Skip to main content
sharethis
 
อุเส็น มูสอ
 
 
 วอแล๊ะ จินตรา
 
บ่ายที่ร้อนระอุของวันศุกร์วันหนึ่งกลางเดือนเมษายน 2553 หลังเสร็จสิ้นพิธีละหมาดวันศุกร์ ชาวบ้านส่วนหนึ่งของหมู่บ้านลูโบะปันยัง หมู่ที่ 3 ตำบลกาบัง อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา มุ่งหน้าไปที่บ้านของนายวอแล๊ะ จินตรา อดีตกำนันตำบลกาบัง ผู้สูญเสียลูกชายจากความไม่สงบ
 
หมู่บ้านที่มีแผลร้าวจากสถานการณ์ความไม่สงบ ส่งผลให้ชาวบ้านมีหวาดกลัวและมีความหวาดระแวง จนเกือบทำให้ความสามัคคีของคนของคนในหมู่บ้านล่มสลาย แต่บัดนี้ค่อยๆ เริ่มกลับคืนสู่สภาพปกติจากความพยายามทุ่มเทเพื่อชุมชนของแกนนำบางคน
 
วันนี้พวกเขามีงานในหมู่บ้าน...
 
นั่นก็คือพิธีเปิดสำนักงานชมรมฌาปนกิจบ้านลูโบะปันยัง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการทำวิจัย หรือ สกว. ที่บ้านของนายวอแล๊ะ นั่นเอง
 
ขนมจีนและน้ำหวานเย็นๆ ถูกจัดเตรียมพร้อมไว้ข้างเต็นท์โดยทีมแม่บ้าน ขณะที่แขกทยอยเดินทางมาถึง มีทั้งนายอำเภอกาบังที่มาเป็นประธานในพิธีเปิด ส่วนทหารจากหน่วยเฉพาะกิจและตำรวจตระเวนชายแดนจำนวนหนึ่งได้มาถึงก่อนหน้านั้นแล้ว เช่นเดียวกับผศ.ปิยะ กิจถาวร ตัวแทนจาก สกว.
 
งานพิธีเปิดที่มีผู้ร่วมงานไม่ถึงร้อยคนที่ดูแสนจะธรรมดาเหมือนพิธีเปิดทั่วๆไป แต่ก็แฝงไปด้วยนัยยะของความสูญเสียและการเยียวยา ทั้งในระดับบุคคลและชุมชนที่เคยบอบช้ำจากสถานการณ์ความไม่สงบมาหลายครั้งในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา
 
เหตุการณ์ไม่สงบในหมู่บ้านใกล้ชายแดนไทย –มาเลเซียแห่งนี้ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2551 เริ่มจากมีเหตุการณคนร้ายซุ่มยิงรถรับส่งนักเรียนริมถนนใกล้หมู่บ้าน จากนั้นก็มีเหตุการณ์เรื่อยมา ได้แก่เหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงวัยรุ่นในหมู่บ้าน โดยอ้างว่าทลายแหล่งยาเสพติดแต่ไม่มีคนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
 
ต่อมาเกิดเหตุการณ์คนร้ายยิงลูกชายของนายวอแล๊ะอดีตกำนันตำบลกาบังที่เพิ่งเกษียณได้ไม่ถึงปี เหตุเกิดที่บ้านของตัวเองจนเสียชีวิต ตามมาด้วยเหตุลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ริมถนนนอกหมู่บ้านไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตด้วยเช่นกัน ซึ่งยังไม่นับรวมเหตุการณ์อื่นอีกหลายครั้งเช่น ตัดต้นไม้ขวางถนน พ่นสีป้ายจราจร เป็นต้น
 
