Skip to main content
sharethis
8 ส.ค.53 นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายศิริโชค โสมา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เปิดการเจรจาร่วมกับกลุ่มเครือข่ายภาคีคนไทยหัวใจรักชาติ ซึ่งมีนายวีระ สมความคิด แกนนำเครือข่ายภาคีคนไทยหัวใจรักชาติ, นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, นายเทพมนตรี ลิมปพยอม และ ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล อดีตทนายผู้ประสานงานคดีเขาพระวิหารฝ่ายไทย ระหว่าง พ.ศ.2503-2505 โดยได้มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ช่อง 11 เป็นเวลา 3 ชั่วโมงตั้งแต่ 10.00 น. - 13.00 น.
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการเจรจาตกลงกันเห็นว่ามีหลายเรื่องเห็นตรงกัน โดยบางเรื่องจะต้องนำไปดำเนินการต่อ ซึ่งที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่ภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหว มองว่ามีความความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยให้ปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม และยืนยันประเทศไทยไม่ยอมรับเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะปัญหาเรื่องเอ็มโอยู 43 ที่หลายฝ่ายเป็นห่วง ก็ได้ชี้แจงถึงเหตุผลที่ยอมรับ และเห็นว่าเอ็มโอยู 43 มีประโยชน์กับไทยเราเป็นอย่างมาก ในเรื่องที่สกัดกั้นไม่ให้กัมพูชายื่นแผนที่กับคณะกรรมการมรดกโลก และถ้าหากไทยมีความจำเป็นที่ต้องใช้กำลังในการผลักดัน ก็ถือว่าเป็นไปตามข้อตกลงในเอ็มโอยู ทั้งนี้ก่อนที่รัฐบาลจะนำเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะมีการเปิดเวทีภาคประชาชนให้ทุกคน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ว่าจะมีวิธีเดินหน้าแก้ปัญหาต่อไปอย่างไรในเมื่อทุกคนมีเจตนาที่ตรงกัน ส่วนการดำเนินการของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือเจบีซี ก็จะมีการเปิดเวทีระดมความคิดเห็น เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมเช่นกัน
ขณะที่เครือข่ายภาคีคนไทยหัวใจรักชาติ ได้แสดงความเป็นห่วง โดยได้มีการสอบถามเหตุผลที่นายสุวิทย์ ได้ลงนามรับร่างมติมรดกโลก 5 ข้อ ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 34 ที่ประเทศบราซิล ว่าจะทำให้ไทยเสียดินแดนให้กับทางกัมพูชาไป โดยนายสุวิทย์ได้เน้นย้ำว่า การลงนามดังกล้าวไม่ได้มีข้อผูกพันใดๆ กับประเทศกัมพูชา นอกจากนี้ยังมีความวิตกอีกว่า หากรัฐบาลชุดหน้าเดินทางเข้ามาบริหารประเทศ แล้วจะไม่ใช้แนวสันปันน้ำ แต่กลับไปยึดเขตแดนตามแผนที่ฝรั่งเศส ในการแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว ตรงนี้จะเป็นอันตรายเป็นในการเสียพื้นที่อธิปไตยไทยเป็นอย่างมาก
ด้านนายวีระ สมความคิด แกนนำเครือข่ายภาคีคนไทยหัวใจรักชาติ กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้ใช้หลักทางการทูตและการเจรจากับประเทศกัมพูชา เพื่อผลักดันให้ชาวกัมพูชาออกจากพื้นที่ที่มีปัญหา ที่ผ่านมาเห็นว่า วิธีการดังกล่าวไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด และที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยจะใช้วิธีทางการทหารเลย ทั้งนี้จึงอยากเสนอให้รัฐบาลหาวิธีที่จะผลักดันชาวกัมพูชาออกไปจากอธิปไตยของไทยให้ได้ พร้อมเรียกร้องให้นายกฯ ยกเลิกเอ็มโอยูฉบับดังกล่าว เพราะเห็นว่าเป็นจุดที่ทำให้ชาวกัมพูชารุกล้ำเข้ามาในดินแดนไทยเพิ่มขึ้นหลังจากที่เซ็นเอ็มโอยู 43 ไปแล้ว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวชี้แจงว่า ตนเห็นว่าเอ็มโอยู 43 ยังมีประโยชน์เป็นอย่างมากกับประเทศไทย และยืนยันว่าจะไม่ยกเลิกในขณะนี้ แต่ระบุว่าหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ก็มีโอกาสที่จะยกเลิกเอ็มโอยูดังกล่าว พร้อมย้ำว่าปัญหาเรื่องการรุกล้ำดินแดน จะมีการแก้ปัญหาด้วยวิธีการทูตและการทหารผสมผสานกัน ทั้งนี้อาจจะต้องใช้เวลาบ้าง แต่อย่างไรก็ตามยืนยันจะไม่มีการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา เพราะไม่ต้องการให้เกิดสงครามขึ้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายกฯ ยืนยันว่า เอ็มโอยู 43 ไม่ได้เป็นการยอมรับแผนที่ 1:200,000 ที่ทางกัมพูชาใช้อ้างในเวทีศาลโลก ขณะเดียวกันเอ็มโอยูฉบับดังกล่าว ก็ไม่สามารถใช้กำหนดเขตแดนได้เช่นกัน เพราะการกำหนดเขตแดนจะต้องผ่านการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังยืนยันว่าไทยเคยใช้คำว่าพื้นที่ซับซ้อน ในพื้นที่ 46 ตารางกิโลเมตร ที่ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างว่ามีสิทธิ์ในพื้นที่ดังกล่าว

