แรงงานข้ามชาติชุมนุมทำเนียบ ร้องยืดเวลาลงทะเบียนพิสูจน์สัญชาติ

แรงงานข้ามชาติจากพม่า ร่วมเครือข่ายแรงงาน ชุมนุมยืนหนังสือ “ยูเอ็น” และ“นายก” ร้องขยายเวลายื่นความจำนงพิสูจน์สัญชาติออกไปก่อน หลังรัฐบาลกำหนดให้เสร็จก่อน 28 ก.พ.นี้ ส่วนคนที่เหลือจะถูกส่งกลับ

วานนี้ (16 ก.พ.) เมื่อเวลาประมาณ 9.00 น.กลุ่มแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า ร่วมกับเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM) เครือข่ายองค์กรด้านแรงงาน (MWG) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ราว 200 คน นัดรวมตัวกันที่บริเวณหน้าตึกองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก ก่อนเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรียังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเคลื่อนไหวคัดค้านการส่งกลับแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้เข้ากระบวนการพิสูจน์สัญชาติและให้มีการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ

สืบเนื่องจาก มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ม.ค.53 ให้ขยายระยะเวลาการพิสูจน์สัญชาติแก่แรงงานข้ามชาติ โดยหลักการในการขอพิสูจน์สัญชาติ แรงงานจะต้องยื่นขอต่อใบอนุญาติทำงานพร้อมยื่นคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติที่จัดหางานจังหวัด และจัดหางานเขตพื้นที่ ให้ทันก่อนวันที่ 28 ก.พ.53 เมื่อยื่นคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติแล้วจะได้รับการผ่อนผันให้สามารถอาศัยและทำงานต่อในประเทศไทยได้อีก 2 ปี คือไม่เกินวันที่ 28 ก.พ.55 แต่แรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติรวมทั้งแรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนให้ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานชั่วคราว จะถูกจับ ปรับ และผลักดันออกนอกประเทศ

อนึ่ง ขั้นตอนในการพิสูจน์สัญชาตินั้นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศต้นทางของแรงงานข้ามชาติ โดยในกรณีประเทศลาวและกัมพูชา ได้มีข้อตกลงร่วมกับทางการไทยว่าจะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการพิสูจน์สัญชาติภายในประเทศไทย ส่วนของประเทศพม่าได้กำหนดให้แรงงานชาวพม่าเดินทางกลับไปพิสูจน์สัญชาติที่ประเทศต้นทางโดยจะเดินทางไปเองหรือให้นายจ้างพาไปก็ได้ และสามารถดำเนินการ ผ่านทางบริษัท 12 บริษัท ที่ทางการพม่าให้การรับรอง

เริ่มตั้งขบวนหน้ายูเอ็น

 

แรงงานจากสหภาพแรงงานไทรอัมพ์มาร่วมด้วย

ที่หน้าตึกองค์การสหประชาชาติในช่วงเช้ากลุ่มผู่ชุมนุมได้ทำการยื่นหนังสือแสดงความห่วงใยต่อความมั่นคงของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย จากกรณีดังกล่าว ให้กับตัวแทนของผู้แทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ย้ายถิ่นและผู้แทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนในพม่า ซึ่งเป็นผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) รวมทั้งผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) จากนั้นจึงเคลื่อนขบวนกันไปยังบริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติกว่า 2 ล้านคนในประเทศไทย เป็นแรงงานชาวพม่าที่ทำงานในไทยมีกว่า 1.4 ล้านคน ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติเสร็จสิ้นเพียง 4 แสนคนเท่านั้น ทำให้คาดว่าในวันที่ 28 ก.พ.นี้ จะมีแรงงานชาวพม่าจำนวนหลายแสนคน ถูกผลักดันกลับประเทศ ดังนั้นเครือข่ายฯ จึงได้ออกมาชุมนุม โดยมีข้อเรียกร้อง 7 ข้อ คือ 1.ให้รัฐบาลควรขยายระยะเวลาการพิสูจน์สัญชาติจากวันที่ 28 ก.พ.53 ออกไป เพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ 2.ควบคุมดูแลบริษัทเอกชนที่ช่วยดำเนินการในการพิสูจน์สัญชาติให้กับนายจ้างและแรงงานข้ามชาติ เพื่อป้องกันการแสวงหาประโยชน์โดยเรียกเก็บค่าบริการสูงเกินสมควร

