Skip to main content
sharethis
 
เมื่อวันที่ 8 ก.ย.53 ที่อิมพีเรียล ลาดพร้าว มีการจัดเสวนา “ทิศทางสื่อไทยจะไปทางไหนภายใต้อำนาจมืด” ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ The Nation ประเมินแนวโน้มทิศทางสื่อไทยในปัจจุบันว่าไม่สู้ดี น่าเป็นห่วง เอื้อให้เกิดการเซ็นเซอร์สื่อมากขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากข้อจำกัดทางการเมือง ข้อจำกัดที่สำคัญคือ ภาวะความวิตกกังวลหรืออาการวิตกจริตของชนชั้นนำบางกลุ่ม ซึ่งเกิดความกลัว เพราะรู้สึกถึงความไม่มั่นคงของตนนำไปสู่การกระทำที่เกินเลยผิดปกติ  ภาวะปัจจุบันสื่อกระแสหลักตกอยู่ในมือของกลุ่มอำนาจมืด ซึ่งอาจหมายถึงชนชั้นปกครองเก่า ทหาร หรือที่คนเสื้อแดงเรียกว่ากลุ่มอำมาตย์ เป็นภาวะที่ทหารมีอำนาจพิเศษ แตะต้องไม่ได้ วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ 
ประวิตรยกตัวอย่าง ว่า เช่น เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ศอฉ.ออกมาขู่ว่าจะปิดหนังสือพิมพ์หัวสี เพราะไปเสนอข่าวว่าทหารมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของการ์ด นปช.ที่เชียงใหม่ ทั้งยังขู่จะปิด Red Power แม้กรณีนี้สมาคมผู้สื่อข่าวแห่งประเทศไทยจะออกมาตอบโต้การกระทำของ ศอฉ. อย่างรวดเร็ว แต่ต้องตั้งข้อสังเกตว่า หากมีการขู่เฉพาะ Red Power สมาคมผู้สื่อข่าวฯ จะทำงานหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา แม้สมาคมจะออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของรัฐบาลและ ศอฉ. ถึงการคุกคามสื่อ แต่หลังจากนั้นมีการไล่ปิดสื่อและเว็บไซต์เสื้อแดงจำนวนมาก สมาคมผู้สื่อข่าวฯ ก็ไม่ได้ออกมาติดตามประเด็นเหล่านี้อย่างจริงจังเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม ประวิตรมองว่า ช่วงเวลานี้น่าจะเป็นโอกาสดีที่จะหันมาให้ความสนใจการเซ็นเซอร์ ตอนนี้สื่อสิ่งพิมพ์ของเสื้อแดงเริ่มกลับมาเปิดได้ 4 ฉบับ คือ Red Power (ในวันสัมมนายังไม่ถูกสั่งปิดแท่นพิมพ์-ประชาไท)  มหาประชาชน พีเพิลแชแนล และคนเสื้อแดง แต่ก็ยังไม่สามารถกลับไปเหมือนช่วงก่อน 19 พฤษภาคมได้ โดยประวิตรให้เหตุผลเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า ก่อนนี้เขาสามารถหาซื้อสื่อสิ่งพิมพ์เสื้อแดงได้ตามร้านหนังสือในสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่ปัจจุบันสื่อเหล่านี้หาซื้อยากมาก อย่างไรก็ตาม อยากให้มองย้อนกลับไปช่วงปลายรัฐบาลทักษิณ ซึ่งมีการปิดกั้นคุกคามสื่ออย่างมากเช่นกัน
สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด กล่าวว่า สื่อกระแสหลักคงปรับตัวไปมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว ขณะเดียวกันในช่วงนี้ก็มีการเติบโตของสื่อดาวเทียมอย่างน่าตกใจ และเป็นที่น่าสังเกตว่าคนซื้อดาวเทียมส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัดที่ซื้อจานดาวเทียมมาติดเพราะสัญญาณช่องสื่อกระแสหลักไม่ชัด เลยพลอยได้ดูช่องอื่นๆ ที่นอกจากฟรีทีวีด้วย กลายเป็นการสร้างพฤติกรรมการดูทีวีแบบใหม่ บางคนเลิกดูฟรีทีวีไปเลยเพราะมีทางเลือกอื่นๆ 
