Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
พระราชดำริของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๗ นอกจากได้ทรงดำเนินงานสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้น ต่อเนื่องจากพระราชบิดา (ร.๕) และของพระเชษฐา (ร.๖) อาทิโครงการดุลิตธานี ล้นเกล้า ร. ๗ ยังทรงมีดำริให้ตั้งสภาองค์มนตรีขึ้นเพื่อริเริ่มการปฏิรูประบอบการปกครองใหม่ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการไปมากนัก คณะราษฎรก็ทำการยึดอำนาจเสียก่อน ในสาระของระบอบใหม่มีข้อขัดแย้งกันหนักระหว่างแนวของพระองค์และแนวของคณะราษฎร มีพระราชดำริและพระราชบันทึกต่างๆ ที่รู้จักกันทั่วไปมากมาย แต่ที่ควรย้ำไว้เป็นสำคัญคือ พระราชหัตถเลขา และ พระราชบันทึกถึงรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรในปีเดียวกัน ก่อนทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๒ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ 
๑) "ข้าพเจ้าได้พูดไว้นานแล้ว ว่าข้าพเจ้าสมัครใจที่จะสละอำนาจของข้าพเจ้าให้แก่ราษฎรทั้งปวง แต่ไม่สมัครใจสละอำนาจของข้าพเจ้าให้แก่บุคคลหนี่งบุคคลใดหรือคณะหนึ่งคณะใด เว้นแต่จะรู้แน่ว่าเป็นความประสงค์ของประชาชนอันแท้จริงเช่นนั้น.." คือการเน้นอำนาจของปวงชน
๒)พระราชบันทึกของ ร.๗ ถึงสภาผู้แทนเมื่อ ๒๖ ธันวาคม ๒๔๗๗ "การปกครองที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้เป็นลัทธิเผด็จการทางอ้อมๆไม่ใช่ Democracy จริงๆเลย ผลร้ายของการปกครองแบบ Absolute มิได้เสื่อมคลายเป็นการผิดหลักผิดทางของลัทธิ Democracy โดยแท้..ฯ"
๓) "ครั้นเมื่อข้าพเจ้ากลับไปกรุงเทพแล้ว (จากหัวหิน) ได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่หลวงประดิษฐ์ได้นำมาให้ข้าพเจ้าลงนาม ข้าพเจ้าก็รู้สึกทันทีว่า หลักการของผู้ก่อการกับหลักการของข้าพเจ้านั้น ไม่พ้องกันเสียแล้ว เพราะผู้ก่อการมิได้มีความประสงค์จะให้เสรีภาพในทางการเมืองโดยบริบูรณ์ หากแต่ต้องการให้มีคณะการเมืองเพียงคณะเดียว." ทรงเน้นเรื่องเสรีภาพทางการเมืองของบุคคล
๔) "..ครั้นต่อมาระหว่างที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอยู่ ข้าพเจ้าก็ได้พยายามเตือนและโต้เถียงกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอยู่ตลอดเวลาว่า ควรถือหลัก Democracy อันแท้จริงจึงจะถุูก..."
๕) "...เมื่อคณะผู้ก่อการประกาศว่า จะขอพระราชทานโดยเปลี่ยนการปกครองเป็นแบบรัฐธรรมนูญนั้น คนไทยที่มีความรู้ย่อมโมทนากันทั่วไป แต่เมื่อกลายเป็นยึดกันเฉยๆ ไม่ได้ทำให้เสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น ก็กลายเป็นขมขื่นกลืนไม่ลง เพราะผลร้ายของการปกครองแบบ Absolute มิได้เสื่อมคลาย แต่เปลี่ยนตัวเปลี่ยนคณะกันเท่านั้น.."