3.เจรจาระหว่างรัฐบาลให้มีการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติในประเทศไทย เพื่อให้กระบวนการทำได้ง่ายขึ้น ใช้ระยะเวลาน้อยลง รวมทั้งเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำ ช่วยเพิ่มความปลอดภัยและสร้างจูงใจในการเข้าสู่การพิสูจน์สัญชาติ 4.กระทรวงแรงงานควรหารือกับองค์กรที่ทำงานสนับสนุนแรงงานข้ามชาติเพื่อกระตุ้นการสร้างความตระหนักเรื่องการพิสูจน์สัญชาติให้กับแรงงานข้ามชาติ 5.รัฐบาลควรหาวิธีจัดการพูดคุยเพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนสำหรับแรงงานข้ามชาติที่ไม่ผ่านหรือไม่ได้พิสูจน์สัญชาติ และควรเปิดให้ทุกฝ่ายได้ร่วมในการจัดทำแนวทางการจัดการและเสนอข้อคิดเห็นต่อแนวทางดังกล่าว โดยคำนึงถึงพันธกรณีตามกติกาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศต่อแรงงานข้ามชาติ

6. รัฐบาลควรเปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติอีกครั้ง เพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ 7.แรงงานข้ามชาติที่ได้รับใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยควรมีสิทธิเปลี่ยนนายจ้างเพื่อป้องกันการแสวงหาประโยชน์และการตกเป็นแรงงานบังคับ และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานให้เกิดผลอย่างแท้จริง

เดินเท้าจากยูเอ็นไปทำเนียบรัฐบาล

ด้านนายสาวิทย์  แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าแรงงานต้องการพิสูจน์สัญชาติ และทุกฝ่ายเห็นด้วย แต่ควรทำให้กระบวนการพิสูจน์สัญชาติมีความรอบครอบ รัดกุมรวดเร็ว เพื่อให้แรงงานข้ามชาติอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ แต่กระบวนการที่เป็นอยู่นำไปสู่การทุจริต มีคนเพียงบางกลุ่มได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ ในขณะที่แรงงานข้ามชาติที่ได้เงินค่าจ้างน้อยกว่าค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำต้องเป็นคนจ่ายตรงนี้

ที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติเดินทางออกนอกประเทศอย่างผิดกฎหมาย และได้รับการผ่อนผันให้ทำงานในประเทศไทย แต่ขณะนี้รัฐบาลไทยได้กดดันให้เขากรอกข้อมูลและยื่นรายละเอียดข้อมูลบุคคลให้กับทางการไทย เพื่อส่งไปยังประเทศพม่าสำหรับใช้ในการพิสูจน์สัญชาติ  หลังจากนั้นแรงงานเหล่านี้จะต้องเดินทางไปประเทศพม่าเพื่อรับหนังสือเดินทางชั่วคราว ก่อนที่จะเดินทางกลับมาประเทศไทยและทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย แต่กระบวนการดังกล่าวเปิดช่องให้นายหน้าเขามาเรียกรับผลประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติ

“คนเหล่านี้มีส่วนสร้างประเทศให้พัฒนา หากมีการส่งกลับครั้งใหญ่เกิดขึ้น ย่อมส่งผลเสียร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของไทยที่ยังคงต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ รวมทั้งชื่อเสียงของประเทศไทยด้วย” นายสาวิทย์กล่าว

นายจ้างผิดกฎหมาย นายหน้า รัฐบาลทหารพม่า แบ่งเค้กผลประโยชน์พิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติ

 