บก.ลายจุดมองว่า แม้ปัจจุบันจะมีการปิดกั้นสื่อหรือสื่อถูกจำกัด ก็ไม่สามารถกล่าวได้เสียทีเดียวว่า ไม่มีช่องทางในการสื่อสาร เพราะสื่ออย่างทีวีดาวเทียม อินเตอร์เน็ตเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีสื่อโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีโครงสร้างที่เป็นจุดแข็ง คือเข้าถึงผู้ใช้ได้มากกว่าสื่ออินเตอร์เน็ตและมีราคาถูก ดังนั้น บก.ลายจุดจึงเสนอให้ใช้สื่อโทรศัพท์มือถือ เช่น เอสเอ็มเอสมากขึ้น  
ประวิตรกล่าวว่า โดยส่วนตัวแม้จะทำงานอยู่ในสื่อกระแสหลัก แต่ก็ไม่กังวลหากสื่อกระแสหลักจะได้รับความนิยมน้อยลง เพราะสังคมไทยที่ผ่านมา ทุกสิ่งทุกอย่างมักไปกระจุกอยู่กับคนเพียงไม่กี่คน เช่นเดียวกับที่ทุกสิ่งทุกอย่างมากระจุกตัวอยู่ในเมืองเมืองเดียวอย่างกรุงเทพมหานาคร เขาคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่สื่อกระแสหลักจะมีอำนาจและอิทธิพลน้อยลง เพราะจะเป็นประโยชน์กับชาวบ้านหรือประชาชนมากกว่า เพราะโครงสร้างของสื่อกระแสหลักในปัจจุบันนั้นมีข้อจำกัด คือ1.โครงสร้างรวมศูนย์เป็นแนวดิ่ง และเป็นธุรกิจ ไม่มีความเป็นประชาธิปไต 2.โครงสร้างวัฒนธรรมแบบพี่น้อง ผู้อาวุโส ผู้น้อย ทำให้ไม่มีการวิวาทะในสื่อกระแสหลัก สภาพในองค์กรไม่เป็นประชาธิปไตย 3.ข้อจำกัด 2 ข้อแรก ทำให้เกิดการกลืนไม่เข้าคายไม่ออก สุดท้ายต้องเลือกที่จะเซ็นเซอร์สื่อ ดังนั้น สื่อกระแสหลักคงไม่สามารถเป็นที่ฝากผีฝากไข้ของประชาชนได้ ตรงกันข้าม สื่อกระแสหลักจะกลายเป็นคนเล่นบทอนุรักษนิยมเสียเองในช่วงการเมืองปลายรัชกาลเช่นนี้ ดังนั้นสื่อกระแสหลักจึงยังอยู่ในโลกของตัวเอง ไม่สนใจจะปรับปรุงตัวเอง
นอกจากสื่อกระแสหลักแล้ว ประวิตรยังได้วิจารณ์สื่อกระแสรองด้วย 1.แนวโน้มการท้าทายจากสื่อกระแสรองจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ และการครอบงำจะไม่สามารถทำได้แบบเบ็ดเสร็จอีกต่อไป มีความพยายามมุดลอดออกมาจากการครอบงำของชนชั้นปกครองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน 2.ปัญหาของสื่อทั้งแดงและเหลือง คือมีความมั่นใจในตัวเองมากเกินไป มั่นใจว่าถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่ท้าทายสื่อทั้งแดงและเหลืองคือการจัดการกับพื้นที่สีเทา คือกลุ่มคนที่ไม่ใช่แดงและไม่ใช่เหลือง
อรรถชัย อนันตเมฆ นักแสดงผู้ประกาศตัวเป็นคนเสื้อแดงกล่าวว่า สื่อกระแสหลัก โดยเฉพาะทีวีมีปัญหาเพราะระบบสัมปทาน เจ้าของสัมปทานกลายเป็นทหารและรัฐ ประชาชนไม่เคยมีส่วนแบ่งในพื้นที่นั้น อรรถชัยสรุปปัญหาของสื่อว่าตกอยู่ใต้พระเจ้า 3 องค์ คือ 1.พระเจ้าทางการเมือง  คือรัฐบาล ทหาร และผู้มีอำนาจในการแทรกแซงสื่อ 2.พระเจ้าทางการเงิน คือเอเจนซี่ และระบบเอเจนซี่นี้เองที่ทำให้เกิดระบบเรตติ้งเทียม การจัดระบบเรตติ้งไม่เคยมีประชาชนไปเกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาแม้มีความพยายามในการจัดระบบใหม่ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ 3.สมาคมผู้สื่อข่าวแห่งประเทศไทย แม้สมาคมผู้สื่อข่าวจะเกิดขึ้นเพราะความต้องการรวมตัวกันสู้กับพระเจ้าทางการเมือง แต่พระเจ้าองค์ที่ 3 นี้ ก็ไม่เคยมีประชาชนได้เข้าไปเกี่ยวข้อง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net