Skip to main content
sharethis

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีสับ กพร. เละ จวกแหกตาชาวบ้าน ฉวยโอกาสปักหมุดรังวัดพื้นที่เหมืองเอื้อประโยชน์บริษัทโปแตซ ทั้งที่ช่วงชี้แจงจะให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม

เวลา 8.00 น. วานนี้ (30 ต.ค.) กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ประมาณ 200 คน ได้ร่วมกันเฝ้าระวังและป้องกัน การเข้ามาปักหมุดรังวัดเพื่อสำรวจขอบเขตพื้นที่เหมืองแร่โปแตซซึ่งดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ในเขตพื้นที่ตำบลห้วยสามพาด ตำบลนาม่วง อำเภอประจักษ์ศิลปาคม ตำบลหนองไผ่ และตำบลโนนสูง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตซ จังหวัดอุดรธานี

ทั้งนี้ เมื่อ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา กรมอุตสาหกรรมฯ ได้มีการประชุมชี้แจงเรื่องการขออนุญาตประทานบัตรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ภายใต้กรอบมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550  ณ โรงแรมเซ็นทารา โฮเต็ล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดอุดรธานี  โดยมีวิทยากรมาบรรยายให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับ ประเด็นสิทธิชุมชน  แนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์โครงการเหมืองแร่โปแตซ และขั้นตอนการขอประทานบัตรการทำเหมืองใต้ดิน  อีกทั้งเปิดให้ชาวบ้านที่เข้าร่วมเวทีชี้แจงให้ซักถาม แลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆ ที่บรรยายโดยวิทยากร

หลังจากเวทีชี้แจงฯ เพียงหนึ่งวัน ชาวบ้านในพื้นที่กลับได้รับหนังสือจากหน่วยงานราชการต่อการเข้ามาในพื้นที่เพื่อทำการปักหมุดรังวัดโดยเจ้าหน้าที่จากกรมอุตสาหกรรมฯ ในช่วงระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม ถึง วันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 ทำให้ลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่มีความชอบธรรม ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ โดยให้เหตุผลว่าภายในเวทีชี้แจงที่ผ่านมานั้น ได้มีการกล่าวถึงขั้นตอนของการปักหมุดรังวัดว่าต้องเปิดเวทีประชาคมให้ข้อมูลให้กับชาวบ้านในพื้นที่อย่างทั่วถึงและรอบด้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น  อีกทั้ง ความพยายามผลักดันการปักหมุดรังวัดในช่วงระยะที่ผ่านมาได้สร้างความขัดแย้งแตกแยกให้เกิดขึ้นในพื้นที่  อันเนื่องมาจากกระบวนการที่ไม่ชอบธรรมและขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน

นายบุญเลิศ เหล็กเขียว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี  ได้กล่าวถึงการเข้ามาปักหมุดรังวัดของ กรมอุตสาหกรรมฯ ในครั้งนี้ว่า เป็นการดำเนินการที่ลัดขั้นตอน และขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่  เพราะในเวทีชี้แจงที่ผ่านมา  อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  หรือ กพร.  ได้พูดไว้ว่าถ้าหากจะมีการรังวัดปักหมุดเพื่อหาขอบเขตพื้นที่การทำเหมืองนั้น  จะทำการเปิดประชุมกับชาวบ้านเพื่อถามความคิดเห็นก่อนที่จะการดำเนินการ แต่ในครั้งนี้ กพร. กลับมาลงมือปักหมุดรังวัดทันทีที่เสร็จสิ้นจากเวทีชี้แจง  ซึ่งถือว่าพฤติกรรมของ กพร. นั้นได้สวนทางกับสิ่งที่ อธิบดี กพร. ได้พูดไว้  และการจัดเวทีของ กพร.นั้น บริษัทได้มีการเกณฑ์คนเข้ามาร่วมโดยใช้เงินจ้างมาเป็นจำนวนมาก   ตนจึงมีข้อสังเกตว่า การกระทำของ กพร. เอื้อประโยชน์หรือมีการสมรู้ร่วมคิดในการผลักดันโครงการเหมืองโปแตซ กับบริษัทรึเปล่า นายบุญเลิศ กล่าว

