Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

        วันก่อน ผมได้อ่านคอลัมน์หนึ่งในมติชนสุดสัปดาห์ เป็นคอลัมน์ของคุณ “นิ้วกลม” ที่เขียนขึ้นเพื่อแนะนำหนังสือใหม่ตัวเอง 
        "ความสุขโดยสังเกต" คือชื่อหนังสือเล่มนั้นครับ
        จริงๆ ผมไม่ได้คาดหวังหรือใส่ใจอะไรกับเนื้อหาสาระที่คุณนิ้วกลมเขียนเท่าไหร่
        หลายครั้งที่ผมอ่านไปได้ครึ่งหนึ่ง แล้วก็เปิดเลยผ่านไป
        ไม่ใช่ว่าคุณนิ้วกลมเขียนได้ไม่ดีไม่เข้าท่านะครับ เพียงแต่เนื้อหาที่เต็มไปด้วยโลกสดใส ความสุข ความรัก คิดบวก มองโลกในแง่ดี โดยส่วนตัว...มันอาจไม่ค่อยถูกจริตของผม
        คุณนิ้วกลมเป็นนักเขียนหน้าใหม่ไฟแรงที่มีผลงานสม่ำเสมอและกำลังโด่งดัง มีแฟนนานุแฟนติดตามผลงานอยู่เป็นจำนวนมาก ข้อเขียนเล็กๆ นี้ ก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะโจมตีอะไรคุณนิ้วกลมเป็นการส่วนตัว ผมแค่คิดว่าทัศนะการมองโลกแบบ “สุขนิยม” สุดขั้วมันค่อนข้างอันตรายต่อสังคม
        ถ้าสุขคนเดียว..มันก็คงไม่เป็นไร..เป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล
        แต่สำหรับงานเขียนที่มีอิทธิพลต่อการกล่อมเกลาสำนึกของสังคมแบบนี้ ทัศนะแบบสุขนิยม มันทำให้อะไรบางอย่างในสังคมเราถูกพร่าเลือนไป และอาจโอเวอร์ไปหน่อยคือ ผมคิดว่านี่มันเป็นปัญหาในระดับจิตสำนึกเลยทีเดียว
        พูดไปก็ยาว..ถ้างั้น เราลองมาเดินตามรอยความสุขคุณนิ้วกลมกันครับ..

        เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมลองเดินทางไปตามทางที่คุณนิ้วกลมเดินไป 
        ลองดูว่าวันนี้จะออกไปเก็บ "ความสุข" กลับบ้านได้มากมายเหมือนที่คุณนิ้วกลมเจอไหม
        ระหว่างที่เดินอยู่บนทางเท้าในวันที่หนาวเย็น จากการที่กรมอุตุของไทยพยากรณ์อากาศผิดพลาด ผมเลยไม่ได้เอาเสื้อกันหนาวออกมาด้วย ผมก็เหลือบไปเห็นเจ้าหมาน้อยสองตัวกำลังคุ้ยกองขยะ ขณะที่อีกตัวกำลังวิ่งข้ามถนนมา รถเมล์ก็พุ่งเข้าชนกระเด็นหมาตัวนั้น เนื้อตัวแหลกเหลว

