Skip to main content
sharethis

กลุ่มนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และนักศึกษา มาบอกเล่าแนวความคิด การทำงาน ประสบการณ์และถอดบทเรียน หลังการรัฐประหาร 19 กันยา 49 และเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อ 19 พฤษภา 53 ที่ผ่านมาว่า “พวกเขามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร”

 

วานนี้ (18 ก.ย.2553) เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย (คกป.) จัดสัมมนาถอดบทเรียน 19 กันยา 49 ถึง 19 พฤษภา 53 ณ ห้องเรียน 102 อาคาร 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อหนึ่งในการเสวนา กลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมืองมาบอกเล่าว่า “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร”
 

กลุ่มประกายไฟ: แยกตัวออกมาจากกลุ่มเลี้ยวซ้าย มีแนวทางรณรงค์ทางการเมืองภายใต้แนวคิดสังคมนิยม และมีจุดยืนต่อต้านรัฐประหาร ปัจจุบันเป็นกลุ่มกิจกรรมที่ร่วมของคนหนุ่มสาวที่สนใจศึกษาเรียนรู้และต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคม

รัชพงษ์ โอชาพงษ์ ตัวแทนกลุ่มประกายไฟ กล่าวว่า หลังการรัฐประหาร 19 กันยา 2549  ประเด็นถกเถียงที่สำคัญของฝ่ายก้าวหน้าในช่วงเวลาที่ผ่านมาคือการตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) หรือไม่ จนกระทั่ง นปก.เปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) การถกเถียงก็ยังไม่จบ โดยมีความคิดแบ่งเป็น 2 แนวทาง คือกลุ่มหนึ่งเข้าร่วมกับ นปช. เพราะเห็นว่ามวลชนที่เข้าร่วมกับกลุ่มเสื้อแดงมีความก้าวหน้า สามารถเข้าไปผลักดันประเด็นให้เห็นผลได้ ส่วนกลุ่มที่ไม่เข้าร่วมนั้นคำนึงถึงพื้นที่ในการทำงานที่ไม่ใช่ทั้งสีเหลืองและสีแดง สำหรับกลุ่มประกายไฟ ที่ผ่านมาไม่ได้เข้าร่วมกับฝ่ายไหนอย่างชัดเจน

รัชพงษ์ กล่าวต่อมาถึงบทเรียนในการทำงานร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดงว่า จากช่วงที่สถานการณ์ความรุนแรงในการชุมนุมครั้งล่าสุดเริ่มเข้มข้นขึ้น ทางกลุ่มฯ ได้ประชุมหาทางออกกันแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร รู้สึกมืดมน เพราะในแง่หนึ่งรู้สึกว่าไม่สามารถเข้าไปมีส่วนผลักดัน หรือเข้าไปเคลื่อนไหวในขบวนการได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่ได้เข้าร่วมกับเสื้อแดงตั้งแต่แรกจึงทำให้ไม่มีพื้นที่ในกลุ่มคนเสื้อแดงเพื่อผลักดันประเด็นต่างๆ นอกจากนั้นบทเรียนที่สำคัญคือ หลายองค์กรที่เข้าร่วมก็ไม่ได้กำหนดจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะไปผลักดันหรือทำงานเรื่องอะไรในกลุ่มคนเสื้อแดง หลายองค์กรเข้าร่วมโดยบอกว่าสนับสนุนการทำงานของแกนนำ แต่คำถามคือแกนนำเสนออะไรแล้วต้องเห็นด้วยทุกอย่างหรือไม่

ตัวแทนกลุ่มประกายไฟ กล่าวด้วยว่า หลังการเฝ้าดูการเคลื่อนไหวขบวนการภาคประชาชนที่ตื่นตัวในยุคพันธมิตรฯ แต่ในช่วงหลัง เน้นเรื่องความหลากหลายมากเกินไป ทำให้เกิดปัญหาสำคัญเมื่อถึงเวลาที่ต้องเลือก ยกตัวอย่างในกรณีของพันธมิตรฯ เพื่อนของเขาซึ่งอยู่ในภาคประชาชนไปร่วมกับพันธมิตรฯ ด้วยแบบไม่ยอมถอย ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ในแง่หนึ่งทำให้ตอนนี้คำว่าขบวนการภาคประชาชนและเอ็นจีโอ ในสายตาคนเสื้อแดงย่ำแย่ เกิดการตั้งกำแพงกับเอ็นจีโอโดยเหมาร่วมว่าเป็นพันธมิตรฯ ตัวอย่างเช่น การนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานการรถไฟเพื่อคัดค้านการแปรรูป ถูกคนเสื้อแดงส่วนหนึ่งมองว่าเป็นการเคลื่อนของกลุ่มพันธมิตรฯ จึงไม่สนใจ โดยไม่ได้ดูถึงเรื่องเนื้อหาที่คัดค้าน แต่เคลื่อนไหวตรงข้ามไว้ก่อน

“บางครั้งเราอาจต้องตั้งคำถามว่า คำว่า 'เรา' ในขบวนการเคลื่อนไหวที่มักเป็นฝ่ายก้าวหน้า เป็นหัวหอก เอาเข้าจริงแล้วมันควรมีลักษณะแบบไหน ใครที่เราควรคบเป็นมิตร ใครที่เราควรจะกันออกไป ใครที่เราควรจะมองว่าเป็นศัตรูเรา” ตัวแทนกลุ่มประกายไฟ ตั้งคำถามและอธิบายว่าในการต่อสู้มักจะมีประเด็นที่แอบแฝงเข้ามา เช่น การต้านทุนนิยม แต่ต้านทุนนิยมแล้วจะเอาอะไร หากเลือกชุมชนนิยมแล้วสุดท้ายการขับเคลื่อนในแนวนี้จะนำไปสู่ชัยชนะอะไร แค่ไหน

ในขณะเดียวกัน ขบวนการคนเสื้อแดงที่บอกว่าต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้น ประชาธิปไตยของคนเสื้อแดงจะเป็นเช่นไร จินตนาการปลายทางของการเข้าร่วมขบวนการจะนำไปสู่ตรงไหน เมื่อในกลุ่มแดงตั้งสมมติฐานขึ้นมาว่า ถ้ารัฐบาลมาจากการเลือกตั้งไม่มีสิทธิ์ไปไล่เขา เรื่องนี้ถูกต้องหรือเปล่า หากการเลือกตั้งเท่ากับความชอบธรรม แล้วประชาชนไม่มีสิทธิ์ไล่เขาจริงหรือ

นอกจากนี้ รัชพงษ์ ยังตั้งคำถามต่อมาถึงการล่มสลายขบวนการภาคประชาชนว่า จากพื้นที่ที่ได้ลงไปทำงาน พบว่าคนงานเวลามีประท้วงนัดหยุดงานของโรงงานมาบ้างไม่มาบ้าง แต่เมื่อคนเสื้อแดงนัดชุมชุมที่ผ่านฟ้ากลับไปกินไปนอนอยู่ที่นั่นทุกวัน ทำให้เกิดคำถามว่าวันนี้องค์กรแบบสหภาพแรงงาน องค์กรเรียกร้องผลประโยชน์มีปัญหาตรงไหน ทำไมจึงถูกมองข้าม แล้วทำไมแรงงานจึงเข้าร่วมกับเสื้อแดงมากกว่าการที่จะเข้าไปร่วมกับสหภาพแรงาน

กลุ่มเลี้ยวซ้าย : องค์กรที่ทำงานการเมืองในแนวทางของมาร์กซิส ก่อตั้งโดยกลุ่มผู้นำสหภาพแรงงาน 30 คน โดยหนึ่งในนั้นคือ สมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปัจจุบัน

วิภา ดาวมณี ตัวแทนกลุ่มเลี้ยวซ้าย กล่าวว่า มองจากประวัติศาสตร์สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจุดที่เปลี่ยนมากคือในช่วง 6 ต.ค.19 มีแนวคิดต่างๆ เกิดขึ้นในสังคมไทยโดยแนวคิดที่สำคัญที่สุดคือแนวคิดสังคมนิยมหรือมาร์กซ และมีพรรคใต้ดินคือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่ประชาชนและนักศึกษาเปลี่ยนการต่อสู้จากเมืองสู่ป่า เข้าสู่การต่อสู้ในแนวทางของเหมาเจ๋อตง คือใช้ชนบทล้อมเมือง แต่ผลสรุปคือมันไม่ใช่สิ่งที่แก้ปัญหาได้ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมไทยได้ อดีตคนที่เคยเข้าป่าส่วนหนึ่งกลับมาทำมาหากิน ส่วนหนึ่งไปทำงานในสิ่งที่คิดว่าสร้างประโยชน์แก่สังคมที่ดีงามโดยไปเป็นเอ็นจีโอ

วิภา กล่าวต่อมาว่าสาเหตุหนึ่งที่ประเทศไทยไปไม่ถึงไหน เพราะเอ็นจีโอหรือภาคประชาสังคมไทยได้แปรตัวเองไปรับใช้รัฐ ไปรับทุนจากภาครัฐ ไม่เชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนอีกต่อไป แต่เชื่อมั่นในแนวทางปฏิรูป ทำตัวเป็นหลุมเพาะของระบบทุนนิยม คือต้องการทุนนิยมนั่นเอง มาถึงปัจจุบันสิ่งที่พิสูจน์ได้ดีคือกลุ่มเอ็นจีโอได้เปลี่ยนไปเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงจากบนลงล่างและการเข้าถึงกลุ่มอำนาจหรือพรรคการเมืองเพื่อล็อบบี้ ซึ่งนี่คือจุดอ่อนของสังคมไทย และจุดอ่อนอีกอันหนึ่งคือทฤษฎีทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองไทยในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไม่มีความชัดเจน ขาดการพัฒนาและวิเคราะห์

“สำหรับองค์กรเลี้ยวซ้ายเราถือว่าตรงนี้เป็นโอกาสที่จะต้องกลับมารื้อฟื้นความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฏีมาร์กซ ทฤษฎีสังคมนิยมในสังคมไทย” วิภากล่าว

สำหรับองค์กรเลี้ยวซ้าย วิภา กล่าวว่ามาจากองค์กร “กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน” ก่อตั้งโดยกลุ่มผู้นำสหภาพแรงงาน 30 คน ซึ่งมีสมศักดิ์ โกศัยสุข หนึ่งในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมด้วย ต่อมามีนักวิชาการคือ ใจ อึ๊งภากรณ์ เข้าร่วม หลังจากนั้นก็มีกลุ่มนักศึกษาเข้าร่วม แต่ตอนนี้หากกลับไปถามว่าคนที่เคยเข้าร่วมกับกลุ่มประชาธิปไตยแรงงานหรือองค์กรเลี้ยวซ้ายในปัจจุบันว่าเขาไปอยู่ที่ไหนกัน ตรงนี้อาจเพราะแนวทางของกลุ่มที่ไม่ชัดเจนในช่วงของการเปลี่ยนผ่านระหว่างจากเสื้อเหลืองเป็นเสื้อแดง หรืออาจเรียกว่าก่อนและหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

วิภา กล่าวถึงการเป็นกลุ่ม "สองไม่เอา" ก่อนหน้านี้ว่า ก่อนการรัฐประหารมีการเคลื่อนไหวของมวลชนเสื้อเหลือง กลุ่มก็ไปตามกระแสมวลชน แต่เมื่อนานเข้าเจตนารมณ์และสิ่งที่นำมายึดเป็นหลักนั้นต่างไปจากจุดยืนขององค์กรเลี้ยวซ้าย คือมีการเชิดชูสถาบันสูงสุดแล้วเอามาใช้เป็นเครื่องมือในการประณามคนอื่น จึงพยายามอธิบายว่านี่เป็นความขัดแย้งของชนชั้นปกครอง 2 กลุ่ม แต่ในที่สุดก็ได้เรียนรู้ว่ามวลชนเสื้อแดงเป็นมวลชนที่มาจากชนชั้นล่างจริงๆ เป็นคนรากหญ้าผู้เดือดร้อน ในขณะที่มวลชนในกลุ่มเสื้อเหลืองส่วนหนึ่งเป็นคนชั้นกลาง และส่วนหนึ่งเป็นแม่บ้านที่ติดตามเอเอสทีวีที่รู้สึกว่า ทำให้เขากลายเป็นคนสำคัญ กลายเป็นคนที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมไทยได้

“กลุ่มเลี้ยวซ้ายเรารู้เลยว่าควรเข้าข้างใคร และเรามีบทเรียนที่ว่าคนที่ไม่ได้ยืนอยู่เคียงข้างประชาชนมักจะเป็นผู้พ่ายแพ้ในที่สุด เราไม่สามารถเป็นสองไม่เอา หรือเอาทั้งสองได้ ในที่สุดเราจึงเชิดชูจิตใจที่กล้าหาญของมวลชน” วิภากล่าว


สมัชชาสังคมก้าวหน้า: กลุ่มนักกิจกรรมจากกลุ่มเลี้ยวซ้ายที่เลือกข้างแดง กับสโลแกน “โค่นล้มอำมาตยาธิปไตย จุดไฟสรรค์สร้างสังคมใหม่ พัฒนาประชาธิปไตยให้สมบูรณ์”

ไชยวัฒน์ ตระการรัตน์สันติ ตัวแทนสมัชชาสังคมก้าวหน้า กล่าวว่า สมัชชาสังคมก้าวหน้าเป็นส่วนที่แตกออกมาจากกลุ่มองค์กรเลี้ยวซ้าย เพื่อทำงานกับคนเสื้อแดง โดยคิดว่าคนเสื้อแดงก้าวหน้า ทั้งนี้จากเหตุการณ์เดือนเมษายนเมื่อปี 52 ก็ได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อสมัชชาสังคมก้าวหน้าซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นทางกลุ่มจึงไม่มีข้อลังเลเรื่องการเลือกข้าง เพราะได้เลือกข้างไปแล้ว และจากการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมา ทางกลุ่มได้ยืนหยัดต่อสู้อย่างเต็มที่จนถึงวันเกือบสุดท้ายซึ่งเป็นเรื่องที่หนักและเป็นสิ่งที่ไม่ปรารถนา ทำให้ต้องกลับมาทบทวนยุทธศาสตร์การต่อสู้ที่เลือกสนับสนุนว่าถูกต้องหรือไม่

