Skip to main content
sharethis

(20 ต.ค. 53) ในโอกาสครบรอบ 17 ปี พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยและมูลนิธิฟรีดริคเอแบร์ท ร่วมจัดเสวนาเรื่องบทบาทพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยต่อสังคม...จะก้าวไปทางไหน? ที่โรงแรมอมารี เอเทรียม โดยตอนหนึ่งมีการพูดถึงดำริของรัฐบาลในช่วงปี 2548 ที่จะปรับบริเวณโรงงานรถไฟมักกะสันเป็นสถานีรถไฟเชื่อมกับสนามบินสุวรรณภูมิหรือแอร์พอร์ตลิ้งค์ และศูนย์การค้าขนาดใหญ่คือมักกะสันคอมเพล็กซ์ ซึ่งขณะนั้นยังไม่ชัดเจนว่าจะมีผลกระทบต่อพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวหรือไม่ ทางมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยได้ทำหนังสือถามไปยังรัฐสภาในขณะนั้น ซึ่งได้ข้อสรุปว่าให้คงพิพิธภัณฑ์ไว้ ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2549 เรื่องจึงเงียบไป ก่อนจะมีการเรียกประชุมอีกครั้งเมื่อปลายปีที่แล้ว โดยพบว่า ในผังมักกะสันคอมเพล็กซ์ไม่มีที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการประวัติศาสตร์แรงงาน แสดงความกังวลต่อประเด็นดังกล่าว และยืนยันว่าพิพิธภัณฑ์ควรตั้งอยู่ที่เดิม เพราะเป็นที่ที่มีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ โดยทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร จะมีการยึดสหภาพแรงงาน มีทหารเข้ามาค้นเอกสาร ปัจจุบันยังมีรอยขวานจามที่ประตูพิพิธภัณฑ์ในช่วง 14 ตุลาคม 2516 อยู่ รวมถึงอยากให้คงบ้านพักพนักงานการรถไฟฯ เอาไว้ด้วย เพราะถือเป็นสวัสดิการแรงงานแรกสุดของคนไทย ทั้งนี้ เขามองว่าน่าจะสามารถปรับพิพิธภัณฑ์ให้กลมกลืนกันกับสถานที่โดยรอบที่จะสร้างได้ และเชื่อว่าหากพิพิธภัณฑ์สามารถทำให้คนในสังคมเห็นว่าเป็นที่ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม พิพิธภัณฑ์ก็น่าจะอยู่ต่อไปได้

นายศักดินา กล่าวเสริมว่า ความคิดที่จะก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยนั้นมีมาตั้งแต่ปี 2534 โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ เพื่อยกสถานะทางสังคมของชนชั้นผู้ใช้แรงงานให้เป็นที่ยอมรับ เพราะผู้ใช้แรงงานมีคุณูปการต่อการพัฒนาประเทศ แต่ที่ผ่านมา สังคมกลับไม่พูดถึง ไม่มีประวัติศาสตร์ของผู้ใช้แรงงาน ทำให้คนงานเป็นเหมือนคนไม่มีหัวนอนปลายเท้า แม้แต่คนงานเองก็ไม่มีความภูมิใจในตัวเอง นอกจากนี้ ยังต้องการสร้างความเอกภาพของขบวนการแรงงาน ผ่านการทำงานร่วมกันขององค์กรแรงงานต่างๆ เนื่องจากในช่วงปี 2534 เมื่อเกิดรัฐประหารโดย รสช. มีความพยายามทำลายสหภาพแรงงานและลิดรอนสิทธิการรวมตัวของแรงงานรัฐวิสาหกิจ

อนึ่ง พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยก่อตั้งในปี 2536 ถือเป็นพิพิธภัณฑ์แรงงานแห่งแรกและแห่งเดียวในทวีปเอเชีย โดยได้รับการสนับสนุนในช่วงแรกจากมูลนิธิฟรีดริคเอแบร์ท ต่อมามีรายได้ผ่านการบริจาคของสหภาพแรงงานต่างๆ และการขายสินค้าระดมทุน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net