             
นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมา แม้ว่าประชาชนจะปรารถนาให้ระบอบการปกครองเป็นแบบประชาธิปไตยเพียงใด แต่ฝ่ายเผด็จการอำมาตย์ และเผด็จการทหาร ก็ยังสามารถยึดกุมอำนาจการปกครองได้ตลอด 78 ปีที่ผ่านมา โดยการใช้รัฐธรรมนูญและกฎหมายของคนส่วนน้อย เพื่อคนส่วนน้อยเป็นเครื่องมือ ในการรักษาอำนาจของพวกตนไว้ตลอดมาจนปัจจุบัน โดยได้หลอกสาธารณะชนว่า การมีรัฐธรรมนูญ การมีกฎหมาย การมีพรรคการเมือง การมีการเลือกตั้ง และการมีรัฐสภานั้นคือการมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่เคยให้รู้ความจริงแท้ว่า สาระของประชาธิปไตยที่แท้จริงคืออะไรอย่างไร
            ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้รับรู้ว่าประชาธิปไตย คืออะไร มีปรัชญา หลักการ หรือรูปแบบการปกครองเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่เข้าใจผิด และคิดแต่เพียงว่า ประชาธิปไตยคือการมีรัฐธรรมนูญ มีกฎหมาย มีเลือกตั้ง โดยไม่เคยรู้ว่าในประเทศเผด็จการคอมมูนิสต์ก็มีรัฐธรรมนูญ มีกฎหมาย แต่เป็นกฎหมายของเผด็จการคอมมิวนิสต์ เขียนไว้ปกครองในระบอบคอมมูนิสต์
            ประชาชนและชุมชนไทยทั่วไป ยังถูกล้างสมองทำให้เข้าใจผิดคิดว่าประชาธิปไตยตามกฎหมาย แบบของรัฐเผด็จการนั้นคือความถูกต้อง แต่วิถีชีวิตที่เป็นประชาธิปไตยแท้ที่ชุมชนลงมติทำวัดทำบุญประเพณีร่วมกันนั้นเป็นความไม่ถูกต้อง เพราะไม่มีกฎหมาย จึงไม่ใช่วิธีการของประชาธิปไตย เพราะไม่มีกฎหมายเขียนไว้ ทำให้ประชาชนลืมวิถีชีวิตประชาธิปไตย ไปใช้วิธีการของเผด็จการแทน
ทั้งๆที่ประชาธิปไตย คืออำนาจการปกครอง ที่เป็นของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน อำนาจประชาชนจึงต้องมาก่อน จะมีรัฐธรรมนูญหรือไม่มีก็ได้ จะมีกฎหมายเขียนไว้หรือไม่ก็ได้ ในกรณีสังคมเล็กๆคนไม่มากไม่ต้องมีกฎหมายลายลักษณ์อักษรก็ได้ แต่เมื่อเป็นสังคมใหญ่เป็นประเทศเป็นรัฐ ต้องเป็นนิติรัฐ คือรัฐที่มีกฎหมายของประชาชนเอาไว้เป็นข้อห้ามและข้อปฏิบัติร่วมกัน ไม่ใช่ใช้กฎโจรแทนกฎหมาย
ผู้ปกครองเผด็จการ ที่ผ่านมาทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ทำให้คิดว่าประชาธิปไตยคือการได้เลือกตั้ง โดยไม่รู้ว่าในประเทศจีนในเวียตนามก็มีการเลือกตั้ง เมื่อคนผู้ใดได้รับเลือกตั้งแล้วก็ยังให้ถือกันว่าเป็นเกียรติยศ เป็นนาย เป็นผู้ถืออำนาจยิ่งใหญ่ ไม่ว่าประชาชนจะคิดอย่างไร ไม่ว่าตัวเองจะชนะมาได้อย่างไร ก็คิดว่าชนะได้เป็นดีที่สุด ฝ่ายประชาชนส่วนหนึ่งก็คิดผิด จนติดเป็นนิสัย ทำให้การเลือกตั้ง การลงคะแนนต้องมีค่าลงคะแนนเสียง จนเป็นคำกล่าวทีเล่นทีจริงว่า เงินไม่มากาไม่เป็น คือถ้าผู้สมัครคนใดไม่ติดสินบนให้ ก็ไม่ลงคะแนนให้คนนั้น โดยไม่รู้สึกรู้สา ว่าประชาธิปไตยไม่ใช่การซื้อขายคะแนน ไม่ใช่การซื้อขายอำนาจ อย่างที่พวกเผด็จการนายทุนทำกันอยู่
ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย มิใช่การได้มีเสียงข้างมากในสภาด้วยวิธีการทุจริตคอรัปชั่นในการเลือกตั้ง อย่างที่ผ่านๆมา ไม่ได้หมายถึงการที่พรรคการเมืองใดมีมือในสภามากกว่า เพื่อเอาไว้ช่วยเป็นเครื่องมือลงมติในสภา เอาไว้ใช้ยกเวลาเลือกนายกรัฐมนตรี โดยไม่จำเป็นต้องเป็นความประสงค์ของประชาชน เช่นการที่ประชาชนเสียงส่วนใหญ่เลือกนโยบายของพรรคหนึ่ง แต่พรรครองและพรรคเล็กไปรวมตัว(มือ)กัน แล้วชิงจัดตั้งรัฐบาลมาร์คแทน เช่นในปัจจุบันก็ถือว่าผิดหลักการแห่งประชาธิปไตย ไม่ใช่ผิดกฎหมาย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็พยายามอธิบาย ยืนยันว่าตนเองมาตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย โดยไม่ได้อธิบายต่อว่าเป็นกฎหมายของใคร ของเผด็จการหรือของประชาธิปไตย คนไทยผู้ที่มีความรู้เรื่องประชาธิปไตย หรือพอรับรู้ได้เขาก็ไม่สามารถยอมรับที่มาของรัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ จึงไม่ยอมให้รัฐบาลปกครอง ทำให้เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชนจนวันนี้ แต่รัฐบาลก็ดันทุรังอยู่ต่อ เพราะต้องการอำนาจ แต่ก็จะอยู่ไม่ได้ ไม่ว่ารัฐบาลใด ถ้าไม่มีการสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นจริงๆ ขบวนการปฎิวัติประชาธิปไตยของประชาชน ก็ยังจะขับเคลื่อนต่อไป จะมีอยู่ต่อไปเป็นธรรมชาติอย่างไม่สิ้นสุด และจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
วันนี้รัฐบาลเพียงต้องการมือของ ส.ส. เอาไว้เวลาต้องการมติในสภาในการผ่านร่างกฎหมาย ของผู้มีอำนาจตัวจริงเท่านั้น กฎหมายที่เสนอมาก็มักจะเป็นของฝ่ายเผด็จการที่ซ่อนตัวอยู่ในที่ลับ โดยเขาจะใช้คนบางคนให้เป็นบ๋อย หรือเป็นนิติบริกร หรือใช้สำนักงานกรองกฎหมายของรัฐช่วยเป็นเครื่องมือให้ แม้ว่าการยกมือแต่ละครั้งของผู้แทนในรัฐสภา จะมีราคาค่างวดแตกต่างกันไปเพียงใด วันนี้ปัญหาใหญ่คือกฎหมายไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากประชาธิปไตย
 ที่น่าสลดใจมากกว่านั้น ก็คือแม้แต่ตัว ส.ส.หรือ ส.ว.เอง ก็ไม่เคยสำนึกตระหนัก ไม่เคยรับรู้แม้แต่น้อยว่า นั่นมันเป็นความอัปยศ เป็นการทุจริตในระบอบการปกครอง ที่ไม่ควรจะเรียกว่าประชาธิปไตยด้วยซ้ำ ในภาษาการเมืองเขาเรียกกันว่า ระบอบเผด็จการรัฐสภา หรือรัฐสภาเผด็จการ รัฐสภาเผด็จการอาจจะมาจากการเลือกตั้งแบบซื้อสิทธิประชาชน หรืออาจจะถูกแต่งตั้งมาแบบสภาจากคณะรัฐประหารก็ได้ การใช้อำนาจถือว่าไม่แตกต่างกันมากนัก
วันนี้กฎหมายไทยมีปัญหาหนัก ตรงที่เรามีกฎหมายที่เอาไว้ปกครองประชาชนคน 65 ล้าน แต่ส่วนมากเป็นกฎหมายที่สังคมอื่นเขาไม่ยอมรับว่าเป็นกฎหมาย เช่นกฎหมายการกระทำอันเป็นคอมมูนิสต์ที่ยกเลิกไป กฎหมายความมั่นคงที่กำลังใช้อย่างพร่ำเพรื่อ หรือแม้แต่ในรัฐธรรมนูยหลายมาตรา เช่นมาตรา 309 ที่ให้บางคนทำอะไรก็ได้ไม่ผิด อย่างนี้ถือว่าไม่ใช่ข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ ข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญจะต้องเพื่อคนทุกคน ไม่ใช่เพื่อบางคน บางกลุ่ม พวกนิติบริกร อาจจะขายความคิดว่าเขียนกฎหมายเพื่อบางกลุ่มบางคนก็ได้ เช่นกฎหมายห้ามต่างด้าวประกอบอาชีพเป็นต้น จึงให้เข้าใจว่า รัฐข่มขืนให้มีกฎหมายได้ แต่มันไม่ใช่หลักการของระบอบประชาธิปไตย และจะไม่นำมาซึ่งความสงบได้
วันนี้คนไทยเริ่มรับรู้ว่าประชาธิปไตย คือการให้อำนาจการปกครองเป็นของปวงชน (ย้ำว่าไม่ใช่ให้อำนาจเป็นเพียงของคนส่วนใหญ่ แต่ต้องของปวงชน) และ ประชาธิปไตยคือการให้บุคคลมีสิทธิเสรีภาพพื้นฐานสมบูรณ์ เช่นไม่ใช่เขียนไว้ในมาตรา ๖๓ สวยหรูว่ามีสิทธิชุมนุมได้โดยสงบ แต่ขอให้เป็นไปตามกฎหมายความมั่นคง ที่เขียนไว้เป็นข้อยกเว้น เป็นกฎหมายซ้อนกฎหมาย อย่างนี้คือเล่ห์กลของเผด็จการ ไม่ใช่การประกันสิทธิพื้นฐาน
แต่เผด็จการจะทำกฎหมายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือปกครอง แม้การใช้ประกาศของเผด็จการมาตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค 215 คน มีการแอบซ่อนเจตนาร้ายไว้ในกฎหมาย(หรือกฎโจร) ที่ประเทศประชาธิปไตยอื่นไม่ถือว่าเป็นกฎหมาย เผด็จการจะนำมาใช้ตัดสินย้อนหลังอีกด้วย ซึ่งผิดหลักนิติธรรมสากล เขาก็ทำได้ และยังสั่งศาลได้อีกด้วย ล้วนถือเป็นความไม่ชอบธรรมทั้งสิ้น
เหล่านี้คือปัญหา จากที่ระบอบการปกครองมิได้เป็นประชาธิปไตย แต่เผด็จการหลอกคนไทยว่าเรามีกฎหมาย มีรัฐธรรมนูญ มีสภามีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง มีศาล บอกว่าการปกครองของเราดีแล้ว ให้รับระบอบนี้ ที่เป็นเผด็จการทั้งเปิดเผยและซ่อนรูปเช่นปัจจุบัน ผู้ปกครองเผด็จการไทยได้โกหกหลอกลวงประชาชนไทยโดยใช้เครื่องมือแห่งอำนาจต่างๆรวมสื่อกระแสหลักตลอดมา ประชาชนที่พอมีสมองคิดได้ มีแรงเดินได้ ได้ลุกขึ้นมาแสดงความต้องการประชาธิปไตย บางครั้งต้องถูกเข่นฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณ เช่นกรณี  6 ตุลาคม 2519 เป็นความโหดร้ายที่ไร้เหตุผลของชนเผ่าเผด็จการอำมาตย์ และพวกสุนัขรับใช้ที่ถูกจัดตั้งขึ้น อย่างไร้คำอธิบายที่เหมาะสม
 โดยความเป็นจริงหลังการปฏิวัติการปกครอง ๒๔๗๕ เป็นต้นมา การยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยคณะราษฎรนั้น เชื่อได้ว่าเจตนาของคณะราษฎร คงประสงค์จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบกษัตริย์ เป็นระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่ขาดทักษะ ต่อมาด้วยความฉ้อฉลและความเลวร้ายของเผด็จการอำมาตย์ ทำให้อำนาจการปกครองต้องถูกปล้นไป เปลี่ยนมือคณะแล้วคณะเล่า ใช้กฎหมายและรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือมอมเมาพลเมืองตลอดมา ตั้งแต่ปี ๒๔๗๕ จนปัจจุบัน
การลุกฮือของมวลชน เพื่อเรียกร้องและต้องการประชาธิปไตยในอดีตจนวันนี้ แม้มีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก เช่นเมื่อ14 ตุลาคม 2516 หรือ 6 ตุลาคม 2519 หรือ เมื่อเดือน พฤษภาคม 2535 แต่ก็ไม่ได้ทำให้ ฝ่ายเผด็จการอำมาตย์ไทยเกรงกลัวต่ออำนาจประชาชนแต่อย่างใด เพราะใช้อาวุธใช้กำลังทหาร บางครั้งฝ่ายเผด็จการอำมาตย์กลับใช้กองกำลังประชาชนจัดตั้ง พวกปฏิปักษ์ปฏิวัติ สนธิกำลังกับกำลังทหาร ทหารที่เป็นม้าไม่ฟังคำสั่งของจ็อกกี้ บดอัดขยี้พลังของประชาชนมือเปล่าให้พ่ายแพ้ แต่วันนี้พลังนั้นก็ยังอยู่และยิ่งจะมากขึ้น 