ไชยวัฒน์ กล่าวต่อว่า จากการกลับไปทบทวน พบว่า ผู้ที่ต่อต้านทักษิณซึ่งคืออำมาตยาธิปไตย แต่ไหนแต่ไรมาจะกำจัดศัตรูแบบสุขุมและเยือกเย็น รอบคอบ แต่การจัดการทักษิณครั้งนี้กลับรุนแรงและใช้รูปแบบวิธีการที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นเพราะเหลือเวลาอยู่น้อยเต็มที จึงต้องพยายามสกัดอย่างสิ้นเชิงเพื่อให้ระบบดำรงอยู่ได้โดยไม่ถูกท้าทาย ตรงนี้ทำให้กลับมานั่งทบทวนว่าเมื่อเวลาของคนเสื้อแดงมีมาก ตั้งคำถามว่าการรุกเร้าให้ยุบสภาทันที ทั้งที่เมื่อยุบแล้วเลือกตั้งแล้วเพื่อไทยจะได้เป็นรัฐบาลจริงหรือไม่ หรือจะมีนายกฯ ที่เข้าสู่ตำแหน่งโดยไม่สามารถเข้าทำเนียบได้อีกหรือเปล่า ข้อเรียกร้องอย่างเอาเป็นเอาตายนั้นจำเป็นจริงหรือไม่ หรือจะใช้ยุทธวิธีที่ดีกว่าในการลดความสูญเสีย

“เมื่อเดือนพฤษภาเรามีความเชื่อเรื่องทหารแตงโม แต่ถามจริงๆ ถ้ามีจริง เราจะมีสักเท่าไหร่ จะมีมากถึง 2 แสนคนที่จะรบกับกองทัพเขาหรือเปล่า อะไรพวกนี้มันเป็นคำถามที่จริงๆ แล้วในข้อจำกัดของคนอย่างพวกเรา มันมีเงื่อนไขการต่อสู้ที่ไม่เยอะ และมีปัจจัยที่เป็นทุน เราน่าจะกำหนดยุทธศาสตร์กันใหม่ นี่คือสิ่งที่พวกเราคุยกันว่าเราน่าจะเคลื่อนไหวยืดเยื้อยาวนาน และทำให้สีแดงมีความแข็งแกร่งและดำรงอยู่ โดยหลีกเลี่ยงการสูญเสีย ส่วนวิธีการยังไงเป็นเรื่องที่กำลังมองหาอยู่” ตัวแทนสมัชชาสังคมก้าวหน้ากล่าว

สำหรับการปฏิรูปองค์กรคนเสื้อแดง ไชยวัฒน์กล่าวว่าเนื่องจากการมีมวลชนเข้ามาร่วมจำนวนมาก และเป็นมวลชนจริงๆ ซึ่งขีดความสามารถทางการเงินไม่สูง ในตัวองค์ความรู้ก็ไม่มาก เมื่อเผชิญหน้ากับคนแปลกหน้าก็จะไม่กล้าที่จะไปชี้แจงว่าทำอะไร เพื่ออะไร และยังต้องต่อสู้ทางความคิดกับคนอื่นๆ เพื่อชักจูงเข้ามาร่วม ทั้งนี้แม้มวลชนเสื้อแดงจะมีจำนวนมาก แต่มีอำนาจทางเศรษฐกิจต่ำ ทำอย่างไรที่ทำให้คนมีอำนาจทางเศรษฐกิจมากมาเข้าร่วม โดยการสร้างองค์ความรู้ วาทกรรมเพื่อทำให้คนเหล่านั้นมาสนับสนุนมากขึ้น เช่น กรณีสองมาตรฐานซึ่งแทงใจกลุ่มชุมชนนิยม แต่เรายังไม่สามารถทำให้เขาเห็นว่าการต่อสู้นี้เป็นการต่อสู้ที่ถูกต้องและเข้ามาร่วม หรือกรณีเขายายเที่ยง น่าจะได้ขยายฐานแนวร่วมไปยังคนที่มีปัญหาเรื่องที่ดิน ให้เห็นว่าสังคมไม่เป็นธรรม ไม่ใช่แค่ประเด็นความขัดแย้งระหว่าง นปช. กับพวกอำมาตยาธิปไตย รวมทั้งเรื่องรัฐสวัสดิการด้วย

“ผมมีความเชื่อว่าการที่จะชนะกับคนที่มีอำนาจรัฐได้ เราต้องมีมวลชนจำนวนมาก ชัยชนะของคนเสื้อแดง เราไม่สามารถเอาชนะโดยอาศัยเพียงคนเสื้อแดง 60-70 เปอร์เซ็นต์ อาจไม่เพียงพอ เราต้องการคนทั้งหมดที่ต้องการเปลี่ยนระบบนี้ และเราจะทำอย่างไรให้คนจำนวนมากเข้าร่วมกับเรา” ไชยวัฒน์กล่าว โดยยกตัวอย่างของมาร์กซที่สามารถเสนอแนวคิดสังคมนิยมให้คนยอมรับหลายล้านคนและเกิดการเคลื่อนไหว

กลุ่มกวีตีนแดง: กลุ่มนักเขียนวรรณกรรม กวี ที่รวมตัวกันขึ้นหลังเหตุการณ์การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ในเดือนเม.ย.-พ.ค.2553

