Skip to main content
sharethis

เครือข่ายคุ้มครองประชาชนด้านสาธารณสุข เตรียมเข้าพบนายกฯ เสนอตั้งเวทีสมัชชาผู้ปฏิบัติงานในระบบสาธารณสุขเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข/ภาคประชาชนปฏิญาณตนทำเพื่อส่วนรวม ด้านผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนพบไม่เห็นด้วยหมอค้านพ.ร.บ.

8 ส.ค.53 8 ส.ค.53 นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ หัวหน้าหน่วยประสานงานสื่อมวลชน เครือข่ายคุ้มครองประชาชนด้านสาธารณสุข (คปส.) กล่าวว่า คปส.ได้นัดหารือร่วมกับแพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีมติเห็นควรว่า ก่อนที่รัฐบาลจะตัดสินใจดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ควรพิจารณาอย่างรอบด้านในทุกภาคส่วน
"ขอเสนอทางออกให้รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยการจัดเวที สมัชชาผู้ปฏิบัติงานในระบบสาธารณสุขไทยทุกสาขาทุกสังกัด โดยมุ่งเน้นประเด็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายฯ เป็นหลัก ซึ่งรัฐบาลจะมอบให้หน่วยงานใดหรือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นเจ้าภาพในการจัดก็ได้"นพ.ฐาปนวงศ์กล่าว
ทั้งนี้อยู่ระหว่างประสานงานกับทางสำนักนายกรัฐมนตรี ในการขอเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ เพื่อยื่นข้อเสนอดังกล่าว โดยหากเป็นไปได้อาจเข้าพบในอีก 1-2 วันนี้ เพื่อให้จัดการปัญหาอย่างรวดเร็ว โดยข้อเสนอของทาง คปส.จะแตกต่างจากทาง สธ. เนื่องจากสธ. ออกมาระบุว่าจะเพิ่มสัดส่วนกรรมการ โดยดึงแพทย์จากสังกัดต่างๆเข้ามาร่วม แต่ คปส.มองว่า ควรดำเนินการในระดับวงกว้างทั้งประเทศ
นพ.ฐาปนวงศ์กล่าวอีกว่า สำหรับการล่ารายชื่อบุคลากรสาธารณสุข 10,000 ชื่อเพื่อถอดถอน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานองค์การเภสัชกรรม (อภ.) นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธาณสุข (สวรส.)นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการรวบรวมข้อมูลที่มีการพูดถึง คปส.เกี่ยวกับข้อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวในทางลบ และเมื่อทุกอย่างครบถ้วนจะเสนอต่อรัฐบาล และจะดำเนินการควบคู่กับข้อเสนอตั้งสมัชชา
 
โพลชี้ ปชช.ไม่เห็นด้วยหมอ-บุคคลากรแพทย์ค้านพรบ.คุ้มครองผู้เสียหาย
รศ. ทัศนีย์ ประธาน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจ"หาดใหญ่โพล " ซึ่งจัดทำโดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดสงขลา เกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายจากการบริการสาธารณสุข โดยเก็บรวบรวมข้อมูลประชาชน จำนวน
1,198 ตัวอย่าง และใช้แบบสำรวจเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 5-6 สิงหาคม 2553 สรุปผลการสำรวจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 82.5 เห็นด้วยให้มี พ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายจากการบริการสาธารณสุข   มีเพียงร้อยละ 17.5 ที่ไม่เห็นด้วยให้มี พ.ร.บ. คุ้มครองความเสียหายจากการบริการสาธารณสุข นอกจากนี้ประชาชนร้อยละ 61.4 เห็นว่าหากมีการใช้พ.ร.บ. คุ้มครองความเสียหายจากการบริการสาธารณสุข ประชาชนจะเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุด รองลงมา คือ ผู้เสียหายและเครือญาติ และบุคลากรทางการแพทย์ คิดเป็น  ร้อยละ 32.4 และ 6.1 ตามลำดับ
ส่วนความคิดเห็นต่อความขัดแย้งของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ หากมีการใช้พ.ร.บ. คุ้มครองความเสียหายจากการบริการสาธารณสุข พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 79.4  เห็นว่าจะเกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ โดยที่ประชาชนร้อยละ 51.6 เห็นว่าจะเกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ระดับมาก และร้อยละ 27.8 เกิดความขัดแย้งระดับน้อย มีเพียงร้อยละ 20.6 เห็นว่าจะไม่เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์
 
ประชาชนร้อยละ 51.6 ไม่เห็นด้วยที่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ เรียกร้องไม่ให้มีการฟ้องคดีอาญาอันเนื่องจากการประกอบวิชาชีพ และร้อยละ 48.4 เห็นด้วยไม่ให้มีการฟ้องคดีอาญากับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนี้ประชาชนร้อยละ 64.4 ไม่เชื่อว่าจะเกิดสถานการณ์ผู้ป่วยหนักมาเข้ารับการรักษาเพื่อขอรับเงินชดเชย มีเพียงร้อยละ 35.6 ที่คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นหากมีการใช้ พรบ.ฉบับนี้
 
ส่วนแนวโน้มหากมีการใช้ พรบ. คุ้มครองความเสียหายจากการบริการสาธารณสุข พบว่า ประชาชน คิดว่าคุณภาพในการรักษาผู้ป่วย มีแนวโน้มจะดีขึ้น มากที่สุด รองลงมา ผู้ป่วยได้รับการคุ้มครองและชดเชย  รวดรวดขึ้น และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ มีแนวโน้มจะดีขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ประชาชนคิดว่าการฟ้องร้องบุคลากรทางการแพทย์ มีแนวโน้มลดลงแต่ไม่เด่นชัดมากนัก ในส่วนของค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน พบว่า ประชาชนมีความวิตกกังวล คาดว่ามีแนวโน้มค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้น
 

ภาคประชาสังคมปฏิญาณตน ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม
ก่อนหน้านี้ วันที่ 7 ส.ค.เวลาประมาณ 9.00 น. ตัวแทนภาคประชาสังคมในคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข พร้อมกันไปสักการะพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งทรงเป็นสมเด็จพระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทย พร้อมประกาศเจตนารมณ์การผลักดันกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข ก่อนการร่วมประชุมคณะกรรมการฯ
    

คำประกาศเจตนารมณ์
การผลักดันกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข
 
พวกเราในนามของกลุ่มองค์กรผู้บริโภค องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ที่ได้ร่วมมือกันในการเข้าชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อ เสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... ขอประกาศเจตนารมณ์ ต่อพระราชบิดา ดังนี้
โดยที่ปัจจุบันพบว่า การให้การช่วยเหลือเบื้องต้นกับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ไม่สามารถทำให้ผู้เสียหายสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขธรรมดา และยังจำกัดเฉพาะผู้ใช้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง)เท่านั้น ไม่รวมถึงระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสังคม และ ประชาชนผู้รับภาระค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลด้วยตัวเอง ทำให้ผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขไม่มีทางเลือกในการดำเนินการที่จะได้รับการชดเชยความเสียหาย นอกจากต้องอาศัยกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นภาระในการดำเนินการและมีอุปสรรคมากมาย ที่สำคัญส่งผลทางลบต่อความสัมพันธ์ของผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขกับผู้ป่วย
ดังนั้นการมีกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ที่ครอบคลุมทุกคนโดยมีเป้าหมายเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด ลดคดีความในการฟ้องร้องและลดความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับคนไข้ สนับสนุนการพัฒนาความปลอดภัยของผู้ป่วยและยกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาล รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนชดเชยความเสียหายจากบริการสาธารณสุขจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
        พวกเรา ขอปฏิญาณต่อหน้าพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทยว่า การทำหน้าที่ของพวกเรา กลุ่มองค์กรผู้บริโภค องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ที่ได้ร่วมมือกันในการเข้าชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อ เสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... จะเป็นไปเพื่อหลักการสำคัญ 3 ประการของของกฎหมายที่ทุกฝ่ายเห็นร่วมกัน เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา คือ

1.    มีการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและและมีความเสียหาย
2.   มีระบบพัฒนาป้องกันความเสียหาย
3.   ผู้ให้บริการทำงานอย่างมีความสุข ไม่ต้องกังวลเรื่องการฟ้องร้อง

ไม่มีการทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนอย่างเด็ดขาด
และในโอกาสที่พวกเราได้มาประชุมร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพที่ยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่บ้าง ขอให้การประชุมที่จะมีขึ้นเป็นการถกแถลงด้วยเหตุด้วยผลและร่วมมือร่วมใจกันพัฒนากฎหมายฉบับนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนสมดั่งคำสอนของพระราชบิดาที่ว่า
"อาชีพแพทย์นั้นมีเกียรติ แพทย์ที่ดีจะไม่ร่ำรวย แต่ไม่อดตาย ถ้าใครอยากร่ำรวยก็ควรประกอบอาชีพอื่น ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตน เป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมแห่งอาชีพ ไว้ให้บริสุทธิ์"
ประกาศ ณ วันที่ 7 สิงหาคม 2553 ณ กระทรวงสาธารณสุข
 
“ร่วมพิทักษ์คุณธรรมความเป็นแพทย์
ร่วมระแวด ระวังภัยได้รักษา
ร่วมให้คนป่วยไข้ได้พึ่งพา
ร่วมสนองพระเจตนาการุณยธรรม       

โดย อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
 
 
 
ที่มาบางส่วน: www.posttoday.com, www.matichon.co.th
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net