Skip to main content
sharethis

ชาวสตูลบุกมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จี้อธิการยกเลิกเป็น PR ท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา อธิการบดีฯ เผยเตรียมเรียกคุยนักวิชาการหัวหน้าทีมรับงานประชาสัมพันธ์ 11 ก.พ.นี้ แนะปรับวิธีการให้ชาวบ้านรับได้

 
วันนี้ (7 ก.พ.2554) บริเวณหน้าตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ได้เดินทางเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึก ถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรื่อง “ขอให้ทบทวนโครงการประชาสัมพันธ์ โครงการท่าเรือนำลึกปากบารา” จากกรณีที่คณะอาจารย์ และนักศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จำนวนหนึ่งได้รับจ้างโครงการประชาสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมของประชาชน กรณีการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่จัดจ้างโดยกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม
 
โครงการท่าเรือนำลึกปากบารา เป็นโครงการพัฒนาที่จะเปลี่ยนสภาพของ จ.สตูล ให้เป็นเมืองแห่งการขนส่ง และเมืองอุตสาหกรรมในอนาคต แต่ยังเป็นที่ถกเถียงถึงข้อดีข้อเสียที่ประชาชนในพื้นที่ยังไม่ได้ผลสรุป โดยนักวิชาการกลุ่มหนึ่งจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ วิศวการจัดการ ได้ร่วมกับบริษัทสำรวจออกแบบท่าเรือฯ รับเหมางานจากกรมเจ้าท่า เพื่อประชาสัมพันธ์ (PR) โครงการท่าเทียบเรืออุตสาหกรรมปากบารา ด้วยงบประมาณ 15 ล้านบาท และทางนักวิชาการจากคณะดังกล่าวได้ว่าจ้างนักศึกษาเป็นจำนวนเงิน 500 บาท ให้ไปประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลกับชาวบ้านในเชิงรุก และมีเจตนาปกปิดบิดเบือนข้อเท็จจริงของโครงการ โดยอ้างว่าจะไม่มีโครงการอื่นใดนอกเหนือจากนี้
 
นายสมยศ โต๊ะหลัง เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล กล่าวว่า หากนักวิชาการเข้าไปศึกษาหาข้อมูล ชาวบ้านก็มีความยินยอมที่จะให้ข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในการศึกษา แต่หากนักวิชาการบางกลุ่มเข้าไปในพื้นที่โดยที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่รู้ เรื่อง และได้ไปประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลที่มีความบิดเบือน ซึ่งทำให้ชาวบ้านเข้าใจผิด และที่มาในวันนี้ เพื่อต้องการยื่นเรื่องให้อธิการบดีมหาวิทยาสงขลานครินทร์ได้ทบทวนโครงการ ประชาสัมพันธ์ โครงการท่าเรือนำลึกปากบารา และเรื่องการให้ระวังนักศึกษาตกเป็นเครื่องมือของนักวิชาการบางกลุ่มที่เข้า ไปเพื่อหวังผลประโยชน์ในพื้นที่
 
นายสมยศ กล่าวด้วยว่า ประชาชนชาวสตูล มีความเห็นว่า พฤติกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่งจึงขอเรียกร้องให้มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ได้ตรวจสอบกลุ่มอาจารย์ และนักศึกษาที่ลงพื้นที่ดังกล่าว ได้ขอให้ยกเลิกการรับจ้างโครงการดังกล่าว ด้วยเหตุผลสำคัญว่า 1.มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งต่อการสร้างเสริม เยาวชนของชาติให้ได้รับการศึกษาเรียนรู้ที่ดี 2.บทบาทของคณะอาจารย์ควรเป็นบทของผู้นำทางปัญญา และควนนำความรู้ทางวิชากามารับใช้สังคมอย่างสร้างสรรค์ และไม่ควรลดบทบาทของตนเองเป็นเพียงนักประชาสัมพันธ์รับจ้าง ที่ไม่ได้สนใจกับข้อเท็จจริง
 
3.โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา เป็นโครงการขนาดใหญ่ และส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สังคม วิถีชีวิต วัฒนธรรมของ จ.สตูลในระยะยาว ที่ผ่านมาก็ยังมีข้อถกเถียง และข้อเท็จจริงที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผยอย่างรงไปตรงมา จึงเห็นว่าควรสร้างความกระจ่างเหล่านี้เสียก่อน ตามข้อเสนอที่ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เสนอไว้แล้ว ก่อนที่จะดำเนินการใดๆ นอกจากนี้
 
“ชาวบ้านสตูล ต้องการให้ทางมหาวิทยาลัย ได้รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านที่ไม่ต้องให้ลูกหลานของตนเองต้องตกเป็น เครื่องมือของผู้ไม่หวังดี ซึ่งหวังเพียงเพื่อผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น โดยควรให้ข้อมูลต่างๆ ที่โปร่งใส และไม่อยู่ใต้ผลประโยชน์ ท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชน” นายสมยศ กล่าว
 
รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดี ม.อ. กล่าวว่า ตนได้รับฟังเรื่องที่ทางเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา หลังจากนี้ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ก็จะทำการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบ หาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ โดยขอเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ในการหาข้อเท็จจริง หากได้ข้อเท็จจริงอย่างไรแล้วก็จะแจ้งให้กลุ่มเครือข่ายประชาชนได้ทราบอีก ครั้งหนึ่ง
 
รศ.ดร.บุญสม เปิดเผยว่า ตนจะเรียกผศ.ดร.ธนิยา เกาศล ผู้จัดการโครงการประชาสัมพันธ์ท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ.มาพูดคุยในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ โดยจะขอให้ปรับวิธีการประชาสัมพันธ์ใหม่ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถยอมรับได้มากกว่านี้
 
  
 
จดหมายเปิดผนึก
 
ถึง อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
เรื่อง ขอให้ทบทวนโครงการประชาสัมพันธ์โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา
 
ตามที่คณะอาจารย์คณะอาจารย์ และนักศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จำนวนหนึ่ง ได้รับจ้างโครงการประชาสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมของประชาชน กรณีโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล (ระยะก่อนก่อสร้าง) ที่จัดจ้างโดยกรมเจ้าท่า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ
 
ด้วยโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ปากบารา เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้ทุนก่อสร้างจำนวนมหาศาล และเป็นโครงการที่จะต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่จำนวนมาก เช่นเบื้องต้นจะต้องสูญเสียพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราบริเวณ อ่าวปากบารา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดสตูลกว่า 4,734 ไร่ และจะต้องใช้ทราย และหินภูเขาอีกจำนวนมากเพื่อมาถมพื้นที่กลางทะเลเกือบ 300 ไร่ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวยังเป็นที่ถกเถียงถึงผลได้ผลเสียที่คนในพื้นที่ยัง ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ด้วยมีหลักฐานเอกสารที่พอให้เชื่อได้ว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จะเป็นโครงการเริ่มต้นที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาที่จะเปลี่ยนสภาพของจังหวัด สตูลให้เป็นเมืองแห่งการขนส่ง และการอุตสาหกรรมในอนาคตอีกด้วย
 
ข้อกังวนดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนชาว จังหวัดสตูลจำนวนมากยื่นเรื่องร้องเรียน ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้เข้ามาตรวจสอบความคลุมเครือของโครงการ ไปแล้ว เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 ซึ่งได้จัดเวทีที่ศาลากลางจังหวัดสตูล มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ผลจากเวทีดังกล่าวมีการตั้งข้อสังเกตต่อขั้นตอนการศึกษาออกแบบโครงการท่า เรือน้ำลึกปากบารา โดยเฉพาะการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA.ที่ต่างยอมรับร่วมกันว่ายังมีข้อบกพร่องอีกหลายด้าน และยังเสนอให้กรมเจ้าท่า ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการโดยตรงได้ทบทวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่ทำไปแล้วเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2550 ต่อไป
 
เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จังหวัดสตูล รวมถึงกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ ต่างยอมรับร่วมกันว่า ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ จากเวทีการประชุมดังกล่าว จะต้องให้การเคารพรับฟัง แม้ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานสรุปการตรวจสอบทั้งหมดก็ตามและเห็น ว่าระหว่างนี้หน่วยงานต่างๆไม่ควรมีการดำเนินการใดๆ เพื่อสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้น
 