นายอุเส็น มูสอ ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีในฐานะเลขานุการชมรมฌาปนกิจบ้านลูโบะปันยัง และยังเป็นพี่เลี้ยงโครงการสนับสนุนทุนวิจัยกิจกรรมทางเลือก (Alternative Activity Research : AAR) เพื่อเด็ก เด็กกำพร้า เยาวชน สตรี สตรีหม้าย และผู้นำศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอำเภอจะนะ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา) สกว.ที่เข้ามาสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในหมู่บ้าน
 
นายอุเส็น เล่าว่า เหตุการณ์ทั้งหมดส่งผลกระทบต่อชาวบ้านมาก โดยเฉพาะทางด้านจิตใจเพราะชาวบ้านเกิดความหวาดกลัว หวาดระแวง ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะตัวกำนันเองกับชาวบ้าน หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น เขาเองก็เก็บตัวเงียบอยู่แต่ในบ้าน ไม่ยอมออกไปหาชาวบ้าน คิดว่าชาวบ้านไม่ต้องการเขาอีกแล้ว จึงทำให้ความสัมพันธ์กับชาวบ้านยิ่งห่างมากขึ้น
 
“เมื่อชาวบ้านเห็นว่า อดีตผู้นำคนนี้ไม่เข้าหาชาวบ้านอีกแล้ว ชาวบ้านก็ไม่ไปมาหาสู่กับเขาเช่นกัน ส่วนลูก 2 คน ของลูกชายที่ถูกยิงเสียชีวิตมาเลี้ยงดูเองด้วย แต่ปัจจุบันเมื่อสถานการณ์ความไม่สงบในหมู่บ้านเริ่มดีขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างกำนันกับชาวบ้านก็น่าจะมีแนวโน้มที่ดีด้วย”
 
 
จุดเปลี่ยนสำคัญที่น่าจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอดีตกำนันคนนี้ชาวบ้านกับดีขึ้น ก็เมื่อชาวบ้านได้เชิญมาเป็นประธานชมรมฌาปนกิจบ้านลูโบะปันยังนั่นเอง ซึ่งตั้งขึ้นมาตั้งเดือนมกราคม 2552
 
โดยนายอุเส็นเห็นว่า สุขภาพจิตของกำนันไม่ดีเลยมาตั้งแต่สูญเสียลูกชาย โดยเฉพาะทัศนคติต่อชาวบ้าน เพราะเชื่อว่า คนในหมู่บ้านนั่นเองที่เป็นคนก่อเหตุ ถ้าปล่อยไว้นานจะยิ่งไปกันใหญ่ จึงเชิญให้มาเป็นประธานเพื่อพยายามให้ลืมเรื่องเก่าๆและต้องการให้เห็นว่าชาวบ้านยังเคารพนับถือ แม้ดูแล้วยังดังความรู้สึกดีๆกลับมาได้ไม่มากก็ตาม
 
ซึ่งบทบาทหน้าที่สำคัญของประธานก็คือเมื่อมีสมาชิกชมรมเสียชีวิต ประธานก็จะนำเงินฌาปนกิจไปมอบให้กับญาติด้วยตัวเอง เป็นหนทางหนึ่งในการเยียวยาจิตใจและสร้างทัศนคติที่ดีต่อชาวบ้านขึ้นมาใหม่ เพราะต้องมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับชาวบ้านที่เคยเป็นลูกบ้านของตัวเอง
 
แม้มีอดีตลูกบ้าน 2 – 3 คนได้หนีหายไปจากหมู่บ้านแล้วก็ตาม
 
“งานที่ผมทำ จึงเป็นการเยียวยาชุมชนมากกว่าเยียวยาบุคคล เพียงแต่ที่ยกกรณีของกำนันวอแล๊ะขึ้นมา เนื่องจากเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในหมู่บ้าน” อุเส็นอธิบาย
 
ส่วนนายวอแล๊ะ จินตรา อดีตกำนันผู้สูญเสีย เล่าว่า วิถีชีวิตตอนนี้ก็เป็นปกติธรรมดา เหมือนคนทั่วไปที่ไม่ได้มีตำแหน่งหน้าที่อะไร เพราะเกษียณจากกำนันมาตั้งแต่ปี 2549 ต่างจากเมื่อก่อนที่เป็นผู้นำในหมู่บ้านมา 20 ปี ต้องรับผิดชอบหลายอย่าง
 
“อะไรที่จะเกิดมันก็ต้องเกิด ส่วนผลกระทบทางด้านจิตใจก็ต้องมีบ้าง ตอนนี้ยังหวาดผวาอยู่ เพราะเราเคยโดนกับตัวเอง ดังนั้นการจะเชื่อใจใครได้ นั้นตอนนี้ต้องพิจารณาให้ดีก่อน ต้องสังเกตให้ดี ไม่ว่าเขาจะเป็นเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้อง เพราะสถานการณ์ตอนนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว” อดีตกำนันวอแล๊ะ อธิบายถึงความรู้สึกข้างในจิตใจ
 
พร้อมกับเล่าต่อว่า “แต่การที่ได้มาเป็นประธานชมรมฌาปนกิจบ้านลูโบะปันยังได้นั้น ก็เพราะชาวบ้านเชิญมา แสดงว่าชาวบ้านก็ยังต้องการให้เราเป็นผู้นำอยู่ เพื่อให้ได้มาทำงานเพื่อส่วนรวมอีก”
 
 
แม้จะมีบาดแผลอยู่ในใจ แต่ก็ใช่ว่าจะส่งผลให้การทำงานมีปัญหาไปด้วย เพราะตลอด 1 ปี 4 เดือนที่เข้ามาเป็นประธานเป็นคนแรก มีการประชุมคณะกรรมการชมรมทุก 2 – 3 เดือน มีการมอบเงินค่าฌาปนกิจศพสมาชิกไปแล้ว 11 ราย โดยที่เขาเป็นผู้นำไปมอบให้ญาติคนตายด้วยตัวเอง
 
 
“ในช่วงแรกๆ ก็มีปัญหาบ้างเป็นเรื่องปกติ เพราะยังมีชาวบ้านที่ยังไม่เข้าใจและไม่ไว้ใจ ก็ต้องทำความเข้าใจกัน”นายวอแล๊ะ กล่าว พร้อมกับอธิบายต่อว่า
 
การจัดพิธีเปิดสำนักงานอย่างเป็นทางการครั้งนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านเข้าใจมากขึ้น เพราะมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานที่ผ่านมาด้วย
 
 
“ถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้สึกสบายใจอยู่เลย แต่ก็มี ยีเซ็ง(นายอุเส็น) นี่แหละที่เป็นคนที่ดึงเราเข้ามา แล้วก็ให้กำลังใจตลอด” คือคำทิ้งท้ายของอดีตกำนันวอแล๊ะ ผู้สูญเสีย
 
 
“ถ้าจัดงานนี้ที่บ้านผม รับรองขนมจีน 100 กิโลกรัมไม่พอแน่ ก็ได้แต่หวังว่าจัดงานครั้งต่อไปชาวบ้านจะมากันมากกว่านี้”
 
วอแล๊ะไม่ได้พูดประโยคนี้ แต่เป็นเสียงกระซิบทิ้งท้ายของอุเส็น
 
 
 

 
ฌาปนกิจคนตาย เพื่อเยียวยาคนเป็น
 
นายอุเส็น มูสอ เลขานุการชมรมฌาปนกิจบ้านลูโบะปันยัง หมู่ที่ 3 ตำบลกาบัง อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา อายุ 58 ปี อาชีพเป็นเกษตรกร ในฐานะพี่เลี้ยงโครงการสนับสนุนทุนวิจัยกิจกรรมทางเลือก (Alternative Activity Research : AAR) เพื่อเด็ก เด็กกำพร้า เยาวชน สตรี สตรีหม้าย และผู้นำศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
(ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ อ.จะนะ อ.เทพา จังหวัดสงขลา)กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการตั้งชมรมฌาปนกิจบ้านลูโบะปันยังแห่งนี้ ดังนี้
 
ในช่วงหลังปี 2551 ตนได้ร่วมงานกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. เพราะอยากแก้ปัญหาของหมู่บ้าน ซึ่งขณะนั้นเริ่มได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งหมู่บ้านแห่งนี้มีคนนอกเข้ามาอาศัยจำนวนมาก จึงกลัวว่าจะเกิดความแตกแยกขึ้นในหมู่บ้าน แกนนำในหมู่บ้านได้หารือกันเพื่อให้ชาวบ้านมีความเป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนเช่นที่เป็นมาตั้งแต่อดีต
 
ผมรู้จักกับ สกว. จึงได้สนับสนุนงบประมาณมา 5,000 บาท เพื่อมาทำโครงการชุมชนสันติสุข โดยได้จัดอบรมสมาชิกในหมู่บ้าน ชาย 25 คน และหญิง 25 คน ให้ช่วยกันคนหาปัญหาในหมู่บ้าน ซึ่งก็พบว่ามีหลายปัญหา ที่สำคัญเป็นปัญหาที่ชาวบ้านสามารถแก้ไขเองได้
 
จากนั้นจึงมีการตั้งชมรมผู้ทรงคุณวุฒิในหมู่บ้าน มีคณะกรรมการ 28 คน มีทั้ง กำนัน ผู้นำศาสนา อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) โดยตั้งเป้าว่า จะเยี่ยมบ้านทุกหลังในหมู่บ้านทุกวันศุกร์ โดยทำพร้อมกันสัปดาห์ละ 10 หลังคาเรือน โดยมีการอ่านอัรวะ (อ่านคัมภีร์อัล – กุรอ่านและทำบุญอุทิศผลบุญให้ผู้ที่เสียชีวิตแล้ว) รวมทั้งละหมาดฮายัด (ละหมาดเพื่อขอพรในสิ่งที่ต้องการ) และถือโอกาสพูดคุยกับเจ้าของบ้านและสมาชิก เพื่อสอบถามข้อมูล ปัญหาที่ประสบอยู่รวมทั้งข้อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา
 
เริ่มทำโครงการนี้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 จนครบบ้านทุกหลัง จากนั้นอีก 3 เดือนคณะกรรมการก็จะมาประชุมสรุปกัน ซึ่งข้อสรุปส่วนหนึ่งที่ได้จากการหารือกันนั้นก็คือ เรื่องการ ฌาปนกิจกิจ จึงเป็นที่มาของการตั้งชมรมฌาปนกิจบ้านลูโบะปันยังขึ้นมา
 
การตั้งชมรมฌาปนกิจบ้านลูโบะปันยัง ได้ประโยชน์ 2 ประการ คือแก้ปัญหาความยากจนของชาวบ้านด้วย เพราะช่วยแบ่งเบาภาระในยามจำเป็น และแก้ปัญหาสุขภาพจิตของชาวบ้าน เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องเงินในยามที่มีการตายเกิดขึ้นในบ้าน เพราะมีเงินฌาปนกิจช่วยเหลืออยู่
 
ชมรมฌาปนกิจบ้านลูโบะปันยังก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมกราคม2552 จากสมาชิก200 ครัวเรือนปัจจุบันมีสมาชิก485ครัวเรือน จำนวน 2,425 คน มีเงินกองทุนประมาณ 28,000 บาท จ่ายค่าฌาปนกิจให้กับสมาชิกที่เสียชีวิตรายละ 14,250 กว่า แต่ถ้าเป็นเยาวชนที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ (อายุประมาณ 15 ปี) ก็จะให้ 7,125 บาท แต่หัก 200 บาท ไว้เป็นค่าบริหารจัดการ จากนั้นก็จะเรียกเก็บเงินจากสมาชิกคนละ 30 บาทต่อหนึ่งการตาย
 
