Skip to main content
sharethis

นักวิชาการเมิน "ปฎิรูปประเทศไทย" ที่ไม่ยอมรับการเลือกตั้ง ภาค ปชช.เตรียมรวบรวมประเด็นละเมิดสิทธิฯ กังขาปราบ "ก่อการร้ายมือเปล่า" นัก กม.ย้ำ "ศาล" ต้องปกป้องสิทธิเสรีภาพประชาชนจากอำนาจรัฐ จวกนิติรัฐกลายเป็น "นิติลวง" นศ.เรียกร้อง "อภิสิทธิ์" ลาออกแสดงความรับผิดชอบ สร้างบรรทัดฐาน

(4 มิ.ย.) กลุ่มประชาคมธรรมศาสตร์คัดค้านอำนาจนอกระบบ และกลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน จัดงานเสวนาเรื่อง “ขอพื้นที่พวกเราคืน” : งานเสวนาว่าด้วยพื้นที่ทางสิทธิ เสรีภาพ ความเป็นมนุษย์ ภายใต้นิติรัฐแห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ห้อง ศ. 201 คณะศิลปศาสตร์ ชั้น 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ดำเนินรายการโดย ประกีรติ สัตสุต นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิิสัน


(จากซ้าย-ขวา) ปิยบุตร -ศราวุธ-เกษม-อับดุลเราะมัน-ประกีรติ

จี้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คืนพื้นที่เสรีภาพ
เกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กลุ่มสันติประชาธรรม กล่าวว่า เมื่อดูสิ่งที่รัฐบาลกระทำต่อการชุมนุมของคนเสื้อแดง รัฐบาลไม่เคยพูดว่า "สลายม็อบ" "ล้อมปราบ" "ล้อมฆ่า" แต่พูดในลักษณะ "ขอพื้นที่คืน" "กระชับพื้นที่" "Big Cleaning day" เพื่อตอบโจทย์พื้นที่ทางกายภาพของคนเมือง โดยทำให้เห็นว่าคนที่มาชุมนุมไม่มีตัวตนอยู่ในทางสังคมและทางการเมือง แม้ว่าจะพวกเขาจะชุมนุมจริงอยู่ที่ผ่านฟ้าและแยกราชประสงค์

"มันยุติธรรมแล้วหรือที่คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ได้พื้นที่ในเชิงกายภาพคืน แต่ในทางกลับกันเราไม่มีพื้นที่ทางเสรีภาพ" เกษมตั้งคำถามและว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้หน้าตาดีกว่ากฎอัยการศึกหรือการประกาศเคอร์ฟิวซึ่งจำกัดพื้นที่ทั้งทางกายภาพและเสรีภาพ เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจำกัดพื้นที่ทางเสรีภาพ แต่ให้คนใช้ชีวิตตามปกติผ่านพื้นที่ทางกายภาพ

นอกจากนี้ เกษมกล่าวถึงพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นพื้นที่แสดงออกสิทธิเสรีภาพ สิทธิการเป็นพลเมือง ที่ทุกคนสามารถสร้างวิวาทะทางสังคมต่อกันว่า ช่วงที่ผ่านมามีสองกลุ่มที่ถูกปิดกั้นตลอดเวลา กลุ่มแรก คือกลุ่มตรงข้ามกับรัฐบาล กลุ่มที่สอง คือพื้นที่ส่วนกลาง ที่พยายามเปิดข้อวิวาทะ นำเสนอข้อคิดเห็นที่หลากหลายและแตกต่าง การปิดกั้นพื้นที่เหล่านี้เป็นการผลักให้เป็นการเมืองขั้วตรงข้าม ถ้าไม่เหลืองก็ต้องแดง ทั้งที่มันมีเฉดจากเหลืองถึงแดง หรือแม้แต่ภายในแดงหรือเหลืองเอง ทุกคนสามารถเห็นด้วยและแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อย อย่างไรก็ตาม เขามองว่า การจัดการแบบนี้บีบให้คนยิ่งพยายามแสดงออก และพยายามหาทางเลือกใหม่ผ่านพื้นที่ต่างๆ เช่น การเขียนข้อความ-วาดภาพตามกำแพง ในที่ชุมนุม หรือกระทั่งบนตัวสุนัข

