Skip to main content
sharethis

มาร์ค-สุเทพ-จิ้น-ผู้ว่า กทม. หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับมือสถานการณ์การชุมนุมในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล นายกรัฐมนตรีเตรียมขอประชาชนร่วมมือและปฏิบัติตามเจ้าหน้าที่ ยันกำชับไม่ให้เจ้าหน้าที่พกอาวุธ แต่จะมีอุปกรณ์ป้องกันตัว ลั่นถ้าร่วมมือกับรัฐบาลจะสามารถรักษาความเป็นปกติและความสุขได้ ตั้งเงื่อนไขยุบสภาแน่ถ้ายุบแล้วเหตุการณ์สงบ

ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า เมื่อวานนี้ (9 มี.ค.) เวลา 14.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ ประชุมหารือร่วมกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้อำนวยการสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ของกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการรับสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

 

เผยรัฐบาลเตรียมรักษาความสงบและปกติสุขให้ประชาชน

ทั้งนี้ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายกรัฐมนตรี ได้แถลงว่า วันนี้ตนและรองนายกรัฐมนตรี ได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ตลอดจนผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขต มาประชุมเพื่อเตรียมการในการรับสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยที่ประชุมได้มีการรับทราบการประเมินสถานการณ์และการข่าวที่สำคัญต่าง ๆ ซึ่งเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาทางผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีการประชุม พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังได้มีการซักซ้อมทำความเข้าใจทั้งในแง่ของหลักคิดและแนวปฏิบัติเพื่อที่จะรับมือกับสถานการณ์การชุมนุม ซึ่งในส่วนของหลักคิดนั้น รัฐบาลและหน่วยงานท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร ได้ถือเป็นภารกิจหลักคือการรักษาความสงบเรียบร้อยและความเป็นปกติสุขให้กับประชาชน

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวย้ำว่าภารกิจดังกล่าวของรัฐบาลและกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่เรื่องที่ไปเป็นกรณีคู่ขัดแย้งกับใคร ไม่ได้เป็นเป้าหมายที่จะไปขัดขวาง ปราบปรามการชุมนุมหรือการเคลื่อนไหวทางการการเมืองที่เป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องดูแลประชาชนและสังคมโดยส่วนรวม เพราะฉะนั้นการซักซ้อมหลักคิดตรงนี้จะมีความชัดเจนให้เจ้าหน้าที่ทุกคนที่จะดูแลสถานการณ์การชุมนุมซึ่งอาจจะมีความตึงเครียดนั้น จะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอดทนอดกลั้น โดยพยายามไม่ให้เกิดเหตุการณ์บานปลายหรือมีความรุนแรงใดๆ ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อมีการข่าวที่มีแนวโน้มว่ามีบุคคลบางกลุ่มซึ่งไม่ใช่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ที่มีความคิดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองนั้น ตรงนี้เจ้าหน้าที่จะต้องมีความพร้อมทุกด้านในการเข้าไปป้องกันเหตุและการเข้าไปแก้ไขกรณีมีเหตุต่างๆ เกิดขึ้น รวมถึงการดูและในเรื่องของการจราจรให้กับประชาชนในระหว่างที่มีการชุมนุมซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบบ้าง ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรงนี้จะต้องอำนวยความสะดวกให้ทุกฝ่ายสามารถที่จะดำเนินชีวิตของตัวเองไปได้ โดยกรุงเทพมหานครมีหน้าที่หลักที่จะต้องดูแลทั้งประชาชนทั่วไปและการอำนวยความสะดวกและสนับสนุนหน่วยงานอื่นด้วย ส่วนการแก้ไขหรือการระงับเหตุนั้น ได้มีการซักซ้อม การดำเนินการตามกฎหมายทั้งกฎหมายปกติ กฎหมายการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกฎหมายความมั่นคง ในกรณีที่คณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้มีการประกาศใช้ การประสานงานในการบังบัญชาเป็นอย่างไร

 

เตรียมขอประชาชนปฏิบัติตามและร่วมมือกับเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกรุงเทพมหานคร ได้ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ให้ประชาชนได้รับทราบเข้าใจถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน และการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทั้งในส่วนของรัฐบาลและของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งการขอความร่วมมือกับประชาชน คือ 1) การขอความร่วมมือในการปฏิบัติตามและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ เพราะในสถานการณ์จากนี้ไป บางครั้งการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการที่จะป้องกันเหตุอาจจะไปทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าไม่สะดวกหรือมีความรำคาญบ้าง ทั้งนี้เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย 2) ขอให้ประชาชนแจ้งข้อมูลและเบาะแสต่าง ๆ มายังเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากพบเหตุหรือมีอะไรผิดปกติ เพื่อที่จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ 3) ทำความเข้าใจกับประชาชน ไม่ว่าจะมีความเห็นทางการเมืองหรืออารมณ์ความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบอย่างไรนั้น อย่าได้นำตัวเองเข้าไปสู่ความขัดแย้งที่อาจจะนำไปสู่ความรุนแรง เพราะหากความรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว ความสูญเสียก็จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมโดยส่วนรวมและจะนำมาซึ่งความเดือดร้อนของประชาชนทั้งประเทศทั้งนี้หน้าที่จะแบ่งชัดเจน เพียงแต่บางภารกิจของกรุงเทพมหานครในสถานการณ์การชุมนุมอาจต้องการการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆ จึงย้ำว่าต่างฝ่ายต่างต้องสนับสนุนซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันฝ่ายความมั่นคงก็อาจจะต้องขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ กทม.และท้องถิ่นบ้าง

ต่อข้อถามว่า การเตรียมพร้อมของรัฐบาลจะทำให้ประชาชนตื่นตระหนกและชี้ให้เห็นว่าจะเกิดศึกใหญ่ รวมทั้งในทางปฏิบัติจะหาทางออกที่เหมาะสมอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราไม่ต้องการให้ประชาชนตื่นตระหนก แต่ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะประมาทได้ โดยพยายามเดินทางสายกลางมาโดยตลอดคือเราต้องมีความพร้อม ขณะเดียวกันสิ่งที่เรากำลังขอความร่วมมือไปยังประชาชนถ้าให้ความร่วมมือกับภาครัฐก็ไม่มีอะไรที่ต้องตื่นตระหนก รัฐบาลและกทม.ก็จะช่วยดูแลให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปได้ วันนี้ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสังคมไทยคือการพิสูจน์ให้คนทั้งประเทศและชาวโลกเห็นว่าเรามีความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่สามารถใช้สิทธิทางการเมืองได้โดยไม่ละเมิดกรอบของกฎหมาย และหลักการสำคัญของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยคือการเคารพกฎหมาย

"ผมต้องย้ำอย่างนี้เพราะไม่มีทางออกอื่น เราไม่สามารถที่จะบังคับให้ทุกคนเห็นตรงกันได้ เพราะฉะนั้น ความเห็นที่แตกต่างหลากหลายก็ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา ขณะเดียวกันเราไม่อาจปล่อยให้ใครก็ตามซึ่งจะใช้เรื่องของความรุนแรงในการข่มขู่เข้ามากำหนดอนาคตของประเทศ เพราะถ้ายอมเช่นนั้นปัญหาจะไม่มีวันจบ และจะเป็นวงจรที่ทำให้บ้านเมืองของเรามีแต่จะถอยหลัง ฉะนั้นทางออกคือเราต้องช่วยกันให้ผ่านพ้นสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองไปได้ ไม่ว่าการชุมนุมจะมีคนมากน้อยแค่ไหน สำคัญที่สุดเราต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าทุกฝ่าย โดยเฉพาะสังคมไทยไม่นิยมความรุนแรงและรักความสงบ เคารพสิทธิของกันและกัน ยึดตามรัฐธรรมนูญ คือ มีสิทธิการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธสามารถทำได้ แต่ขณะเดียวกันต้องไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนโดยทั่วไป" นายกรัฐมนตรี กล่าว

ต่อข้อถามว่า ตัวกฎหมายป้องกันสาธารณภัยที่นำมาจะสามารถช่วยอะไรในการดูแลสถานการณ์ทางด้านนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเป็นการช่วยในเรื่องของการบูรณาการ เพราะเป็นกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ทางผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขต ในการที่จะป้องกันหรือระงับภัยที่เกิดขึ้น และสามารถที่จะขอให้หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐเข้ามาช่วยปฏิบัติภารกิจทางด้านนี้ได้ และมีการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามกฎหมายนี้ด้วย