เพียงคำ ประดับความ ตัวแทนกลุ่มกวีตีนแดงหรือชื่อเป็นทางการคือ “วรรณกรรมตีนแดง” กล่าวว่าช่วงที่ผ่านมาในแวดวงวรรณกรรมมีความขัดแย้งทางความคิดทางจุดยืน การเลือกข้างกันค่อนข้างสูง และในส่วนตัวคิดรู้สึกเจ็บปวดมาก เมื่อกลุ่มคนในแวดวงวรรณกรรมแนวกระแสหลักที่มีในบ้านเราวันนี้เป็นกลุ่มคนที่ตื่นช้าที่สุด ที่ผ่านมาคนเสื้อแดงแพ้วาทกรรมในโลกวรรณกรรม หนึ่งเพราะนักเขียนวรรณกรรมกวีกลุ่มอำมาตย์ทำงานและทำงานได้ผล มีสื่อกระแสหลักขานรับ แต่นักเขียนกวีที่เลือกมาอยู่ฝ่ายเสื้อแดงถูกจัดให้เป็นชายขอบ เขียนแล้วไม่รู้จะเอาไปลงที่ไหน

“วันนี้เราแตกหักกับบางสิ่งบางอย่าง แล้วความแตกหักนี้มันดีตรงที่ว่ามันเป็นพลังให้เราคิดจะทำโน่นทำนี่ และที่เรามองเห็นความสำคัญของวรรณกรรม ก็เพราะคิดว่าวรรณกรรมมันรับผิดชอบเรื่องวาทกรรม เพราะสงครามที่ผ่านมาอย่างหนึ่งที่เราต้องสู้คือเรื่องของวาทกรรมด้วย มันเป็นสงครามวาทกรรม ยกตัวอย่างเช่นคำว่า ผู้ก่อการร้าย โจรแดง ต่ำ ถ่อย ทราม นี่คือการผลิตวาทกรรมขึ้นมาสู้กัน แล้วบังเอิญมันได้ผล” ตัวแทนกลุ่มกวีตีนแดงบอกเล่าถึงความคิดเห็นหลังเปลี่ยนจากกวีสายลมแสงแดด มาต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยหลังเกิดการรัฐประหาร 2549

เพียงคำ กล่าวต่อมาว่า ถ้าจะวิเคราะห์กันเหมือนที่เอ็นจีโอพูด กวีก็อาจไม่ต่างกัน ส่วนตัวมองว่าคนที่ทำงานวรรณกรรมในบ้านเราช่วงเวลาที่ผ่านมายาวนาน ทั้งนักเขียน-กวีถูกผูกติดอยู่กับคุณธรรมจริยธรรม กลุ่มคนเหล่านี้คิดเหมือนกันหมดคือไม่เอาทุนนิยม ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นทุนนิยมในความหมายไหน แต่จุดที่ทำให้ทนไม่ไหวคือการที่กวีที่พอจะมีชื่อเสียงคนหนึ่งเขียนงานในช่วงเวลาที่มีการเข้ากระชับพื้นที่ที่แยกราชประสงค์โดยบอกว่า “คนเสื้อแดงโง่ ถูกทักษิณหลอกมา สมควรแล้วที่จะต้องตาย” และมีคนที่ยืนยันความคิดนี้ไม่น้อย ซึ่งเป็นการยากที่จะเปลี่ยนความคิดของคนเหล่านี้ ดังนั้นจึงคิดว่าต้องสร้างกวีนักเขียนของเราเองขึ้นมา

“หากคุณมาบอกว่าคนบางพวกที่คิดไม่เหมือนคุณมันสมควรตาย ไอ้การที่คุณเรียกร้องจากสังคม ว่าสังคมที่ดีงาม แล้วนักเขียนถูกผูกกับจริยธรรม ทำตัวเสมือนต่อมจริยธรรมของสังคม คุณต้องทบทวนแล้วว่า การที่คุณอยากเห็นคนตายเพราะคุณไม่ชอบเขาได้ มันเกิดอะไรขึ้นกับต่อมจริยธรรมของคุณ”

“ทำไมดิฉันจึงต้องมาเคร่งเครียด กับคนที่เป็นนักเขียน เป็นกวีด้วย ทั้งๆ ที่เขาก็เป็นปัจเจกคนหนึ่งเหมือนเหมือนกับทุกคน นั่นเพราะคนพวกนี้เชื่ออย่างไรแล้วก็เขียน แต่พอเขียนออกไปแล้วมีคนอ่าน มีคนเชื่อ มีคนฟังเขา” เพียงคำ ประดับความ กล่าวและว่า เมื่อมาถึงตรงนี้ได้สรุปกับตัวเองว่าอาจทำงานน้อยเกินไป ทั้งตัวเอง ทั้งกลุ่มปัญญาชน ซึ่งต่อไปคงต้องทำงานหนักให้มากขึ้น และอยากทำงานสุดเพดานของตนเอง ถ้าทุกคนช่วยกัน คิดว่าเราอาจจะมีอนาคต

ทั้งนี้ เพียงคำ ประดับความ ได้ประชาสัมพันธ์ว่า ยินดีร่วมทำงานกับชมรมวรรณศิลป์ ในมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อสนับสนุนกวีรุ่นใหม่ที่จะมาสร้างงานรับใช้ประชาธิปไตย นอกจากนี้ ทางกลุ่มฯ ได้จัดการประกวด Free Write Award ครั้งที่ 1 โดยเชิญชวนร่วมประกวดบทกวีเพื่อเสรีภาพ ความเท่าเทียม และศักดิ์ศรีแห่งมนุษย์ โดยต้องเป็นบทกวีที่มีจุดยืนสนับสนุนประชาธิปไตย ซึ่งไม่เคยเผยแพร่ที่ใดมาก่อน ไม่จำกัดฉันทลักษณ์ และจะประกาศผลในวันที่ 10 ต.ค.53 โดยในงานมอบรางวัล ผู้ได้รับรางวัลจะได้ร่วมอ่านกวีกับกวีรุ่นพี่ เช่น ประกาย ปรัชญา, วัฒน์ วรรลยางกูร, เดือนวาด พิมวนา, รางชาง มโนมัย ฯลฯ 


สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.): ขบวนการนักศึกษาก่อตั้งโดยองค์การนักศึกษา 14 สถาบัน เมื่อปี 2527 เพื่อเป็นองค์กรกลางประสานงาน และหนุนเสริมให้นักศึกษาสามารถแสดงบทบาทต่อสังคม

สุญญาตา เมี้ยนละม้าย โฆษกสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา สนนท.เคลื่อนไหวตามประเด็น จนเมื่อเกิดรัฐประหาร 2549 สนนท.แตกออกเป็น 2 กลุ่มคือมีทั้งสนับสนุนและไม่สนับสนุน ทั้งนี้ในช่วงเริ่มต้นของพันธมิตรฯ ที่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านกลุ่มทุน สนนท.เข้าร่วมด้วยจนกระทั่งมีการเรียกร้องขอนายกพระราชทาน โดยอ้างมาตรา 7 และเริ่มมีการสนับสนุนรัฐประหาร สนนท.จึงแยกตัวออกมา ส่วนการที่ประกาศเข้าเป็นแนวร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดง ด้วยเหตุผลว่าคนเสื้อแดงเป็นกลุ่มของภาคประชาชนที่มีข้อเรียกร้องที่เป็นประชาธิปไตย

สุญญาตา กล่าวแสดงความคิดเห็นทางการเมืองว่า นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ประชาธิปไตยไม่ได้ก้าวไกลไปกว่าจุดเดิมสักเท่าไร โดยเปรียบเทียบว่าประชาธิปไตยไทยเหมือนบูมเมอแรงที่ขว้างออกไปไกลแล้วก็กลับมาหาคนที่ขว้าง และคนกลุ่มนั้นคือคนที่มากะเกณฑ์แนวทางทางการเมืองและสังคมทุกอย่าง ยกตัวอย่างที่เห็นชัดเจนในยุครัฐบาลทักษิณ มีรัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตย และบ้านเมืองมีความเจริญก้าวหน้ามาก แต่สุดท้ายบูมเมอแรงมันก็ย้อนกลับไปสูคนกลุ่มเดิมที่บงการสังคม สังคมไทยจึงไม่ได้เกิดการเรียนรู้ว่าประชาธิปไตยคืออะไร การรัฐประหารนั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร เพราะปล่อยให้คนกลุ่มหนึ่งมาคอยบงการและสอนเราอยู่ตลอด

“สังคมไม่เคยเกิดการเรียนรู้ สังคมไม่เคยรู้สึกว่าเราเจ็บปวดจากนักการเมือง เจ็บปวดจากการบริหารประเทศที่ไม่เป็นสับปะรด แต่เราคอยปล่อยให้คนกลุ่มหนึ่งมาทำรัฐประหารให้เราตลอด แต่หลังจากที่เราได้เรียนรู้ ได้สัมผัสกับประชาธิปไตยที่กินได้ จับต้องได้จริง แต่เมื่อสิ่งที่เรากินได้จับต้องได้นั้นมันถูกโค่นล้มลงไป ตรงนี้สังคมจึงเริ่มเจ็บปวด เริ่มเรียนรู้ และลุกขึ้นมาต่อสู้” สุญญาตากล่าว

สุญญาตา กล่าวต่อมาว่า จากเหตุการณ์ทางการเมือง เหลือง-แดง ที่ผ่านมาได้กระชากหน้ากากของสังคมไทยออกในหลายมิติ เช่น แนวคิดรักสงบของสังคมไทย ซึ่งความจริงคือการปฏิเสธการต่อสู้เรียกร้องของประชาชน คิดว่าเป็นการสร้างความรุนแรง แต่ไม่เคยมองลึกลงไปว่าคนเหล่านั้นมาต่อสู้เรียกร้องอะไร จึงเกิดวัฒนธรรมการเมินเพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนที่มีความเห็นต่างจากเรา อีกทั้งความเชื่อทางศาสนาพุทธที่มองว่าคนเราเกิดมาสูงต่ำไม่เท่ากัน การเทิดทูนคนดี คนที่อยู่สูงส่งกว่าให้เป็นผู้นำ ให้เป็นผู้ปกครอง ทั้งที่หลักศาสนาพุธสอนว่ามนุษย์เท่ากันและยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย

ทั้งนี้ในส่วนของคนเสื้อแดงเอง ยังไม่ได้มีการวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนอย่างชัดเจน เช่น จุดอ่อนที่ถูกมองว่าเป็นคนรากหญ้า ไร้การศึกษา แต่ความจริงเป็นคนเสื้อแดงเป็นกลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ควรสื่อสารให้สังคมได้รู้ว่าคนเสื้อแดงเป็นองค์กรที่ก้าวหน้า มีความแตกต่างหลากหลาย เป็นประชาชนที่แท้จริง ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าปัญหาของคนเสื้อแดงคือคบอยู่แต่กับกลุ่มตัวเอง ขาดการหามิตร ตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ต้องเปิดกว้างกว่านี้ นอกจากนั้นปัญหาเรื่องการนำก็เป็นสิ่งที่เราต้องกลับมาวิพากษ์วิจารณ์

“เชื่อว่าการที่เรามาจุดนี้ ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีของประเทศไทย มันแสดงให้เห็นว่าสังคมได้เรียนรู้ เพราะหากเราไม่เรียนรู้เราคงยอมรับการรัฐประหาร และคงอยู่กันแบบสงบสันติ แต่เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีแล้ว แม้จะมีการสูญเสียเกิดขึ้น ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นบทเรียนที่เจ็บปวด ต้องจดจำเอาไว้ เพื่อที่จะไม่เดินซ้ำบทเรียนเดิมแต่เราจะร่วมกันสร้างบทเรียนใหม่ให้กับประชาชน และเยาวชนรุ่นต่อไปได้เรียนรู้”

“ต่อไปนี้จะเห็นนักศึกษาในมาดใหม่ เราจะอยู่เคียงข้างประชาชน” ตัวแทน สนนท.กล่าวลงท้าย


กลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน (CCP): กลุ่มนิสิตในจุฬาฯ รวมกลุ่มกันผ่านทางเฟซบุ๊ค มีแนวทางเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง และไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลสั่งฆ่าประชาชนกลางถนน

ปราศรัย เจตสันต์ ตัวแทนกลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน กล่าวแนะนำกลุ่มว่า เป็นกลุ่มใหม่ที่เริ่มก่อตั้งขึ้นในช่วงที่เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ผ่านมา เกิดจากการรวมกลุ่มกันผ่านทางเฟซบุ๊คของนิสิตจุฬาฯ ที่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง และมองเห็นความผิดของรัฐบาลที่สั่งฆ่าประชาชนกลางถนน ส่วนผลงานที่ผ่านมายังไม่มาก มีกรณีการล่ารายชื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถูก ศอฉ. ควบคุมตัวด้วยข้อหาผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นอกจากนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมในวงเสวนา เพื่อหาแนวร่วม และรวมกลุ่มความคิดเห็นเดียวกันในจุฬาฯ ที่ผ่านมามีกิจกรรมดูหนังที่เกี่ยวกับการเมือง การเปลี่ยนแปลงสังคม โดยเชิญนักวิชาการมาสะท้อนความคิด

ปราศรัย กล่าวด้วยว่า นักศึกษาถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องศึกษาเรียนรู้ หาประสบการณ์จากอดีต และมองว่าการเรียนรู้ควรเป็นการเสริมปัญญา เพราะในขบวนการเคลื่อนไหวไม่ว่าเหลืองหรือแดงไม่ค่อยมีนักศึกษา แต่กลับเป็นคนที่เคยต่อสู้มาแล้วตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ตุลาซึ่งก็ยังต้องมาสู้อีก อย่างไรก็ตาม นักศึกษาในปัจจุบันไม่ได้เกิดมาภายใต้การกดดันของรัฐบาลเผด็จการเช่นในอดีต แต่เป็นเผด็จการซ่อนรูปที่แนบเนียน และสภาพสังคมที่เป็นทุนนิยมก็มีผลอย่างมากต่อการเข้ามาร่วมเคลื่อนไหวของนักศึกษาซึ่งจะไม่โดดเด่นเหมือนในอดีตแล้ว อย่างไรก็ตามส่วนตัวมองว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะการทำให้สังคมทังสังคมขยับขยาย เคลื่อนตัวได้เอง ดีกว่าการฝากความหวังกับใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มันคือทุกกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยทุกคนเห็นปัญหาเหมือนกัน

 

กลุ่มประชาคมธรรมศาสตร์คัดค้านอำนาจนอกระบบ: กลุ่มนักศึกษาในธรรมศาสตร์ที่รวมตัว เพื่อหวังเรียนรู้แลกเปลี่ยนทางการเมือง

ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ เลขาธิการกลุ่มประชาคมธรรมศาสตร์คัดค้านอำนาจนอกระบบ กล่าวถึงที่มาว่า กลุ่มฯ เริ่มต้นอย่างไม่เป็นทางการเมื่อปี 2551 โดยใช้ชื่อนี้ในการลงชื่อท้ายแถลงการณ์คัดค้านอำนาจนอกระบบ และมอบพวงหรีดให้กับ นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ร่วมมือกับกองทัพกดดันรัฐบาลที่นำโดยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ให้ลาออก หลังจากนั้น ทางกลุ่มก็ไม่ได้เคลื่อนไหวอะไร แต่จับกลุ่มกันอยู่หลวมๆ และในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็ได้เริ่มมีการพูดคุยและทำกิจกรรมขึ้นอีกครั้ง โดยมีการแจกประกาศคณะราษฎร ในกิจกรรมวันแรกพบของธรรมศาสตร์ การร่วมล่ารายชื่อในแถลงการณ์ให้ปล่อยตัวนายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัวนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด

เมื่อสมาชิกกลุ่มทำกิจกรรมก่อนหน้านี้จบการศึกษาไป คนที่เหลือจึงรวมตัวและก่อตั้งกลุ่มอย่างเป็นทางการ โดยมีคณะกรรมการราว 20 คน และวางแผนการทำกิจกรรมต่างๆ ล่วงหน้าเอาไว้ ยกตัวอย่างกิจกรรมที่ผ่านมา เช่น กิจกรรม "กรวดน้ำ-คว่ำขัน-รักกัน-ชาติเดียว" จากใจนักศึกษาถึงอธิการบดี ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ซึ่งกำลังจะพ้นตำแหน่งอธิการบดี และล่าสุดคือกิจกรรมวันที่ 19 กันยานี้ ซึ่งจะมีการรวมตัวกับ กลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน ที่ลานประติมากรรม มธ.เพื่อเดินขบวนมาร่วมกิจกรรมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในช่วงเช้า

ปราบ กล่าวถึงการถอดบทเรียนกิจกรรมทางการเมืองของนักศึกษาว่า จากการพูดคุยได้สมมติฐานที่ว่าการทำกิจกรรมที่ดูเหมือนเป็นการออกตัวแรง ทำให้กลายเป็นพวกฮาร์ดคอร์ พวกหัวรุนแรงในสายตากลุ่มนักศึกษาและประชาชนทั่วไป แม้ด้านหนึ่งอาจได้คนที่คิดเหมือนกันเข้ามาร่วมกลุ่ม แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ระยะห่างกับนักศึกษาทั่วๆ ไปมีมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัญหาในการดึงให้เขาเข้ามาร่วมกิจกรรมทางการเมือง ดังนั้นจึงมีแนวทางว่า จะจัดกิจกรรมด้วยความระมัดระวัง เช่น ชื่อกิจกรรมล่าสุด “4 ปี รัฐประหาร ประเทศชาติไม่ดีขึ้น” ซึ่งคิดว่าเป็นความเห็นร่วมของคนแทบทุกกลุ่ม

“ผมต้องการคนที่อยู่ตรงกลางตรงนี้เข้ามาอยู่ในกลุ่ม ให้เขาเข้ามาเรียนรู้วิธีคิดของเรา เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งถ้าเขาต้องการไปร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มการเมืองระดับประเทศ นั่นก็เป็นสิทธิเสรีภาพของเขา” ตัวแทนกลุ่มประชาคมธรรมศาสตร์คัดค้านอำนาจนอกระบบกล่าว

ปราบ กล่าวด้วยว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกเชิดชูว่าเป็นมหาวิทยาลัยของประชาชน เพราะธรรมศาสตร์รักประชาชน แต่นักศึกษาปีหนึ่งที่เข้ามากลับไม่มีใครจัดกิจกรรมทางการเมืองเพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้ แล้วคนที่เข้ามาในธรรมศาสตร์แล้วอยากเห็นภาพการเมืองในธรรมศาสตร์จะทำอย่างไร นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่มีการตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมาเพื่อรองรับ ดังนั้นนักศึกษาปีหนึ่งในกลุ่มจึงมีจำนวนมาก

“ธรรมศาสตร์อยู่ในช่วงยุคสายลมแสงแดดมาแล้ว ต่อไปคนก็จะเข้าสู่ยุคแสวงหา ผมเชื่อว่าในตอนนี้ ในช่วงที่มีประเด็น 91 ศพนี้ การรับผิดชอบในชีวิต ผมคิดว่าคน นักเรียน นักศึกษาจะเข้ามาสนใจในเรื่องนี้มากขึ้น” ปราบแสดงความเห็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net