สิ่งที่สำคัญคือ การคิดพื้นที่ใหม่เพื่อใช้ปะทะกับวาทกรรมของรัฐอย่างการขอพื้นที่ทางกายภาพ การมีพื้นที่ทางสังคมหรือปริมณฑลที่มีความเป็นสาธารณะนั้นสำคัญเพราะเป็นพื้นที่สร้างวิวาทะทางสังคม ให้คนสามารถมาแลกเปลี่ยนความคิดกันได้ ซึ่งการขอคืนพื้นที่ดังกล่าวนี้จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกยกเลิก

ปฎิรูปประเทศไทย?
นอกจากนี้ เกษมวิจารณ์แนวคิดการปฎิรูปประเทศไทยในภาวะประกาศใช้สภาวะฉุกเฉินด้วยว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยเพราะเป็นการดึงอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยมาสู่เครื่องมือหรือกลไกของรัฐ ที่คนกลุ่มหนึ่งเข้ามาสนับสนุน โดยเพิกเฉยต่อสิทธิทางพลเมืองของรัฐภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

"เรากำลังถูกผลักออกจากระบอบประชาธิปไตยภายใต้เงื่อนไขประชาธิปไตย" เกษมกล่าวและว่า แนวคิดปฎิรูปประเทศไทยเป็นการกล่าวโทษกลไกประชาธิปไตยแบบตัวแทน กระบวนการเลือกตั้ง โดยพยายามหารูปแบบใหม่ของสิ่งที่เรียกว่า "ประชาธิปไตยทางตรง" "ภาคประชาชน" ซึ่งเขามองว่า ไม่มีจริง เพราะทุกคนต่างเป็นตัวแทนในกระบวนการประชาธิปไตยทั้งสิ้น เพียงแต่ไม่ยอมรับการเลือกตั้ง

ภาค ปชช.รวมประเด็นละเมิดสิทธิฯ กังขาปราบ "ก่อการร้ายมือเปล่า"
ศราวุธ ประทุมราช นักสิทธิมนุษยชนอิสระ ตั้งคำถามถึงการประกาศภาวะฉุกเฉินร้ายแรงที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลจำกัดสิทธิหลายด้าน รวมถึงปิดกั้นการนำเสนอของสื่อมวลชนว่า มีความจำเป็นที่จะต้องทำหรือไม่ โดยเขามองว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหลายมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 29 ที่ระบุว่า การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญ รับรองไว้จะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็นเท่านั้นและจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้

โดยนอกจากการจำกัดสิทธิในการชุมนุมเกิน 5 คนแล้ว ยังมีการจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง ห้ามเข้าพื้นที่ชุมนุม มีเคอร์ฟิว รวมถึงจำกัดสิทธิในชีวิตและร่างกาย เรียกบุคคลมาให้ข้อมูลโดยห้ามไม่ให้มีทนาย ทั้งที่ยังไม่เป็นผู้ต้องหา การจับกุมผู้ชุมนุมโดยใช้ผ้าผูกตา มัดข้อมือไพล่หลัง และนอนคว่ำกับพื้นคล้ายกรณีตากใบ

รวมถึงกรณีคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างในพื้นที่ชุมนุม เมื่อสลายชุมนุมจึงเดินออกมา ก็เจอตำรวจกักตัวไว้และส่งฟ้องศาลในสองวัน ศาลพิพากษาว่ามาชุมนุมขัด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้จำคุกสองปี แต่ไม่เคยทำความผิดจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คำถามคือ ทำถูกต้องไหม ผู้ต้องหาเข้าใจข้อหาไหม นี่เป็นปัญหาทางข้อกฎหมาย

นอกจากนี้ เขาเล่าถึงกรณีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งถูกคุมขังจะครบเจ็ดวันด้วยว่า ตอนแรกมีหมายเรียกมาที่บ้าน เมื่อบริสุทธิ์ใจมารายงานตัว ก็ถูกแจ้งหมายจับ และถูกคุมตัวไว้ โดยเมื่อเขาไปเยี่ยม พบว่า นายสมยศถูกให้นอนในเต๊นท์ ขณะที่บ่ายวันเดียวกัน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปเยี่ยม ปรากฎว่า นายสมยศถูกย้ายไปนอนห้องติดแอร์

