Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปี 2553 สังคมไทยยังไปไม่ถึงการกระจายการถือครองที่ดิน การรับรองสิทธิชุมชนด้วยนโยบายโฉนดชุมชน ยังไม่มีการส่งมอบพื้นที่จากหน่วยงานเจ้าของที่ดิน ในขณะที่คดีความที่เกิดขึ้นกับสมาชิก คปท. ยังคงเข้มข้นเพิ่มจำนวนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ฟ้องขับไล่ชาวบ้านคอนสาร 31 ราย ซึ่งกำลังจะมีการบังคับคดี ให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า คดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ฟ้องชาวบ้าน จ.เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ และตรัง ข้อหาทำให้โลกร้อน 34 ราย คดีนายทุนสวนปาล์มฟ้องชาวบ้าน จ.สุราษฎร์ธานี 27 ราย และคดีนายทุนออกเอกสารสิทธิไม่ชอบและปล่อยทิ้งร้าง ฟ้องชาวบ้าน จ.ลำพูนและเชียงใหม่ 128 ราย

นับตั้งแต่เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันชุมนุมผลักดันให้รัฐบาลดำเนินนโยบายกระจายการถือครองที่ดิน และแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินทำกินอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2552 และในปี 2553 นี้ ได้มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาระหว่าง คปท.และรัฐบาล ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 10 ชุด [1] จำนวน 20 ครั้ง ในจำนวนนี้ มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 2 ครั้ง รวมทั้งมีการชุมนุมกดดันอีกทั้งหมด 6 ครั้ง

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กระบวนการแก้ไขปัญหาถูกผลักดันให้เดินหน้า แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วง ตัวอย่างเช่น

การนำที่ดิน ส.ป.ก. มาปฏิรูปให้ชาวบ้านที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากติดปัญหาการโต้แย้งสิทธิที่ดินระหว่าง ส.ป.ก.กับ บริษัทฯ แม้ ส.ป.ก. ได้ฟ้องร้องคดีความกับบริษัทรวมชัยบุรีปาล์มทอง ที่ครอบครองพื้นที่ ส.ป.ก. โดยผิดกฎหมาย 7,500 ไร่ แล้วและศาลตัดสินให้จ่ายค่าปรับ 70,000 บาท

การแก้ไขปัญหาที่สาธารณะประโยชน์ ในพื้นที่ภาคอีสานได้มีมติในระดับจังหวัดให้มีการเพิกถอนที่ดินสาธารณะประโยชน์ในพื้นที่พิพาทกับชาวบ้าน ยังต้องรอกระบวนการนำมติเหล่านี้เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.

การแก้ไขปัญหาที่ดินราชพัสดุ ได้มีมติ ครม.โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากกระทรวงการคลัง ให้กับสหกรณ์การเช่าที่ดินคลองโยงฯแล้ว แต่ปัญหายังอยู่ที่ว่าชาวบ้านต้องหางบประมาณ 29 ล้านบาทที่ต้องจ่ายภาษีธุรกิจเฉพาะจากการประเมินราคาที่ดิน และต้องผลักดันให้เข้า ครม.อีกรอบก่อนสิ้นปีนี้ คาดว่า จะมีการมอบโฉนดชุมชนฉบับแรกที่นั่น

การแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและสินเชื่อ มีการประชุมไปทั้งหมด 4 ครั้ง ชุมนุมกดดันต่อเนื่อง 5 ครั้ง เจรจาแก้ไขปัญหาในที่ดินเอกชนไม่ให้บังคับคดีเพราะอยู่ในระหว่างจัดหาที่ดิน รวมถึงการมีมติ ครม.เรื่องกองทุนเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ 6,000 ล้าน และกฎกระทรวงยกเว้นผ่อนผันการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ให้สามารถปลูกสร้างบ้านในพื้นที่ขนาดเล็กได้ [2]

นโยบายกระจายการถือครองที่ดิน หลังจากที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีโฉนดชุมชนได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 7 มิ.ย 2553 มีชุมชนที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ ปจช.ว่ามีความพร้อมที่จะประกาศให้เป็นพื้นที่โฉนดชุมชนจำนวน 35 แห่งทั่วประเทศ และเมื่อวันที่ 14 ธ.ค 2553 ครม.ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน(องค์กรมหาชน) ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญจัดทำนโยบายและมาตรการเพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมรวมทั้งจัดทำร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งธนาคารที่ดินต่อไป

แม้ว่า หลายเรื่องมีผลผ่านมติคณะรัฐมนตรีไปแล้ว แต่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันและติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีผลต่อการนำไปปฏิบัติและเกิดประโยชน์ก้บชาวบ้านได้จริง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายโฉนดชุมชน ที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ เนื่องจากติดขัดในข้อกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันโดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การผลักดันสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ที่ควรมีสัดส่วนของภาคประชาชนและคนไร้ที่ดินในการร่วมทำงานผลักดันนโยบายกระจายการถือครองที่ดิน และมีงบประมาณเริ่มต้นจากรัฐบาลไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท การผลักดัน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้สามารถคลอดได้ในรัฐบาลปัจจุบัน และการผลักดันงบประมาณสำหรับซื้อที่ดินเอกชนทิ้งร้างที่ได้อนุมัติในหลักการแล้ว 167 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้นำเสนอเข้าสู่ ครม.

ด้านคดีความที่ดินคนจน ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนว่า หากอยู่ในชั้นสอบสวนและอัยการต้องชะลอการสั่งฟ้อง เนื่องจากอยู่ในกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และถ้าอยู่ในขั้นการพิจารณา ควรจำหน่ายคดีชั่วคราว หากต้องโทษ ควรมีการพักโทษ และหากอยู่ในขั้นการบังคับคดี ควรงดการบังคับคดี เพราะการดำเนินคดีความกับเกษตรกรที่เดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกิน อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการทำมาหากิน ไม่ได้ส่งผลดีต่อกระบวนการยุติธรรมในสังคม แต่กลับทำให้เห็นว่าเกษตรกร คนจนและผู้ด้อยโอกาสทางสังคมกำลังถูกรังแกและคุกคามจากอำนาจรัฐ

คปท. จึงอยากเรียนมายังทุกท่านว่า ในรอบปีที่ผ่านมาแม้ว่าหลายเรื่องจะมีความคืบหน้าด้วยพลังจากหลายฝ่ายที่ได้ร่วมกันเรียกร้องต่อสู้ แต่สังคมของเราก็ยังไปไม่ถึงการจำกัดการถือครองที่ดิน การเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าตามขนาดการถือครองทีดิน และการรับรองสิทธิของชุมชนท้องถิ่นตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ นโยบายสำคัญเหล่านี้ จึงยังคงเป็นวาระแห่งชาติที่สำคัญที่พวกเราต้องช่วยกันผลักดันขับเคลื่อนต่อไป

ด้วยความสมานฉันท์

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
24 ธันวาคม 2553

///////////////
[1] คณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของ คปท.มีนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เป็นประธาน มีคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาทั้งหมด 10 ชุด ซึ่งประกอบด้วย 2)อนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินสาธารณะประโยชน์ ที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้าง และเหมืองแร่ 3)อนุกรรมการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่ดินในอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ และป่าไม้อื่นๆ 4)อนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน สปก. 5)อนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัย และสินเชื่อ 6)อนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินราชพัสดุ 7)อนุกรรมการศึกษาแนวทางการปฏิบัติตามนโยบายกระจายการถือครองที่ดิน 8)อนุกรรมการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาคดีความ 9)อนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินคอนสาร 10)อนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินโนนดินแดง

[2] กฎกระทรวงยกเว้นผ่อนผันหรือกำหนดเงื่อนไขในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารสำหรับที่รัฐจัดให้มีหรือพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net