Skip to main content
sharethis

2 ผู้เฒ่าทะเลสาบสงขลา ฉายภาพผลกระทบท่าเรือน้ำลึกสงขลา ในเวทีสาธารณะที่บ้านสวนกง ที่ตั้งโครงการท่อเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ชี้ชาวบ้านได้งานทำแน่ แต่ไม่ทุกคน ส่วนอาชีพประมงรอวันสูญพันธ์

ความเคลื่อนไหวในเรื่องการโครงการพัฒนาที่มาเป็นแพ็กอย่างแลนด์บริดจ์สงขลา – สตูล เป็นไปอย่างสำคัญในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งจากฝ่ายรัฐในฐานะเจ้าของโครงการกับชาวบ้านฝ่ายต่อต้าน ทั้งในฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งจะเป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกสงขลา และทางฝั่งอ่าวไทย ที่จะเป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2

โดยฝ่ายรัฐเริ่มรุกคืบไปถึงความพยายามในการยกเลิกเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราและอุทยานแห่งชาติตะรุเตาบางส่วน เพื่อเปิดทางให้กับการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา เริ่มมีการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อการเวนคืน ในส่วนของสำนักนโยบายและการขนส่งและจราจร หรือ สนข.ดำเนินการศึกษาแนวทางวางรางรถไฟเชื่อม 2 ท่าเรือดังกล่าวอย่างเข้มข้น

ขณะที่ข้อมูลโครงการต่างๆ ที่ประกอบเข้ากันจนกลายเป็นแลนด์บริดจ์ หรือ สะพานเศรษฐกิจทั้งระบบ ได้ถูกตีแผ่ออกมาให้เห็นกันแล้ว ทั้งแนวท่อน้ำมัน ที่ตั้งคลังน้ำมัน และพื้นที่รองรับเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม 150,000 ไร่

ส่วนความเคลื่อนไหวของชาวบ้านในฝ่ายคัดค้านโครงการ ก็เป็นไปอย่างเข้มขึ้นเช่นกัน เช่น มีการจัดเวทีให้ความรู้ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น การร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อแสดงถึงการคัดค้าน เป็นต้น

หนึ่งในการเคลื่อนไหวดังกล่าว คือ การจัดเวทีสาธารณะสิทธิชุมชนกับการมีส่วนร่วมพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลสงขลา ที่จัดโดยกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร และกลุ่มมหาลัยชาวบ้านลานหอยเสียบ ที่บ้านสวนกง หมู่ที่ 11 ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่จะเป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา

แม้ชาวบ้านยังไม่อาจคาดเดาได้ว่า ผลกระทบจากท่าเรือน้ำลึกจะเป็นอย่างไร เพราะโครงการยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นไฮไลท์ของงาน จึงอยู่ที่ การนำเสนอบทเรียนและผลกระทบจากท่าเรือน้ำลึกที่มีอยู่แล้ว อย่างท่าเรือน้ำลึกสงขลา ที่ตั้งอยู่ห่างจากบ้านสวนกงไม่ถึง 30 กิโลเมตร

โดยผู้ที่มาถอดบทเรียนครั้งนี้คือ นายล้วน โรสิกะ ชาวบ้านตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา และนายหมัด หมัดอารีย์ ชาวบ้านตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งเชื่อว่าตัวเองได้รับผลกระทบจากท่าเรือน้ำลึกสงขลา ที่ตั้งขวางปากน้ำทะเลสาบสงขลา ในพื้นทีหมู่ที่ 7 ตำบลหัวเขาแดง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ดังนี้


ล้วน โรสิกะ
 “ทะเลอย่าไปหยอก รบกวนเมื่อไรจะไม่ได้รับความปราณี”

“เมื่อเห็นสภาพชายทะเลสวนกงขณะนี้แล้ว แทบจะตอบพี่น้องได้เลยว่า อนาคตหลังจากสร้างท่าเรือแล้วจะเกิดปัญหาอะไรบ้าง

แต่ที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกสงขลาปัจจุบัน มีสภาพแกต่างจากนี้บ้านสวนกง เพราะที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกสงขลาปัจจุบัน อยู่บริเวณปากน้ำทะเลสาบ เมื่อก่อนมีชายหาดอยู่กลางทะเลมากมาย แต่ปัจจุบันหาดูไม่ได้แล้ว สมัยนั้นเราไม่เคยนึกเลยว่า สิ่งเหล่านี้จะหายไป

เราเคยคิดว่า เมื่อมีท่าเรือน้ำลึกแล้ว จะมีการสร้างงาน มีการสร้างความเจริญ มีการสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นเพิ่มขึ้น มันก็น่าจะสบายขึ้น ประกอบกับสมัยนั้น ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ เพียงแต่เจ้าของโครงการหรือทางราชการไปขอความเห็นชอบต่อสภาตำบลเท่านั้น

สมัยนั้นผมเป็นเลขานุการสภาตำบล ต่างคนต่างก็ไม่เคยรู้ว่าท่าเรือน้ำลึกเขาจะทำกันอย่างไร แต่ตัวเองเห็นว่า ถ้าทำให้เกิดความเจริญกับท้องถิ่น ทำให้มีรายได้เพิ่ม มีการสร้างงานเพิ่ม ก็น่าจะให้ความเห็นชอบ

จนกระทั่งประมาณปี 2528 โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลาก็เริ่มสร้างขึ้น บริเวณปากน้ำทะเลสาบสงขลา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา จนกระทั่งปี 2532 จึงก่อสร้างเสร็จ

ตอนนั้นยังไม่มีปัญหาอะไรมาก แต่รู้ว่าชาวประมงขนาดเล็กที่หากินอยู่แถวปากน้ำทะเลสาบสงขลา เจอกับกระแสน้ำที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่สามารถวางอวน วางกัดได้

เมื่อกระแสน้ำเปลี่ยน ปลาที่เคยเข้ามาในพื้นที่ชายฝั่ง ก็ไม่เข้ามาอีกแล้ว แต่ไปอยู่ตามนอกชายฝั่ง เราก็ไปหากินตามนอกชายฝั่งอยู่ได้ไม่กี่ปี ด้วยอิทธิพลของลม ทำให้เนินทรายที่โผล่ขึ้นมากลางทะเลกลายเป็นหาด ก็หายไปหมดเพราะกระแสน้ำเปลี่ยน

ในอนาคตเด็กๆ จะไม่รู้ว่า คำว่าหาดที่ว่า มีลักษณะเป็นอย่างไร จะมีก็เพียงแต่ผู้เฒ่านั่งเล่าให้ฟัง

อนาคตถ้ามีการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่บ้านสวนกงได้สำเร็จ ยืนยันได้ว่า ท้องถิ่นจะได้รับประโยชน์ คือการสร้างงาน สร้างความเจริญ สร้างรายได้ แต่ปัญหาและอุปสรรคอย่างอื่นไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

แต่ที่แน่ๆ ผลที่ตามมาก็คือ จะเกิดปัญหาการกัดเซาะริมตลิ่ง อย่างที่เห็นกันอยู่ปัจจุบัน เช่น ตั้งแต่ชายหาดบ้านเก้าเส้งไปจนถึงแหลมสนอ่อน ในเขตเทศบาลนครสงขลา ที่อำเภอสิงหนคร เคยมีหาดผลุบๆโผล่ๆ ขึ้นมา ก็หายไปหมด

แม้แต่หาดทรายแก้ว ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของธรรมสถานหาดทรายแก้ว ก็ไม่เหลือแล้ว มิหนำซ้ำคลื่นยังกัดเซาะฝั่งเข้าไปถึงบริเวณข้างๆ โรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท ที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งอำเภอสิ่งหนครแล้ว

นี่คือผลมาจากท่าเรือน้ำลึกน้ำลึกสงขลา

ทำไมถึงเกิดปัญหาขึ้นตรงนี้ ก็เพราะเมื่อมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ซึ่งขวางปากน้ำทะเลสาบสงขลา ก็ทำให้ทะเลตื้น มีสันทรายทับถมขวางร่องน้ำ เรือก็เข้าออกไม่ได้ ก็จำเป็นต้องใช้เรือขุดลอกร่องน้ำ

ขุดลอกได้ไม่กี่วัน ทรายก็ไปทับถมร่องน้ำตามเดิม จำเป็นต้องทำรอหรือเขื่อนกันทรายทางฝั่งแหลมสนอ่อน เพื่อไม่ให้ทรายไหลลงร่องน้ำ ช่วงแรกก่อสร้างยื่นออกมาในทะเลยาวประมาณ 1,000 เมตร แต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ จนต้องทำยื่นออกไปอีกประมาณ 2,000 เมตร

จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ทรายถูกคลื่นลมพัดออกไปจากหาดเก้าเส้ง ต่อเนื่องไปจนถึงหาดชลาทัศน์ และหาดสมิลา เนื่องจากทรายจะไหลไปตามกระแสน้ำ ที่ซัดกลับไป แล้วก็ซัดกลับมาที่เดิมตามฤดูกาล แต่เมื่อไปเจอกับเขื่อนที่สร้างไว้ ทรายก็ไปกองอยู่บริเวณเขื่อน คลื่นไม่สามารถซัดกลับมาได้ ส่วนร่องน้ำก็ต้องขุดลอกอยู่อีก ขุดลอกจนไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้แล้ว

ตอนนี้ทราบมาว่า ปีนี้ทางเทศบาลนครสงขลา ได้รับงบประมาณกว่า 40 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาชายฝั่งถูกกัดเซาะบริเวณหาดชลาทัศน์ โดยอาจารย์จาก ม.อ.(มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) ได้ของบประมาณมาทำปะการังเทียม เพื่อชะลอคลื่นที่เข้าซัดเข้าหาตลิ่ง ส่วนจะเป็นแบบไหนนั้น ยังไม่ได้เข้าไปดู

เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา ทำให้เกิดการทำลาย ตอนนั้นนักวิชาการก็ยืนยันขึ้นว่า สร้างเสร็จแล้วจะเกิดแต่ผลดี ไม่มีผลเสียตามหลัง แต่ไม่เคยมองไปข้างหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้นพวกนักวิชาการที่เรียนมาจากตำรา ก็ให้ฉีกตำราทิ้งไปเถอะ ที่บอกว่า ทำแล้วจะดีตลอดมันเป็นไปไม่ได้

ผู้เฒ่าเคยบอกไว้ว่า ทะเลเราอย่าไปหยอก เพราะถ้าเราไปหยอกเขา ไปกวนเขาเมื่อไร เราจะไม่ได้รับความปราณีใดๆ เลย ปีนี้เอาศอก ปีหน้าเอาวา ปีต่อๆไป เอา 2 - 3 วา

ตั้งแต่หาดเก้าเส้งไปจนถึงหาดแก้ว เมื่อก่อนไม่มีใครทำโครงการอะไร หาดทรายก็ผลุบๆโผล่ๆ ตามฤดูกาล แต่พอมีการตัดถนน ทำโน่นทำนี่ขึ้นมา มีการสร้างเครื่องกีดขวางทางน้ำขึ้นมา ธรรมชาติก็ไม่ยอม ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา จนรัฐบาลต้องทุ่มเงินปีละหลายร้อยล้านเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ก็ไม่ทราบว่าจะแก้ได้จริงหรือไม่

เพราะฉะนั้นถ้ามีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่นี่ มีงานทำเกิดแน่ๆ แต่จะเกิดกับทุกคนหรือไม่ ไม่รู้ มันจะคุ้มกันหรือไม่กับสิ่งที่เราต้องแลกไป

ถ้ามีโครงการนี้ในอนาคตประมงชายฝั่งต้องเลิกแน่นอน ถ้าได้เข้าไปเป็นคนงานให้เขา จะคุ้มกันหรือไม่ แต่วันใด ถ้าเราไม่สามารถดูแลทะเลของเราได้ ทะเลก็จะไม่ดูแลเรา เราไม่สามารถพึ่งพาทะเลได้ เราก็จำต้องเลิกอาชีพที่ทำกันมาแต่บรรพบุรุษ”

หมัด หมัดอารีย์
“คนเมืองเดือนร้อนจากท่าเรือโดยไม่รู้ตัว”

“ก่อนก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา ผมไม่เห็นด้วยในที่ประชุมครั้งแรก แต่แพ้เสียงจากที่ประชุม จนกระทั่งท่าเรือน้ำลึกสงขลาก็เกิดขึ้น ที่หมู่ที่ 7 ตำบลหัวเขาแดง อำเภอสิงหนคร

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากท่าเรือสงขลา มาถึงที่บ้านสวนกงแล้วแน่นอน เพราะไม่เพียงแต่พี่น้องบ้านสวนกงเท่านั้นที่กินกุ้งกินปลา คนเมืองก็กิน ดังนั้นทุกชุมชนได้รับผลกระทบแล้วโดยที่เขาไม่รู้ตัว

เหตุที่ผมไม่เห็นด้วยตอนนั้นก็คือว่า ทะเรือน้ำลึกสงขลา ไม่ได้กระทบแต่บ้านผมเท่านั้น แต่กระทบทะเลสาบสงขลาทั้งสามตอนและตลอดชายฝั่งทะเล

ท่าเรือน้ำลึกสงขลาเริ่มมีการคิดโครงการเมื่อปี 2515 โดยพวกนายทุนกับฝ่ายรัฐบาล แต่นับตั้งแต่เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2532 จริงๆแล้วเขาขาดทุน

ต่อมาปี 2546 เกิดลมมรสุมรุนแรง ทำให้คลื่นซัดโคลนและทรายเข้ามา ทำให้ต้องมีขุดลอกร่องน้ำ ใช้งบประมาณในการขุดลอกปีละหลายล้านบาท แล้วก็ดันทุรังสร้างเขื่อนหิน เอาหินจากไหนมาถมก็ไม่ทราบ ก้อนเท่าๆ บ้าน ทำเป็นเขื่อนกันคลื่นกันทราย ความยาวออกไปทางเกาะหนู เกาะแมว 450 เมตร หินที่ถมจากน้ำลึก 10 เมตร จนสูงพ้นจากผิวน้ำ 6 เมตร

ที่นี่คือปากอ่าวที่เป็นทะเลสาบ มีพันธุ์สัตว์น้ำมากกว่า 700 ชนิด ปัจจุบันเกือบไม่เหลือแล้ว นี่คือผลกระทบง่ายๆ ที่ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น เพราะขณะนี้เหลือไม่กี่ชนิดแล้ว

ผลกระทบต่อมาคือ ในตำบลสะทิ้งหม้อ มี 6 หมู่บ้าน ไม่เคยมีคนหนุ่มสาวออกไปหางานในโรงงาน ไม่เคยไปทำงานก่อสร้าง งานรับจ้างในเมือง แต่หลังจากมีท่าเรือน้ำลึกสงขลา คนไปวางกัดจับปลาไม่ไหว ไม่คุ้มกับค่าน้ำมันที่ต้องออกเรือไป

บางคน บางคืนจ้างลูกน้อง 1 คน ก็ได้ไม่คุ้มกับค่าจ้าง จึงเปลี่ยนใจไปทำงานก่อสร้าง ทั้งที่ตัวเองเคยทำอาชีพประมงมาตลอด ก็ต้องต่อสู้กันไป พอกินบ้าง ไม่พอกินบ้าง

อดีตร่องน้ำทะเลสาบสงขลาบริเวณปากน้ำทะเลสาบ มี 3 ร่องน้ำ แต่หลังจากที่มีการถมหินทำเขื่อน ทำให้เหลือร่องน้ำเดียว ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวประมงทั้ง 3 ตอน ครอบคลุมทั้ง 3 จังหวัด ที่อยู่ติดทะเลสาบสงขลา คือ สงขลา พัทลุงและนครศรีธรรมราช

นอกจากนี้ท่าเรือน้ำลึก ยังมีผลทำให้ทะเลสาบสงขลาตื้นเขิน เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง เช่น ธรรมสถานหาดทรายแก้ว ที่อยู่ทางทิศเหนือของท่าเรือน้ำลึกสงขลา จากที่มีเนื้อที่ 80 ไร่ มีทั้งโบสถ์ อาคารสถานที่ต่างๆ ขณะนี้เหลือพื้นที่เพียง 2 งาน

ระบบนิเวศที่เกิดจากการน้ำขึ้นน้ำลงเปลี่ยนแปลงไป เพราะเมื่อน้ำขึ้น น้ำทะเลก็จะไหลขึ้นไปในทะเลสาบ เวลาน้ำลงก็จะไหลลงทะเลตามธรรมชาติช้าลง แรงของน้ำไหลมีน้อยลง

รู้สึกดีใจที่ชาวสวนกง มีสำนึกแล้ว แต่ถามว่าจะยับยั้งเขาอยู่หรือไม่ ก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน ถ้าพี่น้องเริ่มคิด เริ่มแสดงออกถึงสิทธิชุมชนที่พึงกระทำได้ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารสำคัญที่สุด ต้องช่วยกัน บอกต่อ ปากต่อปาก ช่วยกันกระจายข่าวสารให้มาก นี่คือสิ่งที่ทำได้ในขณะนี้”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net