Skip to main content
sharethis

ความเดิมตอนที่แล้ว: โครงการพัฒนาพรุในสามจังหวัดภาคใต้ เกิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษที่ 2520 เป็นช่วงที่รัฐไทยกำลังถูกท้าทายจาก “ภัย” คอมมิวนิสต์ และรัฐคิดว่าการพัฒนาเศรษฐกิจจะนำมาสู่ความมั่นคงแห่งชาติ


ปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศและเกษตรกรในพื้นพรุของสามจังหวัดภาคใต้มีความเป็นมาที่ยาวนาน สลับซับซ้อน ต่อเนื่องผูกพันกันเป็นลูกโซ่จนยากแก่การทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่มา

ยิ่งไปกว่านั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่เคยนำความผิดพลาดจากการเปลี่ยนสภาพพรุมาทบทวนเพื่อให้เป็นบทเรียนสำหรับการพัฒนาในพื้นที่นั้นและพื้นที่อื่น ๆ ทั้งนี้ เพราะมีข้อจำกัดบางประการทางด้านระบอบการเมืองการปกครองของประเทศ


การเปลี่ยนสภาพพรุ
: ปัญหาลูกโซ่ที่ไม่มีใครกล่าวถึง


การระบายน้ำออกจากพรุจนแห้ง สร้างผลกระทบตามมามากมาย ดินพรุไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูกเอาเสียเลย เมื่อดินพรุขาดน้ำก็จะอัดตัวกันแน่นและระดับน้ำใต้ดินต่ำเปิดโอกาสให้แร่สารประกอบกำมะถัน
(pyrite) ใต้ดิน (เกิดจากซากใบไม้ทับถม) ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนจนกลายเป็นกรดกำมะถันเข้มข้นชนิดหนึ่งที่ส่งผลทำให้ดินเปรี้ยว


น้ำที่ระบายออกมาจากพรุโดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนมีความเป็นกรดสูง ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกรอบข้าง อีกทั้ง
ยังทำให้น้ำในคลองธรรมชาติเปรี้ยวไปด้วย ชาวบ้านที่เลี้ยงปลาในกระชังในคลองธรรมชาติที่รองรับน้ำจากพรุได้รับความเดือดร้อนเพราะปลาตาย การระบายน้ำยังทำให้ดินพรุชั้นบนที่เกิดจากซากใบไม้ทับถม
(peat) แห้งสนิท ในหน้าแล้งจึงเกิดไฟไหม้ได้ง่าย


หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามทำการศึกษาวิจัยการแก้ปัญหาดินเปรี้ยว เพื่อที่จะให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรในพื้นที่พรุที่ระบายน้ำออกจนแห้ง มีการทดลองปรับปรุงดินด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การใช้หินปูนฝุ่น ปูนขาว การใช้น้ำชะล้าง การใช้หินปูนฝุ่นผสมน้ำ และทดลองปลูกพืชชนิดต่างๆ ความพยายามเหล่านั้นประสบผลสำเร็จเฉพาะในแปลงทดลองหรือหมู่บ้านที่ได้รับงบประมาณอัดฉีดเพียงพอ แต่ในพื้นที่อื่น ๆ ไม่ว่าจะพยายามอย่างไรก็ปลูกอะไรไม่ขึ้น


ชาวบ้านรายหนึ่งที่เป็นสมาชิกรุ่นแรกของนิคมสหกรณ์บาเจาะเล่าว่า “ตอนนั้นที่ดินที่นี่ปลูกอะไรไม่ได้เลย ผมเข้ามาอยู่ก็ปลูกข้าวได้เพียงสามปี พอปีที่สี่ที่ห้าก็ไม่ได้ผลผลิตอะไรเลย จากนั้นก็ไม่ได้ปลูกอะไรอีก หากินด้วยการไปรับจ้างในเมือง ตกเย็นก็กลับเข้าบ้านที่นิคม
... มีช่วงหนึ่งพยายามจะปลูกมะเขือ ปลูกผัก แต่ปลูกยังไงก็ไม่ขึ้น เจ้าหน้าที่ศูนย์พิกุลทองเขาก็ไม่เชื่อว่าปลูกไม่ได้ ตอนหลังพวกเขามาทดลองปลูกก็พบว่าปลูกไม่ได้จริงๆ“


ส่วนปัญหาปลาในกระชังตายเนื่องจากน้ำเปรี้ยว มีการแก้ปัญหาโดยส่งเสริมให้ “ราษฎร” ทำ “กระชังปลาติดแอร์”
(กระชังปลาที่สามารถใช้ผ้าใบคลุมทับเมื่อการกระบายน้ำออกจากพรุลงคลอง โดยจัดให้มีระบบอากาศถ่ายเทอย่างเพียงพอในกระชัง)


