กลุ่มอนุรักษ์อุดรค้านเวทีรับฟังความเห็นเหมืองโปแตช

เจ้าหน้าที่คุมเข้มกว่า 1,000 นาย แต่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานียังทำกิจกรรมคัดค้านได้ “เป่านกหวีด-เผาอีไอเอ” แสดงสัญลักษณ์ไม่เอาโครงการเหมืองแร่โปแตช

เมื่อวานนี้ (23 เม.ย. 2559) ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียในโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี คำขอประทานบัตรที่ 1-4/2547 ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น ตามมาตรา 88/7 แห่ง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แร่ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ตั้งแต่เวลา 09.00 น - 12.00 น. ณ หอประชุมโรงเรียนโนนสูงพิทยาคาร ต.โนนสูง อ.เมือง จ.อุดรธานี

ผู้สื่อข่าวในพื้นที่รายงานสถานการณ์ว่า ตั้งแต่เวลา 06.00 น. ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งเป็นกลุ่มที่คัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรฯ มากว่า 15 ปี ได้ทยอยรวมตัวกันในแต่ละหมู่บ้านในเขตพื้นที่คำขอประทานบัตรเหมืองโปแตช เพื่อเดินทางไปยังสถานที่จัดการประชุม โดยระหว่างทางที่ไปนั้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งด่านและขับรถตามกลุ่มอนุรักษ์ฯในทุกๆเส้นทางที่จะเดินทางไปยังสถานที่ประชุม และบรรยากาศบริเวณสถานที่จัดการประชุมได้มีตำรวจ ทหาร และ อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) สนธิกำลังกันกว่า 1,000 นาย กระจายอยู่ทั่วบริเวณงาน พร้อมกันนี้ยังมีการตั้งแผงเหล็กและเครื่องตรวจจับโลหะวัตถุระเบิดบริเวณทางเข้าออก และรอบ ๆ พื้นที่จัดการประชุม ห้ามผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปสังเกตการณ์บริเวณจัดประชุมเป็นอันขาด โดยลักษณะของห้องประชุมด้านในยังมีการกั้นแผงเหล็กออกเป็น 4 ล็อก โดยให้พื้นที่ชาวบ้านที่คัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช เพียง 1 ล๊อก จนบางส่วนต้องกระจายตัวหาที่นั่งด้านนอกและบริเวณร่มไม้

จนเมื่อเริ่มการประชุมในเวลา 09.00 น. และนายสมหวัง พ่วงบางโพ รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ประธานในพิธีกล่าวเปิดงานและนำสวดมนต์เสร็จสิ้น ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี นำโดย นางพิกุล โทธุโย แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการดำเนินการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี และยื่นคัดค้านการจัดเวทีฯ ในครั้งนี้ด้วย โดยให้เหตุผลในการคัดค้านการจัดเวทีว่า 1.) ขอบเขตประทานบัตรเหมืองมีพื้นที่ 26,400 ไร่ รังวัดปักหมุดแนวเขตตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 ผ่านมากว่า 6 ปีแล้ว ที่ดินย่อมมีการเปลี่ยนมือ ประชากรในพื้นที่ต้องมีการย้าย-เกิด-ตาย เกิดขึ้น ข้อมูลที่บริษัทเหมืองนำมาประกอบย่อมต้องถือว่าเป็นข้อมูลเก่า ดังนั้นรัฐควรมีการตรวจสอบและแก้ไขให้ตรงตามความจริงในปัจจุบันเสียก่อน 2.) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ร่วมกันคัดค้านและฟ้องร้องต่อศาลปกครอง กรณีการปักหมุดแนวเขตและไต่สวนพื้นที่ที่ไม่เป็นตามความเป็นจริง เรื่องยังอยู่ในขั้นตอนการไต่สวนของศาลอยู่ ฉะนั้นไม่สมควรที่จะดำเนินขั้นตอนใดต่อไปทั้งสิ้น และ 3.) คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เคยมีมติให้จัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) เหมืองแร่โปแตชภาคอีสานเสียก่อน เพื่อหาทางเลือกการพัฒนาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับพื้นที่ การจัดเวทีฯครั้งนี้จึงถือว่าไม่ถูกต้อง