เมื่อ เมษายน 2552 ก็เช่นกัน ประชาชนได้ถูกปราบจนกลับบ้านไป แต่ครั้งนั้นก็เหมือนครั้งก่อนๆ การปราบปรามประชาชนทุกครั้ง ก็ไม่เคยทำให้ความต้องการในระบอบการปกครองใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยหมดไป แต่กลับเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ วันนี้รัฐบาลเผด็จการไม่มีมวลชนแล้ว โอกาสชนะไม่มีเลย  
ที่มวลชนหลายแสน กำลังเรียกร้องหาประชาธิปไตย อยู่ที่ถนนราชดำเนินและที่สี่แยกราชประสงค์ ในกทม.ปัจจุบัน ก็เป็นบรรยาการของความต้องการประชาธิปไตยโดยแท้ ที่รัฐบาลแกล้งโง่แปลไม่ออก ในสถานการณ์ปฏิวัติประชาธิปไตย เช่นนี้ไม่ว่าใครจะเป็นผู้นำการเคลื่อนไหว ประชาชนก็ยินดีจะเข้าร่วม หากเขาเชื่อว่าจะพาเขาไปสู่ระบอบการปกครองใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย
 แต่ก็ใคร่จะเรียนเป็นเบื้องต้นว่า การเรียกร้องให้ยุบสภาในวันนี้ สุดท้ายก็เชื่อว่ายังไม่น่าจะนำไปสู่การสถาปนาระบอบประชาธิปไตยไทยให้สำเร็จได้จริง
สถานการณ์ปัจจุบันนี้ เป็นสถานการณ์ปฏิวัติ ที่ผู้ปกครองไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิผล มวลมหาประชาชนไม่ยอมให้ผู้ปกครองจากระบอบเผด็จการบริหารประเทศ รัฐบาลปัจจุบันจึงทำได้เพียงการหาทางซื้อเวลาให้พวกตนอยู่ในอำนาจได้ต่อไปเท่านั้น คาดได้ล่วงหน้าว่าจะมีการทุจริตอีกมากมาย
 สิ่งที่ฝ่ายเคลื่อนไหวปัจจุบันเรียกร้องให้ยุบสภา เลือกตั้งใหม่นั้น ยังเห็นว่าจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาของชาติได้ แนวทางแก้ปัญหาวิกฤติชาติให้สำเร็จ ที่เป็นไปได้ มีเพียงวิธีการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยให้เป็นจริงเท่านั้น
ความสำเร็จของการเคลื่อนไหวจะอยู่ที่เป้าหมายใหญ่ คือการทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน มีการให้สิทธิเสรีภาพ มีความเสมอภาค มีหลักนิติธรรมเป็นหลักกฎหมาย มีผู้ปกครองที่เป็นที่ยอมรับ การสร้างระบอบประชาธิปไตย ให้เป็นอย่างนี้ได้จะต้องใช้อำนาจของประชาชน โดยใช้สภาของประชาชน เป็นผู้ตรารัฐธรรมนูญและกฎหมายของประชาชน จะใช้กฎหมายของเผด็จการไม่ได้ ในระยะเริ่มต้นจะต้องเป็นการดำเนินการของรัฐบาลของประชาชนที่เป็น รัฐบาลเฉพาะกาลเพื่อสร้างประชาธิปไตย เท่านั้น ไม่ใช่รัฐบาลจากพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือต้องไม่ใช่รัฐบาลแห่งชาติ ที่มาจากพรรคการเมืองต่างๆ ที่อาจจะมีเจตนาเพียง ‘ร่วมกันกินเมือง’ เท่านั้น
            วันนี้หากผู้รู้และผู้นำฝ่ายประชาธิปไตย ในสังคมไทยไม่ช่วยกันแสวงหาทางออกที่ถูกต้องเหมาะสม ก็มีโอกาสสูงที่สังคมไทยจะก้าวสู่กลียุคในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหาย ต่อสังคมประเทศชาติอย่างมหาศาล สุดที่จะประมาณได้ จึงถือเป็นวิกฤติของชาติสำคัญ ที่ผู้นำแห่งประชาธิปไตยทั้งหลาย จากทุกหมู่เหล่า จะต้องร่วมกันแสวงหายุทธศาสตร์และยุทธวิธีดำเนินการใหม่ และร่วมกันสร้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยขึ้นให้สำเร็จ ให้จงได้
            นั่นคือการดำเนินการสถาปนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยไทย ที่แท้จริงขึ้น โดยให้อำนาจการปกครองเป็นของปวงชนอย่างแท้จริง ให้บุคคลในสังคมมีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานสมบูรณ์ ให้คนมีความเสมอภาคกันในด้านกฎหมาย ในโอกาสและ ในทางการเมือง สังคมต้องยึดหลักนิติธรรมสากล ในการตรากฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อปกครอง รวมถึงการทำให้ผู้ปกครองในทุกสถาบันอำนาจเป็นที่ยอมรับ ของปวงชนชาวไทย ให้สังคมไทยมีภราดรภาพ อยู่ในบรรยากาศของความสงบสันติ มีความปรองดอง สมานสามัคคี ไม่มีการการแบ่งสีแบ่งพวก แบ่งชนชั้น เพื่อทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย จะได้มีส่วนเป็นเจ้าของและเป็นหุ้นส่วนสำคัญ ในการเมืองการปกครองประเทศร่วมกัน
            หลังสงกรานต์ปีนี้ มีแนวทางสร้างชาติใหม่ ขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนผู้นำประชาธิปไตย ได้ร่วมกันดำเนินการให้มีการจัดตั้ง สภาแห่งอำนาจคู่ สภาแห่งอำนาจของประชาชน “สภาประชาชนปฏิวัติประชาธิปไตย” ขึ้น โดยให้มีผู้แทนจากปวงชน และจากกลุ่มชนทุกหมู่เหล่า เพื่อพัฒนาให้เป็นสถาบันอำนาจที่แท้จริงของประชาชน ดำเนินการให้เป็นองค์การเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยสันติวิธีต่อไป..ฯ

กอง บก. ได้แก้ไขเนื้อหาและนำคำชี้แจงต่อผู้อ่านจาก ดร.วิบูลย์ แช่มชื่น เพิ่มเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 53 

 
จาก เจ้าของบทความ
เรียน นักปรัชญาชายขอบและอาจารย์สมศักดิ์และ The Other
ขอบคุณที่อ่านแล้วให้ความเห็นที่น่าสนใจ ขออภัยที่การนำเสนอบทความนี้ยังไม่สมบูรณ์นัก เพราะไม่ได้ต้องการคะแนนจากใครคนใด ต้องการให้ความรู้ ข้อคิดในส่วนที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับสาธารณะ ไม่ได้มีอคติกับใคร แม้แต่อาจารย์ปรีดี ผู้เขียนไม่เกี่ยวกับการเป็นปัญญาชนคนเสื้อแดง ไม่ได้เห็นด้วยกับการยุบสภาเพื่อไปเป็นเผด็จการรัฐสภาต่ออีกด้วย แต่ไม่ค่อยชอบการแสดงตัวตน ที่อีโก้มากเกินของอาจารย์สมศักดิ์และบางคน ในลักษณะนั้น เห็นว่าน่าจะเป็นอาจารย์ให้การศึกษาที่ไม่ค่อยเข้าท่า ไม่อยากให้ใครหลงตัวเองว่าเป็นปัญญาชน ซึ่งไม่เป็นจริงได้ในยุคนี้ ยุคที่ปัญญาที่ธรรมศาสตร์กับถูกตั้งคำถาม อยากให้คนประชาไทสนใจการนำทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติแก้ไขปัญหาของไทยได้จริงๆมากกว่าแบบฝันเรื่อยไป   ขอเพิ่มเติมข้อมูลในบทความที่ขาดไป ให้ท่านที่ขอมาดังนี้ครับ
