Skip to main content
sharethis
12 เม.ย.53 กลุ่มนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศร่วมออกจม. เปิดผนึก เรียกร้องให้หยุดปราบปรามผู้ชุมนุมเสื้อแดง โดยมีผู้ร่วมลงชื่อแล้ว 114 ราย ประกอบด้วย นักวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัยทั่วโลก รวมถึงนักวิชาการไทย เช่น เควิน ฮิววิสัน จากมหาวิทยาลัยนอร์ธ คาโรไลนา แอท แชเปิล ฮิลล์, แอนดรูว์ วอล์คเกอร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย, แคเธอรีน บาววี่ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน,  ธงชัย วินิจจะกูล จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน, เกษียร เตชะพีระ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ พวงทอง ภวัครพันธุ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น
 


หยุดปราบผู้ชุมนุมในไทย
นักวิชาการและผู้สังเกตการณ์เรียกร้องให้หยุดใช้ความรุนแรง
 
ในวันที่ 10 เม.ย. 2010 รัฐบาลไทยได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงในกรุงเทพฯ รายงานข่าวจากสำนักข่าวและจากผู้สังเกตการณ์บอกว่ามีการเคลื่อนพลของกองกำลังสลายการชุมนุมขนาดใหญ่มากในเมือง และมีการใช้ปืนน้ำ, แก๊สน้ำตา, กระสุนยาง, กระสุนจริง รวมถึงความรุนแรงอื่น ๆ ในการปราบปรามผู้ชุมนุม ในวันที่ 11 เม.ย. ช่วงราว 11.30 น. ทางศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน (ศูนย์เอราวัณ) ก็รายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 20 ราย 16 รายเป็นประชาชนและอีก 4 รายเป็นทหาร นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บราว 834 ราย
 
จากความกังวลในเรื่องการใช้กำลังของรัฐไทย กลุ่มนักวิชาการและผู้สังเกตการณ์ด้านการเมืองไทยเริ่มส่งจดหมายล่ารายชื่อตั้งแต่ในช่วงเย็นวันที่ 10 เม.ย. จดหมายข้อเรียกร้องฉบับนี้ ขอให้รัฐบาลไทยหยุดใช้ความรุนแรงโดยทันที โดยระบุว่า "แน่นอนว่าการเจรจาอาจเป็นวิธีการที่ยากลำบาก แต่การใช้กำลังจะยิ่งมีแต่ทำให้วิกฤติบานปลาย และทำให้เกิดการบาดเจ็บและสูญเสียชีวิต" โดยผู้ลงรายชื่อเรียกร้องให้ผู้นำไทยหยุดการใช้มาตรการรุนแรงและหันมาใช้แนวทางเจรจา
 
"แน่ชัดว่าความตึงเครียดของการเมืองไทยไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการใช้กำลัง การเจรจาเรื่องการเลือตั้งครั้งหน้าอย่างตั้งใจจะเป็นหนทางขั้นแรกในการแก้ไขวิกฤตินี้ สิ่งที่สำคัญกว่าในระยะยาวคือการที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง" แอนดริว วอลเกอร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออยเตรเลียกล่าว
 
มีประชาชน 114 คนที่ร่วมลงชื่อในการเรียกร้อง และจำนวนรายชื่อก็กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในตอนเที่ยงของวันที่ 12 เม.ย. ตามเวลาขิงกรุงเทพฯ จดหมายฉบับนี้จะถูกส่งไปยังนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, พล.อ. อนุพงศ์ เผ่าจินดา, รัฐมนตรีต่างประเทศ กษิต ภิรมย์, และรักษาการนายกฯ สุเทพ เทือกสุบรรณ ในขณะเดียวกันจดหมายฉบับนี้จะส่งไปยังสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน และรัฐบาลต่างประเทศอื่น ๆ
 
"หากยังมีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะมีอนาคตในเรื่องประชาธิปไตย และมีการพัฒนาหลักนิติธรรม การใช้กำลังความรุนแรงจะต้องหยุดลงโดยพลัน นอกจากนี้ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินรวมถึงมาตรการปิดกั้นสื่อ ควรถูกยกเลิกด้วย" ไทเรล ฮาเบอคอน จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียกล่าว
 
000
 
จดหมายเรียกร้องให้หยุดการปราบปรามผู้ชุมนุมในกรุงเทพฯ โดยทันที
 
เรียน : รัฐบาลไทย
 
ในฐานะที่เป็นผู้สังเกตการณ์การเมืองไทย เราขอเรียกร้องให้รัฐไทยหยุดใช้กำลังปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมในกรุงเทพฯ เรารู้สึกเป็นห่วงอยากยิ่งในการใช้ปืนน้ำ, กระสุนปืนจริง, แก๊สน้ำตา และความรุนแรงแบบอื่น ๆ กับกลุ่มคนเสื้อแดงที่ทำการประท้วง ในขณะที่วิกฤติการณ์เลวร้ายลงในช่วงวันที่ 9-10 เม.ย. 2010 แน่นอนว่าการเจรจาอาจเป็นทางออกที่ยากลำบาก แต่การใช้กำลังจะยิ่งทำให้วิกฤติบานปลาย และทำให้เกิดการบาดเจ็บและสูญเสียชีวิต
 
รัฐบาลไทยเรียกตัวเองว่าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย นี่เป็นเวลาที่ผู้นำจะต้องแสดงการปกครองตามแบบแผนของประชาธิปไตย การแก้ไขวิกฤติในครั้งนี้จะเริ่มต้นได้ด้วยการหยุดใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมและกลับไปสู่วิธีการเจรจา
 
 
รวมรายชื่อเต็มและต้นฉบับ
http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/wp-content/uploads/2010/04/press-release-end-the-crackdown.pdf
 
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net