 

ไม่ไปออสเตรเลียเพราะจะดูแลสถานการณ์ช่วงนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเหตุผลที่ระงับการเดินทางไปเยือนประเทศออสเตรเลียในระหว่างวันที่ 13-17 มี.ค.ว่า คิดว่าเมื่อขณะนี้คณะกรรมการที่ติดตามสถานการณ์ความมั่นคงเห็นว่า สถานการณ์มีความจำเป็นที่จะต้องประกาศกฎหมายความมั่นคง ก็คิดว่าภารกิจของตนคงจะต้องดูแลให้การบริหารสถานการณ์ช่วงนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่เดิมเราหวังว่างานต่าง ๆ จะเดินหน้าได้ตามปกติซึ่งตนเองก็เสียดายเพราะในส่วนของออสเตรเลียก็เป็นมิตรประเทศที่สำคัญ และเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญเป็นตลาดที่ยังมีความเติบโต แต่เมื่อคณะกรรมการเห็นว่าสถานการณ์จะต้องมีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษผมในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดในฝ่ายบริหารและมีอำนาจหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับกฎหมายพิเศษด้วยก็คิดว่าจำเป็นจะต้องอยู่ที่นี่

"ครั้งนี้เท่ากับเป็นการเลื่อนการเยือนออกไป แต่ผมก็ยังตั้งใจที่จะไปอยู่ ในส่วนของการเยือนประเทศนิวซีแลนด์ในช่วงต่อไปก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง" นายกรัฐมนตรี กล่าว

ต่อข้อถามว่า ในส่วนรัฐบาลประเมินฝ่ายตรงข้ามอย่างไร เพราะดูเหมือนว่าจะเกิดศึกใหญ่นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลไม่มีฝ่ายตรงข้าม หน้าที่ของรัฐบาลคือการรักษากฎหมาย ทั้งนี้คิดว่ารัฐบาล ประชาชนทั่วไปและผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ควรจะอยู่ข้างเดียวกัน สิ่งที่เรากำลังจะต้องต่อสู้ด้วยคือคนกลุ่มคนเล็กๆ ที่ต้องการอาศัยเงื่อนไขความรุนแรงสร้างความโกลาหลให้กับบ้านเมือง ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาล ประชาชนทั่วไปและผู้ชุมนุมเกือบทั้งหมดไม่ต้องการให้บ้านเมืองเสียหาย วุ่นวาย เพราะฉะนั้นเราอยู่ข้างเดียวกัน ส่วนทางออกเราไม่สามารถที่จะไปบีบให้ทุกคนเห็นตรงกันได้ และไม่สามารถทำให้คนบางกลุ่มซึ่งมีผลประโยชน์ส่วนตัว และอาผลประโยชน์ส่วนตัวมาอยู่เหนือผลประโยชน์ของบ้านเมืองหยุดการกระทำบางอย่างได้ เราก็ต้องช่วยกันทำให้สังคมผ่านพ้นสถานการณ์ได้ซึ่งไม่มีอะไรดีไปกว่าการแสดงออกว่าคนส่วนใหญ่เคารพกฎหมาย ต้องการรักษาสงบ

ต่อข้อถามว่า เวลานี้หลายกระแสเป็นห่วงในเรื่องของคนเมืองที่จะออกมาต่อต้านกลุ่มผู้ชุมนุมตรงนี้ รัฐบาลได้เตรียมการรองรับอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตรงนี้คือหนึ่งในประเด็นที่ได้เรียนว่าจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้อดทน อดกลั้น และไม่เข้าไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรง พร้อมขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนด้วยในการประชาสัมพันธ์ดังกล่าว

 

ยันกำชับไม่ให้เจ้าหน้าที่พกอาวุธ แต่จะมีอุปกรณ์ป้องกันตัว

ต่อข้อถามว่าเจ้าหน้าที่สามารถพกพาอาวุธได้หรือไม่ นายรัฐมนตรี กล่าวว่า เราจะพยายามหลีกเลี่ยงกำชับไม่ให้พกพาอาวุธ แต่เขาจะมีอุปกรณ์ในการป้องกันตัว

