Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เท่าที่ผู้เขียนติดตามข่าวสารทางสถานีโทรทัศน์เกี่ยวกับการเดินทางของกลุ่มคนเสื้อแดงเพื่อเข้ามาร่วมชุมนุมในกรุงเทพ จนถึงขณะนี้การเดินทางเป็นไปอย่างสงบสันติโดยเป็นการใช้สิทธิโดยชอบของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ การเดินทางของกลุ่มคนเสื้อแดงในครั้งนี้มีข้อน่าสังเกตตรงที่ว่าเป็นการเดินทางเข้ามาจากต่างจังหวัดเพื่อเข้าสู่กรุงเทพฯ ตามมุมเมืองต่างๆ ซึ่งยุทธศาสตร์ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองในครั้งนี้บ่งบอกถึงการแสดงพลังของคนชนบทในการล้มรัฐบาลซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องให้มีการยุบสภา ดังนั้นในสายตาของผู้เขียนการเดินทางครั้งนี้จึงเป็นการเดินทางของคนชนบทเพื่อทวงคืนบ้านเมืองที่เขาเหล่านั้นมีสิทธิมีส่วนร่วมอยู่ด้วยโดยชอบธรรม

การที่เหตุการณ์ในช่วงวันสองวันนี้ไม่มีความรุนแรง บ่งชี้ว่าการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักข่าวที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลเป็นไปอย่างเกินพอดีและสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลต้องการสร้างความตื่นตระหนกเพื่อส่งสัญญาณให้ประชาชนที่ไม่ได้สังกัดอยู่กับฝักฝ่ายทางการเมืองใดแปลกแยกออกจากกลุ่มคนเสื้อแดง และมุ่งหวังให้กลุ่มคนเสื้อแดงต้องตกเป็นจำเลยของสังคมในกรณีที่ความเสียหายต่อบ้านเมืองได้บังเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเพียงแต่พิจารณาด้วยสามัญสำนึกอย่างง่ายย่อมเห็นได้ว่าคนเสื้อแดงซึ่งมือเปล่าย่อมไม่มีศักยภาพหรือเจตจำนงในการสร้างความรุนแรงและความเสียหายต่อบ้านเมืองตามภาพลักษณ์ที่ได้มีการนำเสนอผ่านสื่อของรัฐบาล ดังนั้นการรวมตัวของคนเสื้อแดงในวันที่ 14 มีนาคม 2553 จึงมิได้เป็นภยันตรายถึงขนาดที่นายกรัฐมนตรีผู้นำประเทศต้องหลบลี้หนีภัยเข้าไปอยู่ในความคุ้มครองของกรมทหาร

บทความนี้ต้องการนำเสนอบทวิเคราะห์ทางการเมืองที่ก้าวข้ามพ้นไปจากข้อถกเถียงและความหวาดหวั่นต่อความรุนแรง เช่นว่า จะเกิดความรุนแรงหรือไม่ ใครเป็นฝ่ายก่อความรุนแรง เหตุการณ์จะจบอย่างไร หรือใครจะเป็นผู้แพ้ผู้ชนะ แต่ต้องการอธิบายถึงเหตุผลเบื้องหลังการเคลื่อนไหว และการเข้ามามีส่วนร่วมของคนเสื้อแดงโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเสื้อแดงจากต่างจังหวัด