ส่วนนายอดิศร  เกิดมงคล เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติ กล่าวให้ข้อมูลว่า ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้เปิดให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่าแจ้งขึ้นทะเบียนเพื่อพิสูจน์สัญชาติ พบว่ามีแรงงานต่างด้าวเพียง 10% หรือประมาณ 100,000 จาก 2 ล้านคนเข้าสู่ระบบ เหลืออีก 90% ยังไม่เข้าสู่ระบบ หากแรงงานเหล่านี้ยังไม่ไปแจ้งพิสูจน์สัญชาติภายในวันที่ 28 ก.พ. จะถูกผลักดันออกนอกประเทศ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาแรงงานหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเพิ่มจำนวนมากขึ้น

นายอดิศร กล่าวต่อว่า จากการสำรววจพบว่า แรงงานต่างด้าว 20% ไม่ทราบเรื่องการไปแจ้งพิสูจน์สัญชาติเลย มากว่า 50% รู้ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ และได้กล่าวถึงปัญหาค่าใช้จ่ายแพงกว่า 4,000 บาท จากที่กระทรวงแรงงานกำหนด แต่การที่ต้องผ่านระบบนายหน้าทำให้ตัวเลขพุ่งขึ้น 6,000-12,000 บาท

นอกจากนี้แรงงานอีก 20% หรือ กว่า 200,000 คนเป็นแรงงานไร้สัญชาติ เช่น โรฮิงญา กะเหรี่ยง ทวาย ฯลฯ จึงไม่กล้าเข้ามาแจ้งพิสูจน์สัญชาติเพราะเกรงว่าจะถูกดำเนินคดีหรือถูกกดดันจากรัฐบาลของตัวเอง หรือรัฐบาลพม่า ไม่ยอมรับว่ากลุ่มตัวเองเป็นคนมีสัญชาติพม่า ซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลไทยยังไม่มีมาตรการรองรับ จึงอยากให้ขยายเวลาการแจ้งขอพิสูจน์สัญชาติออกไปอีกระยะหนึ่ง และรัฐบาลเองก็ต้องมีมาตรการในการให้ความรู้ ความเข้าใจ ลดกระบวนการนายหน้า ลดอัตราค่าบริการให้ถูกลง

เผชิญหน้าหลังการชุมนุมนานกว่า 3 ชั่วโมง แต่ไม่มีใครสนใจมารับหนังสือข้อเรียกร้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล กลุ่มเครื่อข่ายแรงงานฯ ได้ทำกิจกรรมบทบาทสมมติ โดยมีกลุ่มคนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์สัญชาติ อาทิ ร่วมกันตัดแบ่งเค้กแห่งผลประโยชน์ โดยที่แรงงานไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรเลย จากนั้นได้ชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจลงมารับหนังสือ แต่ก็ไม่มีผู้มาติดต่อ จนกระทั่งเมื่อเวลา 13.00 น. นายอำนวย โชติสกุล ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมารับหนังสือ จากนั้นผู้ชุมนุมจึงได้สลายตัวไปอย่าสงบ
 
ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวเป็นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี และได้มีการสำเนาถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายสหภาพแรงงานและนักต่อสู้ด้านสิทธิ องค์กรระดับภูมิภาคและองค์กรระหว่างประเทศ และสหภาพแรงงานกว่า 60 องค์กรร่วมลงชื่อ และได้ระบุข้อเรียกร้องให้ยุติการส่งกลับครั้งใหญ่สำหรับแรงงานข้ามชาติ และให้รัฐบาลปรับนโยบายเรื่องพิสูจน์สัญชาติ

นายอำนวย โชติสกุล ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี ยอมออกมารับหนังสือ

 

วันเดียวกัน (16 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ศูนย์ราชการ จ.เชียงใหม่ สหพันธ์คนงานข้ามชาติ (MWF)  และกลุ่มแรงงานสามัคคี (WSA) ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ก็เดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านการส่งกลับแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้เข้ากระบวนการพิสูจน์สัญชาติหลังวันที่ 28 ก.พ. และเรียกร้องให้มีการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เช่นเดียวกัน โดยมีนายชุมพร แสงมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มารับหนังสือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท