หนุ่มสาวมลายูกับความตั้งใจฟื้นคืน ‘ค็อต’ ศิลปะเพื่ออัตลักษณ์อิสลามฟาฏอนีย์

ค็อต คือ ศิลปะการคัดลายมือภาษาอาหรับหรือภาษามลายูอักษรยาวี เคยได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ปาตานี หรือ ฟาฏอนีย์ แล้วแต่จะเรียก ส่วนใหญ่จะเป็นการคัดลายมือโองการในคัมภีร์อัลกุรอานเป็นรูปแบบต่างๆ บนผืนผ้าหรือกระดาษ เช่น รูปคน รูปต้นไม้ แม้กระทั่งรูปเฮลิคอปเตอร์ก็มี แล้วแต่จะคิด ซึ่งนับเป็นงานศิลปะที่ต้องใช้ไอเดียและความประณีตอ่อนช้อยพอสมควร

หลายแห่งถึงกับเปิดสอนวิชาค็อตในโรงเรียนต่างๆ เช่น ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม หรือโรงเรียนตาดีกาซึ่งเป็นศูนย์อบรมศาสนาอิสลามขั้นพื้นฐานในชุมชน แต่ทว่า ปัจจุบันงานศิลปะด้านนี้ได้รับความนิยมลดลงไปมาก ผลงานก็มีให้เห็นไม่มากนัก นอกจากเป็นงานศิลปะสำเร็จรูปที่ขายตามร้าน

ทำไมจึงลดลง ทั้งที่เป็นหนึ่งในศิลปะที่แสดงอัตลักษณ์ที่สำคัญของคนในพื้นที่ เพราะเป็นศิลปะหนึ่งที่แสดงถึงความศรัทธาในศาสนาอิสลาม อาจเป็นเพราะเทคโนโลยีที่เจริญขึ้นที่สามารถผลิตผลงานสำเร็จขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วทำให้ความนิยมเขียนค็อตลดลง เช่น การเขียนค็อตป้ายผ้า ทำฉากเวที หรือทำโปสเตอร์ติดตามที่ต่างๆลดลง แต่ใช้แผ่นไวนิลแทน

เมื่อความนิยมลดลง การเรียนการสอนหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การประกวดเขียนค็อตก็ลดลงไปด้วย

ชมรมศิลปะค็อตลูกฟาฏอนีย์

แต่ทว่า มีเด็กหนุ่มสาวมลายูกลุ่มหนึ่งที่ต้องการรื้อฟื้นศิลปะการคัดลายมือนี้ขึ้นมาให้ได้รับความนิยมอีกครั้ง ด้วยเหตุผลที่ว่า เพราะเป็นอัตลักษณ์หนึ่งที่สำคัญของคนในพื้นที่และเป็นศาสตร์ที่สามารถสร้างคนให้มีสมาธิ มีจิตสำนักและศรัทธาในศาสนาอิสลามได้อย่างลึกซึ้งได้

พวกเขาและเธอรวม 11 คนได้รวมตัวก่อตั้งชมรมศิลปะคัดลายมือ (ค็อต) ลูกฟาฏอนีย์ขึ้นมา ใช้ชื่อภาษามลายูว่า Persatuan Seni Khot Anak Fathoni.

ลุตฟี แวหะมะ

นายลุตฟี แวหะมะ นักศึกษาของสถาบันการศึกษาอิสลามชั้นสูง ดารุลมะอาเรฟ อ.เมือง จ.ปัตตานี ในฐานะประธานชมรม เล่าว่า จุดเริ่มต้นก่อตั้งชมรมนี้มาจากเพื่อที่เป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานีบางส่วนที่ชื่นชอบค็อตได้มาคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเขาและอยากจะตั้งชมรมขึ้นมา

“ตอนนั้นเรียนอยู่ที่โรงเรียนวัฒนธรรมอิสลามพ่อมิ่ง ต.พ่อมิ่ง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี จึงชวนเพื่อนๆ 4 คน ทั้งชายและหญิงไปประชุมกันที่ ม.อ.ปัตตานี เพื่อก่อตั้งชมรมนี้เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2555 และที่ประชุมก็มีมติเลือกผมเป็นประธาน”

ลุตฟี บอกว่า วัตถุประสงค์ของการตั้งชมรมนี้มี 5 ประการ คือ 1.เพื่อรักษาอัตลักษณ์ของคนมลายูมุสลิมในพื้นที่ 2.เพื่อรื้อฟื้นการใช้ตัวอักษรยาวีให้มากขึ้นโดยผ่านศิลปะการคัดลายมือภาษาอาหรับและภาษามลายูตัวอักษรยาวี เพราะเป็นตัวอักษรเดียวกันและเป็นศิลปะแบบเดียวกันได้ 3.เพื่อเผยแพร่ความสามารถด้านค็อต 4.เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงความสามารถ และ5.เพื่อเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ค็อต

