Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การแก้ไขปัญหาที่ดินโดยการออกโฉนดชุมชนนั้น  เป็นนโยบายที่มีการผลักดันของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยเกือบหนึ่งปีแล้ว  โดยคาดหวังว่าจะแก้ไขปัญหาที่ดินให้เกษตรกรในเครือข่ายได้  ขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ในช่วงนั้นก็ต้องการสร้างภาพว่าได้มีนโยบายแก้ไขปัญหาคนจนคนรากหญ้าท่ามกลางการถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีการล้อมปราบสังหารประชาชนคนเสื้อแดงในเหตุการณ์เมษาและพฤษภาอำมหิต2553   
 
รากเหง้าของปัญหาที่ดิน นั้นเกิดจากการที่ที่ดินกระจุกตัวไม่มีการกระจายการถือครองที่ดิน ไม่มีการกำจัดการถือครองที่ดิน เฉกเช่นปัญหาการกระจายรายได้เพื่อสร้างความเสมอภาค  ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม  

ข้อมูลจากการวิจัยปัญหาที่ดิน พบว่าคนส่วนใหญ่ราวร้อยละ 90 มีที่ดินถือครองไม่ถึง 1 ไร่ ในขณะที่คนกลุ่มเล็กๆ ที่เหลือราวร้อยละ 10 มีที่ดินถือครองมากกว่าคนละ 100 ไร่

ในภาคเกษตรซึ่งมีประชากรอยู่ประมาณ 2 ล้านครอบครัว (10 ล้านคน) มีประชากรประมาณ 800,000 ครอบครัว ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง และมีเกือบล้านครอบครัว ที่มีที่ดินแต่ไม่เพียงพอ ต้องเช่าที่ดินจากผู้อื่นทำกิน

ขณะที่ภาคสังคมเมือง  คนจำนวนมากไม่มีที่อยู่อาศัยจำนวนนับหลายล้านคนต้องเช่าบ้าน หรือสร้างบ้านในเขตพื้นที่ที่เจ้าของทิ้งว่างเปล่า และพร้อมเผชิญปัญหาการถูกไล่ที่    ส่วนคนชั้นกลางจำนวนมากก็ต้องซื้อบ้านในราคาแพงเกินความเป็นจริง เนื่องจากราคาที่ดินมีผลให้ราคาบ้านสูงขึ้น

นอกจากนี้แล้ว จากการใช้ที่ดินไม่เต็มที่ประเทศไทยต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยการประเมินขั้นต่ำ 127,384.03 ล้านบาทต่อปี และการเก็งกำไรที่ดินที่ผ่านมาทำให้เศรษฐกิจเสียหายไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท รวมทั้งยังพบว่าที่ดินส่วนมากยังมีการใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ประมาณว่าที่ดินร้อยละ 70 เปอร์เซ็นต์ ของประเทศนั้นใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่หรือไม่ได้ใช้ประโยชน์เลย สิ่งเหล่านี้ย่อมชี้ให้เห็นการกระจุกตัวของที่ดินนั้น ได้มีผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติโดยรวม

และแม้ว่ากฎหมายที่ดินปัจจุบัน มาตราที่ 6 จะระบุว่า …หากบุคคลนั้นทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ในที่ดิน หรือปล่อยที่ดินให้รกร้างว่างเปล่า เกินกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้ (1)สำหรับที่ดินที่มีโฉนด เกินสิบปีติดต่อกัน (2)สำหรับที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เกินห้าปีติดต่อกัน ให้ถือว่าเจตนาสละสิทธิในที่ดินเฉพาะส่วนที่ทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า เมื่ออธิบดีได้ยื่นคำร้องต่อศาลและศาลได้สั่งเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ดังกล่าว ให้ที่ดินนั้นตกเป็นของรัฐเพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายนี้ต่อไป แต่ในภาคปฏิบัติไม่เป็นจริงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

มิพักต้องพูดถึงการถือครองที่ดินในสังคมศักดินาที่ยังสืบทอดมาถึงสังคมทุนนิยมไทยปัจจุบัน
 
นอกจากนี้แล้ว ปัญหาการจัดการที่ดิน ยังเกิดจากการที่รัฐประกาศนโยบายอนุรักษ์ทับที่ทำกินทีอยู่อาศัยที่ป่าชุนชนของชาวบ้านยากจนของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง    หรือกรณีนโยบายด้านเกษตรกรรมที่เกษตรกรมักเป็นเบี้ยล่างของกลไกตลาด เป็นหนี้สินธกส หนี้สินนอกระบบนำสู่การจำนองจำนำที่ดินและที่ดินหลุดมมือในที่สุด  
 