ขณะเดียวกัน ทางกรมชลประทานต้องการจะปัดฝุ่นโครงการสร้างเขื่อนสายบุรีขึ้นมาอีกครั้งเพื่อผันน้ำจืดมาปรับสภาพดินเปรี้ยวของพรุบาเจาะ แต่ชาวบ้านในพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนมีข้อกังขาเกี่ยวกับผลกระทบที่จะตามมา จึงคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนโดยเข้าร่วมกับสมัชชาคน จนกระทั่งในปี
2541 สมัยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี มีมติคณะรัฐมนตรีให้ยกเลิกโครงการไปในที่สุด แต่ทุกวันนี้กรมชลประทานยังคงพยายามสารพัดวิธีที่จะทำให้โครงการสร้างเขื่อนสายบุรีเกิดขึ้น


ในพื้นที่พรุขนาดเล็กกว่าพรุบาเจาะหลายแห่ง ไม่มีโครงการระบายน้ำออกจากพรุโดยตรง แต่ก็มีโครงการพัฒนาพรุภายใต้แนวคิดเดียวกันที่มองว่าพรุเป็นที่รกร้างไร้ประโยชน์ บางส่วนของพรุถูกเปลี่ยนเป็นอ่างเก็บน้ำนัยว่าเพื่อจัดหาแหล่งน้ำและเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม การเปลี่ยนสภาพพรุทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้ดังเดิม และถูกทิ้งร้างไปในที่สุด


ปลูกปาล์มน้ำมันในพรุ


กระแสตื่นตัวเรื่องพืชพลังงานในระดับสากล ได้ทำให้มีการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคใต้อย่างกว้างขวาง


ความสำเร็จจากปลูกปาล์มในพื้นที่พรุของประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียกลายมาเป็นต้นแบบในอุดมคติของไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการทดลองวิจัยและส่งเสริมให้ราษฎรปลูกปาล์มในพื้นที่พรุ รวมทั้งมีการก่อสร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มและมีการทดลองผลิตน้ำมันไบโอดีเซลในพื้นที่


ปาล์มน้ำมันเป็นพืชชนิดเดียวที่พอจะเติบโตและให้ผลผลิตได้ในพื้นที่พรุที่เปลี่ยนสภาพ ชาวบ้านหลายรายที่นิคมสหกรณ์บาเจาะเริ่มมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการขายผลปาล์ม


การทำสวนปาล์มน้ำมันถูกนำเสนอต่อสังคมในฐานะทางออกที่สดใสสำหรับการพัฒนาพื้นที่พรุ “เสื่อมโทรม” ในเขตสามจังหวัดภาคใต้ ในแผ่นป้ายขนาดใหญ่ที่ทางเข้านิคมสหกรณ์บาเจาะที่ว่า “โรงงานของเรา ปาล์มของเรา
...ปาล์มทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น“


จริงอยู่ที่การปลูกปาล์มดูเหมือนจะทำให้ชีวิตของชาวบ้านส่วนหนึ่งดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการลองผิดลองถูกและล้มเหลวจากการปลูกพืชชนิดต่างๆ มานับครั้งไม่ถ้วนเป็นเวลานานนับสิบปี จนหลายคนต้องประกอบอาชีพหลักนอกภาคเกษตร


อย่างไรก็ดี การปลูกปาล์มในพื้นที่พรุที่เปลี่ยนสภาพนั้นให้ผลผลิตน้อยกว่าการปลูกในพื้นที่ราบเนินเขาในแถบภาคใต้ตอนบน เกษตรกรจึงต้องใช้ปุ๋ยเคมีเสริมอย่างหนัก ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต นอกจากนั้นการปลูกปาล์มน้ำมันเชิงเดี่ยวได้ทำให้เกิดปัญหาการเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและน้ำใต้ดิน รวมทั้งปัญหาไฟไหม้สวนปาล์มบริเวณพรุที่ยากยิ่งแก่การป้องกันแก้ไข


ปาล์มน้ำมันอำพรางความผิดพลาด


สังคมไทยมีความเข้าใจเรื่องปาล์มน้ำมันจำกัดอยู่เพียงแค่ว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่พรุเสื่อมโทรม


ภาพความสำเร็จอันสวยงามของการทำสวนปาล์มน้ำมันที่ผ่านสื่อต่างๆ ได้ช่วยกลบเกลื่อนอำพรางความผิดพลาดของโครงการพัฒนาที่เข้าไปจัดการพื้นที่พรุมาตั้งแต่ต้น


นอกจากนั้น การส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมัน ยังช่วยเสริมสร้างให้ “รัฐไทย” มีความชอบธรรมในการเข้าจัดการทรัพยากรในพื้นที่สามจังหวัดและในการเปลี่ยนตัวตนของชาวบ้าน ให้กลายเป็นผู้มีชีวิตที่ผาสุกได้เพราะความช่วยเหลือเมตตาของ “รัฐไทย”


แต่นั่นจะเป็นชีวิตที่ดีขึ้นบนฐานความยั่งยืนทางสังคม สิ่งแวดล้อม หรือเศรษฐกิจหรือไม่


ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการคิดและกำหนดอนาคตของตนเองอย่างมีศักดิ์ศรี เสมอหน้า และเท่าเทียม หรือไม่ หรือจะมีสถานะเป็นเพียงผู้รอรับความเมตตาจาก “รัฐไทย”


คำถามเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องร่วมกันหาคำตอบ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net