บุญเลิศ กล่าวด้วยว่า ทางกลุ่มจะไม่มีทางให้มีการปักหมุดรังวัดขึ้นในพื้นที่โดยเด็ดขาด เพราะทางกลุ่มยังยืนยันในจุดยืนถึงการคัดค้านโครงการเหมืองโปแตซว่าจะต้องมีการดำเนินต่อไป เพราะเป็นสิทธิอันชอบธรรมของชาวบ้านที่จะปกป้องรักษาทรัพยากรท้องถิ่นของตนเอง

ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์  ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน  ได้แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ดังกล่าวว่า ที่ผ่านมา อธิบดี กพร. ได้มีการพูดคุยร่วมกับนักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน กว่าสิบคน  ซึ่งเบื้องต้นได้มีความเห็นร่วมกันที่จะทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ หรือ เอสอีเอ ต่อการพัฒนาเหมืองแร่โปแตซในภาคอีสาน แต่ยังมิได้มีการวางกรอบประเด็นสำหรับการศึกษาร่วมกัน โดย อธิบดี กพร. จะทำหน้าที่ในการเปิดเวทีชี้แจงให้ข้อมูลในทุกจังหวัดที่เหมืองแร่โปแตซ  ในประเด็นประเภทโครงการรุนแรง  ตามมาตรา 67 วรรค 2และการทำเอสอีเอ ซึ่งทางเราเห็นด้วยต่อสิ่งที่อธิบดี กพร. ได้พูดไว้  และในช่วงระหว่างการทำเอสอีเอนั้น อธิบดี กพร. ก็เห็นด้วยและรับหน้าที่ในการประสานงานกับผู้ประกอบการการลงทุนด้านเหมืองแร่โปแตซ  ให้หยุดกระบวนการทุกขั้นตอนในการผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตซ

แต่หลังจากเวทีชี้แจงเมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา  อธิบดี กพร.  ได้มีการทำหนังสือไปยังส่วนราชการในจังหวัดอุดร  เพื่อขอเข้าไปทำการปักหมุดรังวัดขอบเขตพื้นที่เหมืองโปแตซจังหวัดอุดร โดยอ้างว่าต้องการทราบถึงขอบเขตพื้นที่เหมืองแล้วนำไปใช้ในการทำ เอสอีเอ  การกระทำของ กพร.  ได้แสดงออกถึงความไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตซที่มีมาตลอดช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

สุวิทย์ กล่าวด้วยว่า ได้ทำการปรึกษาหารือร่วมกับ นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน  ที่เคยร่วมคุยกับ อธิบดี กพร. ในช่วงที่ผ่านมาในเรื่องการทำเอสอีเอ  ซึ่งทุกคนได้มีความเห็นต่อ การกระทำของ กพร.  ว่าไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาเหมืองแร่โปแตซ และเป็น หน่วยงานราชการ แต่กลับวางตัวไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น  จึงไม่ขอเข้าร่วมกระบวนการทำทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ หรือ เอสอีเอ  ต่อการพัฒนาเหมืองแร่โปแตซในภาคอีสาน  ตามที่ได้คุยกันไว้มาก่อนหน้านี้

สำหรับสถานการณ์ภายในพื้นที่นั้น ล่าสุดได้รับการรายงานจากผู้สื่อข่าวว่า ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ  ยังคงร่วมกันเฝ้าระวังการเข้ามาปักหมุดรังวัดของเจ้าหน้าที่กรมอุตสาหกรรมฯ ซึ่งสมาชิกกลุ่มทุกคนต่างได้ชักชวนกันมาประจำจุดต่างๆ ที่คาดว่าจะมีการเข้ามาปักหมุดรังวัด  และแบ่งบทบาทหน้าที่กันในการสำรวจตรวจตราความผิดสังเกตและคนแปลกหน้าที่เข้ามาในพื้นที่กันอย่างแข่งขันทั้งกลางวันและกลางคืน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net