การต่อสู้ทางการเมืองในครั้งนี้มีความแปลกใหม่ในแง่ที่ว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ซึ่งตั้งโดยคนเมืองอาจถูกล้มโดยคนชนบท จากแต่เดิมที่คนชนบทเป็นคนตั้งรัฐบาลและต่อมาหลายๆ รัฐบาลถูกล้มโดยคนเมือง การที่แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงได้กำหนดข้อเรียกร้องที่แน่ชัดให้มีการยุบสภาทำให้การต่อสู้ทางการเมืองในครั้งนี้มีความชัดเจนและสามารถอธิบายความสัมพันธ์ในเชิงเหตุผลได้ว่าการที่คนชนบทเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองก็ด้วยเหตุว่าพวกเขาตระหนักและหวงแหนสิทธิทางการเมืองที่มีอยู่โดยเท่าเทียมกับคนไทยคนอื่นๆ เพราะสิทธิทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิการเลือกตั้งสามารถเปลี่ยนเป็นนโยบายที่ตอบสนองต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาได้ การที่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนซึ่งชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงสนับสนุนจากชนบทต้องถูกกำจัดออกและแทนที่ด้วยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งจัดตั้งขึ้นด้วยการรวบรวมคะแนนของฝ่ายเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรด้วยวิธีการที่ไม่สง่างาม จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรมทางการเมือง และเป็นสิ่งที่คนเสื้อแดงไม่อาจยอมรับได้และต้องแสดงพลังโดยรวมตัวกันเพื่อให้รัฐบาลได้แลเห็นว่ามีประชาชนจำนวนมากที่ไม่อาจยอมรับได้กับการครองอำนาจของรัฐบาลชุดปัจจุบันอีกต่อไป

อันที่จริงการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างฝักฝ่ายต่างๆ ที่ยึดโยงกับความแตกต่างของสถานภาพทางสังคมมิได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก หากมองย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็จะพบการต่อสู้ที่มีความแหลมคม ได้แก่การขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลควง อภัยวงศ์ซึ่งนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ รัฐบาลอภิชนที่ตั้งขึ้นในครั้งนั้นได้รับการเกื้อหนุนจากคณะรัฐประหาร 2490 ด้วย “กลวิธีอันโสโครกของพวกนักการเมืองที่อาศัยพวกศักดินาบวกกับพวกเผด็จการ”1 และต่อมาได้เกิดเหตุการณ์ “สังหารบุคคลที่อยู่ฝ่ายความถูกต้องตามครรลองคลองธรรมและที่เป็นความหวังของบ้านเมืองหมดเลย”2 ดังเช่น นายเตียง ศิริขันธ์ นายถวิล อุดล และนายจำลอง ดาวเรือง เป็นต้น โดยคนเหล่านี้เป็นผู้นำทางการเมืองที่มาจากภาคอีสาน ซึ่งในสายตาของผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น คนเหล่านี้คือพวกบักหนาน บักเสี่ยว3 ทั้งนี้การครองอำนาจของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงเวลานั้นซึ่งดำรงอยู่ได้ไม่นานนักและต้องจบลงอย่างไร้ศักดิ์ศรี มิได้ยังประโยชน์อันใดให้แก่การพัฒนาทางการเมืองของไทยเลย นอกจากนี้การเมืองไทยอีกกว่าสองทศวรรษถัดมาได้ถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของกองทัพบก ตราบจนถึงปี พ.ศ. 2516

ดังที่กล่าวมาข้างต้นการต่อสู้ขัดแย้งทางเมืองย่อมมีสาเหตุและที่มานอกเหนือไปจากปรากฏการณ์ที่ดำรงอยู่เฉพาะหน้า ดังนั้นการประโคมข่าวของสื่อสารมวลชนของรัฐบาลโดยมุ่งเสนอแต่ประเด็นคำถามที่ว่าการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงจะนำไปสู่ความรุนแรงหรือไม่ และขอให้คนไทยอย่าทะเลาะกัน ไทยจงสามัคคี ไทยจะได้เข้มแข็ง จึงเป็นเรื่องไร้สาระสำหรับการวิเคราะห์ในทางการเมือง ทั้งนี้ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าการเมืองไทยจะก้าวออกจากความขัดแย้งและมีพัฒนาการต่อไปอย่างไร ทั้งนี้สังคมไทยควรตั้งสติและมองความขัดแย้งอย่างเข้าใจ และต้องแสวงหาวิธีการให้ฝักฝ่ายต่างๆ ในสังคมสามารถขัดแย้งและทะเลาะกันได้ โดยไม่ฆ่ากัน โดยนัยนี้ควรเปิดใจกว้างและยอมรับว่าการที่รัฐบาลซึ่งได้รับการยอมรับนับถือโดยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนด้วยคะแนนเสียงข้างมากไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพรรคไทยรักไทยหรือรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ต้องถูกกำจัดออกไปโดยวิถีทางที่ไม่ได้อิงอยู่กับเกณฑ์การตัดสินด้วยการออกเสียงเลือกตั้ง จึงเป็นปรากฏการณ์ที่ถือว่าเป็นความรุนแรงอย่างยิ่งสำหรับประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาลที่นำโดยพรรคการเมืองดังกล่าว เพราะเท่ากับว่าคะแนนเสียงของเขาถูกริบไปโดยมิอาจต่อสู้ขัดขืนได้ ดังนั้นการออกมาแสดงพลังอย่างสันติและเสนอข้อเรียกร้องทางการเมืองต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่พึงรับฟัง

เมื่อผ่านพ้นวันที่ 14 มีนาคม 2553 ไปแล้ว ประเทศไทยย่อมดำรงตั้งมั่นอยู่อย่างแน่นอนซึ่งไม่น่ากลัวเหมือนกับการประโคมข่าวของรัฐบาล แต่จะเกิดอะไรขึ้นนั้นคงไม่มีผู้ใดที่สามารถทำนายได้ แต่ในทัศนะของผู้เขียนเรื่องที่แน่นอนที่สุดคือความรุนแรงย่อมไม่อาจเกิดจากกลุ่มคนเสื้อแดงเพราะเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ หากจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นก็คงเกิดจากความคิดริเริ่มของแกนนำรัฐบาลฝ่ายการเมือง ทั้งนี้ในทางส่วนตัวผู้เขียนขอวิงวอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะว่าเมื่อท่านได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมใจปรารถนาแล้ว หลายคนเห็นว่าการที่ท่านจะอยู่ในตำแหน่งเนิ่นนานออกไปย่อมไม่เกิดประโยชน์อันใดต่อชาติบ้านเมือง ท่านจึงควรยุบสภาเสีย เพื่อเห็นแก่ความสงบสุขของบ้านเมือง และย่อมยังประโยชน์แก่ตัวท่านเองในอันที่จะได้รับการบันทึกว่าได้เคยเป็นนายนกรัฐมนตรีของประเทศไทย

ในท้ายที่สุดนี้ขอสดุดีคนเสื้อแดงจากต่างจังหวัดที่เดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครอย่างเหนื่อยยากด้วยความตระหนักและหวงแหนในสิทธิทางการเมืองของตน ด้วยถ้อยคำของเทียนวรรณที่ว่า

ไพร่เป็นพื้นยืนร้องทำนองชอบ ตามระบอบปาลิเมนต์ประเด็นขำ
แม้นนิ่งช้าล้าหลังยังมิทำ จะตกต่ำน้อยหน้าเวลาสาย
ขอให้เป็นเช่นเราผู้เฒ่าทัก บำรุงรักษาชาติสะอาดศรี
ทั้งเจ้านายฝ่ายพหลและมนตรี จะเป็นศิวิไลซ์จริงอย่านิ่งนาน
ให้รีบหาปาลิเมนต์ขึ้นเป็นหลัก จะได้ชักน้อมใจไพร่สมาน
เร่งเป็นฟรีปรีดาอย่าช้ากาล รักษาบ้านเมืองเราช่วยเจ้านาย

 

 

[1] สุลักษณ์ ศิวรักษ์. นายดิเรก ชัยนามกับความสำคัญที่เป็นไทย. http://www.sulak-sivaraksa.org/th/index.php?option=com_content&task=view&id=317&Itemid=3.
[2] สุลักษณ์ ศิวรักษ์.ปฏิรูปวัฒนธรรมการเมือง เพื่อสร้างความถูกต้องในแผ่นดิน. http://www.sulak-sivaraksa.org/th/index.php?option=com_content&task=view&id=332&Itemid=3&limit=1&limitstart=3.
[3] สุลักษณ์ ศิวรักษ์. นายดิเรก ชัยนามกับความสำคัญที่เป็นไทย. 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net