ต่อข้อถามว่า คิดว่าแนวโน้มสถานการณ์ชุมนุมครั้งนี้จะรุนแรงกว่าเดือน เมษายน 2552 หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ได้บอกอย่างนั้น เพียงแต่บอกว่ามีคนบางกลุ่มต้องการเห็นความรุนแรง แต่ที่รัฐบาลทำทั้งหมดขณะนี้ เพื่อไม่ต้องการให้เหตุการณ์เหมือนกับเดือน เมษายนปีที่แล้ว ส่วนการใช้และระดมกำลังเจ้าหน้าที่ดังกล่าวนั้น ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ ไม่ใช่ว่าเพราะต้องการจะให้รุนแรง ขณะที่การประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย คือต้องเกิดเหตุแล้ว ซึ่งวันนี้ยังประกาศไม่ได้เพราะยังไม่มีเหตุอะไร แต่วันนี้จะเป็นเรื่องของการเข้าเงื่อนไขของกฎหมายความมั่นคง และจะบริหารไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นที่ผ่านมาให้ดีที่สุด

 

ตั้งเงื่อนไขยุบสภาแน่ถ้ายุบแล้วเหตุการณ์สงบ แต่ดูแล้วไม่มีแนวโน้มจะหยุด

ต่อข้อถามว่า ถ้าสถานการณ์บ้านเมืองสับสนวุ่นวายจะยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งคืนอำนาจให้ประชาชนหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้เรียนหลายครั้งว่าถ้ายุบสภาแล้วเหตุการณ์สงบ เป็นประโยชน์กับบ้านเมือง ตนก็ไม่มีปัญหา แต่ตนเพียงทดสอบด้วยเงื่อนไขว่าแสดงออกได้หรือไม่ว่าถ้ามีการยุบสภาเลือกตั้งแล้ว จะไม่มีการเคลื่อนไหวในลักษณะที่นำไปสู่ความรุนแรง เช่น ไม่มีการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ การเดินทาง การขุมขู่คุกคาม ถ้าทำได้ก็ไม่มีปัญหา แต่ปัจจุบันไม่มีสัญญาณจากกลุ่มคนที่บอกว่าให้ไปยุบสภาแล้วเขาจะหยุด

ต่อข้อถามว่าการบริหารราชการในสถานการณ์ที่มีการชุมนุมกดดันจากคนจำนวนมากคิดว่ารัฐบาลยังจะทำหน้าที่ได้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้ครับ"

ต่อข้อถามว่า ถึงวันนี้นายกรัฐมนตรีกลัวหรือไม่เพราะถูกหมายหัวขึ้นบัญชีดำจากกลุ่มคนเสื้อแดง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยู่มานานแล้วครับในบัญชีดำ ไม่กลัวครับ

ต่อข้อถามว่า ถ้าวันพรุ่งนี้ (9 มี.ค. 53) ครม.เห็นด้วยในการประกาศพื้นที่ความมั่นคงในการควบคุมสถานการณ์ โรงเรียนต่าง ๆ ที่เป็นจุดเสี่ยงจะต้องปิดเรียนหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้เรียนให้ตนทราบว่า ส่วนที่มีการสอบจะให้เลื่อนออกไปก่อนเพื่อไม่ให้เป็นปัญหา

ต่อข้อถามว่า ในเรื่องของการตรวจค้นหรือการสกัดตามจุดต่าง ๆ จะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เขากลับมาโจมตีได้ว่าเป็นสกัดกั้นกิจกรรมที่ดำเนินตามรูปแบบประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าสิทธิในการชุมนุมมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและมีเงื่อนไขที่กำหนดเอาไว้ด้วย เพราะฉะนั้นสมมติเราตั้งด่านตรวจอาวุธก็ชัดเจนว่าถ้าเขาไม่มีอาวุธอยากเดินทางมาเข้ามาชุมนุมก็สามารถมาได้ แต่ถ้ามีอาวุธนั้น ไม่ได้เป็นการใช้สิทธิ เสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ถ้ามีเจตนาในการที่จะกีดขวางการจราจร หรือปิดกั้นและทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติ ได้ อันนี้ก็อยู่นอกเหนือขอบเขตของกฎหมายตามรัฐธรรมนูญตามที่กำหนดเอาไว้

 

