Skip to main content
sharethis

นักสิทธิฯ เสนอ คอป.ไขความจริงเปิดความเห็น "กรณีเม.ย.-พ.ค.53" แก้ข้อกังขาผู้นำสังหารประชาชน "สมชาย หอมละออ" ชี้ยังเก็บข้อมูลอยู่ เผยทำงาน 2 ปี หลังเลือกตั้งก็ยังทำต่อ

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 53 ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์รายงานว่าที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหา ความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) มีการประชุมแสดงความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปและตรวจสอบหา ความจริงจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2553 โดยมีองค์กรที่เกี่ยวข้องร่วมแสดงความคิดเห็นซึ่งยังหาข้อสรุปไม่ได้ เพราะตามกระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถดำเนินการไปตามขั้นตอนได้ หลังจากนี้ทาง คอป.จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์แต่ละกรณีมาเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง อาทิ กรณีดาวเทียมไทยคม 9 เมษายน กรณีปะทะที่สี่แยกคอกวัว 10เมษายน กรณีการเสียชีวิตของช่างภาพญี่ปุ่น 10 เมษายน กรณีความรุนแรงบริเวณอนุสรณ์สถาน 28 เมษายน กรณีความรุนแรงบริเวณบ่อนไก่ สีลม ช่วงวันที่ 22 เมษายน ถึงวันที่19 พฤษภาคม กรณีการเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล 13 พฤษภาคม กรณีการเผาสถานที่ต่างๆในกรุงเทพฯและสถานที่ราชการในต่างจังหวัด

นายสุนัย ผาสุก จากฟอรั่มเอเชีย กล่าวว่า  ครั้งแล้วครั้งเล่า ที่ เกิดความรุนแรงจากฝ่ายเสื้อแดง ทางฝ่ายรัฐมีการตอบโต้อย่างไร มีมาตรการที่จะรับมือกับกลุ่มที่ต่อสู้เพื่อสันติวิธี สมแก่เหตุหรือเกินกว่าเหตุหรือไม่ การที่มีการประกาศเรื่องใช้ แก๊สน้ำตา โล่ กระบอง กระสุนยาง แต่ความเป็นจริงในเหตุการณ์ปะทะสิ่งที่รัฐประกาศจะใช้ไปในทิศทางเดียวกัน หรือไม่ เท่าที่พบมันไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน ที่น่ากลัว คือ การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ซึ่งมีคนยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ใช้กระสุนจริงยิงพวกเขา คงชัดเจนว่ากระสุนจริงยิงขึ้นฟ้ามีความเสี่ยง มาตรการแบบนั้นนอกจากอันตรายแล้วยังยั่วยุทำให้เกิดความรุนแรงขึ้น เรื่องการใช้แก๊สน้ำตาที่โยนลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ก็ไม่มีประเทศไหนทำกัน

"เริ่มเห็นมาตรการที่น่ากลัว คือ การแฝงตัวของกองกำลังติดอาวุธแฝงอยู่กับผู้ชุมนุม แต่ก็ไม่มีการยืนยันได้ ว่า มีชายชุดดำยิงเจ้าหน้าที่จริง  ส่วนการใช้กระสุน ไม่ใช่ความชอบธรรมที่จะใช้กระสุนจริงได้ การระบุเป้า ว่า ใครจะเป็นเป้าถูกกระสุนจริงไม่มีความชัดเจน เพราะพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ชุมชนที่มีคนเดินทางกลับบ้าน เดินผ่านไปผ่านมา ซึ่งจะต้องมีการแยกแยะ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่สามารถระบุได้เลยว่าคนที่ถูกยิงเป็นผู้ชุมนุมหรือ คนบริสุทธิ์มากน้อยแค่ไหน ยกตัวอย่างอาสาสมัครพยาบาลที่ไม่ได้เป็นผู้ชุมนุมกลับถูกยิงที่ศีรษะ สิ่งที่ต้องถามรัฐบาล คือ มาตรการรับมือผู้ชุมนุมมันรุนแรงเกินกว่าเหตุหรือสมแก่เหตุหรือไม่ " นายสุนัย กล่าว

นายสุนัย กล่าวต่อว่า  นอกจากนี้มีการพูดถึงเรื่องการ คุกคามสถานพยาบาลที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ มันไม่ได้เริ่มจากการบุกเข้าไปในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สิ่งที่เกิดก่อนหน้านี้แกนนำมีท่าทีและคำปราศรัยพูดไปในเชิงคุกคามเจ้า หน้าที่พยาบาล จนถึงขั้นที่อาจจะสร้างความเชื่อให้ผู้ชุมนุมเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่พยาบาล เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐ ในการบุกเข้าไปในโรงพยาบาลเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ในที่สุดแกนนำก็ออกมายอมรับว่าเป็นสิ่งที่ผิดพลาด

