Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นี่เป็นบันทึกสั้นๆของผม หากมีเวลาและโอกาสจะพยายามพัฒนา-ค้นคว้าประกอบเพิ่มเติม และเขียนเป็นบทความต่อไป

๑. รัฐใช้ “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือในการอ้างความชอบธรรม รัฐใช้กฎหมายเป็น “ฉลาก” ไปแปะรับรองสิ่งนั้น สิ่งนี้ คนนั้น คนนี้ หากรัฐต้องการให้สิ่งใดถูกนับรวม (include) รัฐก็เอา “กฎหมาย” ไปแปะ หากรัฐต้องการให้สิ่งใดถูกคัดออ(exclude) รัฐก็ไม่นำ “กฎหมาย” ไปแปะ หรือหากมี “กฎหมาย” แปะอยู่ รัฐก็ไปฉีกออก หรือ นำ “กฎหมาย” ที่ทำให้สิ่งนั้นไม่ถูกนับรวมไปแปะ และแม้อาจมีบางสิ่งที่ไม่อยากถูกนับรวม แต่รัฐต้องการนับรวม รัฐก็ตามล่าเอา “กฎหมาย” ไปแปะให้อีก

๒. อ้าง "กฎหมาย-กระบวนการยุติธรรม-คำพิพากษา" ไว้อุดปากฝ่ายตรงข้าม และสร้างความชอบธรรมให้ "ฝ่าย" ตนเอง โดยจงใจไม่พูดถึงที่มาอันอุบาทว์ ปัจจัยรอบด้านของ "กฎหมาย" ไม่อนาทรร้อนใจต่อการใช้ "กฎหมาย" แบบไม่เสมอภาค

๓. ศาลตัดสินแล้วเป็นที่สุด ต้องเคารพ วิจารณ์ได้เฉพาะวิชาการ 

๔. ในขณะที่ศาลเองทำตนเป็นเสมือน "เครื่องจักร" ควานหาตัวบทกฎหมายที่เข้าล็อกกับ "คำตอบในใจ" เอามาแปะ-ประกอบลงในคำพิพากษาพร้อมเขียนเหตุผลประกอบสั้นๆ แล้ววินิจฉัยว่าทำอะไรได้-ไม่ได้ ต้องวินิจฉัยแบบนี้เพราะกฎหมายเขียนแบบนี้เอง

ศาลไม่ใช้มโนธรรมสำนึก ไม่ใช้การใช้และการตีความไปในทางที่เป็นธรรม แต่เดินตามแนวปฏิบัติเดิม เดินตามตัวบทกฎหมายที่มีอยู่ ช่วยไม่ได้จริงๆ มาตรานี้บอกให้ยุบพรรค มาตรานั้นบอกให้รับรองรัฐประหารทั้งในอดีต- ปัจจุบัน-อนาคต เขียนแบบนี้ ก็ต้องตามนั้นแหละ เราเป็นเสมือนหุ่นยนต์ 

 ข้อเท็จจริงเดียวกันหรือคล้ายกัน ศาลสามารถวินิจฉัยไปทางซ้ายหรือไปทางขวาก็ได้ ไปทางสีขาวหรือไปทางสีดำก็ได้ ไปตามธงคำตอบไหนก็ได้ โดยมีชุดคำอธิบายไว้ทั้งสองแบบ ถ้าเอาแบบหนึ่ง ก็อธิบายแบบนี้ ถ้าเอาอีกแบบหนึ่ง ก็อธิบายแบบนั้น

๕. "กฎหมาย" เป็นยาวิเศษ แก้ปัญหาได้ดังใจนึก ถกเถียงกันอย่างไร อยากยุติให้วิ่งไปหาศาล หรือไปตรากฎหมายมาสัก ๑ ฉบับ เป็นอันจบ

๖. ทำตามกฎหมาย หลังพิงกฎหมายไว้อยู่ โดยเข้าใจกันผิดๆว่า "ความชอบด้วยกฎหมาย" (Legality) คือ การนำกฎเกณฑ์ทางกฎหมายชุดหนึ่งไป "ทาบวาง" กับการกระทำหนึ่งแล้ววินิจฉัยว่าถูก-ผิดเท่านั้น (ในบางกรณีก็เอากฎเกณฑ์ทางกฎหมายมาทาบวางแล้ววินิจฉัยถูก-ผิด ตามธงในใจ โดยให้เหตุผลประกอบไม่ดีพอ) แต่อีกด้านหนึ่ง "ความชอบด้วยกฎหมาย" ต้องคำนึงถึงความมั่นคงแห่งนิติฐานะ การคุ้มครองบุคคลที่เชื่อถือไว้วางใจในการดำรงอยู่ของกฎหมาย ความมั่นคง-แน่นอน-สม่ำเสมอ-มาตรฐานเดียวกันของกฎหมายอีกด้วย

๗. ในด้านรูปแบบคำพิพากษา (โดยเฉพาะคดีการเมือง) มีความยาวมาก แต่ที่ยาวนั้นประกอบไปด้วย แปะ-ประกอบ คำฟ้อง-คำร้อง คำให้การ แปะ-ประกอบตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมแล้วประมาณหลายสิบหน้า ส่วนที่เป็นท่อน "ฟันธง-วินิจฉัย” ก็วินิจฉัยและพรรณนาโวหาร ความชั่วร้าย ความเลว ความบัดซบ ดูแล้วคู่กรณี-คู่ความเป็นบุคคลที่เลวร้ายมาก ในบางครั้งยังแถมด้วยการเทศนาอีกหนึ่งกัณฑ์ใหญ่

ส่วนที่เป็นเหตุผลประกอบคำพิพากษานั้นสั้นมาก ส่วนที่ฝ่ายวิชาการจะใช้-ประยุกต์นำไปพัฒนา- สกัดหลักการทางกฎหมายออกมาได้นั้นแทบไม่ปรากฏเลย ซึ่งต่างจากคำพิพากษาฎีกาสมัยก่อน ในคดีแพ่ง-อาญา เรายังได้อะไรจากคำพิพากษา เอามาศึกษากันได้ วิเคราะห์-สังเคราะห์ได้ตำราเป็นเล่ม แต่กลับคดีการเมือง-คดีมหาชนนั้นเล่า เราสกัดหลักแทบไม่ได้เลย

ลองไปสำรวจคำพิพากษา-คำวินิจฉัยยาวเกือบร้อยหน้าทั้งหลายเถิด จะพบว่าไม่มีอะไรเลย ท่อนทีเด็ด ก็จะพรรณนาไปเรื่อยแล้วฟันธง เป็นอันจบ ไม่มีการ reasoning-argument ตามหลักวิชา General Theory of Law ถ้าจะให้ดีต้องเขียนคำสมัยนิยมใส่ลงไปด้วย จำพวก "นิติธรรม" "นิติรัฐ" "ปกครองด้วยกฎหมาย" "ประชาธิปไตย" ฯลฯ โดยไม่ได้อธิบายความอะไร ไม่ได้เอาข้อเท็จจริงมาปรับเข้า เพียแต่ยกมาไว้เฉยๆ
 
๘. ในด้านรูปแบบกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวพันกับอำนาจมหาชน มักมีบทบัญญัติกำหนดให้มีคณะกรรมการ ๑ ชุด คณะอนุกรรมการ ๑ ชุด สำนักงานทำหน้าที่ธุรการ บทลงโทษ รูปแบบกฎหมายประเภทนี้ หากประเมินทางเศรษฐศาสตร์ ก็น่าคิดว่าเพิ่มต้นทุนมากเท่าไร ไหนจะเบี้ยประชุม ไหนจะงบใช้ตั้งสำนักงาน พัสดุ-อุปกรณ์-อาคารสถานที่-รถประจำตำแหน่ง การอภิปรายร่างกฎหมายมักเถียงกันอยู่แค่นี้ เอาองค์กรฉันเข้าไปเป็นกรรมการด้วย รถประจำตำแหน่งเป็นอย่างไร เงินเดือนเท่าไร เบี้ยประชุมท่าไร
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net