ม็อบหน้ากองทัพภาค
1สลายทันที หลังการประชุมยุติ
นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำของเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ ประกาศสลายการชุมนุมที่หน้ากองทัพภาคที่1 เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมาเนื่องจากมีมวลชนสนับสนุนไม่เพียงพอ ประกอบกับถูกรัฐบาลเจาะยาง เนื่องจากมีการแยกชุมนุมออกเป็นสองกลุ่มคือที่หน้ากองทัพภาคที่1 กับอาคารกีฬาเวศน์ ไทย-ญี่ปุ่นดินแดง อย่างไรก็ตาม จะนัดหารือกับกลุ่มต่างๆ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ต่อไป
"การชุมนุมครั้งนี้ ถือเป็นการพักรบชั่วคราวเท่านั้น เมื่อมีความพร้อมจะมาพบกันใหม่ การดีเบตผ่านทีวีถือเป็นความสำเร็จเนื่องจากถือเป็นครั้งแรกที่ภาคประชาชนได้นำเสนอปัญหาต่างๆ อย่างบริสุทธิ์ไม่ใช่ทำเพื่อใคร" นายไชยวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้หลังการประกาศยุติชุมนุมของนายไชยวัฒน์ กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งรวมตัวกันที่หน้ากองทัพภาคที่1 ได้พากันเก็บข้าวของและสลายตัวไปทันที
 
นักวิชาการสับ กรณีพระวิหารแค่"เกม" แนะร่วมมือข้ามวัฒนธรรมดีกว่า
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเสวนาเรื่องมรดกโลกกับปัญหาเขตแดน โดยนางสาวมรกต เจวจินดา ไมยเออร์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กล่าวว่า การนำเรื่องเขาพระวิหารมาใช้ปลุกกระแสชาตินิยมในขณะนี้ เป็นการเล่นเกมการเมืองมากกว่า มัวแต่เถียงกันแทนที่จะหาทางแก้ปัญหา ซึ่งควรจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในเชิงมูลค่าเพิ่มมากกว่ามองว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตแดนของใคร

นางสาวมรกตกล่าวว่า เรื่องนี้ควรมองไปข้างหน้า เพื่อผลักดันให้เป็นมรดกข้ามเขตแดน และสร้างประโยชน์จากที่มีอยู่ แต่สิ่งสำคัญคือ ไทยต้องจริงใจต่อเพื่อนบ้าน ต้องยอมรับว่าไม่ได้โดดเดี่ยว ขณะนี้ไทยกำลังปฏิเสธกระแสของอาเซียน เรื่องดังกล่าวกำลังสะท้อนว่าประเทศไทยต้องการอยู่คนเดียวใช่หรือไม่ ในกรณีของเยอรมนีและโปแลนด์ที่มีพื้นที่ทับซ้อนเหมือนเขาพระวิหาร แต่สามารถสร้างประโยชน์จากพื้นที่นั้นได้ โดยการพัฒนาเป็นแหล่งมรดกโลกที่สำคัญ โดยไม่อิงเรื่องเขตแดน เนื่องจากมีสหภาพยุโรปที่ทำให้เกิดความเป็นปึกแผ่น ขณะที่ไทยเองกำลังผลักดันความเป็นอาเซียน แต่กลับปฏิเสธเสียเอง

นางสาวมรกตกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ ไทยควรจะร่วมมือกับกัมพูชาในการรักษามรดกโลก ต้องถามตัวเองว่าจะไปขัดแย้งเพื่ออะไร เราจะผลักดันให้นำไปสู่ความร่วมมือข้ามวัฒนธรรมได้หรือไม่

"รัฐบาลคงจะยื้อต่อไป เพื่อประโยชน์หลายอย่าง ซึ่งประเมินว่าไทยยังไม่มีความแข็งแกร่งทางกองทัพเพียงพอที่จะสู้รบกับใคร คงจะอยู่กันไปอย่างนี้ โอกาสที่จะหาทางออกมีน้อยมาก แต่โอกาสที่จะสร้างประโยชน์จากจุดนี้มีมากกว่า ซึ่งไทยยังผลักดันแหล่งท่องเที่ยวของไทยเองเป็นมรดกโลกน้อยกว่ากัมพูชา เมื่อเทียบกับรายชื่อสถานที่ท่องเที่ยวที่กัมพูชาขอยื่นเป็นมรดกโลกไปแล้วหลายแห่ง" นางสาวมรกตกล่าว

นายอัครพงษ์ ค้ำคูณ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า การหารือระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มรักชาตินั้น เป็นเหมือนตาบอดคลำช้าง ไม่มีใครได้อะไร หาประโยชน์อะไรไม่เจอ อยากให้ทุกฝ่ายมองไปข้างหน้า ตีความเรื่องที่เกิดขึ้นให้ถ่องแท้ ส่วนเรื่องบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) กับกัมพูชาเมื่อปี 2543 ที่มีข้อถกเถียงว่าจะรับหรือไม่รับนั้น ต้องพิจารณาว่า หากไม่รับแล้วจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบอย่างไร

นายอัครพงษ์กล่าวว่า เอ็มโอยูดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ในเขตแดนของไทยหลายส่วน หากยกเลิกเอ็มโอยู อาจได้รับผลกระทบหลายด้าน เช่น พื้นที่ในเขตหมู่บ้านร่มเกล้า ที่ประเทศลาวอาจยื่นขอให้ตีความเพื่อดึงกลับไปเป็นเขตแดนของลาวด้วย โดยสิ่งที่ไทยกำลังทำอยู่ ต้องดูว่ากำลังแลกกับอะไร แลกกับการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจหรือแลกกับการเสียศักดิ์ศรีที่ไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร

"ขอประณามว่า สิ่งที่กลุ่มเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติกำลังทำอยู่ เหมือนกำลังทำลายชาติ ซึ่งผมเองก็รักชาติเหมือนกัน การเรียกร้องในระยะแรกเป็นสิ่งดีที่ทำให้ต่างประเทศตระหนักว่าไทยไม่ยอมรับในคำตัดสิน แต่ระยะหลังเหมือนเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย ทางที่ดีควรหาทางขึ้นทะเบียนเขาใหญ่ก่อน เพราะตอนนี้ยังไม่มีการส่งแผนจัดการกรณีเขาใหญ่ รวมถึงเขาพนมรุ้ง หรือปราสาทหินพิมายเลย ขณะที่กัมพูชาส่งรายชื่อขึ้นทะเบียนไปแล้วหลายแห่ง" นายอัครพงษ์กล่าว

นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีต ส.ว.ตากกล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลจะทำได้คือ ใช้ช่องทางของเอ็มโอยูปี 2543 เป็นเครื่องมือ ต้องปักหลักเขตแดนให้เสร็จสิ้นก่อน แต่ไทยคงหนีไม่พ้นการปะทะกับกัมพูชาบ้าง ซึ่งทางออกมีสองทางคือ ถ้าไม่รบกันไปเลย ก็ต้องยื่นให้ศาลโลกตัดสินอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวเป็นของไทย คงต้องหาทางทำให้เขาพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นของไทยได้หรือไม่ โดยแยกส่วนที่เป็นของไทยและกัมพูชาชัดเจน
 
 
"ฮุนเซน"เดือดไทยส่งหนังสือฟ้องยูเอ็นเรื่องปราสาทพระวิหาร โวยไทยละเมิดกฎบัตรยูเอ็น
นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ได้ส่งหนังสือถึงนายอาลี อับดุสซาลัม ประธานสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ และนายวิทาลี เชอร์กิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติคนละฉบับ เพื่อชี้แจงท่าทีของกัมพูชาต่อประเด็นปราสาทพระวิหาร
ฮุนเซนระบุว่า ประเทศไทยละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา 2.3 และ 2.4 อย่างชัดเจน ด้วยการขู่ที่จะใช้กำลังทหารกับกัมพูชาเพื่อยุติปัญหาชายแดน
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ถ้อยแถลงของนายกฯกัมพูชามีขึ้น หลังจากที่มีรายงานว่า นายกรัฐมนตรีของไทยขู่ยกเลิกเอ็มโอยู 2543 ระหว่างสองประเทศ และอาจใช้วิธีทางการทหารเพื่อแก้ปัญหาชายแดนกับกัมพูชา
อย่างไรก็ดี ในระหว่างการจัดรายการพิเศษเรื่องปราสาทพระวิหาร เมื่อช่วงสายถึงบ่ายวันนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไทยจะไม่ยกเลิกเอ็มโอยู 2543 เหตุยังเป็นประโยชน์ต่อไทย
ก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อกังวลที่ว่า บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกปี 2543 หรือเอ็มโอยู 2543 ไปยอมรับแผนที่ของกัมพูชาและจะทำให้ไทยเสียดินแดนนั้น นายอภิสิทธิ์ยืนยันว่า เอ็มโอยูปี 2543 ไม่ได้ไปยอมรับแผนที่ดังกล่าว แต่ทำขึ้นมาเพื่อต้องการให้สำรวจและจัดทำหลักเขตแดน โดยระหว่างนั้นยังห้ามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าไปครอบครองหรือทำอะไรในพื้นที่พิพาทเพิ่มเติม และเมื่อจัดทำหลักเขตแดนแล้ว ยังต้องมาดูอีกทีว่า เราจะยอมรับเขตแดนดังกล่าวหรือไม่ เพราะต้องรายงานต่อรัฐสภาด้วย
นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า เอ็มโอยู 2543 มีข้อดีตรงที่ห้ามฝ่ายไหนรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่พิพาท หากใครเข้าไปก็สามารถประท้วงได้ นอกจากนี้ เอ็มโอยูปี 2543 ยังสามารถระงับไม่ให้กัมพูชาส่งแผนที่ต่อคณะกรรมการมรดกโลกได้ เพราะยังปักปันเขตแดนไม่แล้วเสร็จ ซึ่งเรื่องนี้ทางฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการมรดกโลกก็ยอมรับว่า กัมพูชายังไม่สามารถส่งแผนที่ได้
"ผมไม่ยกเลิก เพราะมีประโยชน์ แต่ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนที่บอกว่าจะถอนตัวจากภาคีมรดกโลก ไม่ต้องห่วงรัฐบาลจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์" นายอภิสิทธิ์ กล่าวระหว่างเจรจากับเครือข่ายภาคีฯ ผ่านช่อง 11

 
พรรคการเมืองใหม่หนุนทุกกลุ่มร่วมทวงพระวิหาร
นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ แถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีข้อพิพาทปราสาทพระวิหาร ว่า พรรคการเมืองใหม่ขอสนับสนุนการเคลื่อนไหวของเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนทุกกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาข้อพิพาทกรณีปราสาทพระวิหาร โดยเฉพาะการยกเลิกบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น หรือ MOU 2543
นายสุริยะใส ยังเรียกร้องให้พรรคการเมืองต่างๆ สนับสนุนการเคลื่อนไหวของเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อยกระดับข้อพิพาทดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ และไม่ควรมองการเคลื่อนไหวของประชาชนว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลังโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยควรสำนึกบาปที่สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มีการจัดทำ TOR 2546 ที่ใช้แผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน เป็นเอกสารที่ใช้ในการกำหนดเขตแดนทางบกระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกัมพูชาเป็นอย่างมาก
 
ค้านม็อบชุมนุมปมพระวิหาร
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน จำนวน 1,059 คน เมื่อ7-8ส.ค.ที่ผ่านมา ถึงการชุมนุมของเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ กรณี ปราสาทเขาพระวิหาร และขอให้ชี้แจงประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการทำบันทึกความร่วมมือMOU 2000 หรือ เอ็มโอยูปี43 ดังนี้
          1. ประชาชนคิดอย่างไร? ที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมออกมาเรียกร้อง คัดค้าน กรณี เขาพระวิหาร
          อันดับ 1กลัวว่าจะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งที่บานปลายมากขึ้น41.09%
          อันดับ 2เป็นการแสดงออกซึ่งความห่วงใย เกรงว่าจะต้องเสียดินแดนไป23.60%
          อันดับ 3ยังไม่ควรออกมาตอนนี้ เพราะยังมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ / ถือเป็นการกระทำที่ผิด กฎหมาย15.72%
          อันดับ 4ทำให้รัฐบาลต้องเผชิญกับปัญหาทั้งภายในและภายนอก /ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการแก้ปัญหา11.31%
         อันดับ 5ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ความเชื่อมั่นของประเทศ 8.28%
          2. ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่? ที่กลุ่มผู้ชุมนุมออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้
          อันดับ 1ไม่เห็นด้วย46.77% เพราะ กลัวว่าจะก่อให้เกิดความขัดแย้งในหมู่คนไทยด้วยกันเอง ,ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ , ทำให้รัฐบาลต้องหันมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจนไม่มีเวลาแก้ปัญหาเรื่องอื่น ๆ ที่สำคัญ ฯลฯ