แต่กลับเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะกรมเจ้าท่าได้จัดทำโครงการประชาสัมพันธ์เชิงรุก และมีเจตนาปกปิด บิดเบือนข้อเท็จจริงของโครงการและอ้างว่าจะไม่มีโครงการอื่นใดนอกจากนี้ ซึ่งขัดกับเอกสารโครงการสำรวจ และออกแบบโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ฉบับ ปี พ.ศ. 2552 กรมเจ้าท่า ที่แสดงไว้ชัดเจนว่าจะมีโครงการอะไรตามมา หลังการสร้างท่าเรือน้ำลึกเสร็จ ขณะนี้กรมเจ้าท่าได้ว่าจ้างให้คณะอาจารย์ และนักศึกษาระดับปริญญาโทของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นผู้ดำเนินการ โครงการประชาสัมพันธ์ดังกล่าว ด้วยงบประมาณกว่า 15 ล้านบาท
 
ประชาชนชาวจังหวัดสตูลมีความเห็น เห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งไม่สมควรอย่างยิ่งจึงขอเรียกร้องให้ มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ตรวจสอบกลุ่มอาจารย์ และนักศึกษาชุดดังกล่าว พร้อมกันนี้ขอให้ยกเลิกการรับจ้างโครงการดังกล่าวด้วยเหตุผลสำคัญ ว่า
 
1.มหาวิทยาลัยฯเป็นสถาบันการศึกษา ที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งต่อการสร้างเสริมเยาวชนของชาติให้ได้รับการศึกษาเรียน รู้ที่ดี ด้วยการผลิตบุคลากรที่มีเกียรติ์ มีศักดิ์ศรีเพื่อพัฒนาประเทศชาติตลอดมา
 
2.บทบาทของคณะอาจารย์ควรเป็นบทของ ผู้นำทางปัญญา และควรนำความรู้ทางวิชาการมารับใช้สังคมอย่างสร้างสรรค์ และไม่ควรลดบทบาทตนเองเป็นเพียงนักประชาสัมพันธ์รับจ้าง ที่ไม่ได้สนใจกับข้อเท็จจริง
 
3.โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา เป็นโครงการขนาดใหญ่ และส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม สังคม วิถีชีวิต วัฒนาธรรมของจังหวัดสตูลในระยะยาว ที่ผ่านมายังมีข้อถกเถียง และข้อเท็จจริงที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา จึงเห็นว่าควรสร้างความกระจ่างเหล่านี้เสียก่อน ตามข้อเสนอที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เสนอไว้แล้ว ก่อนที่จะดำเนินการใดๆนอกจากนี้ได้
 
จึงขอเสนอให้มหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์ รับฟังถึงความเดือดร้อนของประชาชนชาวจังหวัดสตูล ด้วยการนำข้อเสนอดังกล่าวไปดำเนินการอย่างโปร่งใส ภายใต้บทบาทที่เหมาะสมของสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นแบบอย่างของสังคมไทย โดยไม่ควรอยู่ใต้ผลประโยชน์ ที่อยู่ท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งนี้หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ต่อข้อเสนอดังกล่าวนี้ ชาวจังหวัดสตูล และกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนจำเป็นจะต้องร้องเรียนตามลำดับชั้นและจะยก ระดับมาตรการเรียกร้องให้ถึงที่สุด ต่อไป
 
ด้วยความเคารพ
 
เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโครงการตำบลปากน้ำ จังหวัดสตูล
 
 
 
 
 
แถลงการณ์
เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
และประชาชนที่ได้รับผลกระทบโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา
 
เรื่อง ระวังนักศึกษาจะตกเป็นเครื่องมือของอาจารย์บางกลุ่มที่กำลังทำร้ายชุมชน
 
จังหวัดสตูลได้ชื่อว่าเป็นจังหวัด ที่สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์ สอดคล้องกับคำขวัญประจำจังหวัดที่แสดงถึงจุดเด่นเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ อยู่ในปัจจุบันยังมีทรัพยากรทั้งทะเลและป่าไม้ที่คงความอุดมสมบูรณ์ ประชาชนมีอาชีพเกษตรอย่างยั่งยืน เป็นสังคมที่สงบด้วยครรลองแห่งวัฒนธรรมศาสนาทุกคนสามารถไปเยือนได้อย่างสุข ใจ
 
