Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

“ที่สำคัญ พวกเราจะชูพระพุทธเจ้าเป็นไอดอลประชาธิปไตย เพราะเสนอความคิดเท่าเทียมกันทุกชนชั้น อนุญาตให้คนไร้วรรณะ หรือวรรณะต่ำสุดคือจัณฑาลบวชได้เท่าเทียมกัน อนุญาตให้ผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณีได้” 
                                                                                     (ไม้หนึ่ง ก.กุนที,ประชาไท,10/03/2010)

สิ่งที่ไม้หนึ่งพูดเป็นการดึงเอาสาระสำคัญที่เรียกว่า “จิตวิญญาณประชาธิปไตย” (democratic spirit) ในพุทธศาสนาออกมาใช้ประโยชน์ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งที่จริงจิตวิญญาณดังกล่าวนี้เป็นธรรมชาติสากลของมนุษย์ที่อาจพบได้ทั้งในซีกโลกตะวันตกและตะวันออก

เช่น เมื่อโสเครตีสถูก “เสียงส่วนใหญ่” แห่งศาลสาธารณะของชาวเอเธนส์พิพากษาให้ประหารชีวิตด้วยการดื่มยาพิษในความผิดฐานสร้างความเสื่อมศรัทธาในศาสนาและมอมเมาเยาวชน เขายืนยันว่าตนเองไม่ได้กระทำความผิดดังคำพิพากษา แต่ก็ยินดีปฏิบัติตามคำพิพากษาด้วยเหตุผลที่ว่า ในฐานะที่เป็นพลเมืองเอเธนส์ ตนก็ต้องเคารพกฎหมายแห่งเอเธนส์

กฎหมายที่ว่านั้นก็คือ “กติกาการตัดสินด้วยเสียงส่วนใหญ่” อันเป็นกติกาของระบอบประชาธิปไตยทางตรงของชาวเอเธนส์ สำหรับโสเครตีสแม้เขาจะเห็นว่าเสียงส่วนใหญ่บกพร่องเพราะตัดสินผิดจากข้อเท็จจริง แต่ในฐานะพลเมืองแห่งเอเธนส์เขาก็ยืนยันที่จะปฏิบัติตาม “กติกาการตัดสินด้วยเสียงส่วนใหญ่” เพราะนั่นคือการรักษากฎพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตยอันเป็นอุดมการณ์ร่วมกันของชาวเอเธนส์

การสละชีวิตเพื่อรักษากติกาประชาธิปไตยของโสเครตีส เป็นการกระทำที่สูงส่งในสังคมประชาธิปไตย เรียกว่าเป็นการแสดงออกถึง “จิตวิญญาณประชาธิปไตย”

จิตวิญญาณประชาธิปไตย อาจมีได้ในสังคมแบบอื่นที่ไม่ใช่สังคมประชาธิปไตย (แต่ทว่าในสังคมประชาธิปไตย หากปราศจากจิตวิญญาณประชาธิปไตย ก็ไม่อาจมีความเป็นประชาธิปไตยในทางเนื้อหา) เช่น เราสามารถพบจิตวิญญาณประชาธิปไตยได้ในพุทธศาสนา

เป็นที่ทราบกันว่าพุทธศาสนานั้น ไม่ได้สอนหรือสถาปนาระบบการเมืองการปกครองแบบใดแบบหนึ่ง และอินเดียในสมัยพุทธกาลก็ยังไม่มีระบบการปกครองที่เรียกกันว่าระบอบประชาธิปไตย แต่ท่านพุทธทาสภิกขุเคยกล่าวว่า เราสามารถพบ “นัย” บางอย่างของ “ประชาธิปไตย” หรือของ “สังคมนิยม” ในพุทธศาสนา

ผู้เขียนเห็นว่านัยบางอย่างของประชาธิปไตยในพุทธศาสนาก็คือ “จิตวิญญาณประชาธิปไตย” นั่นเอง เราอาจเห็นรูปธรรมนี้ได้จากเรื่องราวของการสังคายนาครั้งที่ 1 เมื่อพระอานนท์ถูกคณะสงฆ์ลงมติให้แสดงอาบัติทุกกฎด้วยความผิด 5 ข้อ ท่านแก้ข้อกล่าวหาได้ทุกข้อ ยืนยันว่าตนไม่ผิด และขณะนั้นท่านก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่เพื่อเป็นการเคารพต่อสงฆ์หรือ “เสียงส่วนใหญ่” ท่านจึงยินดีแสดงอาบัติตามมติที่ประชุมสงฆ์

เรื่องราวของโสเครตีสและพระอานนท์ มีข้อสังเกตที่สำคัญ 2 ประการ คือ

1. เสียงส่วนใหญ่อาจตัดสินผิดได้ แต่ก็น่าสังเกตว่ากรณีการตัดสินผิดของเสียงส่วนใหญ่ของชาวเอเธนส์เป็นกรณีที่คาดหมายได้อย่างปกติ เนื่องจากเป็นการตัดสินของปุถุชนที่อาจเกิดจากอคติต่างๆได้ แต่กรณีเสียงส่วนใหญ่ของสงฆ์ที่ตัดสินลงโทษพระอานนท์ต้องถือว่าเป็นความบกพร่องของเสียส่วนใหญ่ที่ออกจะเกินความคาดหมาย เนื่องจากเป็นมติของสงฆ์ที่ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์แล้วทั้งสิ้น

2. ฉะนั้น ความบกพร่องของเสียงส่วนใหญ่จึงเป็นสมมุติฐานที่ยอมรับได้ของทุกสังคม (ไม่ว่าสังคมของปุถุชนหรืออริยชน) ที่ยึดถือ “กติกาการตัดสินด้วยเสียงส่วนใหญ่” แต่ผู้ที่มี “จิตวิญญาณประชาธิปไตย” ย่อมสามารถแยกแยะได้ว่านั่นเป็นความบกพร่องของ “เสียงส่วนใหญ่” ไม่ใช่ความผิดของ “กติกาการตัดสินด้วยเสียงส่วนใหญ่” เขาจึงยังคงยินดีปฏิบัติตามกติกาการตัดสินด้วยเสียงส่วนใหญ่ (แม้จะต้องสละชีวิต) เพื่อรักษากติกาการอยู่ร่วมกันที่เขาและสมาชิกคนอื่นๆต่างเชื่อร่วมกันว่าเป็นกติกาของสังคมอารยะ

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของโสเครตีสเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายถึงความมีจิตวิญญาณประชาธิปไตย เนื่องจากเขาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมประชาธิปไตยทางตรง จึงเป็นธรรมดาที่ปรัชญาเมธีอย่างเขาจะเห็นคุณค่าของการปกป้องจิตวิญญาณประชาธิปไตยเพื่อรักษาสังคมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสังคมที่ให้หลักประกันในการปกป้อง “คุณค่าพื้นฐาน” ต่างๆ คือ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ

แต่กรณีพระอานนท์ท่านอยู่ในสังคมที่ยังไม่มีการพูดถึงคำว่า “ประชาธิปไตย” ทว่าก็ยังแสดงออกให้เห็นถึงการมี “จิตวิญญาณประชาธิปไตย” อย่างชัดเจน ซึ่งบ่ง “นัย” ว่าจิตวิญญาณเช่นนั้นนอกจากจะทำให้สังคมสามารถรักษาคุณค่าพื้นฐานดังกล่าวแล้ว ยังสนับสนุนให้สังคมบรรลุถึงสิ่งที่ดีอื่นๆด้วย เช่นการมีชีวิตที่ดีทางศาสนา เป็นต้น

การแสดงสปิริตของพระอานนท์ สะท้อนทัศนะของพุทธศาสนาที่ว่า คุณค่าพื้นฐานดังกล่าวจำเป็นต่อการส่งเสริมให้ปัจเจกบุคคลมีโอกาสได้พัฒนาชีวิตให้บรรลุถึงสิ่งดีงามด้านต่างๆ จนกระทั่งบรรลุถึงสิ่งดีงามสูงสุดนั่นคืออิสรภาพจากความทุกข์

ฉะนั้น เมื่อก่อตั้ง “สังฆะ” พระพุทธเจ้าจึงวางกติกาว่า ทุกคนที่เข้ามาบวชไม่ว่าจะมาจากชนชั้นใดต้องมีสถานะความเป็นพระภิกษุและมีสิทธิด้านต่างๆเสมอภาคกันภายใต้ “พระวินัย” ซึ่งเปรียบเหมือน “ธรรมนูญ” ของสงฆ์ หรือกล่าวโดยรวมๆมนุษย์ทุกคนไม่ว่าชายหรือหญิงต่างมีความเป็นมนุษย์ในแง่ที่มี “ศักยภาพบรรลุธรรม” ในตนเองเฉกเช่นกัน

เรามีเสรีภาพทางความคิดความเชื่อและการแสวงหาความจริงอย่างเต็มที่ (ตามหลักกาลามสูตร) ในขณะเดียวกันเราก็สามารถพัฒนาตนให้มีเสรีภาพจากพันธนาการของกิเลสและความชั่วร้ายทั้งปวง และเราก็อาจมีภราดรภาพด้วยการคิด พูด ทำ หรือปฏิบัติอื่นๆต่อกันด้วยจิตเมตตา ขณะที่อาจรักษาความยุติธรรมในการอยู่ร่วมกันได้ ด้วยการยึดความถูกต้องเป็นใหญ่หรือยึดหลัก “ธรรมาธิปไตย”

ก่อนที่พระพุทธองค์จะปรินิพพาน ก็ไม่ได้ตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลให้เป็นใหญ่หรือมีอำนาจสมบูรณ์ แต่ให้ธรรมและวินัยมีอำนาจสมบูรณ์ นี่หมายความว่า พระองค์ให้สัจจะและหลักการหรือกฎที่ถูกต้องเป็นใหญ่ มีความสำคัญเหนือตัวบุคคลและหรือคณะบุคคล

ฉะนั้น การที่พระอานนท์ยอมทำตามมติของสงฆ์ แม้ตระหนักว่าตนเองไม่ผิด ก็เพื่อปกป้องหลักการหรือกฎที่ถูกต้องเพื่อปกป้องพุทธศาสนา เช่นเดียวกัน โสเครตีสยอมสละชีวิตตามมติของเสียงส่วนใหญ่ ก็เพื่อปกป้องหลักการหรือกฎที่ถูกต้องเพื่อปกป้องประชาธิปไตยซึ่งสำคัญกว่าตัวบุคคล

ในเมื่อ “จิตวิญญาณประชาธิปไตย” หรือ การแสดงออกซึ่งจิตสำนึกรักษาปกป้องหลักการหรือกฎที่ถูกต้อง มีความหมายสำคัญต่อการรักษาพุทธศาสนาและประชาธิปไตยเช่นนี้ จึงชวนให้น่าตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดสังคมไทยซึ่งอ้างว่าเป็นสังคมพุทธและสังคมประชาธิปไตย จึง “ยอมรับ” การอ้างข้อบกพร่องของเสียงส่วนใหญ่ (เช่น โง่ ขายเสียง เลือกคนเลว ฯลฯ) เพื่อให้ความชอบธรรมแก่การล้มกติกาประชาธิปไตย และให้ความเชื่อถือหรือให้อภิสิทธิ์แก่ “คนดี” หรือ “คนมีคุณธรรม” ก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง?

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net