ปัญหาการจัดการที่ดิน ยังรวมถึงการฉ้อฉลของกลุ่มอิทธิพลอภิสิทธิ์ชนยึดครองพื้นที่ป่าพื้นที่ภูเขา สร้างบ้านพักตากอากาศ ทำรีสอร์ทอย่างที่รับรู้กันอยู่กรณีเขายายเที่ยงเขาสอยดาว แม้ว่าผิดกฎหมายก็ตาม ขณะที่คนจนดิ้นรนใช้ที่ดินเพื่อมีชีวิตอยู่รอด กลับถูกเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและความเป็นธรรม
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโฉนดชุมชนแม้เป็นทางเลือกในการจัดการที่ดินรูปแบบหนึ่งที่อาจจะเหมาะสมในบางบริบทของพื้นที่ แต่มิได้หมายความว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่กระจุกตัวของที่ดิน หรือเหมาะสมกับทุกพื้นที่  
 
ที่สำคัญ  รัฐบาลกำลังดำเนินการใช้นโยบายโฉนดชุมชนเพื่อสร้างภาพโฆษณาชวนเชื่อทางสื่อต่างๆอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสื่อของรัฐและทีพีบีเอส ให้ดูเสมือนว่า เป็นทางออกเดียวในการแก้ไขปัญหาที่ดิน หรือหลงเชื่อว่ารัฐบาลกำลังดำเนินการกระจายการถือครองที่ดินแล้ว
 
ในทางตรงกันข้ามข้อมูลเท็จจริง   กลับพบว่า  นโยบายนี้ตามกฎระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโฉนดชุมชนนั้น ไม่สามารถทำโฉนดชุมชนในพื้นที่สูง หรือเขตป่าอนุรักษ์ ได้ทั้งๆที่เหมาะสมในบริบทพื้นที่ในการจัดการรูปแบบโฉนดชุมชนเป็นอย่างยิ่ง  
เนื่องจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่เห็นด้วย และกฎหมายก็ยังไม่มีการปรับปรุงแก้ไขแต่อย่างใด  โดยที่รัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำก็มิกล้าขัดแย้งกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติที่มี สุวิทย์ คุณกิตติ เป็นเจ้ากระทรวงอยู่

หรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี นอกจากขัดแย้งกับกฎหมายที่ดินหลายฉบับ ซึ่งมีอำนาจบังคับใช้ได้จริงน้อยกว่ากฎหมายหลักแล้ว   ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีนี้ ยังให้อำนาจกับข้าราชการ กรม กองต่างๆมากกว่าเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ไร้ที่ดิน  จึงมีแนวโน้มไม่มีผลทางปฏิบัติได้จริง

ขณะที่นโยบายภาษีที่ดินที่ก้าวหน้าก็กลายเป็นเพียงลมปากของนายกรณ์  จาติกวานิช  รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลังเท่านั้นเอง ไม่มีผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใด
 
ขณะที่การทำโฉนดชุมชนในพื้นที่ที่หลายชุมชนที่ชาวบ้านผู้ยากไร้ที่ดิน  ได้เข้ายึดครองพื้นที่ที่นายทุนร่วมมือกับข้าราชการที่เกี่ยวข้องออกโฉนดโดยมิชอบ หรือพื้นที่ที่นายทุนปล่อยรกร้างว่างเปล่า ปรากฎว่า ชาวบ้านหลายชุมชนนอกจากโดนคดีติดคุกกันแล้ว  ตามนโยบายโฉนดชุมชนนั้นชาวบ้านยังต้องหางบเงินมาซื้อที่ดินเพื่อเช่าซื้อในราคาประเมินตามกลไกตลาดของกรมที่ดิน ซึ่งหลายพื้นที่ก็มีราคาสูงมากเช่นกัน  หรือนายทุนอาจจะได้ขายที่ดินหลังจากรอหาคนมาซื้อนานแล้วด้วยซ้ำไป   และโฉนดชุมชนคนที่ได้ประโยชน์แท้จริงอาจเป็นนายทุนมากกว่าคนไร้ที่ดิน หรือชาวบ้านต้องมีหนี้สินเพิ่มเข้ามาในชีวิตอีก
 
 นอกจากนี้แล้ว  พื้นที่ในเขตสำนักงานปฏิรูปที่ดิน(สปก.) ก็ไม่สามารถดำเนินการทำโฉนดชุมชนได้เช่นกัน โดยเฉพาะพื้นที่เขตสวนปาล์มภาคใต้ ที่ชาวบ้านขัดแย้งกับเจ้าของพื้นที่ กรณีเช่าสวนปาล์มเลยกำหนดเวลาเช่าหรือมีพื้นที่มากกว่าสัญญาเช่า  ซึ่งผู้อิทธิพลเหล่านี้มักเป็นคนในเครือข่ายพรรคประชาธิปัตย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งก็ว่าได้
 
ดังนั้น  การกระจายการถือครองที่ดิน  การกำจัดการถือครองที่ดิน ที่ปรีดี  พนมยงค์ เคยวางรากฐานแนวคิดไว้  จึงมิอาจเป็นจริงได้ยุครัฐบาลอำมาตยาธิปไตยครองเมือง

โฉนดชุมชนจึงเป็นเพียงกลยุทธ์การสร้างภาพของรัฐบาลอภิสิทธิ์และเป็นเพียงเกมซื้อเวลาในการแก้ไขปัญหาที่ดินของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยเท่านั้นเอง    

ใช่หรือไม่?
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net