ศราวุธ กล่าวว่า ที่เป็นปัญหามาก คือ การใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธครบมือ โดยอ้างว่ามีผู้ก่อการร้าย ทั้งที่คนที่เสียชีวิต 80 กว่าคนไม่มีอาวุธในมือเลยซึ่งตามปกติถ้ามีการตายโดยเจ้าหน้าที่ ต้องมีการไต่สวนการตายโดยศาล อย่างไรก็ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินระบุให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง อาญา หรือทางวินัย ขณะที่กระทรวงต่างประเทศเองก็ออกประกาศว่าทำตามกฎหมายสากลอย่างโดยเคร่งครัด ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ภาคประชาชนกำลังรวบรวมข้อมูลการปฎิบัติที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล เพราะการฆ่ากลางเมืองโดยอ้างการก่อการร้าย แต่จับผู้ก่อการร้ายไม่ได้สักคน แม้จะมีอาวุธมากมาย เรื่องนี้ต้องมีคำตอบ

ย้ำ "ศาล" ต้องปกป้องสิทธิเสรีภาพประชาชนจากอำนาจรัฐ
ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงบทบาทของศาลว่า จะต้องปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจรัฐ ศาลไม่อาจสงวนตัวเองไม่ควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินได้ โดยยกตัวอย่างกรณีเว็บประชาไทฟ้องศาลแพ่งให้ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลในการสั่งปิดเว็บ หรือกรณีนายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ฟ้องนายกฯ และ ศอฉ.หมิ่นประมาทจากการระบุว่าเขาอยู่ในผังล้มเจ้าว่าทั้งสองกรณี ศาลไทยได้ยกฟ้อง โดยพิจารณาว่า ในสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐบาลมีอำนาจ

เขาตั้งคำถามว่า จะไม่มีอำนาจใดถ่วงดุลรัฐบาลเลยหรือ เมื่อแถลงการณ์ของนักวิชาการเป็นเศษกระดาษ สื่อ-เอ็นจีโอไม่ทำงาน ศาลไม่ลงมาช่วย จะไปพึ่งใคร และว่า แม้ในยามสงคราม ศาลก็ต้องทำหน้าที่ ความผิดพลาดของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังร้ายแรงไม่เท่าความผิดพลาดของฝ่ายตุลาการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมจะถูกจารึกเอาไว้ว่าช่วงหนึ่งศาลยอมหรี่ตาเพื่อวัตถุประสงค์อะไรบางอย่าง

"ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ศาลควรอยู่ข้างนอก ไม่ใช่อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินเอง พ.ร.ก.ที่ห่วยๆ ศาลช่วยบรรเทาความห่วยลงได้ด้วยการรับฟ้อง การใช้อำนาจของ พ.ร.ก.ฉบับนี้แล้วดูว่าเหมาะสมหรือไม่"

ปิยบุตรมองว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกวันนี้จะอยู่กับเราไปอีกนาน เพราะการทำงานของ State of Exception ทำให้คนรู้สึกชินชา ไม่รู้สึกกระทบกับชีวิต ออกไปกินข้าวได้เหมือนเดิม รัฐก็จะบอกว่า สถานการณ์ฉุกเฉินจะกระทบกับคนที่เป็นแดง ฉะนั้นอย่าเป็นแดง หรือถ้าเป็นก็กลับใจเสีย

ที่น่าเศร้าคือ นักสิทธิมนุษยชนขาประจำที่ออกมาคัดค้านการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในภาคใต้เมื่อปี 2548 อย่างแข็งขัน แต่กลับไม่คัดค้านการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน มาตรฐานจริยธรรม-สิทธิมนุษยชนของนักวิชาการ เอ็นจีโอ ใช้กับกรณีทนายสมชาย คนชายขอบ คนสามจังหวัด คดีฆ่าตัดตอนยาเสพติด แต่เมื่อนำมาเทียบกับกรณีคนเสื้อแดงแล้วมีแต่ความเงียบ

"นิติรัฐ-นิติลวง"
ปิยบุตรวิจารณ์หลักนิติรัฐที่แพร่หลายในสังคมไทยว่ากลวงมาก โดยเป็นนิติรัฐที่แปลงร่างเป็น "นิติลวง" คือลวงว่ามีนิติรัฐ เป็นคำใหญ่ที่โก้เก๋ ใช้สร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของตัวเอง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีมักอ้างนิติรัฐตลอด โดยที่ไม่ทราบว่าไม่รู้จริงๆ หรือแกล้งไม่รู้ว่า นิติรัฐในสากลนำมาเพื่อใช้จำกัดอำนาจรัฐ ไม่ใช่เพื่อให้รัฐไปทำคนนู้นคนนี้ได้