นอกจากล้นเกล้า ร.๗ ได้ทรงดำเนินงานสร้างประชาธิปไตยต่อเนื่องจากพระราชบิดา (ร.๕) และของพระเชษฐา (ร.๖)อาทิโครงการดุลิตธานี ร.๗ ยังได้ทรงมีดำริให้ตั้งสภาองค์มนตรีขึ้นเพื่อจะปฏิรูประบอบการปกครองใหม่แต่ยังไม่ได้ดำเนินการมากนัก คณะราษฎรก็ได้ยึดอำนาจเสียก่อน ในสาระของระบอบใหม่ได้ขัดแย้งกันหนักระหว่างแนวของพระองค์และของคณะราษฎร ได้มีพระราชดำริ และพระราชบันทึกต่างๆ เน้นระบอบการปกครองใหม่ที่ให้อำนาจเป็นของปวงชน และเน้นหลักเสรีภาพทางการเมือง ที่รู้จักกันทั่วไป และที่ควรนำมาย้ำ คือ
๑) "ข้าพเจ้าได้พูดไว้นานแล้ว ว่าข้าพเจ้าสมัครใจที่จะสละอำนาจของข้าพเจ้าให้แก่ราษฎรทั้งปวง แต่ไม่สมัครใจสละอำนาจของข้าพเจ้าให้แก่บุคคลหนี่งบุคคลใดหรือคณะหนึ่งคณะใด เว้นแต่จะรู้แน่ว่าเป็นความปประสงค์ของประชาชนอันแท้จริงเช่นนั้น.." คือพระราชดำริการเน้นอำนาจขอลปวงชน
๒)อ้างจากบันทึกของ ร.๗ ถึงสภาผู้แทนเมื่อ ๒๖ ธันวาคม ๒๔๗๗ ว่า "การปกครองที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้เป็นลัทธิเผด็จการทางอ้อมๆไม่ใช่Democracyจริงๆเลย ผลร้ายของการปกครองแบบ Absolute มิได้เสื่อมคลายเป็นการผิดหลักผิดทางของลัทธิ Democracy โดยแท้..ฯ"
๓) "ครั้นเมือข้าพเจ้ากลับไปกรุงเทพแล้ว (จากหัวหิน) ได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่หลวงประดิษฐ์ได้นำมาให้ข้าพเจ้าลงนาม ข้าพเจ้าก็รู้สึกทันทีว่า หลักการของผู้ก่อการกับหลักการของข้าพเจ้านั้น ไม่พ้องกันเสียแล้ว เพราะผู้ก่อการมิได้มีความประสงค์จะให้เสรีภาพในทางการเมืองโดยบริบูรณ์ หากแต่ต้องการให้มีคณะการเมืองเพียงคณะเดียว." เน้นความสำคัญเรื่องเสรีภาพทางการเมืองของบุคคล
๔)"ครั้นต่อมาระหว่างที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอยู่ ข้าพเจ้าก็ได้พยายามเตือนและโต้เถียงกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอยู่ตลอดเวลาว่า ควรุถือหลัก Democracy อันแท้จริงจึงจะถุูก..."
๕) "...เมื่อคณะผู้ก่อการประกาศว่า จะขอพระราชทานโดยเปลี่ยนการปกครองเป็นแบบรัฐธรรมนูญนั้น คนไทยที่มีความรู้ย่อมโมทนากันทั่วไป แต่เม่ื่อกลายเป็นยึดกันเฉยๆ ไม่ได้ทำให้เสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น ก็กลายเป็นขมขื่นกลืนไม่ลง เพราะผลร้ายของการปกครองแบบ Absolute มิได้เสื้อมคลาย แต่เปลี่ยนตัวเปลี่ยนคณะกันเท่านั้น.."
ส่วนความเห็นของคุณ The Other นั้นเรียนว่า ดูมีอคติมากไป อยากให้ใส่ใจในสาระ บทความนี้ที่ไม่เกี่ยวกับระบอบทักษิณ ซึ่งก็ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยที่พูดถึง ไม่อยากให้คิดหมกมุ่นอยู่กับเรื่องของคุณทักษิณอย่างเดียว โดยลืมระบอบ ลืมหลักนิติธรรม จนไม่คิดก้าวหน้าไปไหนได้ ขอช่วยกันคิดใหม่ต่อไปว่่า ประชาธิปไตยไทย ที่เราต้องการร่วมกันคืออย่างไร ที่ให้ทุกคนเป็นหุ้นส่วนได้ รับกันได้ ที่ไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องการคนเดียว ที่แน่ๆเขียนเรื่องนี้เพราะเห็นว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่การขอให้ยุบสภา แล้วไปเลือกตั้งตามกฎของเผด็จการ จึงได้เสนอทางใหม่ ให้ทำความเข้าใจในเนื้อหา นะครับ ขอบคุณ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net