 
การตั้งชมรมฌาปนกิจบ้านลูโบะปันยัง เริ่มต้นจากเงินสนับสนุน 5,000 บาทจาก สกว.โดยก่อนหน้านั้น ตนได้สนับสนุนเงินทุนจาก สกว.มาแล้วหลายกิจกรรมของหมู่บ้าน กิจกรรมละ 5,000 บาท แล้วชาวบ้านบริจาคเงินสมทบ เช่น โครงการอบรมช่างเยาวชน เพื่อสร้างห้องน้ำสาธารณะของบาลาเซาะ (สถานที่ละหมาดรองจากมัสยิด) เป็นต้น
 
นายอุเส็น ยังได้เล่าถึงประสบการณ์ของตัวเองด้วยว่า เมื่อก่อนมีบทบาทและประสบการณ์ทางสังคมอยู่เยอะพอสมควร อดีตเคยเป็นรองประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณะสุขหมู่บ้านแห่งประเทศไทยประธานภาคใต้ 8 ปี เคยเป็นอนุกรรมการมาตรฐานการรักษาพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข
 
บทบาทที่ผ่านมา ทำให้เป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน แต่เมื่อก่อนเราห่างกับหมู่บ้านมาก เพราะต้องเดินทางไปกรุงเทพบ่อย เพื่อประชุม เพราะมีบทบาททางสังคมในระดับชาติมากกว่าในระดับหมู่บ้าน
 
หมู่บ้านแห่งนี้เคยมีชื่อเสียงมาก่อน เพราะเป็นหมู่บ้าน อปภ. (อาสาป้องกันภัย) เคยได้รับรางวัลระดับภาคในเรื่องความสะอาด
 
โดยแต่ตั้งแต่เข้ามาอาศัยที่หมู่บ้านแห่งนี้มา 20 ปีแล้ว ตนเองทำกิจกรรมทางสังคมตลอด เริ่มมีบทบาทในหมู่บ้านมาตั้งแต่ พ.ศ.2525 เป็นที่ปรึกษาของโต๊ะอิหม่าม
 
ก่อนทำโครงการชุมชนสันติสุข ชาวบ้านมีความหวาดกลัวมากจากสถานการณ์ความไม่สงบ กลางคืนแทบไม่มีใครกล้าออกจากบ้าน แต่เมื่อมีการทำกิจกรรมนี้ขึ้นมา ชาวบ้านก็กล้าออกจากบ้านกลางคืนมากขึ้น เพราะมีการประชุมงานกันกลางคืน ตอนนี้ชาวบ้านก็รู้สึกเฉยๆ และความร่วมมือเป็นปกติ
 
“วัตถุประสงค์หลักที่ผมมาทำตรงนี้ เพราะผมเคยพูดกับชาวบ้านว่าจะทำอย่างไรให้เป็นหมู่บ้านที่สงบสุขมีการพัฒนา และที่สำคัญเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเยาวชน อะไรที่ดีเราก็ทำ เราไม่ต้องการให้เกิดความแตกแยกและการแบ่งแยก เพราะหมู่บ้านแห่งนี้มีสองส่วน คือ ฟากของมัสยิดกับฟากของบาลาเซาะ
 
เรามีกิจกรรมที่ทำมาต่อเนื่องถึง 19 ปีแล้ว คือ กิจกรรมเยาวชน คือ การจัดการแข่งขันกีฬา เช่น ฟุตบอล โดยผมเข้ามารับเป็นแกนนำเองประมาณ 3 ปีแล้ว การจัดงานปีนี้จึงเป็นครั้งที่ 19 โดยจัดขึ้นที่สนามกีฬาของโรงเรียนในช่วงเดือนเมษายน 2553
 
