Skip to main content
sharethis

12 พ.ค. 53 - เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2553 มีการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การกำหนดวิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ โครงการวางผังอนุภาค กลุ่มจังหวัดเพชรบุรี  ประจวบคีรีขันธ์  สมุทรสงคราม  และสมุทรสาคร" ณ. ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม ชั้น 2 โรงแรม ลองบีช ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

นางสาวสุรีรัตน์  แต้ชูตระกูล แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "เราเป็นห่วงว่าหากใช้กรอบการพัฒนาตามแนวสภภาพัฒน์ เท่ากับกำหนดให้ตั้งแต่กุยบุรี เมือง ทับสะแก บางสะพาน บางสะพานน้อยเป็นเขตพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กและอุตสาหกรรมต่อเนื่องเช่นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ คลังก๊าซ คลังน้ำมัน เพื่อป้อนนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นแนวคิดการพัฒนาที่ชาวบ้านประจวบฯคัดค้านมาโดยตลอด จะยิ่งทำให้ความขัดแย้งบานปลายไปใหญ่"

"ถึงแม้ผังอนุภาคจะเน้นการมีส่วนร่วมแต่หากยุทธศาสตร์การพัฒนาของสภาพัฒน์ ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม ก็จะยิ่งสร้างความขัดแย้งในสังคม ที่สภาพัฒน์ไม่เคยต้องรับผิดชอบอะไรเลย  เราเห็นว่าสภาพัฒน์ฯควรเปิดหู เปิดใจ เปิดโอกาสฟังชาวบ้านบ้าง โดยเฉพาะควรทำการประเมิลผลแนวทางการพัฒนาที่ผ่านไป10แผนแล้วว่าได้สร้างความสมดุลทางสิ่งแวดล้อม สร้างเป็นธรรม และก่อให้เกิดความยั่งยืนจริงหรือเปล่า หรือยิ่งพัฒนารวยยิ่งกระจุก จนยิ่งกระจาย โดยเฉพาะแนวคิดการพัฒนาเซาเทริน์ซีบอร์ดโดยใช้อุตสาหกรรมมลพิษสูงอย่างอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ เป็นยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาควรถูกทบทวนทั้งมติครม. แนวทางการส่งเสริมการลงทุน จะส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกไปทำไมในเมื่อไทยไม่มีวัตถุดิบ เทคโนโลยี และความรู้ ต้องนำเข้าทั้งสิ้น แถมยังเป็นภาระในการหาไฟฟ้าป้อนเพราะอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำใช้ไฟฟ้าเปลืองมาก อนาคตยังจะต้องถูกแบ๊คลิสจากปัญหาการปล่อยคาร์บอนไดออ๊อกไซด์สูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีก"

นางสาวสุรีรัตน์กล่าวต่อไปว่า  "การส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตเหล็กต้นน้ำ จึงเหมือนส่งเสริมให้เอาประเทศไทยเป็นกระโถนรองรับการที่ทิ้งขยะพิษอย่างถาวร ประเทศญี่ปุ่นเค้ากำลังมีนโยบายย้ายอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำออก แล้วใช้ความได้เปรียบจากข้อตกลงการค้าเสรี(FTA)หันมานำเข้าผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปแทน  ประเทศไทยควรทำนโยบายให้คนไทยรู้สึกว่ามีผู้บริหารประเทศที่ฉลาดบ้างก็จะดี หากสภาพัฒน์ฯไม่ดื้อ หันมาส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตอาหารจากเกษตรและประมง ต่อยอดผลิตภัณฑ์จากยางพารา พัฒนาพลังงานทดแทน ส่งเสริมการท่องเที่ยว เชิงนิเวศและสุขภาพ ยังจะสอดคล้องกับฐานทรัพยากร กระจายความเป็นธรรมจากการพัฒนา สร้างความสมานฉันท์ในสังคม ก่อให้เกิดความยั่งยืนมากกว่า และจะได้ความร่วมมือจากประชาชน"

 

 

(ร่าง)วิสัยทัศน์ของกลุ่มอนุภาค

การพัฒนาเมืองและชนบทอย่างสมดุลยั่งยืน

พลิกฟื้นสิ่งแวดล้อมเพื่อชนรุ่นหลัง

ผลักดันเป็นแหล่งผลิตอาหารคุณภาพ  และการท่องเที่ยวระดับสากล

เชื่อมโยงคมนาคมสะดวกทุกโครงข่าย

กระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม

บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคี


(ร่าง)ยุทธศาสตร์การพัฒนาอนุภาค

 

1. ยุทธศาสตร์การพัฒนาและควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างสมดุล

เป็นการจัดระเบียบและกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมกับศักยภาพ และข้อจำกัดของพื้นที่  บนพื้นฐานในการรักษาสมดุลของสภาพแวดล้อม   รองรับการเติบโต และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างชุมชนเมืองและและชนบท  โดยการพัฒนากลุ่มเมืองตามบทบาทและหน้าที่ของเมืองให้เชื่อมโยงเกื้อกูลกันทั้งในและระหว่างจังหวัด   มีการจัดเตรียมความพร้อมของพื้นที่เพื่อให้สามารถรองรับประเภทและขนาดของกิจกรรม  ที่สามารถผลักดันบทบาทของอนุภาคในด้านอุตสาหกรรมปลอดมลพิษ  การแปรรูปผลิตผลการเกษตร  อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการให้บริการ  ตลอดจนพลังงานทดแทนจากทรัพยากรท้องถิ่น    นอกจากนี้จะต้องดำเนินมาตรการเพื่อรักษาและบริหารจัดการพื้นที่เกษตร ป่า เขา ต้นน้ำ ลำธาร แม่น้ำ ลำคลอง ตลอดจนอ่างเก็บน้ำเพื่อดำรงไว้ซึ่งทรัพยากรน้ำที่มีคุณภาพ สำหรับใช้ในการเกษตร อุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภคอย่างยั่งยืน  ทั้งหมดนี้จะต้องดำเนินการบนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน 

 

2. ยุทธศาสตร์อนุภาคสีเขียวเพื่อลดภาวะโลกร้อน

ยกระดับมาตรการในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น ทั้งในระดับอนุภาคและระดับชุมชน เพื่อให้อนุภาคมีการเติบโตอย่างยั่งยืนโดยที่ยังสามารถธำรงไว้ซึ่งทรัพยากรที่มีคุณค่า  โดยสร้างความแข็งแกร่งของการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนบก ชายฝั่งทะเล และทรัพยากรทางทะเล ตลอดจนแหล่งน้ำอย่างมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน  ทั้งในด้านการกำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสมกับพื้นที่ การกำหนดประเภทและขนาดของกิจกรรมที่เหมาะสมกับแหล่งทรัพยากร  การปกป้องและฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่  เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานที่คุ้มค่า ลดการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง  ส่งเสริมนวัตกรรมพลังงานทางเลือก  รวมถึงการปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในกลุ่มประชาชนทุกระดับ

3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาอนุภาคเพื่อก้าวสู่ความเป็นครัวโลก

พัฒนาอนุภาคให้เป็นฐานอุตสาหกรรมเกษตร  อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารจากพืชเกษตรและประมง เพื่อรองรับการผลิตจากภาคเกษตรอย่างครบวงจร  โดยสนับสนุนและเพิ่มมูลค่าของการผลิตทั้งในระดับพื้นบ้านที่มีการผสมผสาน  และการผลิตเพื่อการส่งออก  เพื่อเป็นการขยายฐานทางเศรษฐกิจของอนุภาคในทุกระดับให้มีความมั่นคง มีเสถียรภาพ พึ่งตนเองได้  เพื่อลดผลกระทบจากเศรษฐกิจภายนอก  การเชื่อมโยงภาคเกษตรกรรมกับภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ ทั้งกระบวนการผลิตและตลอดห่วงโซ่อุปทาน  ลดของเหลือทิ้งจากการแปรรูป  การจัดหาทรัพยากรน้ำและพลังงานในการผลิตอย่างพอเพียงและใช้อย่างคุ้มค่า  รวมทั้งสนับสนุนการเป็นแหล่งรวบรวมและขนส่งผลผลิตทางการเกษตรและสินค้าแปรรูปเพื่อส่งต่อไปยังตลาดผู้บริโภคภายในประเทศและส่งออกไปยังประเทศต่างๆ

 

4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบต่อเนื่อง

จากศักยภาพในด้านความหลากหลายของทรัพยากรการท่องเที่ยวในอนุภาค ควรมีการพัฒนากลุ่มเส้นทางท่องเที่ยวที่สามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มทุกระดับ  จะทำให้สามารถกระจายความเสี่ยงจากความผันผวนของสภาพเศรษฐกิจ โดยการพัฒนานี้จะเน้นความเชื่อมโยงของเส้นทางท่องเที่ยวใน loop ต่างๆ  จากความสะดวกในการเดินทาง ความต่อเนื่องของแหล่งท่องเที่ยว  และรูปแบบของการท่องเที่ยว  เส้นทางท่องเที่ยวต่างๆจะเชื่อมโยงได้ทั้งภายในอนุภาคหรือระหว่างอนุภาค  โดยมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางคมนาคม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆมารองรับ  ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพในการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับความสามารถในการรองรับของแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

 

5. ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมขนส่งที่ทั่วถึง

จัดเตรียมความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ให้เพียงพอต่อความต้องการในปัจจุบันและสามารถรองรับการพัฒนาในอนาคต  และเพื่อรองรับการอยู่อาศัยและกิจกรรมเศรษฐกิจของอนุภาคทั้งในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว โดยการปรับปรุงโครงข่ายถนนให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าและผู้โดยสาร  พัฒนาระบบรางสำหรับการขนส่งมวลชนโดยการพัฒนาระบบรถไฟรางคู่  การพัฒนาปรับปรุงท่าเรือชายฝั่งให้เป็นท่าเรือขนส่งสินค้า ท่าเรือท่องเที่ยวที่ไม่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรชายฝั่ง  สร้างโอกาสให้พื้นที่อนุภาคสามารถเชื่อมโยงกับพื้นที่อนุภาคอื่นโดยเฉพาะอนุภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พื้นที่ภาคใต้ และเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้โดยตรงโดยการเปิดการค้าชายแดน เพื่อขยายโอกาสการลงทุนใหม่ๆ

 

6. ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนจากฐานราก

การพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเข้มแข็งจากระดับชุมชน โดยให้ความสำคัญกับการสร้างกระบวนการเรียนรู้  การจัดเก็บองค์ความรู้  การถ่ายทอด และการต่อยอดองค์ความรู้ของชุมชน ทั้งด้านการผลิต ภูมิปัญญา  การจัดการทรัพยากรท้องถิ่น  มรดกทางศิลปวัฒนธรรม  สร้างและส่งเสริมระบบเครือข่ายเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน  โดยการสนับสนุนจากภาครัฐและท้องถิ่น  และนำกลไกชุมชนเพื่อขับเคลื่อนได้แก่ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน  เครือข่ายสหกรณ์และกลุ่มออมทรัพย์ ตลอดจนการรวมกลุ่มทางสังคมต่างๆ  นอกจากนี้ ภาครัฐจะต้องสนับสนุนให้เกิดกระบวนการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net