Skip to main content
sharethis

สิทธิด้านสุขภาพถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงได้รับ ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลกหรือบุคคลนั้นจะมีสถานภาพที่ผิดกฎหมายหรือไม่ก็ตาม โดยทั่วไปแล้วการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพคงไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไรสำหรับประชากรคนไทยที่ได้รับบริการจากภาครัฐ ในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมโรค หรือการรักษาพยาบาล แต่สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องห่างไกลของแรงงานข้ามชาติ ทั้งจากทัศนคติของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ประวัติศาสตร์ระหว่างประเทศที่สั่งสมผ่านมายาวนาน และอาจจะรวมไปถึงสถานภาพที่ผิดกฎหมายของแรงงานข้ามชาติ จนทำให้ลืมนึกถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชนไป ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วมีแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เช่น สมุทรสาคร  สมุทรปราการ  กรุงเทพมหานคร และภาคใต้บางจังหวัดของประเทศไทย

สถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการเกิดโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติกลุ่มจังหวัดภาคใต้ โดยนายชูวงศ์ แสงคง และคณะ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย จังหวัดระนอง โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้หลักการที่ว่า ทำอย่างไรให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิ โอกาส ความเป็นธรรม และการมีหลักประกันในชีวิตอย่างเพียงพอ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งมีพื้นที่ทำงานครอบคลุมจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต ทั้งนี้จังหวัดระนองเป็นพื้นที่นำร่องในการทำงานของโครงการ เนื่องจากในทางภูมิศาสตร์มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศพม่า เป็นทางผ่านสำคัญของแรงงานข้ามชาติที่จะเข้าสู่ส่วนกลางของไทยและเดินทางต่อไปยังประเทศที่ 3  รวมทั้งจังหวัดระนองก็มีความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมประมง เพื่อมาทำงานทดแทนในส่วนที่แรงงานไทยไม่ต้องการทำ เพราะเป็นงานที่หนักและส่งผลกระทบในเรื่องของสุขภาพ  เช่น การทำงานในเรือประมง สะพานปลา เป็นต้น

ในระนอง แรงงานข้ามชาติจากพม่าอาศัยอยู่ที่หมู่ 4,5,6  ของ ต.บางริ้น  อ.เมือง ซึ่งถือว่าเป็นชุมชนหนาแน่นแออัด ส่งผลให้คนในชุมชนมีปัญหาในเรื่องสุขภาพตามมา จากการลงพื้นที่พบว่าแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่อาศัยอยู่เป็นชุมชนห้องแถวและซอยเล็กๆ ค่อนข้างเก่าทรุดโทรม แบ่งซอยเป็นห้องเช่าติดๆกัน ซึ่ง 1 ห้องพักจะมีแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่ประมาณ 7-10 คน จึงส่งผลให้มีการระบาดของโรคต่างๆได้ง่ายมาก

ทางมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย จังหวัดระนอง จึงได้ประสานความร่วมมือกับสถานีอนามัยบางริ้นบ้านมิตรภาพจัดตั้งศูนย์สาธารณสุขมูลฐานไทย-พม่า โดยใช้ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน (ศสมช.) ซึ่งเป็นศูนย์ปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านหรือที่รู้จักกันดีว่า อสม. โดยหวังให้มีการรวมกลุ่มของ อสม. และตัวแทนของแรงงานข้ามชาติในชุมชนเพื่อทำงานร่วมกันในการให้บริการในด้านสุขภาพแก่คนในชุมชน ซึ่งหมายรวมถึงแรงงานข้ามชาติทั้งมีบัตรและไม่มีบัตรด้วย

นายปฏิเวธ เพชรทะนันท์ หัวหน้าสถานีอนามัยบางริ้นบ้านมิตรภาพและผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอเมือง กล่าวว่า “ตอนนี้ในส่วนพื้นที่ที่รับผิดชอบมีปัญหาเรื่องสุขภาพของแรงงานข้ามชาติทั้ง 4 มิติ คือ ในเรื่องการเข้าถึงบริการ การส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค และการฟื้นฟู โรคที่พบมากที่สุดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ คือ วัณโรคและอหิวาตกโรค ที่ผ่านมาในปี 2550 มีการระบาดของโรคอหิวาตกโรคอย่างรุนแรงในพื้นที่ ต.บางริ้น ทำให้มีการหาที่มาของโรคเพื่อที่จะทำการควบคุม ในช่วงนั้นมีประชาชนทั้งไทยและพม่าป่วยด้วยโรคดังกล่าวถึง 200 คน ตามสถิติจะเป็นในแรงงานข้ามชาติมากกว่าคนไทย และยังมีอีกหลายโรคที่แพร่กระจายในพื้นที่ อาทิ มาลาเรีย เท้าช้าง เป็นต้น

สาเหตุที่ทำให้มีการระบาดของโรคในพี่น้องแรงงานข้ามชาติอย่างรวดเร็ว มาจากพฤติกรรมในการบริโภค สภาพแวดล้อมของสถานที่ทำงาน ที่พัก และการขาดความรู้เรื่องอาชีวอนามัยที่ถูกต้องผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะไม่ค่อยดูแลในเรื่องของอาชีวอนามัยของแรงงานข้ามชาติเท่าที่ควร เพราะจะทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น อย่างเช่น ในการทำความสะอาดแพปลา ผู้ประกอบการเลือกที่จะใช้น้ำในลำคลองและน้ำทะเลในการล้างแพปลา แทนที่จะเป็นน้ำที่มีส่วนผสมของคลอรีนในการฆ่าเชื้อโรค เพราะมีต้นทุนที่ถูกกว่า

เมื่อมีการเจ็บป่วย แรงงานข้ามชาติก็สามารถเข้าใช้บริการได้ที่สถานีอนามัย  โรงพยาบาล และร้านขายยา แต่แรงงานบางคนที่ไม่มีใบ ทร.38/1 และใบอนุญาตทำงาน ก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาตามจริง แต่แรงงานเหล่านี้ก็ไม่มีเงินเพียงพอ

โครงการนี้จึงเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขได้มากขึ้น เพราะมีศูนย์กระจายอยู่ตามหมู่บ้าน เกิดการรวมกลุ่มกันของชาวไทยและแรงงานข้ามชาติทำให้มีการช่วยเหลือหรือสื่อสารกันได้ เมื่อมีการดูแลรักษากันในเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้นก็จะส่งต่อเข้าสู่ระบบโดยผ่านมูลนิธิศุภนิมิต สถานีอนามัย และโรงพยาบาลต่อไป

ในความเป็นจริงแล้วแรงงานข้ามชาติและคนไทยในจังหวัดระนอง ไม่สามารถแยกจากกันได้ จึงมีความจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการเข้ามาจัดการตรงนี้ด้วย  โดยส่วนตัวผมคิดว่าแรงงานข้ามชาติเป็นคนหนึ่งคน ที่มีสิทธิเท่าเทียมกันกับคนไทยและยังเป็นทรัพยากรที่สำคัญของโลก ก็ควรจะได้รับสิทธิตามกฎหมาย ซึ่งในฐานะที่ผมทำงานด้านสาธารณสุข เราไม่แบ่งแยกว่าแรงงานข้ามชาติจะมีสถานภาพถูกกฎหมายหรือไม่ เมื่อเขามารับบริการเราก็ให้บริการไปอย่างเต็มที่ โดยไม่มีการกีดกันหรือแบ่งแยกแต่อย่างใด”  เหล่านี้คือสถานการณ์และแนวคิดในการทำงานของหัวหน้าสถานีอนามัยบ้านมิตรภาพบางริ้น

คงไม่ต่างอะไรกับเด็กหนุ่มชาวพม่าคนหนึ่ง ที่เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ซึ่งเคยทำงานเป็นแรงงานในโรงงานเย็บผ้ามาก่อน

“ผมมาทำงานกับมูลนิธิได้ประมาณ 3 ปีแล้ว ก่อนหน้านั้นเคยทำงานในโรงงานกรุงเทพฯมาก่อน  ในช่วงแรกที่มาทำงานกับมูลนิธิมีปัญหามาก เพราะแรงงานข้ามชาติขาดความรู้เรื่องสุขภาพ โดยส่วนตัวสนใจในเรื่องสิทธิของแรงงานข้ามชาติ แต่แรงงานข้ามชาติเองไม่สนใจในเรื่องสิทธิของเขา เพราะเขาต้องทำงาน จึงไม่มีเวลาสนใจเรื่องพวกนี้ เวลาลงพื้นที่ทางมูลนิธิจะไม่ให้เป็นสิ่งของแก่แรงงานข้ามชาติ เพราะคิดว่ามันจะไม่เป็นประโยชน์ต่อแรงงานในระยะยาว ซึ่งการทำงานของทีมงานจะลงไปให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพเป็นหลัก เช่น การแนะนำเรื่องโรคเอดส์ วัณโรค อหิวาตกโรค ซึ่งเมื่อเขาเข้าใจก็จะมีการบอกต่อกันเองซึ่งถือว่าจะเป็นความรู้ที่สามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน 

ปกติแล้วชุมชนพม่าในจังหวัดระนองจะกระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ เราจะหาชุมชนเป้าหมายโดยหาชุมชนที่มีแรงงานข้ามชาติอาศัยกันอย่างหนาแน่น หรือชุมชนที่อยู่ไกลจากสถานบริการด้านสาธารณสุข แต่ละชุมชนจะมีอาสาสมัครสาธารณสุขที่เป็นแรงงานข้ามชาติที่จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างแรงงานข้ามชาติและศูนย์สาธารณสุขมูลฐานไทย-พม่า ในการเข้ารับบริการของโครงการ แต่ในเบื้องต้นตอนนี้ กำลังค้นหาอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติตามชุมชนต่างๆอยู่ เพื่อที่จะนำตัวแทนเหล่านั้นมาทำงานรวมกลุ่มกับ อสม.”

นางวนิดา เพชรทอง อาสาสมัครหมู่บ้านหมู่ที่ 5 ต.บางริ้น หญิงวัยกลางคน กล่าวด้วยสายตาที่มุ่งมั่นว่า “ชอบที่จะทำงานด้านช่วยเหลือพี่น้องที่เป็นแรงงานข้ามชาติอยู่แล้ว และมีความเต็มใจที่จะทำงานร่วมกัน ซึ่งเคยทำงานในการรณรงค์ในเรื่องโรคอหิวาตกโรคในพื้นที่มาก่อนหลายครั้ง และเพื่อนๆชาวแรงงานข้ามชาติในชุมชนก็มีการพูดคุยอยู่ตลอดเวลาอย่างใกล้ชิด โดยไม่มีปัญหากันแต่อย่างใด”

นี้คือเสียงของคนทำงานและสถานการณ์การให้บริการด้านสุขภาพของชุมชนต้นแบบที่กำลังจะดำเนินการเป็นรูปเป็นร่าง และจะก่อให้เกิดความเข็มแข็งของคนสองวัฒนธรรมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันมาอย่างยาวนาน  ซึ่งอีกไม่นานแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจะเข้าถึงการบริการในด้านสุขภาพอย่างเต็มร้อยเสียที  ยังมีพื้นที่ในประเทศไทยอีกเป็นจำนวนมากที่มีการอยู่ร่วมกันของคนสองชาติไม่ต่างจากพื้นที่ในจังหวัดระนอง อาจจะนำแบบการดำเนินการเหล่านี้ไปปฏิบัติเพื่อสร้างสังคมเป็นสุขให้เกิดกับชุมชนสองวัฒนธรรมของตนก็ได้

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net