ในวันเปิดงาน เรามีการรณรงค์ในเรื่องต่างๆ ใน 6 กิจกรรม ได้แก่ เรื่องความสะอาด ยาเสพติด วัฒนธรรม เศรษฐกิจพอเพียง ไข้เลือดออกและโรคเอดส์
 
ปี 2537 ผมเองเคยได้รับรางวัล อสม.ดีเด่นของจังหวัดยะลา การได้รับรางวัลครั้งนั้น ทำให้ผมคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะรักษาความดีเด่นนี้ตลอดไป เพราะรางวัลดีเด่นนี้ผมถือว่าเป็นของหมู่บ้าน จึงคิดเรื่องการรณรงค์ในกิจกรรมต่างดังกล่าวขึ้นทุกปี ซึ่งบางปีอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามความเหมาะสม โดยช่วงแรกๆ ได้รณรงค์เรื่องการใช้ส้วม เรื่องความสะอาด เป็นต้น
 
ตอนนี้หมู่บ้านสามารถกลับมามีความเข้มแข็งได้เกือบจะเหมือนเดิม ก็เพราะในการจัดทำโครงกา  มีกรรมการที่เข้มแข็ง มีกิจกรรมที่ชัดเจน และมีเงินทุนเพียงพอ”
 
 
 
 
 

 
‘เฮอะกีตอ’ โครงการ สกว.เพื่อชุมชนเข้มแข็ง
 
 
ผศ.ปิยะ กิจถาวร คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะที่ปรึกษาหน่วยประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคใต้ตอนล่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการทำวิจัยแห่งชาติ (สกว.) กล่าวถึงงบสนับสนุนจาก สกว.กิจกรรมละ 5,000 บาทที่สนับสนุนการตั้งชมรมฌาปนกิจบ้านลูโบะปันยัง ว่า อยู่ในส่วนของ โครงการสนับสนุนทุนวิจัยกิจกรรมทางเลือก (Alternative Activity Research : AAR) เพื่อเด็ก เด็กกำพร้า เยาวชน สตรี สตรีหม้าย และผู้นำศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ อำเภอจะนะและเทพา จังหวัดสงขลา) สกว. มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ
 
1.บริหารจัดการเบ็ดเสร็จโดยชาวบ้านเอง เรียกว่า โครงการ “เฮอะกีตอ” (ของพวกเรา) ซึ่งมีคณะกรรมการพิจารณาโครงการที่ขอรับการสนับสนุนในระดับจังหวัด
 
2.ต้องการให้ชาวบ้านร่วมกันแก้ปัญหา 3 กลุ่มเป้าหมาย คือ หญิงหม้าย เด็กกำพร้าและผู้นำศาสนา
 
3.ฟื้นฟูความสัมพันธ์และสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีในสังคม
 
โดยขณะนี้โครงการนี้เข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว ที่ผ่ามามีทั้งหมด 8 ระยะ โดยมีกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมทางเลือก กิจกรรมกองทุนแม่และกิจกรรมกองทุนช่าง
 
โดยเป็นการสนับสนุนเงินทุนเพื่อจัดตั้งกองทุนขนาดเล็ก หรือ Micro Credit จำนวน 5,000 บาทต่อกองทุน กำหนดชำระเดือนละ 150 บาท ที่ผ่านมามีการสนับสนุนแล้ว จำนวน 83 กองทุน
 
สำหรับกิจกรรมทางเลือกอาจให้เป็นรายบุคคล ส่วนกองทุนแม่เป็นรายกลุ่ม ส่วนกองทุนช่างเน้นเรื่องสาธารณะ เช่น กำก่อสร้างรั้วมัสยิด เป็นต้น ซึ่งในหมู่บ้านหนึ่งอาจมีทั้ง 3 กิจกรรมและมีหลายกองทุน เช่น ที่ตำบลบาโงซิแน อำเภอยะหา จังหวัดยะลา มีทั้งหมด 12 กองทุน
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net