Skip to main content
sharethis

16 ก.พ. 53 – กลุ่มองค์กรภาคประชาชน ได้ออกแถลงการณ์ถึงรัฐบาลไทย ขอให้ตั้งหน่วยงานกลางเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน กรณีเขื่อนฮัตจี

 

 

แถลงการณ์ถึงรัฐบาลไทย

ขอให้ตั้งหน่วยงานกลางเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน

กรณีเขื่อนฮัตจี

 

16 กุมภาพันธ์ 2553

 

ในนามเครือข่ายภาคประชาสังคม ซึ่งได้ติดตามโครงการเขื่อนฮัตจี บนแม่น้ำสาละวิน สหภาพพม่า ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  ขอขอบพระคุณที่ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาพิจารณา โดยได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาข้อมูล และเสนอความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบในด้านต่างๆ รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีโครงการก่อสร้างเขื่อนฮัตจี เพื่อทำหน้าที่ศึกษา รวบรวมข้อมูลและข้อเสนอแนะต่อโครงการดังกล่าวนี้ ซึ่ง ฯพณฯนายกรัฐมนตรี มีบัญชารับทราบรายงานและข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการฯ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553 ที่ผ่านมานั้น 

อย่างไรก็ตามเครือข่ายฯ ใคร่ขอให้ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องปฏิบัติตามข้อเสนอแนะ โดยเฉพาะต่อประเด็นที่มีความอ่อนไหวดังนี้

1. ข้อเสนอแนะเรื่อง ให้มีหน่วยงานกลางเพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานดำเนินการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะในทุกๆ ด้าน อย่างเป็นกลางและตรงกับข้อเท็จจริง เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสรับทราบข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง โดยขอให้ผู้เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาแนวทางการจัดตั้งหน่วยงานกลางต่อไปนั้น

เครือข่ายฯ ใคร่ขอยืนยันว่า หากมีการตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมา และปรากฏว่าหน่วยงานกลางนี้ต้องไปเกี่ยวข้องกับกระทรวงพลังงาน หรือกฟผ. ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการเขื่อนฮัตจี ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นหน่วยงานกลางตามที่ ฯพณฯนายกรัฐมนตรีได้มีบัญชามาได้ และจะนำไปสู่ปัญหาการไม่ยอมรับจากภาคส่วนต่างๆ

หน่วยงานกลาง ต้องเกิดขึ้นบนพื้นฐานของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้หารือร่วมกัน เพื่อให้เป็นหน่วยงานที่สามารถดำเนินการให้เกิดความโปร่งใส ความเป็นกลาง และมีเป็นธรรม ซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้อย่างแท้จริง

2. ข้อเสนอแนะเรื่อง การปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 มาตรา 190 ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัตินั้น ถือเป็นแบบอย่างที่ดีของการดำเนินการในโครงการที่มีลักษณะของปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดน ดังเช่นกรณีโครงการเขื่อนฮัตจี ซึ่งจะดำเนินการที่จะส่งผลกระทบต่อพรมแดนไทย-พม่า ในพื้นที่ที่ยังไม่มีการปักปันเขตแดนถาวร

อย่างไรก็ตาม ใคร่ขอให้ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี ได้ตรวจสอบหนังสือสัญญาที่ฝ่ายไทยได้ทำไปเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2551 ว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสองและวรรคสามหรือไม่อย่างไร เพราะเป็นการดำเนินการไปแล้วก่อนที่จะมีการเสนอต่อรัฐสภา

3. การที่รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ กรณีโครงการก่อสร้างเขื่อนฮัตจีในแม่น้ำสาละวิน เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมานั้น เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เสนอ รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีโครงการก่อสร้างเขื่อนฮัตจี

ประเด็นที่กสม. ให้ความสำคัญคือ พื้นที่โครงการยังอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งและการสู้รบภายในประเทศพม่า การสร้างเขื่อนจะส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวกะเหรี่ยง ต้องอพยพหลบหนีการกวาดล้างเข้ามาสู่ประเทศไทย

ฯพณฯนายกรัฐมนตรี ต้องให้ความสำคัญในประเด็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอันเนื่องมาจากโครงการเขื่อนฮัตจีที่ลงทุนจากประเทศไทย จะต้องไม่เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่าที่รุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนมิถุนายน 2552 มีผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงหนีภัยการสู้รบในแนวเขตสายส่งไฟฟ้าแรงสูง จากเขื่อนฮัตจีมายังเขตแดนไทยด้านอำเภอท่าสองยาง จ.ตาก มากกว่า 3,500 คน ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการส่งเสริมการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างเป็นรูปธรรม

เครือข่ายฯ ขอเรียกร้องให้ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาข้อเสนอของกสม. ที่เสนอให้ระงับโครงการเขื่อนฮัตจีอย่างจริงจัง เพราะประเทศไทยไม่สามารถมีศักดิ์ศรีใดใดได้ กับ ไฟฟ้าที่ได้เพียงน้อยนิด ซึ่งต้องแลกกับชีวิตของผู้คนอีกเรือนหมื่นเรือนแสน

 

องค์กรร่วมลงนาม

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.)

เครือข่ายปกป้องแม่น้ำสาละวิน Salween Watch Coalition

โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง

โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต

เครือข่ายแม่น้ำกะเหรี่ยง Karen Rivers Watch

องค์กรสตรีกะเหรี่ยง Karen Women Orgnization

เครือข่ายแม่น้ำพม่า Burma Rivers Network

Backpack Health Workers Team

Burma Medical Association

Ethnic Development Committee Forum

องค์กรสภาวะเพื่อสิ่งแวดล้อม SPAWA

องค์กรสิ่งแวดล้อมลาหู่ LNDO

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net