Skip to main content
sharethis

ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน จี้ประเด็นทำไม “ผู้ประกันตน” ต้องจ่ายค่าประกันสุขภาพอยู่กลุ่มเดียว เสนอให้รัฐต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ชี้พร้อมจ่ายเงินสมทบเท่าเดิมแต่ให้เอาไปสบทบสวัสดิการยามชราแทน เผยเตรียมทำข้อเสนอให้คณะกรรมาธิการฯ แก้กฎหมายให้เป็นธรรม

 
วันนี้ (6 ก.พ.54) เมื่อเวลา 10.00 น. ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน จัดงานเปิดตัวและแถลงข่าวในเรื่องการจ่ายซ้ำซ้อนเพื่อการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตน ณ สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยผู้แถลงข่าวประกอบด้วย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และนางสาวสุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลงข่าวกล่าวถึงระบบหลักประกันสุขภาพของไทยซึ่งจำแนกเป็นระบบใหญ่ๆ ได้ 3 ส่วน คือ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และระบบสวัสดิการข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ใช้งบประมาณจากภาษีอากร ยกเว้น ระบบประกันสังคมที่ผู้ประกันตนและนายจ้างร่วมจ่าย ซึ่งถือเป็นความซ้ำซ้อนที่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมต้องสมทบเพื่อให้ได้สิทธิการรักษาพยาบาลเอง รวมทั้งต้องจ่ายภาษีอีกด้วย ในขณะที่ กลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ผู้ประกันตนมีสิทธิรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องร่วมจ่ายเงินสมทบ
 
ประเด็นหลักที่ทางชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนต้องการเรียกร้อง คือการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนนั้นรัฐบาลควรผู้รับผิดชอบเต็ม 100% เช่นเดียวกับประชาชนที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพกลุ่มอื่นๆ และให้ทุกคนมีสิทธิเข้ารับการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกับประชาชนที่ใช้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่วนเงินสมทบประกันสังคมเพื่อกรณีเจ็บป่วยซึ่งคิดเป็น 1% ใน ใน 5% ของเงินเดือนที่ผู้ประกันตนสมทบในระบบประกันสังคมนั้น ควรถูกนำไปรวมเพิ่มในกรณีอื่นๆ ที่จำเป็น เช่น กรณีชราภาพ ซึ่งการเพิ่มเงินออมในส่วนนี้จะทำให้ผู้ประกันตนได้รับเงินบำเหน็จ หรือบำนาญเพิ่มขึ้น เมื่อสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
 
นางสาวสารี ในฐานะโฆษกชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กล่าวว่า การให้บริการของประกันสังคมที่มีผู้ประกันตนราว 9.4 ล้านคน ที่จ่ายเงินเข้ากองทุนฯ และขณะนี้มีปัญหา ทั้งในเรื่องความเป็นธรรมในการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตน และการบริหารจัดการ โดยมีผู้ประกันตนมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคหลายประเด็น เช่น คุณภาพการรักษาพยาบาลเกี่ยวกับการเยียวยาค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษา, การจ่ายเงินล่วงหน้าสำหรับลูกจ้างที่ประสบอุบัติเหตุ ที่มีกระบวนการและระยะเวลาเบิก ซึ่งสามารถเข้ารักษาแบบฉุกเฉินปีละ 2 ครั้ง, ขั้นตอนในการตรวจสอบสิทธิใช้เวลานาน, ไม่รับประกันอุบัติเหตุนอกเวลางาน, ระบบรักษาข้อมูลส่วนตัวของผู้ประกันตน และปัญหากับผู้ป่วยโรคเรื้อรังโรคเรื้อรัง
 
ต่อคำถามเรื่องการขับเคลื่อนทางกฎหมาย นางสาวสารี กล่าวว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมที่มีการเสนอแก้ไขนั้น อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายฯ สภาผู้แทนราษฎร และทางชมรมฯ กำลังจะทำการยื่นข้อเสนอของทางกลุ่มเพิ่มเติมต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพิ่มเติม
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนได้เปิดหน้า facebook (คลิกที่นี่เพื่อดู) ประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าในการติดตามเรื่องสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม และมีการเชิญชวนผู้ประกันตนเข้าสมัครสมาชิกแรกเริ่มในสมาคมผู้ประกันตน เพื่อร่วมเปลี่ยนระบบประกันสังคมให้เป็นประโยชน์กับผู้ประกันตนมากที่สุด ในส่วนโครงสร้างของชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนประกอบด้วยประธาน คือ นายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน มีนายนิมิตร์ เทียนอุดม ทำหน้าที่เลขา และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง ทำหน้าที่โฆษก           
 
ด้านผู้ประกันตนรายหนึ่ง กล่าวว่า การร่วมฟังข้อมูลในวันนี้ทำให้เห็นปัญหาของประกันสังคมในการรักษาพยาบาลซึ่งมีทั้งสิทธิประโยชน์ที่น้อยกว่าหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหลายกรณีต้องจ่ายเงินเองก่อนจึงจะไปทำเรื่องเพื่อขอรับเงินคืนได้ แถมมาตรฐานในการรักษาผู้ป่วยในประกันสังคมของโรงพยาบาลต่างๆ ยังไม่มีคุณภาพ ทำให้เกิดคำถามต่อกฎหมายใหม่ที่ว่ามีความก้าวหน้าเรื่องการให้บุตรและคู่สมรสของผู้ประกันตนได้สิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลด้วย อย่างนี้ก็เท่ากับการที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ห่วยๆ เพิ่มขึ้นอีกอย่างนั้นหรือเปล่า  
 
ทั้งนี้ จากข้อมูลของชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ระบบหลักประกันสุขภาพ 3 ระบบใหญ่ที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน แบ่งการดูแลออกเป็น 1.ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดูแลคนที่มีสัญชาติไทย ประมาณ 47 ล้านคน ใช้งบประมาณจากภาษีอากร ในปี พ.ศ.2553 ประมาณ 1 แสนล้านบาท 2.ระบบประกันสังคม ดูแลผู้ประกันตน ประมาณ 9 ล้านคน โดยผู้ประกันตนสมทบ ร่วมกับนายจ้างและรัฐ ใช้งบประมาณในปี พ.ศ.2552 ในส่วนค่ารักษาพยาบาลประมาณ 4 หมื่น 4 พันล้านบาท และ 3.ระบบสวัสดิการข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ครอบคลุมผู้มีสิทธิประมาณ 5 ล้านคน ใช้งบประมาณจากภาษีอากร ปี 53 ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net