          อันดับ 2เห็นด้วย27.42% เพราะ เป็นการแสดงออกของคนไทยที่มีความรักและหวงแหนประเทศไทย ,ต้องการให้รัฐบาลรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ยิ่งขึ้น ฯลฯ
          อันดับ 3ไม่แน่ใจ25.81% เพราะ ขึ้นอยู่กับผู้นำการชุมนุมในครั้งนี้ว่าจะควบคุมดูแลได้ดีมากน้อยเพียงใด , รัฐบาลจะมีวิธีดำเนินการกับกลุ่ม ผู้ชุมนุมอย่างไร? ,กลัวว่าจะมีเรื่องการเมืองมาแอบแฝง ฯลฯ
          3. การออกมาชุมนุมครั้งนี้ ก่อให้เกิดผลดี - ผลเสียมากกว่ากัน
          อันดับ 1ผลเสียมากกว่า37.10% เพราะทำให้สถานการณ์ในตอนนี้กลับมาตึงเครียดอีกครั้ง ,ประชาชนวิตกกังวลมากขึ้น กลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นอีก ฯลฯ
          อันดับ 2พอๆกัน24.19% เพราะ ประเด็นที่นำมาสู่การชุมนุมในตอนนี้เป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นประโยชน์ของประเทศชาติ /ไม่รู้ว่าจะเกิดผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน ฯลฯ
          อันดับ 3ไม่แน่ใจ20.97% เพราะ ยังไม่รู้ว่าผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร ,ไม่รู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ฯลฯ
          อันดับ 4ผลดีมากกว่า17.74% เพราะ จากการออกมาชุมนุมครั้งนี้อาจส่งผลให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้หันมาทบทวนอีกครั้ง ฯลฯ
          4. รัฐบาลควรดำเนินการอย่างไร? กับกลุ่มผู้ชุมนุม
          อันดับ 1ใช้การเจรจา ขอความร่วมมือกับผู้ชุมนุม /ชี้แจงข้อสงสัยต่างๆให้รับทราบ64.16%
          อันดับ 2ปฏิบัติตามกฎหมายกับกลุ่มผู้ชุมนุม เมื่อมีการทำผิด เพื่อป้องกันการกล่าวหาว่าปฏิบัติ 2 มาตรฐาน18.31%
          อันดับ 3ส่งกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจลงไปยังพื้นที่ที่มีการชุมนุมเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย17.53%
          5. ในฐานะคนไทย กรณี เขาพระวิหารควรทำอย่างไร?
          อันดับ 1เป็นกำลังใจให้กับรัฐบาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องให้ดำเนินการสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี30.24%
          อันดับ 2ไม่อยากให้เรื่องนี้ก่อให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติและสร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศให้มากขึ้น22.27%
          อันดับ 3รัฐบาลต้องมีการเตรียมพร้อมทั้งด้านหลักฐาน ข้อมูลและทีมงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ กฎหมาย ฯลฯ21.53%
          อันดับ 4อยากให้เรื่องนี้ยุติลงโดยเร็ว มีผลต่อความเป็นอยู่และการค้าขายของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น /รัฐบาลต้องอดทน ใช้วิธีการเจรจาในการแก้ปัญหา15.04%
          อันดับ 5อยู่เฉยๆ / จะคอยติดตามข่าวสารต่อไป10.92%
 
พท.สับรัฐ2มาตรฐาน เล่นละครลิง
ที่พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงถึงกรณีเขาพระวิหารว่า จากการชุมนุมพันธมิตรฯและเครือข่ายคนไทยรักชาติ แม้เป็นช่วงรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ก็ยังมีเครือข่ายคนไทยรักชาติ นำโดยนายวีระ ที่ไปละเมิด แต่ก็ไม่มีการจับกุมใดๆ สะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานของ นายอภิสิทธิ์ว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินบังคับใช้ได้เฉพาะฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล แต่กับพวกเดียวกัน ม็อบมีเส้นนั้น ไม่เป็นอะไร ประเด็นนี้สะท้อนถึงการขาดวุฒิภาวะ เลือกปฏิบัติ 2 มาตรฐาน
เมื่อเป็นแบบนี้ก็ขอเรียกร้องให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 10 จังหวัด เพราะถ้ามีไว้ต่อไปลักษณะอย่างนี้เป็นการทำลายกฎหมาย ทำลายระบบนิติรัฐ นิติธรรม เลือกปฏิบัติ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะขาดความศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนไม่เชื่อไม่เคารพ ถ้ายังเลือกข้างเลือกฝ่าย ถ้าเป็นพวกรัฐบาลไม่เป็นอะไร แต่ถ้าเป็นฝ่ายตรงข้ามจัดการหมด ถามว่าเมื่อเลือกอย่างนี้ความปรองดองจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวที่กิดขึ้นในประเด็นเขาพระวิหารถือเป็นการเล่นละครทางการเมือง ตบตาประชาชนระหว่างรัฐบาลนายอภิสิทธิ์กับแกนนำพันธมิตรฯ ซึ่งตามหมายเรียก 79 รายชื่อ ที่หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีก่อการร้ายสากล กรณียึดสนามบิน ปรากฏตัวละครทั้งหมด การดีเบตกันเรื่องเขาพระวิหารถือเป็นการจุดกระแสคลั่งชาติ เพื่อผลประโยชน์การเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้งส.ก. ส.ข.หรือไม่ เพราะไม่มีประเทศไหน ที่มีข้อพิพาทแล้วเอาข้อเท็จจริงไปดีเบตปรากฏเป็นข่าวไปทั่วประเทศ ทั่วโลก วันนี้เขาคงนั่งขำกลิ้งกับการขาดวุฒิภาวะความเป็นผู้นำของนายอภิสิทธิ์ เรื่องความสัมพันธ์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน
หากนายอภิสิทธิ์ พันธมิตรฯจริงใจ ควรนำข้อเสนอทำเป็นวาระแห่งชาติของเรา ระดมความคิดทุกฝ่าย หน่วยงานรัฐ ทหาร ต่างประเทศ พันธมิตรฯ นปช. มาปิดห้องหารือกันเงียบๆ แล้วจึงค่อยแถลงข่าว ไม่ใช่มาดีเบตเป็นตลกร้ายทางการเมือง ยิ่งพูดไปความขัดแย้งก็ยิ่งเพิ่มขึ้น อาจลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามได้ นายอภิสิทธิ์ตอนเป็นฝ่ายค้านพูดอย่าง พอเป็นรัฐบาลพูดอีกอย่าง ขาดความรู้ความเข้าใจ บิดเบือนข้อเท็จจริง เอาแต่ซื้อเวลาอยู่บนอำนาจ เรื่องนี้จะมีวาระการประชุมในอีก 1 ปีข้างหน้า สุดท้ายรัฐบาลนี้ก็จะโยนให้รัฐบาลใหม่แก้ปัญหา
นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า สำหรับบทบาทการทำหน้าที่ของนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ถือว่า ล้มเหลวมากที่สุด ไร้ผลงาน ขาดวิสัยทัศน์ ขาดการยอมรับจากสังคมโลก ทำหน้าที่อย่างเดียวคือล่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อย่างอื่นทำไม่เป็น การเจรจาเรื่องเขาพระวิหารต้องให้นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปแทน พอจะมีการเจรจาทวิภาคีกับกัมพูชาก็จะให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ไปแทน ส่วนทางด้านปัญหาการปิดด่านกับพม่าก็ต้องให้นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ ไปพูดคุยแทน ถามว่านายกษิตกำลังทำอะไรอยู่ นายอภิสิทธิ์ ตั้งโจทย์ผิดมาตั้งแต่ต้น ไปเอาผู้ก่อการร้าย วลีเด็ด อาหารดี ดนตรีไพเราะมานั่งเก้าอี้รมว.ต่างประเทศ หากจะปรับผู้ช่วย รมต.ต่างประเทศคนใหม่ ก็ควรหารัฐมนตรีคนใหม่ด้วย เพราะมีแต่นโยบายเพิ่มศัตรู ควรปรับเป็นแสวงหามิตร ลดศัตรู ยังมีหลายคนในพรรคประชาธิปัตย์ที่มีความเหมาะสมเป็นรมว.ต่างประเทศ ที่จะเป็นตัวหลักในการเจรจาแก้ปัญหาระหว่างประเทศ
 
 
 
ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐ, มติชน, สยามรัฐ, โพสต์ทูเดย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net