Skip to main content
sharethis

14 เม.ย. 53 - ศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD) ออกแถลงการณ์ “รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาด้วยวิถีทางประชาธิปไตย ไม่ใช่ความรุนแรง”

แถลงการณ์
ศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมนิยมประชาธิปไตย

“รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาด้วยวิถีทางประชาธิปไตย ไม่ใช่ความรุนแรง”

จากเหตุการณ์ที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศใช้ พรบ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ เพื่อควบคุมการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ หรือ นปช. หลังจากนั้นรัฐบาลได้ประกาศใช้ พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ประกาศปิดเว็บไซต์ที่รัฐบาลเชื่อว่ามีเนื้อหาสนับสนุนการชุมนุม และตัดสัญญาณการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ People Channel ซึ่งถือเป็นการเป็นการละเมิดเสรีภาพสื่ออย่างร้ายแรง และสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไป เมื่อรัฐบาลประกาศขอพื้นที่คืนจากกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้า ในวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ มีการใช้กำลังทหารและอาวุธสงครามในการจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีเพียงสองมือเปล่า และชุมนุมอย่างสันติมากว่าสามสัปดาห์ ผลจากคำสั่ง “ขอพื้นที่คืน” ของรัฐบาลทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งฝ่ายทหาร ผู้ชุมนุม และสื่อมวลชน

ศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมนิยมประชาธิปไตยมีข้อเรียกร้องต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้

๑. รัฐบาลต้องรับผิดชอบการสลายการชุมนุมอันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และต้องมีมาตรการในการเยียวยาผู้เสียหาย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ต้องลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดของรัฐบาลและผู้สั่งสลายการชุมนุมด้วยกำลังทางทหารดังกล่าว เพื่อเยียวยาร้อยร้าวของสังคมไทยซึ่งความขัดแย้งมาจากการที่ประชาชนไม่อาจยอมรับฐานะของรัฐบาล ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง และขอให้เยียวยาญาติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอย่างเร่งด่วน

๒. ตั้งกรรมการสอบสวนและเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้อง กับการควบคุมจลาจลที่ไร้ประสิทธิภาพ หากผู้บัญชาการกองทัพมีส่วนก็ต้องร่วมแสดงความรับผิดชอบกับรัฐบาล รวมถึงกองกำลังไม่ทราบฝ่ายที่ใช้อาวุธสงครามตอบโต้กับทหารก็ต้องมีการสอบสวนเอาผิดทางกฎหมายด้วยเช่นกัน

๓. รัฐบาลต้องยกเลิกการปิดกั้นช่องทางการสื่อสารของผู้ชุมนุมอย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะเสรีภาพของสื่อมวลชนนั้นเป็นหลักประกันว่าประเทศนั้นมีความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด และสื่อมวลชน พึงระลึกไว้เสมอว่าสื่อต้องวางตัวเป็นกลางในสถานการณ์ความขัดแย้ง 

๔. ยกเลิกการควบคุมการชุมนุมด้วยกฎหมายที่ให้อำนาจกับรัฐบาลและทหารอย่างไม่มีขอบเขต การควบคุมการชุมนุมในประเทศประชาธิปไตยนั้นใช้ตำรวจที่ฝึกมาอย่างดีในการควบคุมฝูงชน และห้ามการใช้อาวุธสงครามในทุกกรณี ยิ่งไปกว่านั้น การชุมนุมอย่างสงบและปราศจากอาวุธนั้นเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญในประเทศประชาธิปไตย

๕. กองทัพต้องทบทวนบทบาทของตัวเองและแสดงความรับผิดชอบกับการเสียชีวิตของประชาชน การแทรกแซงการเมืองมิใช่หน้าที่ของกองทัพในประเทศประชาธิปไตย และการรัฐประหารโดยกองทัพ นอกจากจะเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในทุกกรณีแล้ว ยังถือเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง

๖. ทั้งสองฝ่ายควรร่วมหาทางออกจากความขัดแย้งต่อจากนี้ด้วยวิถีทางประชาธิปไตย เพื่อป้องกันการสูญเสียมากกว่าที่เป็นอยู่และป้องกันการฉวยโอกาสแทรกแซงการเมืองของกองทัพ

๑๓ เมษายน ๒๕๕๓
ศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมนิยมประชาธิปไตย

  
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net