"ความรุนแรงเกิดขึ้นหลังจากมีการลอบสังหาร เสธ.แดง (พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก) การ ต่อสู้ทวีความรุนแรงขึ้น ท้ายที่สุดการตัดสินใจเคลื่อนกำลังเข้าไป ต้องหาคำตอบให้ได้ว่าเข้าไปโดยมีวัตถุประสงค์ใดกันแน่ เพราะเจ้าหน้าที่ออกมาบอก ว่า การเคลื่อนกำลังเข้าไปเพราะต้องการขอพื้นที่บางส่วนคืน เรื่องนี้ต้องช่วยกันหาคำตอบ ศอฉ. (ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน) ก็ยังไม่ได้ระบุแผนปฎิบัติการในวันนั้น ว่า คืออะไรกันแน่ เพราะยืนยันว่าไม่ได้เข้าสลายการชุมนุมแค่ขอพื้นที่คืน 

ความกังวลถึงอาวุธที่ใช้ว่า มีอะไรประเภทใดบ้าง อีกทางหนึ่งบอกเจ้าหน้าที่ใช้ปืนลูกกระสุนยาง แต่ในวันที่ 10 เมษายน จะเห็นว่าเจ้าหน้าที่เข้าประชิดผู้ชุมนุมโดยนำรถหุ้มเกราะพร้อมกระสุนเเข้า ไปทำไม แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่มาให้ข้อมูลก็ไม่สามารถประเมินได้ ทั้งอาวุธและกำลังพลที่เคลื่อนไปสู่ที่ชุมนุมเพื่อจุดประสงค์ใด" นายสุนัย กล่าว

น.ส.รุ่งรวี  เฉลิมศรีภิญโญรัช  นักวิจัยโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  กล่าวว่า เคยทำรายงานเสนอ ว่า การแสวงหาความจริงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะนำไปสู่การปรองดอง การ สร้างความปรองดองจะเกิดได้ไม่ยากในรัฐบาลชุดนี้ เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ ความรุนแรงครั้งนี้ และต้องมีส่วนในการรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ความจริงแล้วรัฐบาลยังคงอยู่ได้ หลังจากเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุม ซึ่งทำให้หลายฝ่ายในสังคมกังขา เพราะมาตรฐานของสังคมไทยปกติรัฐบาลที่มีความรับผิดชอบต่อการสังหารประชาชน มากมายขนาดนี้ในประวัติศาสตร์ ไม่เคยอยู่ได้ แต่รัฐบาลนี้อยู่ได้
 
"เป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ในสังคมที่เกิดขึ้น หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก ไม่ใช่จะปล่อยไปง่ายๆ คอป.จะต้องสร้างมาตรฐานใหม่ขึ้นมาได้เพื่อให้เรื่องนั้นออกไปสู่สาธารณชน ไม่ให้เหมือนกับการศึกษาเรื่องในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ สุดท้ายก็ไม่มีการสื่อสารออกสู่สาธารณชน เร่งเปิดพื้นที่การแสดงความคิดเห็นของประชาชนก่อนใช้วิธีใต้ดิน"  น.ส.รุ่งวรี กล่าว

นายสมชาย หอมละออ คณะอนุกรรมการตรวจสอบหาความจริง คอป. กล่าวว่า  ข้อมูลที่ได้จะนำไปประมวลกับข้อมูลที่มีอยู่แล้ว การรับฟังการชี้แจงข้อเท็จจริง จะรับฟังทุกสัปดาห์ ในวันอังคาร โดยให้สื่อมวลชนเข้ารับฟังด้วย แต่ประชาชนทั่วไปอาจจะไม่สะดวกเพราะว่าสถานที่ค่อนข้างจะคับแคบ เราก็อาจจะเชิญเป็นรายกรณีโดยเฉพาะผู้เกี่ยวข้องกับกรณีนั้นจริงๆ  บางคนอาจจะเข้าไปสัมภาษณ์ส่วนตัว เพราะไม่แน่ใจในเรื่องผลกระทบ ผู้ที่จะเชิญมาก็ต่อเมื่อยินยอมสมัครใจมาจริงๆ มีหลายคนที่เป็นญาติผู้ตายมาให้ข้อเท็จจริงบ้างแล้ว

"การตรวจสอบของเราตรวจสอบในขณะที่ความขัดแย้งมีอยู่ งานของเรา 2 ปี คอป.จะอยู่และทำงานต่อไป หลังจากที่มีการเลือกตั้งแล้ว ผลของรายงานจะพยายามทำให้ดีที่สุด จะเป็นรายงานที่มีข้อมูลและพยายานหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์ ขณะนี้ คอป.ก็พยายามจะดึงข้อมูลจากภาครัฐมาให้ได้มากที่สุด"  นายสมชาย กล่าว

ที่มาข่าว: มติชนออนไลน์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net