินเดีย อินโดนีเซีย ลาว มัลดีฟ พม่า ปากีสถาน เกาหลีใต้ ศรีลังกา และไทย หมู่เกาะแปซิฟิกไม่มีคำพิพากษาประหารชีวิตและการประหารชีวิต ในเดือนมกราคม 2553 ประธานาธิบดีประเทศมองโกเลียประกาศที่จะระงับการประหารชีวิตในประเทศ โดยทางการมองโกเลียมีความเห็นที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่สุด ภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลาง ปี 2552 เป็นครั้งแรกที่ไม่มีการประหารชีวิตเกิดขึ้นในทวีปยุโรปและในพื้นที่อดีตสหภาพโซเวียต แต่เดือนมีนาคม 2553 ทางการเบลารุสประหารชีวิตนักโทษสองคน ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ในปี 2553 คำพิพากษาประหารชีวิตและการประหารชีวิตลดน้อยลงในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเมื่อเปรียบเทียบกับสถิติในปี 2552 แต่อย่างไรก็ตามโทษประหารชีวิตที่ถูกบังคับใช้มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งหลังจากการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรมและกับข้อหาที่ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็น “อาชญากรรมที่รุนแรงที่สุด” เช่น การค้ายาเสพติดหรือการคบชู้ ซึ่งคำพิพากษาเหล่านั้นขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ทางการอัลจีเรีย จอร์แดน คูเวต เลบานอน โมรอคโค/ซาฮาร่าตะวันตก ตูนีเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์พิพากษาลงโทษประหารชีวิต แต่งดเว้นการดำเนินการประหารชีวิต ทางการอิหร่านยอมรับว่าในปี 2553 มีการประหารชีวิตนักโทษ 252 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงห้าคนและเยาวชนหนึ่งคน องค์การนิรโทษกรรมสากลได้รับรายงานที่น่าเชื่อถือว่าอิหร่านมีการประหารชีวิตจำนวนมากกว่า 300 คน โดยที่รัฐบาลจะไม่ยอมรับอย่างเป็นทางการ โดยกรณีส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่เรือนจำวาคิลาบัด ในเมืองมาชแฮด ซึ่งประชาชนเหล่านี้ถูกตัดสินว่ามีความเกี่ยวโยงกับยาเสพติด ประชาชน 14 คนถูกประหารชีวิตอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน ภูมิภาคแอฟริกาในเขตทะเลทรายซาฮารา ในปี 2553 กาบองเป็นอีกหนึ่งประเทศในทวีปแอฟริกาที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต ทำให้ในปัจจุบันมีประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในสหภาพแอฟริกาทั้งหมด 16 ประเทศ ในปี 2553 มีการประหารชีวิตทั้งหมดในสี่ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาในเขตทะเลทรายซาฮารา คือ บอตสวานา (1 กรณี) อิเควทอเรียลกินี (4 กรณี) โซมาเลีย (อย่างน้อย 8 กรณี) และซูดาน (อย่างน้อย 6 กรณี) จากข้อมูลที่นำมาเสนอข้างต้น จะเห็นได้ว่ายังมีหลายๆประเทศที่มีพัฒนาการที่แย่ลง แต่การยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยรวมมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น แล้วไทยเราล่ะครับ เมื่อใดจะยกเลิกโทษประหารชีวิตเสียทีครับ ----------------- หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 6 เมษายน 2554

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net