เขากล่าวถึงการที่นายอภิสิทธิ์ระบุว่าการสั่งสลายการชุมนุมเป็นนิติรัฐ เป็นการบังคับใช้กฎหมายด้วยว่าเป็นพาราด็อกซ์อย่างยิ่ง เพราะจริงๆ แล้วการสลายการชุมนุมในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็นข้อยกเว้นของนิติรัฐ

สุดท้าย เขาเตือนว่า วันพระไม่ได้มีหนเดียว เมื่อไหร่ที่ฟ้าเปิด อภิสิทธิ์และพวกก็อาจจะถูกนำไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ พลังทั้งหลายที่หนุนอภิสิทธิ์ไม่ได้เป็นนิรันดร มันมีอานุภาพอยู่แค่อาณาเขตเดียวเท่านั้น

เรียกร้อง "อภิสิทธิ์" ลาออกแสดงความรับผิดชอบ สร้างบรรทัดฐาน
อับดุลเราะมัน มอลอ โฆษกสหพันธ์นิสิตนักศึกษาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เล่าถึงประสบการณ์ภายใต้ภาวะฉุกเฉินจากประสบการณ์ในปัตตานี โดยระบุว่า สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นสภาวะฉุกเฉินของ "รัฐบาล" โดยรัฐบาลไหนก็ตามที่มีประชาชนลุกฮือขึ้นมาต่อต้านอำนาจรัฐเป็นแสนคน รัฐบาลย่อมมองว่าเป็นเรื่องฉุกเฉิน

ต่อการขอคืนพื้นที่นั้น เขามองว่า ประชาชนขอพื้นที่ทางการเมืองคืนเพื่อตัดสินใจเลือกผู้มีอำนาจขึ้นมาใหม่ แต่รัฐบาลต้องการขอพื้นที่ขยายเวลาบริหารราชการต่อไป จึงเกิดคำถามว่า อำนาจที่แท้จริงในประเทศเป็นของใครกันแน่ อยู่ที่ประชาชน รัฐบาล หรือใครคนอื่น

อับดุลเราะมันกล่าวว่า การก่อเหตุที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีการใช้ M79 รัฐบาลประกาศว่าเป็น "การก่อการร้าย" ขณะที่ที่ภาคใต้ มีทั้งการวางระเบิดและมีอาวุธสงคราม ถูกรัฐบาลเรียกว่าเป็น "ผู้ก่อการไม่สงบ" เขามองว่านี่เป็นการใช้วาทกรรมของรัฐเพื่อยกระดับความไม่ชอบธรรมของการชุมนุม และเพื่อยกระดับความชอบธรรมในการปราบปรามกลุ่มที่ต่อต้าน

เขามองว่า การเมืองไทยกำลังมาถึงจุดที่สร้างบรรทัดฐานใหม่ที่รัฐบาลปราบปรามประชาชน มีผู้เสียชีวิต แล้วรัฐยังอยู่ได้ ซึ่งนี่อันตราย ต่อไปเมื่อมีการชุมนุม รัฐบาลจะอ้างความชอบธรรมเหมือนที่ผ่านมา และสร้างสถานการณ์ "ก่อการร้าย" ในการชุมนุมอีก ดังนั้น เขาจึงเห็นว่า นายกฯ ควรสร้างบรรทัดฐานให้ดีที่สุด โดยลาออกเพื่อรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้จะเป็นการออกจากอำนาจเพื่อให้กระบวนการตรวจสอบสามารถตรวจสอบตนเองได้ในฐานะที่ไม่มีอำนาจด้วย

โฆษกสหพันธ์นิสิตนักศึกษาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทิ้งท้ายถึงเรื่องสองมาตรฐานด้วยว่า "วันหนึ่งที่ทุกท่านในที่นี้ไปอยู่ในจุดที่พอใจแล้ว รู้สึกว่านี่คือมาตรฐานเดียวกันแล้ว ขออย่าลืมคนสามจังหวัดก็อยากได้ตรงนี้เหมือนกัน"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net