Skip to main content
sharethis

ทะเลบ้านสวนกงยังเงียบสงบ รอวันที่โครงการยักษ์ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 มาถึง ในขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ด้วยเพราะหวาดหวั่นผลกระทบที่จะตามมาจากอุตสาหกรรมเหมือนกรณีมาบตาพุด จังหวัดระยอง

 

ชายทะเลบ้านสวนกงในช่วงที่คลื่นลมสงบ เป็นบริเวณเดียวกับที่จะมีการสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2

 

แสงแดดยามบ่ายจ้าจนแสบตา คลื่นลมแรงซัดเข้าหาฝั่งชายหาดบ้านสวนกง หมู่ที่ 11 ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ลูกแล้วลูกเล่าไม่หยุดหย่อน เรือประมงหลายลำจอดนิ่งบนหาดทรายผืนกว้างทอดยาวไกลสุดสายตา 

กุโบร์ หรือป่าช้าของพี่น้องมุสลิม อยู่ห่างจากชายหาดไม่ถึงสามสิบเมตร เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญว่า บ้านสวนกงแห่งนี้มีผู้คนอยู่อาศัยมานับร้อยปีแล้ว 

นายดนรอนี ระหมันยะ ประธานกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมชายฝั่ง เล่าให้ฟังว่า หาดทรายบ้านสวนกงเป็นหาดทรายแห่งเดียวที่ยังคงอยู่ในสภาพดี ไม่มีชายฝั่งพังเพราะการกัดเซาะของคลื่น เหมือนอย่างชายหาดที่อื่น 

เหตุผลที่กรมเจ้าท่าเลือกพื้นที่บ้านสวนกงเพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่สอง เชื่อมกับท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล เพราะเป็นเส้นทางที่ตรงและใกล้ที่สุด

พื้นที่สำหรับสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 มีเนื้อที่ประมาณ 650 ไร่ กรมเจ้าท่าเคยลงมาสำรวจดิน น้ำ และอากาศพบว่า บ้านสวนกงเหมาะสำหรับการสร้างท่าเรือน้ำลึก เพราะทะเลเสื่อมโทรม ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ชาวบ้านพบเห็นและยืนยันว่า ทะเลบ้านสวนกงยังมีความอุดมสมบูรณ์

ดนรอนี เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ ทางกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง ได้จัดทำปะการังเทียม ต่อมาทางกรมการประมงได้จัดทำปะการังเทียมจากท่อซีเมนต์สี่เหลี่ยม 700 ลูก นำมาวางไว้ในทะเล เพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของทะเล และเป็นที่วางไข่ของปลาหลากหลายชนิด

“เมื่อหลายปีก่อน ชาวบ้านชวนกันทำปะการังเทียม ความอุดมสมบูรณ์ก็กลับคืนมา มีคนเจอโลมาบ่อย บางครั้งสามารถมองเห็นจากชายฝั่ง มาเป็นฝูงเล็กบ้างใหญ่บ้าง มีคนเจอเต่าขึ้นมาวางไข่บนชายหาด ดำน้ำลงไปก็เจอกัลปังหา ฟองน้ำ ปลาต่างๆ ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ ถ้าหากทะเลเสื่อมโทรมเหมือนอย่างที่กรมเจ้าท่าสำรวจ”

ถึงกระนั้น ชาวบ้านสวนกงบางคนก็อยากให้มีท่าเรือน้ำลึกเกิดขึ้นที่นี่ เพราะคิดว่าความเจริญจะมาพร้อมกับท่าเรือ และลูกหลานชาวบ้านจะได้มีงานทำ

ทว่า คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและไม่อยากให้ท่าเรือน้ำลึกเกิดขึ้นที่นี่ เพราะนอกจากจะทำลายอาชีพ ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านแล้ว ยังทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งเห็นตัวอย่างได้ชัด ที่ท่าเรือมาบตาพุด ทั้งยังเกิดอาชญากรรม ปล้นชิงวิ่งราว ฆ่า ข่มขืน ความยากจน โรคติดต่อ

“ท่าเรือน้ำลึกเกิด พวกโรงงานอุตสาหกรรมก็เกิด มีผลโดยตรงต่อชาวบ้านสวนกง คือ ชาวบ้านต้องย้ายออกจากพื้นที่บริเวณนั้น และชาวบ้านไม่สามารถประกอบอาชีพประมงได้อีก เพราะแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำถูกทำลาย ชายหาดที่เคยกว้างอุดมสมบูรณ์เป็นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจของชาวบ้านและผู้คนที่มาท่องเที่ยว ก็จะไม่มีให้เยี่ยมชมอีกต่อไป”

นายโส๊ะ เส็นเจริญ ชาวบ้านสวนกงเล่าให้ฟังว่า วันนี้ได้ปลาโฉมงามที่หาได้ไม่ง่ายนัก เพราะเป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามปะการัง การที่มีปลาโฉมงามอยู่ที่นี่ บ่งบอกได้ว่าใต้ท้องทะเลมีความอุดมสมบูรณ์มาก

ก่อนออกจากบ้านสวนกง นายโส๊ะ ยังโชว์ปลาโฉมงามตัวโต ซึ่งยังแช่อยู่ในลังน้ำแข็งรอนำออกไปขายให้พวกเราได้ดู ก็ได้แต่หวังว่าในอนาคต เรายังจะมีโอกาสพบเห็นปลาหลากหลายชนิดในทะเลแห่งนี้อีก

 

 

หมายเหตุ : ระหว่างวันที่ 30 – 31 มกราคม 2553 โครงการสื่อสารสร้างสุขสงขลา ได้จัดโครงการอบรมผู้สื่อข่าวเยาวชนเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะ โดยมีเยาวชนที่มีอายุ 13 – 16 ปี จากโรงเรียนในอำเภอรัตภูมิ อำเภอคลองหอยโข่ง อำเภอสะเดา อำเภอหาดใหญ่ อำเภอจะนะ และอำเภอเมือง 43 คน เข้าร่วมอบรม ที่สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคใต้ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

รายงานเรื่อง “ท่าเรือน้ำลึกสงขลา2–ในท่ามกลางคลื่นลมแห่งสวนกง” เป็นหนึ่งในผลงานการลงทำข่าวจริงในพื้นที่ของเยาวชนทั้ง 43 คน ที่เข้าอบรมในครั้งนี้

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net