        เอ...ผมไม่แน่ใจว่ามันจะทุกข์หรือสุขที่ได้ตายไปก่อนเพื่อน แต่ที่แน่ๆ คือ กรุงเทพมหานครไม่เคยแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดได้อย่างถูกทิศถูกทางซักที
        พอเดินลงเรือเพื่อล่องแม่น้ำเจ้าพระยา กะว่าจะไปลงที่ท่าเตียน ก็ได้เห็นพี่ชายคนหนึ่งกำลังนอนฟุบอยู่บนเรือ ในขณะที่ป้าแก่ๆ คนหนึ่งจูงเด็กน้อยและหิ้วของพะรุงพะรังมายืนอยู่ข้างๆ ผมไม่รู้ว่าป้าเค้าจะทุกข์ไม๊ที่คนในสังคมไร้น้ำใจ..แต่ที่แน่ ๆ ป้าเค้าต้องหนักและเหนื่อยอย่างมาก
        พอเรือเริ่มเดินเครื่อง เสียงเครื่องยนต์ดังขึ้น พี่ชายคนเดียวกันตื่นขึ้นมา เขาจัดแจงเอาผ้าปิดจมูกมาคาดไว้บนหน้าของเขา พร้อม ๆ กับที่เครื่องยนต์ส่งควันและไอน้ำมันเห็นคละคลุ้มไปทั่วท้ายเรือ
        อันนี้ก็เป็นความทุกข์ของคนโดยสารเรือด่วนเจ้าพระยา ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
        หลังจากนั้น ไปอีกสองท่าเรือ มีพ่อแม่ชาวญี่ปุ่นอุ้มลูกน้อยตัวเล็กๆ ขึ้นมานั่งตรงข้ามกับผม ผมเห็นคุณพ่ออุ้มลูกตัวน้อยไปนั่งบนตักของเขา แล้วชี้ชวนให้ดูเศษขยะที่ลอยฟ่องในแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งคู่ทำหน้าตาแปลก ๆ 
        "ความทุกข์" อาจหมายถึงการอยู่ในสังคมละเลยความรับผิดชอบต่อสังคม แม้กระทั่งเรื่องของความสะอาด

        ระหว่างกำลังจ้องมองสองพ่อลูกด้วยความละอาย ทันใดนั้นผมก็ได้ยินเสียงหัวเราะดังขึ้นมาจากตรงกลางเรือ กลุ่มชายหนุ่มชาวอินเดียกำลังหัวเราะร่า เพราะเพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มโดนน้ำโสโครกในแม่น้ำสาดเข้าใส่เต็มหน้าจากแรงกระแทกของท้องเรือ เสื้อขาว ๆ ของเขาเป็นจุดลายดำๆ พร้อยไปทั้งตัว
        "ความสุข" บนความทุกข์ของคนอื่น ผมว่ามันไม่น่าพิศมัยนัก

        เมื่อลองมองเฉไปนิดเดียว ก็ได้พบกับคุณป้าคนเดิม ก็ยังไม่มีใครลุกให้ป้าแกนั่ง เด็กน้อยคงเมื่อยมากจึงทรุดตัวนั่งลงบนบันไดเรือ ทันใด คนเก็บตั๋วก็แผดเสียงตวาดออกมาว่า “นั่งตรงนี้ไม่ได้นะ เกะกะทางเดิน” 
        เด็กน้อยร้องไห้ตกใจ คุณป้าผวาเข้ามาหา ข้าวของที่หิ้วมาหลุดจากมือกระจายไปบนพื้นเรือ
        "ความทุกข์" เกิดขึ้นเสมอในสังคมที่ไร้น้ำใจต่อผู้ที่อ่อนแอและด้อยโอกาสกว่า

        ผมลงจากเรือขึ้นไปที่ท่าเตียน เห็นสาวแหม่มสองคนทำหน้าเศร้าๆ ยกกล้องถ่ายรูปวิวทิวทัศน์ “สลัม” ฟากตรงข้ามของแม่น้ำ
        "ความทุกข์" อาจเกิดจากการได้เดินทางไปเห็นสิ่งใหม่ๆ จริง ๆ

        พอเดินออกมาจากท่าเรือ ผมเหลือบไปเห็นคุณพี่คนหนึ่งกำลังปอกสับปะรดอยู่อย่างเชี่ยวชาญ ใบหน้าเขากร้านไปด้วยแดดที่เผา สองแขนเกร็งเพราะต้องเข็นรถผลไม้หนีเทศกิจที่คอยถือคันไถ 
        "ความทุกข์" เกิดทั้งจากการฉวยโอกาสและจากการไม่เคยได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน

        พอเดินผ่านสวนสาธารณะเล็กๆ ริมแม่น้ำ ผมหยุดนั่งมองคนไร้บ้านนอนคู่หนึ่งนอนตัวสั่นอยู่ริมถนนโดยไร้เครื่องป้องกันความหนาว ผมเดาว่า พวกเขาน่าจะทนทุกข์อยู่เป็นเวลาไม่น้อย สาวน้อยกลุ่มคนหนึ่งเดินผ่านไปพร้อมส่งสายตารังเกียจ พูดกันแว่วๆ มาว่า “ไอ้พวกจรจัดพวกนี้ น่าจับให้ประชาสงเคราะห์พาไปปล่อย”
        "ความทุกข์" เกิดขึ้นได้เสมอจากการผลักให้คนอื่นไปอยู่ชายขอบของสังคมทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว

        แถวท่าเตียน ท่าพระจันทร์ สิ่งที่พบเห็นได้เป็นประจำคือ เซียนพระ พวกเขาหยิบแว่นขยายขึ้นส่องพระและแลกเปลี่ยนคำพูดกันถึงความศักดิ์สิทธิ์ปาฏิหารย์และการรีบไปควานหาพระเครื่องรุ่นที่ราคากำลังพุ่งกระฉูด เพื่อเอามาปล่อยให้เช่า
        "ความทุกข์" อาจเกิดจากการงมงายในศรัทธาและการล่อลวงของมายาคติ

        ใกล้ๆ แผงพระ ยังมีแผงขาย "ความทุกข์" ชนิดอื่นอีกมากมาย อาทิ หนังสือเก่า ของเก่า ของเล่น อาหาร น้ำดื่ม นาฬิกาเก่า สร้อย แหวน กำไล ฯลฯ แผงขายของแบกะดินเหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหน จะขายให้ใคร ในยุคที่ 7/11 กำลังเปิดอยู่ทั่วทุกปากซอย
        ผมเหลือบไปมองคอนโดมิเนียมหรูริมแม่น้ำที่กำลังก่อสร้างและชาวบ้านที่ตั้งรกรากมาเก่าแก่กำลังถูกนายทุนไล่รื้อเพื่อเอาที่ดินมาทำโครงการสุดหรู
        "ความทุกข์" ของคนจนมันไม่มีราคาเลย..ไม่มีแม้แต่หมาจะมาสนใจ
        เมื่อหันกลับมาก็ได้เห็นรถเข็นขายซาลาเปา ขนมจีบ ที่มีตัวหนังสือเขียนด้วยหมึกสีแดงไว้บนสังกะสีของตัวรถว่า "รีบยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน” “ใครสั่งฆ่าประชาชน”
        "ความทุกข์" อาจเกิดจากการถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางการเมืองขั้นพื้นฐาน

        เมื่อเดินไปถึงท่าพระจันทร์ ก็เห็นหญิงสาวคนหนึ่งกำลังนั่งให้หมอดูดูลายมือ แล้วไถ่ถามถึงอนาคตของตัวเอง
        บางที "ความทุกข์" อาจมีอยู่ทั้งในปัจจุบันและกำลังรอเธออยู่ในอนาคต
        เหลือบมองไปอีกนิดหนึ่ง เห็นชายคนหนึ่งกำลังนั่งดมเศษกาวแห้งๆ ในถุงพลาสติกหน้าตาจริงจังอย่างยิ่ง ท่ามกลางอากาศร้อนระอุ นัยตาของเขาเพ้อฝันไปถึงชีวิตดีดีที่อาจมาไม่เคยและไม่มีวันจะมาถึง
        การหนี "ความทุกข์" อาจพาไปสู่ทางออกที่มันเลวร้ายยิ่งกว่า

        ที่ท่าเรือตอนขากลับ ผมเห็นศิลปินหนุ่มผมยาว แต่งตัวเซอร์ๆ สวมเสื้อสีแดง ยืนพิงเสารอเรือออกจากท่า พร้อมกับใช้นิ้วสางผมหยิกๆ ของเขาเป็นระยะ กำลังคิดถึงงานเพลงที่ถูกแบนจากค่ายใหญ่เพราะเขาเลือกไปร้องเพลงบนสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน และคิดถึงเพื่อนบางคนที่ถูกจับขังคุกอยู่ในโดยไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม
        บางคนอาจมี "ความทุกข์" จากการถูกกฎระเบียบมาตรฐานบางอย่างจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยไร้ซึ่งความเป็นธรรม