ผ่านมารัฐบาลได้วางแผนและผลักดัน โครงการเชื่อมสะพานเศรษฐกิจอ่าวไทย-อันดามัน มีการสำรวจออกแบบท่าเทียบเรืออุตสาหกรรมปากบารา ที่ ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ ๒ ที่บ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา สร้างทางรถไฟ วางท่อขนส่งน้ำมันเชื่อมเป็นแลนด์บริดส์ระหว่างสองฝั่ง
 
เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จังหวัดสตูล นักวิชาการ ชุมชนผู้ได้รับผลกระทบและองค์กรอิสระต่างๆ ได้เรียกร้องผู้ผลักดันโครงการให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย เพื่อไม่ให้โครงการเหล่านี้ส่งผลกระทบกับชุมชนซ้ำรอยอย่างนิคมอุตสาหกรรมมาบ ตาพุตและโครงการท่อก๊าซไทยมาเลย์ (โรงกลั่นโรงแยกแก็สและโรงไฟฟ้าจะนะ) ที่ส่งผลกระทบกับชุมชนอย่างร้ายแรง ตลอดถึงทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องสูญเสียไปอย่างประเมินค่าไม่ได้ และปัจจุบันนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนสามารถแก้ไขปัญหาได้
 
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนักวิชาการกลุ่มหนึ่งจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ศิลปะศาสตร์ วิทยาการจัดการร่วมกับบริษัทสำรวจออกแบบท่าเรือฯ รับเหมางานจากกรมเจ้าท่าเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการท่าเทียบเรืออุตสาหกรรม ปากบาราด้วยงบประมาณ ๑๕ ล้านบาท ทั้งที่โครงการดังกล่าวมีข้อถกเถียงถึงผลได้ผลเสีย และความเสียหายต่างๆที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ หากแต่คนกลุ่มนี้ได้บทบาทของความเป็นนักวิชาการ รับงานประชาสัมพันธ์อย่างไร้จรรยาบรรณ ทั้งปกปิด และบิดเบือนข้อเท็จจริง และยังล่อลวงให้นักศึกษาช่วยงานของตนลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการจน เกิดปัญหากับชาวบ้านในพื้นที่หลายครั้ง จนทำให้เกียรติภูมิ และศักดิ์ศรีของมหาวิทยาลัยเสื่อมเสียเป็นอย่างมาก
 
จึงเห็นว่า บทบาทการประชาสัมพันธ์โครงการฯ ควรเป็นหน้าที่ของบริษัทเอกชนทั่วไปและไม่ควรเป็นบทบาทของอาจารย์ มหาวิทยาลัย ซึ่งมีหน้าที่ผลิตบัณฑิตมาเพื่อรับใช้สังคม และประเทศชาติเป็นหลักอยู่แล้ว ที่สำคัญยังมีรายได้ประจำจากภาษีของประชาชนอยู่แล้ว ไม่ควรใช้เวลาของราชการไปใช้เพื่อการแสวงผลประโยชน์ส่วนตน และพวก
 
เราจึงขอเรียกร้องให้คณะอาจารย์ กลุ่มนี้หยุดใช้บทบาทของนักวิชาการ เข้าไปทำร้ายชุมชน ด้วยการรับงานประชาสัมพันธ์ที่ไม่สนใจกับข้อเท็จจริง และขอเตือนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยอันทรงคุณค่าแห่งนี้ด้วยว่า
 
“ระวังจะตกเป็นเครื่องมือของ อาจารย์กลุ่มนี้ เพื่อหวังเพียงงบประมาณโครงการเพียงเล็กน้อย แลกด้วยความเจ็บปวดของประชาชนชาวจังหวัดสตูล”
 
เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล และประชาชนได้รับผลกระทบโครงการ
๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net