Skip to main content
sharethis

ไครซิสกรุ๊ป เผยแพร่ ‘รายงานเอเชีย’ ฉบับเต็ม พร้อม 8 ข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลไทย โดย ‘ประชาไท’ จะนำเสนอในส่วนบทคัดย่อ ส่วนฉบับเต็ม โปรดดาวน์โหลดตามไฟล์แนบ

0 0 0 

ภาคใต้ของไทย : ก้าวไปสู่การแก้ปัญหาด้วยการเมือง?
(บทคัดย่อ)
 

เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาได้ประกาศว่า รัฐบาลจะนำการกำกับนโยบายการแก้ปัญหาในภาคใต้คืนมาจากกองทัพ แต่ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา รัฐบาลยังคงวุ่นวายอยู่กับการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่มอำนาจเก่า กับผู้สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกโค่นล้มด้วยการรัฐประหาร การแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เดินหน้าไปน้อยมาก

แม้ว่ารัฐบาลจะมีความริเริ่มใหม่ๆ แต่ความอ่อนแอของรัฐบาลและความจำเป็นในการพึ่งพาทหารเพื่อหนุนการดำรงอยู่ในอำนาจ ทำให้กองทัพยังสามารถคงบทบาทสำคัญในการควบคุมนโยบายภาคใต้ไว้

กฎหมายที่มีความรุนแรงและก่อให้เกิดผลลบยังคงบังคับใช้เช่นเดิม และปราศจากกลไกที่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม รัฐบาลยังคงมิได้แสวงหาทางเลือกในเชิงนโยบายอย่างจริงจัง สถานการณ์มีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้น ภายหลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงบรรเทาลงในปี 2551 ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องลงมือปฏิบัติตามสิ่งที่เคยประกาศไว้ หากต้องการจะมุ่งแก้ไขปัญหาความไม่สงบด้วยการเมืองอย่างแท้จริง

การเปิดยุทธการปิดล้อมตรวจค้นตั้งแต่ปี 2550 มีผลทำให้ความรุนแรงลดลงระดับหนึ่ง แม้ว่าในการดำเนินการนั้นจะ ก่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างมิชอบต่อผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวอันนำไปสู่ความไม่พอใจในหมู่คนมลายูมุสลิม แม้ว่าจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2552 จะยังคงน้อยกว่าช่วงก่อนเปิดยุทธการปิดล้อมตรวจค้น แต่แนวโน้มของเหตุการณ์ก็เป็นไปในทิศทางที่รุนแรงขึ้น ลักษณะของการก่อเหตุมีความโหดร้ายมากขึ้น และเทคนิคการกดระเบิดก็มีความก้าวหน้ามากขึ้น การปฏิบัติการของขบวนการได้พิสูจน์ให้เห็นว่า พวกเขาสามารถต้านทานการปราบปรามทางการทหารได้

การสังหารชาวมุสลิมในมัสยิดอัลฟุรกอนขณะกำลังละหมาด เมื่อเดือนมิถุนายน 2552 ได้ก่อให้เกิดความกังวลมากขึ้นถึงความตึงเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างชุมชนซึ่งมีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงผลเสียของการติดอาวุธประชาชนโดยรัฐบาล การสอบสวนสืบสวนของตำรวจระบุว่า ผู้ต้องสงสัยว่าก่อเหตุสังหารโหดในมัสยิดนั้นเป็นคนพุทธ โดยทำไปเพื่อแก้แค้นการลอบทำร้ายคนพุทธของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น หลายประเทศได้ให้ความสนใจเหตุการณ์สังหารในมัสยิดครั้งนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม

การดำเนินการเพื่อเพิ่มบทบาทพลเรือนในการปฏิบัติการในภาคใต้คืบหน้าไปน้อยมาก รัฐบาลได้ประกาศว่าจะเพิ่มอำนาจศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ด้วยการออกกฎหมาย เพื่อให้ ศอ.บต.สามารถบริหารงานอย่างเป็นเอกเทศจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ซึ่งทหารควบคุมอยู่  แต่กองทัพไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน (เรียกโดยย่อว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้อนุมัติการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปแล้วสี่ครั้ง โดยจะต้องมีการต่ออายุทุกๆ สามเดือน การต่ออายุทุกครั้งก็มีแรงกดดันมาจากทหาร พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยไม่ต้องตั้งข้อหาได้ 30 วัน นอกจากนี้ยังมีการยกเว้นการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ด้วย

นอกเหนือ จาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ยังมีการบังคับใช้กฎอัยการศึกในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาสอีกด้วย เกือบหกปีที่ผ่านมา ยังไม่มีการดำเนินคดีใดๆ กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีการเสียชีวิตของอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ในเดือนมีนาคม 2551 ที่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ มีผลทำให้การซ้อมทรมานลดน้อยลง แต่ก็ยังคงไม่หมดไป ความล้มเหลวในการนำเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดมาลงโทษ ไม่เพียงเป็นความอยุติธรรมต่อคนมลายูมุสลิมเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการชักนำคนใหม่ๆ ให้เข้าร่วมขบวนการอีกด้วย

งบประมาณการพัฒนาจำนวนมากที่รัฐบาลจัดสรรเพื่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ด้วย แนวทางการเมืองนั้นอาจก่อให้เกิดผลเชิงลบได้ โดยอาจมีส่วนส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมของความไม่มั่นคง (industry of insecurity) ผลประโยชน์ต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ได้รับ อาจส่งผลให้เกิดความคิดที่ไม่ต้องการจะให้ความรุนแรงสงบลง รัฐบาลควรจะมุ่งสร้างความโปร่งใสในการดำเนินการโครงการเหล่านี้ รวมถึงเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด การคอร์รัปชั่นจะส่งผลต่อความชอบธรรมของรัฐบาล ซึ่งต้องต่อสู้อย่างหนักหน่วงอยู่แล้วในการสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาในหมู่คนมลายูมุสลิม

นอกจากนี้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านี้ ยังอาจไม่มีผลต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบมากนัก เพราะการต่อต้านที่เกิดขึ้นนั้น มาจากความอยุติธรรมและความคับข้องใจในทางการเมืองมากกว่า เช่น การไม่ยอมรับในเรื่องภาษาและชาติพันธุ์

รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ถูกกลุ่มผู้สนับสนุนของอดีตนายกฯทักษิณ ท้าทายมาโดยตลอด รัฐบาลจำเป็นต้องพึ่งพิงทหารในการปราบปรามกลุ่มต่อต้าน และเพื่อรักษาอำนาจทางการเมือง ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลไม่กล้าที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายภาคใต้ เช่น การยกเลิกกฎหมายที่รุนแรงหรือการเพิ่มอำนาจให้แก่ฝ่ายพลเรือน

นอกจากนี้ รัฐบาลยังขาดความมุ่งมั่นที่จะริเริ่มนโยบายใหม่ๆ ทางการเมือง เช่น การแสวงหารูปแบบการปกครองใหม่ในภาคใต้ รัฐบาลควรจะทบทวนนโยบายที่ปฏิเสธการเจรจากับขบวนการผู้ก่อความไม่สงบ รวมถึงควรศึกษาถึงความเป็นไปได้ของรูปแบบการปกครองใหม่ๆ สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ เวทีการพูดคุยอย่างสันตินั้นมีอยู่แล้ว หากว่ารัฐบาลมีความจริงจังที่จะพูดคุยกับตัวแทนของขบวนการ เพราะมีบทพิสูจน์จากหลายๆ พื้นที่ที่มีความขัดแย้งขึ้นในโลกว่า การเจรจานั้นเป็นวิถีทางที่มีประสิทธิภาพในการยุติความรุนแรง และไม่จำเป็นว่า จะต้องนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนอย่างที่รัฐบาลหวาดกลัว

ข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลไทย
1 . ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แทน รวมทั้งดำเนินการเสริมสร้างกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

2 . วางข้อกำหนดอย่างเคร่งครัดในการดำเนินการตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคง มาตรานี้ให้ กอ.รมน. มีอำนาจยุติการดำเนินคดี โดยแลกเปลี่ยนกับการเข้า “อบรม” หกเดือน รัฐบาลจะต้องสร้างความมั่นใจว่า ผู้ถูกกล่าวหาจะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม และมีสิทธิที่จะปรึกษาหารือกับผู้ที่เขาไว้วางใจ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการกดดันให้ยอมรับต่อความผิดที่มิได้ก่อ

3 . ดำเนินการพูดคุยกับตัวแทนของขบวนการอย่างจริงจัง และแสวงหาทางออกทางการเมืองที่ไม่ขัดต่อหลักความเป็นรัฐเดี่ยวของประเทศไทย เช่น การจัดตั้งโครงสร้างการปกครองแบบพิเศษสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้

4 . ยกเลิกกองกำลังอาสาสมัครชาวพุทธที่รัฐจัดตั้งขึ้นเพื่อ “ป้องกันตนเอง” รวมถึงกลุ่มติดอาวุธที่จัดตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งมีการควบคุมเพียงหลวมๆ เพราะปฏิบัติการของกลุ่มเหล่านี้ มีส่วนในการเพิ่มความตึงเครียดระหว่างชุมชน

5 . ควบคุมการแจกจ่ายอาวุธปืนสำหรับกลุ่มติดอาวุธที่รัฐจัดตั้งขึ้น และการครอบครองอาวุธส่วนตัวของประชาชน การกำหนดเกณฑ์การให้ใบอนุญาต รวมทั้งการปราบปรามการถือครองอาวุธปืนสงครามโดยประชาชน

6 . เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนโครงการพัฒนา เพื่อให้ตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง รวมทั้งเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณสำหรับการพัฒนา

7 . ดำเนินการเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ละเมิดสิทธิ ต้องได้รับโทษ รวมทั้งหยุดการซ้อมทรมานและการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้ต้องสงสัย

8 . เร่งรัดการสอบสวนและการดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยในคดีการสังหารในมัสยิดอัลฟุรกอน เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้น

 

กรุงเทพฯ/ บรัสเซลส์,
8 ธันวาคม 2552

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net