        ที่ท่าเรือเดียวกันนั้นเอง มีสติ๊กเกอร์เล็กๆ แปะไว้ที่เสาศาลาพักผู้โดยสาร มีเพียงตัวเลข 112 ในวงกลมที่ คาดสีแดงทับอยู่ 
        “ความทุกข์” เกิดจากการห้ามพูด ห้ามเข้าใจ ห้ามสงสัย ห้ามถาม ในเรื่องบางเรื่อง
        เมื่อเรือมาจอดเทียบท่า เราทุกคนก็เดินขึ้นเรือลำเดียวกัน ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปตามเส้นทางของแต่ละคน
        ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ในหนึ่งวัน ที่ผมลองเดินตามรอยคุณนิ้วกลมไปหา "ความสุข" ของผู้คน ซึ่งผมขอบอกตรงๆ ว่า ผมไม่ค่อยจะเจอกับมันซักเท่าไหร่
        ที่น่าแปลกก็คือ ขณะที่จ้องมองผู้คนเหล่านั้น ตัวผมเองก็มีความทุกข์ไปด้วย
        ทุกข์ที่ได้เรียนรู้ "ความทุกข์" จากคนอื่น
        ผมคิดว่า วิถีทางหนึ่งที่อาจทำให้เรามีความสุขมากขึ้น คือการทำความเข้าใจว่า อะไรทำให้เรามีความทุกข์ 
        เมื่อเราพอจะรู้ว่า อะไรทำให้เรามีความทุกข์ สถานการณ์แบบไหน ภาวะแบบไหน การทำอะไร ผู้คนแบบไหนกำลังมีความทุกข์ เราก็น่าจะพอจัดสรรชีวิตของตัวเองให้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น ใกล้ผู้คนแบบนั้น หรือสิ่งๆ นั้น เพื่อที่จะใส่ใจที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาและความทุกข์เหล่านั้นให้ดีขึ้นได้เช่นกัน

        การที่จะทำแบบนั้นได้ เราคงต้องเริ่มจากการ "สังเกต" ความทุกข์ของตัวเองและคนอื่น
        แน่นอน..ไม่ใช่ว่าเราจะต้องมองโลกในแง่ร้ายซะทั้งหมดทุกเรื่อง 
        คนเรามีความสุขกันได้ แต่ปัญหาสังคมมันอยู่รอบตัว..เราก็จะละเลยมันไปไม่ได้เช่นกัน
        ผมถึงบอกว่า นี่คือความน่ากลัวของทัศนะ “สุขนิยม” แบบสุดขั้ว โดยเฉพาะในสังคมที่ปราศจากการรู้เท่าทันและเคลือบแฝงแต่ความรู้แบบฉาบฉวย
        เราอาจพบขอทานดีดพิณอยู่ข้างถนน แล้วเข้าไปร้องรำทำเพลงกับเขา จากนั้นก็ใส่เหรียญสิบบาทลงในขัน
        คิดอยู่ในใจว่าฉันนี้ช่างมีใจศิลปิน..มีจิตเสียสละ เดินกลับไปบ้านด้วยจิตใจเปี่ยมสุข และปล่อยปัญหาต่างๆ ทั้งหลายไว้ให้เป็นอนุสาวรีย์ประจานความตกต่ำของสังคม
        นี่คือทัศนะการมองโลกที่ถูกต้องแล้ว ดีงามแล้วหรือ?

        ผมได้ยินเสียงเพลงในค่ายอาสา สมัยที่ผมยังเรียนมหาวิทยาลัยแว่วมาแต่ไกล
        “มองดูรอบกาย มองดูสังคม..เธอสุขอยู่ได้อย่างไร เมื่อผองชนทุกข์ยากลำเค็ญ”
        ผมไม่หวังจะมีคำโต้แย้ง ถกเถียง หรืออธิบายใดหรอกครับ 
        ผมหวังแต่ว่าคุณนิ้วกลมได้อ่านข้อเขียนเล็กๆ นี้
        และหวังว่ามันคงจะทำให้คุณนิ้วกลมไม่มีความสุขขึ้นมาได้บ้างซักนิดหน่อย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net