ลุตฟี บอกอีกว่า ที่ต้องการเป็นต้นแบบเพราะมีผลงานของสมาชิกชมรมแล้วหลายชิ้น แต่ยังไม่มีที่จัดแสดง จึงพยายามแสดงในงานต่างๆ แล้วแต่โอกาส โดยจัดนิทรรศการแสดงผลงาน พร้อมกับกิจกรรมอื่นๆ ด้วย เช่น การฝึกคัดลายมือเบื้องต้น

ส่วนนายรุสดี สาเหาะ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ซึ่งเป็นผู้ประสานงานของชมรม บอกว่า ชมรมมี 3 กลุ่มเป้าหมาย คือ 1.นักเรียนนักศึกษาที่มีความสามารถด้านนี้ 2.ผู้ชำนาญด้านค็อต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่หรืออุสตาซ(ครูสอนศาสนาอิสลาม)ในพื้นที่และมีผลงานอยู่แล้วสามารถนำมาจัดแสดงได้ กลุ่มนี้จะเป็นที่ปรึกษาหรือครูช่วยสอนสมาชิก และมักจะร่วมกิจกรรมของชมรมด้วย

3.คนทั่วไปที่สนใจซึ่งมีตั้งแต่เด็กเล็กๆไปจนถึงคนแก่ แต่ส่วนใหญ่ไม่มีความสามารถด้านนี้และต้องการฝึกค็อตด้วย เช่น นักเรียนตาดีกาที่มาร่วมฝึกค็อตเบื้องต้น

“เราบังคับให้สมาชิกชมรมทุกคนมีผลงานค็อตของตัวเองเป็นประจำ เรานัดพบกันทุกสัปดาห์ในช่วงเปิดเทอมเพื่อให้ทุกคนได้ส่งผลงาน”

รุสดี บอกว่า ทางชมรมต้องการเปิดพื้นที่ฝึกค็อตให้มากที่สุด พวกเขาต้องการเดินสายไปยังโรงเรียนต่างๆ เพื่อให้ความรู้เรื่องนี้พร้อมจัดกิจกรรมไปด้วย แต่ชมรมเล็กๆ ของพวกเขาก็ไม่มีงบประมาณมาก แต่ก็มีเครือข่ายอยู่ทุกจังหวัดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การจัดกิจกรรมแต่ละครั้งจึงทำได้โดยการการขอสนับสนุนจากผู้มีจิตศรัทธา

สำหรับกิจกรรมที่ได้ทำแล้ว เช่น ในช่วงที่ผ่านมาได้จัดบูธแสดงผลงานที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีหลังเก่า มีการบรรยายเกี่ยวกับค็อต มีการแข่งขันประกวดค็อตของนักเรียน เป็นต้น

“ต่อไปเราจะประชาสัมพันธ์ชมรมและกิจกรรมของเราให้มากขึ้น เช่น การเปิดเพจเฟสบุ๊ค เพื่อสร้างความตื่นตัวให้คนในพื้นที่ในเรื่องค็อต เพราะเป็นอัตลักษณ์หนึ่งที่สำคัญ ซึ่งแต่ละครั้งที่เราจัดกิจกรรมก็มีคนให้ความสนใจเยอะอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่ เราพอใจมากและจะทำต่อไป” รุสดี กล่าวทิ้งท้าย

 

ค็อต คืออะไร มาจากไหน

นายฮาดี้ เบนฮาลาบี นักคัดลายมือคัมภีร์อัลกุรอ่านชาวปัตตานี ซึ่งมีผลงานคัดลายมือคัมภีร์อัลกุรอานทั้งเล่ม ในฐานะที่ปรึกษาชมรมศิลปะคัดลายมือลูกฟาฏอนีย์ เล่าว่า เขาต้องการรื้อฟื้นวัฒนธรรมการเขียนเนื้อหาคัมภีร์อัลกุรอานทั้งเล่มด้วยลายมือเหมือนเมื่อสมัย 400 ปีก่อน ซึ่งช่วงอูลามาหรือนักปราชญ์อิสลามเริ่มนำคัมภีร์อัลกุรอานเขียนมือมาที่ปาตานี

ฮาดี้ เบนฮาลาบี

ต่อมาเมื่อ 200 ปีที่แล้วก็เริ่มมีโรงพิมพ์คัมภีร์อัลกุรอานทำให้การเขียนคัมภีร์อัลกุรอานด้วยมือก็ลดลง ความนิยมค็อตก็เริ่มลดลงไปด้วย

