Skip to main content
sharethis

กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ร้องตรวจสอบธนาคารนครหลวงไทยปล่อยเงินกู้ให้บริษัทในเครือสหวิริยา กว่า 971 ล้านบาท ชี้เอาที่ป่าคุ้มครองมาค้ำประกัน

วานนี้ (24 ก.พ.53) กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ขอให้ตรวจสอบการอนุมัตเงินกู้ของธนาคารนครหลวงไทย ที่ปล่อยเงินกู้ให้ บริษัท ท่าเรือประจวบ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือสหวิริยา จำนวน 971 ล้านบาท จากการนำที่ดิน 14 แปลง รวมพื้นที่ 258 ไร่ 1 งาน 75 ตารางวา ในพื้นที่ อ.บางสะพาน ไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน

เนื่องจาก คำสั่งกรมที่ดินเลขที่ 14/2553 ถึงที่ 17/2553 และที่ 20/2553 ลงวันที่ 5 ม.ค.2553 ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส.3ก.) ที่ดิน 52 แปลง จำนวน 798 ไร่ ที่อยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองแม่รำพึง, เขตวนอุทยานแม่รำพึง, เขตพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติตามมติ ครม.วันที่ 3 พ.ย.52, เขตป่าคุ้มครองและเขตป่าไม้ถาวรตามมติ ครม.โดยที่ดิน 14 แปลงที่บริษัท ท่าเรือประจวบ จำกัด นำไปจำนองกับธนาคารนครหลวงไทยอยู่ในที่ดินซึ่งถูกเพิกถอนดังกล่าวด้วย

นายวิฑูรย์ บัวโรย ประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง กล่าวว่าการมายื่นหนังสือในวันนี้เนื่องจากชาวบ้านเห็นว่าการอนุมัติเงินกู้ของธนาคารนครหลวงไทย ไม่ได้มีการตรวจสอบสภาพพื้นที่ก่อน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ตั้งแต่เมื่อปี 2535 ทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการถือครองเอกสารสิทธิ์ นส.3ก.ในพื้นที่ และกระบวนการยังดำเนินอยู่ จนมามีคำสั่งเพิกถอน นส.3ก.เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2553 ได้ขอเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทำการตรวจสอบกระบวนการปล่อยเงินกู้ให้บริษัทในเครือสหวิริยา ซึ่งถือได้ว่าเป็นการใช้ทรัพย์สินรัฐคือพื้นที่ป่าคุ้มครองในการค้ำประกัน อีกทั้งให้ตรวจสอบโครงสร้างของผู้บริหารธนาคารนครหลวงไทยในขณะนั้นว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่

ด้านนายกำธร ประเสริฐสม หัวหน้าศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาการปล่อยสินเชื่อธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้แจงกรณีประเมินราคาจำนองสูงถึงเฉลี่ยไรละเกือบ 3,800,000 บาท ว่า การปล่อยสินเชื่อ ธนาคารจะประเมินราคาจากเอกสารสิทธิ์ที่ดิน และความสามารถในการผ่อนชำระ ซึ่งในขณะนั้นเอกสารสิทธิ์ในที่ดินถูกต้อง ขณะที่ผู้ขอกู้มีแผนโครงการระยะยาวอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ กรณีที่กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงขอให้ตรวจสอบโครงสร้างผู้บริหารธนาคารนครหลวงไทยในขณะนั้น ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับกลุ่มทุนในเครือสหวิริยาหรือไม่ นายกำธร กล่าวว่าจะเร่งตรวจสอบเรื่องธรรมาภิบาลของผู้บริหารอย่างเร่งด่วน โดยคาดว่าจะได้ความชัดเจน ทั้งเรื่องการตรวจสอบการปล่อยเงินกู้ และกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนภายใน 2 เดือน

ส่วนนายสุพจน์ ส่งเสียง รองประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง กล่าวให้ข้อมูลว่าเมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ลงพื้นที่ตามที่ได้รับปากในที่ประชุมร่วมกับกลุ่มชาวบ้านและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 17 ก.พ.5253 เพื่อตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่ แต่ทางกรมป่ายังไม่มีการดำเนินการใดๆ โดยอ้างว่าต้องรอสรุปผลการอุทธรณ์คำสั่งของกรมที่ดินก่อน เนื่องจากขณะนี้ทางบริษัทฯ ได้อุทธรณ์ทุเลาการเพิกถอน อย่างไรก็ตาม หากทางกรมป่าไม้ไม่ยอมดำเนินการใดๆ ชาวบ้านอาจต้องแจ้งความดำเนินคดีฐานละเว้นการปฎิบัติหน้าที่

รองประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ที่ผ่านมาโครงการของบริษัทเครือสหวิริยาได้มีการสร้างสิ่งก่อสร้างบนพื้นที่ชุมน้ำ ซึ่งเป็นการกีดขวางทางน้ำ ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมซ้ำซาก เพราะขาดพื้นที่ที่จะพักเก็บน้ำตามธรรมชาติ อีกทั้งโครงการเหล็กยังผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ในส่วนข้อเสนอต่อตัวโครงการนั้น บริษัทเครือสหวิทยาต้องดำเนินการแก้ปัญหาที่มีในพื้นที่อย่างเร่งด่วน และให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในกระบวนการดูแลตรวจสอบ

“เราไม่ได้หาเรื่องให้ออก แต่อย่าให้เพิ่ม และสิ่งที่มีอยู่ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน เราไม่ได้หาเรื่อง แต่เราเดือดร้อนมันก็ต้องแก้” นายสุพจน์กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net