Skip to main content
sharethis

ก.พลังงานยันความจำเป็นลดภาระประชาชนตรึงราคา "แอลพีจี-เอ็นจีวี-ค่าเอฟที" อีก 6 เดือน ยอมรับ "แอลพีจี-เอ็นจีวี" กองทุนน้ำมันฯ ต้องรับภาระ 15,628 ล้านบาท หนักใจแบกภาระส่วนต่างนำเข้าแอลพีจีสูงถึง 2,000 ล้านบาท หวังโรงแยกก๊าซฯ 6 เปิดดำเนินการปลายปีนี้

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านพลังงานที่จะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 28 มิ.ย.นี้ กระทรวงพลังงานจะเสนอให้ขยายมาตรการบรรเทาผลกระทบ ด้านพลังงานออกไปอีก 6 เดือน (ก.ย.2553 - ก.พ.2554) ใน 3 มาตรการหลัก คือ 1.ตรึงราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ไว้ที่กิโลกรัมละ18.13 บาท 2.ตรึงราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ไว้ที่กิโลกรัมละ 8.50 บาท โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะจ่ายชดเชยให้กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กิโลกรัมละ 2 บาท และ 3.ตรึงค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (เอฟที) ไว้ที่ 92.55 สตางค์ต่อหน่วย

ทั้งนี้ 2 มาตรการแรกต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ รวม 15,024-15,628 ล้านบาท ในช่วง 6 เดือน แบ่งเป็นการชดเชยราคาส่วนต่างนำเข้าแอลพีจี คาดต้องใช้เงินประมาณ 2,204 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 13,224 ล้านบาท ในช่วง 6 เดือน บนพื้นฐานราคาแอลพีจีตลาดโลกที่ 725 ดอลลาร์ต่อตัน

ส่วนเอ็นจีวีคาดต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ ประมาณ 300-400 ล้านบาทต่อเดือน รวม 6 เดือนใช้เงิน 1,800-2,400 ล้านบาท ส่วนค่าเอฟทีได้ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรคกูเลเตอร์) ประสานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อีกครั้ง

นายดิเรก ลาวัลย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรคกูเลเตอร์) กล่าวว่าการตรึงค่าเอฟทีต่อ ส่วนการตรึงค่าไฟฟ้าภาระของ กฟผ.ลดลงเหลือ 5,996 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธ.ค.นี้ จากภาระเดิม 9,698 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนส.ค.2553

นพ.วรรณรัตน์ กล่าวว่า การตรึงราคาดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่ต้องการแบ่งเบาภาระให้กับประชาชน หลังจากสิ้นสุดมาตรการ จะพิจารณาสถานการณ์อีกครั้ง ส่วนระยะยาวจะยึดหลักราคาที่สะท้อนราคาตลาดโลก หากหมดความจำเป็นก็จะเลิกมาตรการดังกล่าวแน่นอน

สำหรับฐานะของกองทุนน้ำมันฯ ที่ต้องแบกรับภาระ ต้องบริหารไม่ให้ติดลบซ้ำประวัติศาสตร์แบบเดิม โดยเดือนมิ.ย. มีรายได้จากการนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ของน้ำมันประเภทต่างๆ 3,000 ล้านบาท มีภาระการชดเชยพลังงานทดแทน 2,730 ล้านบาท จึงมีเงินไหลเข้าสุทธิ 270 ล้านบาทต่อเดือน มีกระแสเงิน ณ เดือนมิ.ย. 2553 อยู่ที่ 33,566 ล้านบาท

นอกจากนี้ จะเสนอ กพช. พิจารณาปรับอัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าหรือแอดเดอร์ ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์  เบื้องต้นจะปรับลดลงจาก 8 บาทต่อหน่วยเหลือ 6.50 บาทต่อหน่วยเป็นเวลา 10 ปี กับโครงการที่ตกลงรับซื้อแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือพีพีเอ

นายศิวะนันท์ ณ นคร ผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) กล่าวว่าภาระหนักที่สุดของกองทุนน้ำมันฯ ขณะนี้คือ การชดเชยส่วนต่างนำเข้าแอลพีจี เฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 1,600 - 2,000 ล้านบาท ภาระดังกล่าวจะลดลงได้เมื่อสิ้นสุดมาตรการเดือนก.พ.2554 หรือมีการปรับโครงสร้างราคา รวมถึงการเปิดดำเนินการของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 6 ที่ยังติดคดีมาบตาพุดอยู่

"จะใช้วิธีบริหารรายรับรายจ่ายรายเดือน เพื่อไม่ให้ฐานะกองทุนฯ ติดลบ ต้องบริหารให้มีกระแสเงินในมือไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท จึงถือว่ามีเสถียรภาพสำหรับการช่วยเหลือราคาน้ำมันในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ประมาณ 3-6 เดือน" นายศิวะนันท์ กล่าวและว่า สำหรับมาตรการลดภาษีน้ำมัน คาดว่ากระทรวงการคลังคงหารือใน กพช.เอง

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net