การคัดเนื้อหาคัมภีร์อัลกุรอานด้วยมือทำด้วยความปราณีและต้องไม่ผิด ซึ่งคนคัดลายมือต้องมีสมาธิมาก จึงเป็นการฝึกสมาธิได้ดี พร้อมกับได้ทำความเข้าใจเนื้อหาอัลกุรอานไปด้วย

การคัดลายมือคัมภีร์อัลกุรอานถูกนำไปใช้หลายอย่าง เช่น เอาไปปักร้อยบนผ้าคลุมศพหรือเป็นเครื่องประดับบ้าน แม้กระทั่งที่ผ้าคลุมอาคารกะบะห์ที่มัสยิดฮารอม เมืองมักกะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบียที่เป็นศูนย์กลางในการหันทิศละหมาดของมุสลิม

คนคัดลายมือนี้ต้องมีความรู้เรื่องค็อตแต่ละแบบ ซึ่งมีทั้งหมด 7 แบบ และแต่ละแบบก็มีเอกลักษณ์ของตัวเองและจะเอาแบบต่างๆมาปนกันไม่ได้

ค็อตทั้ง 7 แบบ ได้แก่ 1.ค็อต ซุลุสอัลญาลาบีย์ 2.ค็อต นาซัค 3.ค็อต รุกอะห์ 4.ค็อต ฟารีซีย์(เปอร์เซีย) 5.ค็อต ดีวานีย์ 6.ค็อต กูฟีย์ และ 7.ค็อต ซุลุส โดยแบบที่ 2 และ 3 ได้รับความนิยมมากที่สุด

“การฝึกค็อตต้องมีผู้ใหญ่มาคอยให้คำแนะนำ เพราะศิลปะชนิดนี้ต้องใช้เวลาในการฝึกฝนอย่างน้อย 3-5 ปีกว่าจะชำนาญ แต่ปัจจุบันมีคนอยากเรียนรู้ตรงนี้น้อยมาก เพราะส่วนใหญ่จะพิมพ์มาจากคอมพิวเตอร์มาเลย เพราะทุกแบบมีอยู่ในคอมพิวเตอร์หมดแล้ว”

นักคัดคัมภีร์อัลกุรอานทั้งเล่มด้วยมือ

จุดเริ่มต้นที่ผมเขียนคัมภีร์อัลกุรอานด้วยลายมือ เริ่มจากสมัยเรียนที่เมืองเจดดะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบียเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เมื่อเรียนจบก็ได้ทำงานโฆษณาที่นั่น 2 ปีซึ่งก็มีงานคัดลายมือด้วย จากนั้นได้ไปฝึกงานที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษและเรียนต่อด้านกราฟิกอีก 3 ปี และอยู่ทำงานต่อที่เจดดะห์ กระทั่งกลับมาบ้านเมื่อ 20 ที่แล้วในช่วงเกิดสงครามอิรัก

เมื่อกลับมาบ้านก็เข้าทำงานที่โรงพิมพ์เบนฮาลาบีต่ออีก 10 ปีจนได้เรียนรู้วิธีการเข้าเล่มหนังสือ จึงเริ่มคัดลายมือคัมภีร์อัลกุรอานขึ้นมา ปัจจุบันได้เขียนคัมภีร์อัลกุรอานด้วยมือแล้ว 8 เล่ม ใช้เวลาเล่มละ 2 ปี เป็นเล่มขนาดใหญ่ส่วนขอบคัมภีร์ที่มีลวดลายต่างๆก็วาดเองด้วยเช่นกัน ซึ่งความยากก็คือต้องกะให้ถูกว่าแต่ละหน้าจะจบตรงไหน

ทางชมรมนี้ขอให้ผมเป็นที่ปรึกษา ซึ่งชมรมมีสมาชิก 30 คน เป็นคนรุนใหม่ทั้งหมด แต่ละคนก็เอาจริงเอาจังกับการฝึกค็อต ซึ่งต้องฝึกให้ได้วันละ 15 นาที โดยมีคู่มือในการฝึก และต้องฝึกให้ได้ทีละแบบก่อนจะได้ไม่มั่ว

ปัจจุบันแม้สามารถจะคัดลายมือด้วยคอมพิวเตอร์แล้ว แต่การคัดลายมือด้วยมือจริงๆกับด้วยคอมพิวเตอร์นั้นมันต่างกันมาก

“การคัดด้วยคอมพิวเตอร์มันจะดูแข็งๆ พลาดแล้วเริ่มใหม่ได้ แต่ไม่ได้ฝึกสมาธิ ดังนั้นการฝึกที่ดีควรฝึกด้วยมือก่อน เพื่อฝึกบังคับมือและใช้สมองไปด้วย แต่ก็อยู่ที่เราว่าจะสร้างคนรุ่นใหม่อย่างไร ซึ่งก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน แต่ที่สำคัญคือเราเข้าใจงานที่ทำนั้นมากน้อยแค่ไหน”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท