Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

            ผมไม่ใช่คนเสื้อแดง

            แต่ในหลายๆ เรื่อง ผมก็เห็นด้วยกับพวกเขา

            โดยเฉพาะเรื่องสองมาตรฐานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน การไม่ยอมรับการรัฐประหารปี 2549 รวมถึงคัดค้านบทบาทบางของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีที่หลายครั้งหมิ่นเหม่ หรือบางครั้งค่อนข้างชัดเจนว่าเข้ามาเป็นผู้เล่นทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัดซึ่งเกินบทบาทหน้าที่องคมนตรีที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่ว่าจะเป็นการเรียกนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายคนเข้าพบ การตระเวนออกปาฐกถาหลายๆ ครั้งที่มีนัยยะทางการเมือง  

            และไม่เคยเห็นด้วยกับเสื้อแดง เมื่อพวกเขาส่วนหนึ่ง (ไม่ว่าแท้หรือเทียม) ก่อจลาจลในช่วงสงกรานต์ปี 52

            หลายเดือนที่ผ่านมา แม้ผมจะไม่ได้เป็นสีอะไรอย่างชัดเจน ก็ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองในแง่ความสัมพันธ์กับคนรอบตัวไม่ต่างจากคนไทยหลายคน

            จึงตระหนักว่าเมืองไทยพอศอนี้ การเมืองเป็นเรื่องต้องห้ามบนโต๊ะอาหาร รถแท็กซี่ กระทั่งในออฟฟิศ แต่บางครั้งก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องคุยเมื่ออีกฝ่ายรุกล้ำบีบให้เราตอบ (ตัวอย่างคือคนขับรถแท็กซี่บางคนที่เปิดวิทยุดังลั่น และรุกถามเราซึ่งเป็นผู้โดยสารว่าคิดอย่างไร)

            หากไม่คุมสติให้ดี ก็จะแยกไม่ออกว่า เพื่อน คนรู้จัก คนแปลกหน้าที่ใส่เสื้อคนละสีหรือคิดไม่เหมือนกับเราคือ ‘เพื่อนมนุษย์’ มิใช่ศัตรูที่ต้องฆ่าให้ตายไปข้างหนึ่ง

            คาดเดาว่าหลายคนก็คงจะเจอสถานการณ์ไม่ต่างกัน

            ล่าสุด ปรากฎการณ์คนต่างจังหวัดจำนวนมากที่มาประท้วงรัฐบาลอยู่บนถนนราชดำเนินช่วงสองวันนี้ ทำให้ผมกลายเป็นผู้นั่งฟังแถววีไอพี ด้วยเหตุว่าเวทีหลักของพวกเขาอยู่บริเวณสะพานผ่านฟ้าใกล้กับห้องเช่าที่ผมใช้เป็นที่อาศัย    เสียงจากเวทีจึงดังชัดเจนตลอด 24 ชั่วโมง

            หลังจากนอนฟัง นั่งฟัง และออกไปเดินสังเกตการณ์และไปฟังมาระยะหนึ่ง ผมคิดว่าคนกรุงเทพฯ จะต้องฟัง ‘เสียง’ ของพวกเขาให้ดี และควรจะสังเกต ‘การปรับตัว’ ของคนเสื้อแดงในการชุมนุมคราวนี้

            ประเด็นที่แกนนำคนเสื้อแดงพูดตลอดช่วงสองวันที่ผ่านมาคือ เขาต้องการการยอมรับเสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง มิใช่ไม่ยอมรับแล้วออกมาประท้วงด้วยการปิดสนามบิน ยึดสถานีโทรทัศน์ ยึดทำเนียบรัฐบาล ปิดล้อมรัฐสภา การแทรกแซงทางการเมืองขององคมนตรีซึ่งค่อนข้างเห็นได้ชัดในช่วงหลายปีหลังมานี้

            จะมีที่ผมไม่เห็นด้วยคือ ผู้ปราศรัยบางคนโจมตี ‘เพศสภาพ’ (Gender) ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งหากมองอย่างเป็นธรรม เป็นรสนิยมทางเพศส่วนตัว เป็นสิทธิมนุษยชนชนิดหนึ่งที่แต่ละคนมีสิทธิเลือก และตราบที่เขาไม่ก่อความเดือดร้อนให้ใครก็ไม่น่ามีสิทธิที่ใครจะกล่าวโจมตีใครและประจานให้อับอาย (ถ้ายังทำแบบนี้ต่อไป เสื้อแดงอาจถูกแปลเจตนาไปว่าต้องการประชาธิปไตย แต่ไม่เคารพความหลากหลายทางเพศ)

            ไม่นับเรื่องที่ว่า สิ่งที่แกนนำคนเสื้อแดงพูดทั้งหมด ล้วนเป็นเรื่องที่คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะนักคิด นักเขียน และสื่อมวลชนที่บอกว่ารักประชาธิปไตยเรียกร้องกันมาตลอดประวัติศาสตร์

            ประชาธิปไตยที่ยอมรับเสียงข้างมาก ทำให้ความเป็นอยู่ของเราดีขึ้นด้วยการนำนโยบายไปทำจริง

            ประชาธิปไตยที่ซ่อมแซมตัวเองได้ ปราศจากการแทรกแซงของอำนาจนอกระบบ และประชาชนมีสิทธิตัดสินอนาคตเองจากการเลือกตั้ง มิใช่ลากรถถังออกมารัฐประหารแล้วอ้างว่าเป็น ‘เทวดา’ ที่รู้ดีกว่าประชาชน

ประเด็นที่พวกเขาพูดหนักแน่น ไม่สะเปะสะปะ แม้บางส่วนยังอิงกับอดีตนายกฯ ทักษิณ แต่ส่วนมากล้วนฟังขึ้น และเป็นเรื่องของ ประชาธิปไตย เสมอภาค ภราดรภาพ

น่าแปลกใจยิ่งนัก ที่กลุ่มผู้เรียกร้องสันติวิธีในกรุงเทพฯ ยังคงท่องประโยค ‘สามัคคีประเทศไทย’ ในสถานการณ์ปัจจุบันผ่านฟรีทีวีโดยไม่ตอบคำถามที่เสื้อแดงกำลังถาม และบ่ายเบี่ยงประเด็นไปเรื่อย

            การชุมนุมครั้งนี้ ไม่ว่าเสื้อแดงจะชนะหรือแพ้ รัฐบาลจะยุบสภาหรือไม่

            ม็อบคนเสื้อแดงพิสูจน์แล้วว่า พวกเขาเติบโตขึ้นมากทางการเมือง

            ผู้สื่อข่าว สามารถทำข่าวในม็อบเสื้อแดงได้อย่างสะดวกมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงสงกรานต์ปี 2552 แกนนำม็อบเสื้อแดง ‘เล่นเป็น’ กับสื่อ ด้วยการอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ (บางครั้งถึงกับขอความร่วมมือผุ้ชุมนุมหุบร่มเพื่อภาพที่สวยงามตามคำขอ และท่าทีคุกคามไม่มีปรากฎให้เห็น

            อีกสิ่งหนึ่งที่พวกเราคนกรุงเทพฯ ต้องตระหนักคือประเทศไทยเปลี่ยนไปแล้ว

            คนต่างจังหวัด ตาสี ยาย สา ลุงมี ป้ามา รู้แล้วว่าคะแนนเสียงของพวกเขาแปรเปลี่ยนเป็นนโยบายที่จับต้องได้ (ผ่านตัวอย่างที่เกิดขึ้นในรัฐบาลทักษิณ รัฐบาลที่เข้มแข็งชุดแรกในประวัติศาสตร์ซึ่งถูกโค่นล้มด้วยวิธีนอกระบบเมื่อปี 2549)

พวกเขารู้แล้วว่าในระบอบประชาธิปไคย ‘ไพร่สามัญ’ นี่แหละ ที่จะกุมชะตากรรมตนเอง มีศักดิ์ศรีในฐานะ ‘ประชาชน’ ของประเทศนี้ดุจเดียวกับคนกรุงเทพฯ ซึ่งที่ผ่านมาเคยภูมิใจหนักหนาว่าฉลาดกว่าพวกเขา และพวกเขาจะไม่ยอมให้การตื่นรู้นี้ไร้ความหมายอีกต่อไป

            ถึงขนาดนี้แล้ว คนกรุงและสื่อมวลชนบางค่ายแถวถนนพระอาทิตย์ กวีอาวุโสบางท่าน อธิการบดีมหาวิทยาลัยบางแห่ง น่าจะทบทวนว่าการหนุนรัฐประหารปี 49 เพื่อปราบคนๆ หนึ่ง โดยอาศัยวิธีนอกระบบ และหนุนกระบวนการนั้นต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันจนทำให้แทบทุกสถาบันหลักในประเทศนี้ล่มสลาย ‘ถูกต้อง’ และ ‘เป็นธรรม’ แล้วหรือ ?

            คนต่างจังหวัดที่มาประท้วงคราวนี้ ไม่ใช่ ‘เพื่อนมนุษย์’ ไม่ใช่ ‘คนไทย’ เหมือนกับเราหรือ ?
            และคำถามต่อสื่อมวลชนกระแสหลักคือ พวกคุณควรทำหน้าที่เคียงข้าง ‘คนสามัญ’ มิใช่หรือ
            เพราะเนื้อแท้แล้ว คน กว่า 62 ล้านคนในประเทศนี้ทั้งหมดล้วนเป็นคน ‘สามัญ’ ทั้งสิ้น
            เป็นคน ‘สามัญ’ ที่ไม่ได้ ‘กินแกลบ’
            เพราะในระบอบประชาธิปไตยพวกเขาตัดสินใจเลือกอนาคตของเขาได้เอง
            และวันนี้พวกเขากำลังบอกว่าไม่ต้องการ ‘เทวดา’ หน้าไหนมาจูงจมูกพวกเขาอีกต่อไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net