ชี้ผู้ชุมนุมมีที่มาต่างกัน แต่บางคนหวังล้มกระดาน

ต่อข้อถามว่า มีการพูดถึงการอุดช่องว่างของสถานการณ์ในระหว่างนี้ มีผู้ชุมนุมแต่อาจจะเกิดช่องว่างการก่อวินาศกรรมหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้มีการพูดกันนั้น ก็มีทั้งเรื่องการชุมนุมทีมีคนจำนวนมากและปัญหาการก่อวินาศกรรม ซึ่งหน่วยงานด้านสาธารณูปโภคก็เตรียมแผนรองรับไว้แล้ว โดยมอบหมายให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยดูแล ส่วนแนวทางที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุได้นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีการติดตามการข่าวอย่างใกล้ชิด มีสายตรวจ จุดตรวจ การขอความร่วมมือจากประชาชน และสามารถจับกุมผู้ก่อเหตุต่างๆ ได้

ต่อข้อถามว่า หลังจากประเมินสถานการณ์แล้วคิดว่าการชุมนุมครั้งนี้เป็นผลทางการเมืองเพื่อขับไล่รัฐบาลอย่างเดียวหรือมีอย่างอื่น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยากจะเรียนว่า คนที่เข้ามากรุงเทพฯ สัปดาห์หน้าจำนวนแสนคนนั้น แต่ละคนอาจจะคิดและมีที่มาที่แตกต่างกัน หลายคนมีข้อเรียกร้องความเป็นธรรม ประชาธิปไตย แต่หลายคนก็ได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อน และมีบางคนเข้ามาก็เพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง ล้มกระดาน หรือเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

 

นายกฯ เผยกลัวความสูญเสียเพราะทุกชีวิตมีค่า

ต่อข้อถามว่า กลัวอะไรมากที่สุดในการชุมนุมครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กลัวเกิดความสูญเสีย เพราะถือว่าชีวิตของทุกคนมีค่าและไม่ควรที่จะมีใครมาเสียชีวิตหรือสูญเสียกับสิ่งที่ความจริงแล้วเราสามารถบริหารจัดการได้ เวลาที่คนเข้ามาชุมนุมจำนวนมากและมีคนที่มีเจตนาแอบแฝงก็มีความเสี่ยงเราก็จะพยายามไม่ให้เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น อย่างไรก็ตามตนเชื่อมั่นว่าคนส่วนใหญ่คิดเหมือนตนว่าไม่ต้องการให้เกิดความสูญเสีย และเชื่อว่าถ้าร่วมมือกันก็จะรักษาความสงบและความปกติได้

ต่อข้อถามว่าได้เตรียมสถานที่เป็นทำเนียบสำรอง ในการทำงานของ ครม.หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้

 

ไม่ตอบเรื่องเจรจาคนเสื้อแดง ไม่รู้ชุมนุมนานแค่ไหน

ต่อข้อถามว่า มีการส่งคนไปเจรจากับกลุ่มคนเสื้อแดงหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แกนนำหลายคนไม่มีปัญหา แกนนำหลายคนเคลื่อนไหวตามปกติ ในส่วนของระยะเวลาการชุมนุมนั้นยังไม่ทราบว่าจะนานแค่ไหน และจะไม่ขอตอบคำถามซึ่งจะถูกนำไปขยายผลเป็นประเด็นความขัดแย้งได้

ต่อข้อถามว่าจะมีการเพิ่มจุดการตั้งด่านตรวจจาก 200 ด่าน หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะพิจารณาตามความเหมาะสม เพราะพื้นที่ที่จะประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงและข้อกำหนดต่างๆ ก็จะดูตามสภาพความจำเป็น ขณะนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่หลังจากประชุม ครม.และประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงแล้วก็จะมีการออกข้อกำหนดอีกครั้งหนึ่ง

ต่อข้อถามว่ากำลังของกทม.จะเข้ามาสนับสนุนจำนวน เท่าไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีทั้งในส่วนราชการและอาสาสมัครที่ทำงานร่วมกับท้องถิ่น ซึ่งมีจำนวนมาก และอย่าไปพูดถึงตัวเลขเพราะจะกลายเป็นเรื่องราวการเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ทุกคนมีหน้าที่ในการดูแลบ้านเมืองท้องถิ่น ซึ่งหน้าที่หลักของกทม.คือการช่วยบริหารจราจรซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการที่คนเข้ามาแสนกว่าคนก็ย่อมเกิดผลกระทบ ยิ่งประกาศเชิญชวนให้เอายานพาหนะเข้ามาด้วยก็ย่อมกระทบต่อการจราจรแน่นอน นอกจากนี้ก็จะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกด้วยทั้งการจัดการเดินทางให้ผู้ชุมนุมและเส้นทางต่างๆ

ต่อข้อถามว่า มั่นใจมากน้อยเพียงใดจะสามารถผ่านพ้นสถานการณ์ไปได้โดยไม่สูญเสีย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเชื่อมั่นว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ต้องการให้เกิดความสูญเสียทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นถ้าเราร่วมมือกันก็จะสามารถรักษาความเป็นปกติและความสุขได้

 

ยังไม่ระบุอยู่เซฟเฮาส์หรือไม่

 

เว็บไซต์ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล ยังรายงานเพิ่มเติมว่า ต่อมา เวลา 17.45 น.ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความมั่นใจหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในช่วงวันที่ 11-23 มีนาคม ว่า โดยผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องย้ายไปอยู่เซฟเฮ้าส์หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ยังไม่ได้คุยกันว่าจะไปรวมตัวกันในแง่ของผู้ที่จะดูแลการปฏิบัติที่ต้อง บัญชาการ แต่คงจะอยู่ด้วยกันทั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและผู้ที่เกี่ยวข้อง

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าในเรื่องความปลอดภัยนั้นนายกรัฐมนตรีต้องไปอยู่เซฟเฮ้าส์หรือไม่ นายก รัฐมนตรี กล่าวว่า จะต้องไปอยู่ในที่ที่สามารถติดต่อสื่อสารและสั่งการต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่มีอุปสรรค แต่อย่างไรก็ตามเราก็จะดูตามสถานการณ์ เมื่อถึงเวลาก็จะนัดหมายรวมตัวกัน

 

เสี้ยมผู้ชุมนุมมาลำบาก แต่คนที่ต่อสู้ให้ก็สุขสบายและไม่รับผิดชอบใดๆ

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังถามถึงกรณีที่คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยาพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้พาบุตรเดินทางออกไปยังประเทศเยอรมันก่อนที่จะมีการชุมนุม นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2552 ก็จะเป็นว่าคนใกล้ชิดและครอบครัวพ.ต.ท.ทักษิณ จะไปอยู่ต่างประเทศ เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ประมาท แต่ตนคิดว่าให้ลองนึกทบทวนย้อนกลับไปว่าเมษายน 2552 ความสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่ได้ช่วยอะไรให้ใครดีขึ้น และจริงๆ แล้วสิ่งที่พิสูจน์มาตลอดปีกว่าๆ นั้นบ้านเมืองเรากำลังมีโอกาสดีมากในการที่จะเดินไปข้างหน้าก็อยากให้ทุกคน ระมัดระวัง ในการแสดงออกด้วยความรู้สึกอะไรสามารถทำได้ แต่ขอให้มั่นใจอย่างหนึ่งว่าขณะนี้รัฐบาลมีความแน่วแน่ที่ต้องการให้ ทุกอย่างสงบ ไม่มีความคิดที่จะใช้กำลัง แต่ก็ต้องคิดว่าคนที่พยายามพูดจาให้ทุกอย่างรุนแรงเขาหวังอะไร แล้วเราจะไปเป็นเครื่องมือให้คนเหล่านั้นทำไม

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรีจะฝากคนเสื้อแดงที่ถูกพ.ต.ท.ทักษิณ ปลุกให้มาชุมนุมที่กรุงเทพฯ แต่ครอบครัวกลับเดินทางไปประเทศเยอรมันอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เขาคงน่าจะเรียนรู้แล้วว่าทุกครั้งที่เขามายากลำบาก คนที่เขาคิดว่าต่อสู้ให้ก็สุขสบายเหมือนเดิม และยังไม่มีความรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้นกับอะไรก็ตามที่เกิดขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า วันนี้ต้องมีชีวิตใครมาเซ่นสังเวยเพื่อใครอีกหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าไม่ควรจะมี และถ้าจะมีก็ไม่มีใครชนะ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net