“จังหวัดจัดเวทีนี้เป็นเพียงพิธีกรรมให้พอผ่านไป ทำเพื่อให้ได้ภาพชาวบ้านเข้ามาร่วมเอาไปประกอบเอกสารที่มีการเตรียมไว้แล้ว ก่อนเอาไปผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตช โดยไม่ได้มีความจริงใจ หรือตั้งใจที่จะเปิดเวทีรับฟังชาวบ้านจริงๆ เป็นเวทีจอมปลอม ถ้าจริงใจจะรับฟังกัน คงไม่เอาตำรวจ ทหาร มาเฝ้าเวทีและติดตามกลุ่มอนุรักษ์ฯ ตลอดเวลาขนาดนี้ ” นางพิกุลกล่าว

ภายหลังยื่นหนังสือแล้วเสร็จ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้แสดงออกถึงการไม่ยอมรับต่อการจัดเวทีในครั้งนี้ โดยการรวมกันนั่งลงกับพื้นห้องประชุมและส่งเสียงโห่ร้องพร้อมการเป่านกหวีดอยู่ตลอดเวลา ในขณะเดียวกันบนเวทีประชุม ผู้ดำเนินรายการ เจ้าหน้าที่รัฐ บริษัทเหมืองแร่ ยังคงดำเนินการประชุมเวทีต่อไป แม้ผู้เข้าร่วมที่อยู่ด้านล่างแทบจะไม่ได้ยินเสียงใดๆเลยจากเวที นอกจากเสียงแสดงพลังของการไม่ยอมรับเวทีของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ

ด้าน นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้ให้ความคิดเห็นต่อกรณีการจัดเวทีเพิ่มเติมกับผู้สื่อข่าวว่า ประเด็นคือเวทีในวันนี้ จัดเพื่ออะไร มีความหมายหรือไม่ หรือเพียงแต่จัดไปตามพิธีกรรมเท่านั้น ต้องย้อนถามต่อผู้จัดงาน เสียงคัดค้านของชาวบ้านที่แสดงความคิดเรื่องกระบวนการไม่ชอบธรรม แม้แต่ผู้เข้าร่วมก็เกณฑ์กันมาจากที่อื่นๆ หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นที่ชาวบ้านกังวลไม่มีประโยชน์เลยหรือ จะจัดทำไม ถ้าเสียงคัดค้านมากว่า 15 ปี ไม่มีความหมาย หากว่ากระบวนการยังคงดำเนินต่อไป หน่วยงานรัฐเองก็ยังเป็นตัวหนุนผลักดันโครงการร่วมกับบริษัทตลอดเวลา รวมถึงเวทีวันนี้ ด้วย ที่หน่วยงานรัฐพยามเอื้อให้เกิดการจัดเวทีให้ได้

“วันนี้หน่วยงานรัฐ ทหาร ตำรวจ ผู้ว่าฯ ที่นำกำลังมากว่า 1,000 นาย อ้างว่าจะมาดูแลความสงบในบริเวณจัดประชุม แต่จริงๆแล้วเป็นการข่มขู่คุกคามประชาชน ใช้อำนาจโดยขาดความชอบธรรม อย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าสังคมไทยยังปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจแบบนี้ต่อไป ทำนายได้เลยว่า สังคมไทยจะอยู่ไม่สงบตามที่อยากให้เป็น เพราะมันคือความอยุติธรรมของสังคม ” นายสุวิทย์กล่าว

ภายหลังการประชุมด้านในไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ จนมีการปิดเวทีในเวลา 12.00 น. ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้ล้อมวงจับมือกัน และเผาเอกสารรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่แจกภายในงานจากบริษัทเหมืองแร่ เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ต่อการไม่ยอมรับการจัดเวทีในครั้งนี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท